ที่มา ประชาไท ทำความเข้าใจขบวนการภาคประชาชนไทยยุคเหลือง-แดง ผ่านวงเสวนาวิชาการ นักสังคมวิทยาเล่านิทานการผูกขาดนิยามประชาสังคมที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง ขณะที่นักรัฐศาสตร์เสนอทฤษฎีใหม่ สามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขาเป็นอุปสรรคประชาธิปไตยไทย และนาซีไมได้มีแต่ฮิตเลอร์แต่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนที่ไร้เดียงสาทางการเมือง ใช้วิธีลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายก่อนใช้ความรุนแรงจัดการ งานเสวนาหัวข้อ “ทำความเข้าใจขบวนการประชาชน” วันที่ 20 มิ.ย. 2553 เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาชุด “โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มิ.ย. 2553 โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาฯ มหิดล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิศักยภาพชุมชน ผู้ที่สนใจบทความวิชาการที่นำมาเสนอในการเสวนา สามารถติดตามได้จาก www.peaceandjusticenetwork.org วิทยากรประกอบด้วยยุกติ มุกดาวิจิตร สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์, เวียงรัฐ เนติโพธิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พวงทอง ภวัครพันธุ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 000 “โครงสร้างการเมืองท้องถิ่นมันเปลี่ยนไปแล้ว และมีเงินบริหารตัวเอง มีองค์กรชุมชนท้องถิ่น นี่ต่างหากที่น่าจะเป็นกระบวนการประชาชนแบบใหม่ ที่จะเข้ามาแทนที่การเมืองแบบเลือกตั้งหรือแบบตัวแทน นี่เป็นสิ่งที่เราแสวงหาหรือเรียกร้องกันมาไม่ใช่เหรอ” ยุกติ มุกดาวิจิตร ผมขอเล่าเรื่องขบวนการประชาชน ผ่านนิทานสามเรื่อง คือ เรื่องแรก สองนคราประชาธิปไตย สอง การเมืองภาคประชาชน มีตัวละครและฉากที่พิลึกพิลั่นมาก และสาม ชุมชนทุนนิยมเข้มแข็ง จริงๆผมอยากแถมท้ายเรื่อง ขบวนการประชาชนที่ยังไม่มีใครอยากจะเล่า ทำไมผมจึงเล่านิทาน เพราะมีความคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแต่ถูกทำให้แคบให้เลือกเพียงนิทานเรื่องเดียวเป็นนิทานเรื่องภาคประชาชนทั้งที่มีหลายเรื่อง ผมจะนิยามขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ผมไม่เชี่ยวชาญใดๆ ทั้งสิ้น นิยามที่นักมานุษยวิทยากันเองนั้น นิยามว่าขบวนการเคลื่อนไหวประชาสังคมเป็นการเรียกร้องรัฐเรื่อสิทธิมนุษยชน การกระจายอำนาจ การปกครองตัวเอง และความยุติธรรม ตอนหลังขยายเป็นเรื่องอัตลักษณ์ เพศสภาพ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมา ศ.แคทลีน บาววี จาก ม. วิสคอนซิน ศึกษาเรื่องลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งเป็นฝ่ายขวาก็ถือว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมได้เหมือนกัน เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ ซึ่งจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาได้ นิทานเรื่องแรก สองนคราประชาธิปไตย เล่ากันมาสิบกว่าปีแล้วในสยามประเทศ เป็นนิทานที่อธิบายสังคมประชาธิปไตยที่นำมาสู้การยึดอำนาจปี 2534 สอดรับกับเรื่องการเมืองภาคประชาชน สำคัญคือนิทานเรื่องนี้เล่าว่า เมื่อถึงประมาณทศวรรษ 2516 ขึ้นมา เกิดพลังใหม่ๆ ขึ้นมา เป็นพลังอำนาจนอกระบบราชการ และเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ และเห็นได้ชัดเจนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษา 14 ตุลาฯ เป็นพลังบริสุทธิ์ อะไรก็ว่าไป สองนคราประชาธิปไตย เกิดมาในยุคที่พลังนอกระบบราชการเติบโตขึ้นมา เกิดทวิลักษณะของประชาธิปไตยไทย หนึ่งคือวัฒนธรรมประชาธิปไตยในเมือง คือมองประชาธิปไตยด้วยมาตรฐานตะวันตก ไม่นึกถึงบุญคุณและอามิสสินจ้าง เป็นประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ ส่วนคนในชนบทเห็นประชาธิปไตยอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ไม่มองว่าการลงคะแนนให้ผู้ที่ให้เงินให้ทองแก่ตนเองหรือกลุ่มของตนเองระหว่างการหาเสียงเป็นสิ่งที่เสียหาย สมมติฐานของเรื่องนี้ คะแนนเสียงที่ท่วมท้นมาจากชนบท นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คะแนนเสียงของชาวชนบทไม่ได้สะท้อนนโยบายของรัฐบาล หรือนโยบายที่เสนอไม่มีผลต่อฐานเสียง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวคนเล่าเรื่องนี้จึงเสนอระบบสัดส่วน นำมาสู่การแก้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็ใช้แบบนี้ นิทานเรื่องนี้ยังอยู่ในระบบรัฐสภา และได้สร้างอคติต่อชาวบ้านอย่างหนึ่งที่มีความเชื่อว่ามี 2 ระบบประชาธิปไตย มีระบบหนึ่งเรียกว่าระบบแบบตัวแทน มีแต่คนเมือง ฉลาดรู้ ที่ใช้อย่างแท้จริง แต่คนชนบทไม่รู้เรื่อง ถูกซื้อ นำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยอีกแบบมา คนกรุงเทพฯ มีอุดมการณ์สวยหรู แต่วิพากษ์วิจารณ์คนชนบทว่าไม่รู้เรื่องประชาธิปไตย นิทานเรื่องที่สอง บอกว่าไม่ใช่ว่าคนในชนบทใช้ไม่ได้หรอก นิทานภาคประชาชนจะบอกว่า คนชนบทเขาก็รู้เหมือนกัน คือเขามีภูมิปัญญา แต่การเมืองของเขาไม่ควรเดินแบบการเมืองในเมือง ควรเริ่มแบบใหม่ ควรเป็นแบบประชาธิปไตยทางตรงหรือแบบมีส่วนร่วม มีศัพท์แบบนี้ไม่ทราบว่าคิดกันได้อย่างไร แต่ว่าตรงเข้าจริงๆ หลายคนก็ยังสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไรว่าคนตั้งเยอะแยะมาสังสรรค์กันทั้งหมด ก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี มักจะเริ่มการเมืองไทยก่อนสนธิสัญญาบาวริ่ง ไม่มีทุนนิยม ไม่มีการแทรกแซงทุน ชุมชนอยู่กันอย่างสงบสุขในอดีตอันไกลโพ้น ทั้งที่มีงานวิจัยออกมามากมายว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความจริงเลย เพราะการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นอย่างน้อย และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันถ่ายโอนไปมา ความสัมพันธ์แทบจะไม่มี เพราะรัฐไปกวาดต้อนคนมาทำนาตลอดเวลา ขณะที่คนเป็นชาวนาก็หนีจะขึ้นไปอยู่บนภูเขา ในการประชุมนักวิชาการ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้อาวุโสหลายคน คนที่หนึ่งเล่าว่า “ผมได้เข้าไปคุยกับนายกที่ราบ 11ท่านนายกก็ยินดีมาก ผมรำคาญนักการเมือง มาเถียงกันว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ คิดถึงแต่จะเอาอำนาจกัน คนมาประท้วงเดือดร้อนมีปัญหา แต่นักการเมืองไม่พูดเรื่องปัญหาของพวกเขาเลย พวกเขามีปัญหามาก นักการเมืองเอาประโยชน์จากพวกเขาอย่างเดียว ละเลยปัญหาของชาวบ้าน ความขัดแย้งที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องอำมาตย์ แต่เป็นเรื่องนายทุน เช่น ทำน้ำเสีย แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือหน่วยงานราชการ เข้ากับนายทุนพวกนี้ ผมก็วิจารณ์ราชการ ราชการเขาก็ไม่ชอบ ผมมีปัญหากับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ชาวบ้านต่างไปจากเดิมมาก ประเทศไทยไม่มีปัญหาประชาธิปไตย ประเทศไทยมีประชาธิปไตยมานานแล้ว การเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมของประชาธิปไตย การเลือกตั้งคือปัญหา การเลือกตั้งไม่ได้เลือกผู้แทน แต่เลือกผู้อุปถัมภ์ แต่ต่างประเทศจะบีบตลอด ถ้าเราไม่ยอมเลือกตั้งไม่ได้ ต่างประเทศจะบีบตลอดให้เรามีประชาธิปไตยแบบตัวแทน” อีกคนพูด “เป็นทรราชตลอด Centralize ตลอด ไม่เห็นทุกข์ของชาวบ้าน รัฐ Top-down ตลอด การแก้ปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็คือต้องมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม วิธีแก้ปัญหาคือต้องสร้างภาคประชาสังคมขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับภาคการเมือง เมื่อเข้มแข็งก็จะมีการต่อรอง เป็นความเห็นของคนในกลุ่ม ต้องเป็นเรื่อง Institution เป็นสถาบันให้เกิดเน็ตเวิร์ก ลงไปข้างล่าง เวลานี้ Local group พังหมด มันเกิดเป็นแฟชั่น เวลาเลือกตั้งเป็น Individual หมดเลย” อีกท่านหนึ่งเป็นผู้อาวุโสที่รองลงมาหน่อย “ถูกแล้วครับ การเลือกตั้งเป็นพิธีกรรม ไม่มีไม่ได้ อย่างเช่นในการเลือกตั้งสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่นก็จะตั้งเกณฑ์ผู้นำที่ดีขึ้นมาเองเจ็ดแปดข้อ เช่นต้องมีคุณธรรม ต้องเป็นคนดี และเขาไปเชื้อเชิญ เชื้อเชิญนะครับไม่ใช่ทาบทาม เชิญคนที่มีคุณสมบัติมาแล้วก็ผ่านพิธีการเลือกตั้ง ไม่งั้น อบต. ไม่ยอม เขากลัวฮั้วกัน แต่จริงๆ แล้วตั้งมาแล้วบางที่มีสองคน แต่สภาอาวุโสหาเสียงคู่แล้วทำงานด้วยกัน” เราก็จะเห็นวิธีคิดของคนเหล่านี้น่าสนใจหลายประการ มีข้อถกเถียงที่เป็นงานวิจัยมาถกเถียงกับแนวคิดของสามสี่ท่านนี้ ที่น่าสนใจคือผู้อาวุโสเหล่านี้มองปัญหาการเมืองไทยว่าเกิดจากประชาธิปไตยแบบตัวแทน และอำนาจของทุนกับราชการเท่านั้น แม้จะมีงานจำนวนมากปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว แต่ท่านเหล่านี้คงไม่เห็นด้วย แต่งานจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วย มันไม่จริงหรอกครับการเมืองอยู่กับนักการเมืองกับข้าราชการเท่านั้น ประการที่สอง การเมืองไทยในทัศนะของพวกท่านแก้ได้ด้วยประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่ว่ามีงานวิจัยที่ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไปมากมายแล้ว เพราะสำหรับชาวบ้านนั้น การเลือกตั้งมีอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องและก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาตัดตอนนักการเมืองแล้วมีส่วนร่วมโดยตรง ประการที่สาม ผู้อาวุโสเหล่านี้ไม่ศรัทธาการเลือกตั้ง แต่ต้องยอมรับเพราะต่างชาติบีบ อันนี้น่าสนใจนะครับว่า สำหรับท่านเหล่านี้ การเลือกตั้งไม่ได้อยู่ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย แต่หลังๆ มีงานวิจัยพบว่าการเลือกตั้งในสังคมไทยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว คือการเลือกตั้งในหมู่บ้าน ประการที่สี่ ผู้อาวุโสเหล่านี้เห็นว่าทางรอดคือการตั้งองค์กรชุมชน เพื่อฟื้นความเป็นชุมชนกลับมาแทนที่ความเป็นปัจเจก คำถามของงานวิจัยมากมายคือ ชุมชนในหมู่บ้านไม่เป็นชุมชนหรือ แล้วมันไม่ได้ไปด้วยกันได้กับการเลือกตั้งหรือ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการเลือกตั้งในแต่ละครั้งนั้นเป็นผลจากการต่อรองกันของคนในท้องถิ่นด้วยมิติต่างๆ ที่มีรายละเอียดมากมาย ประการที่ห้า ผู้นำชุมชน ควรมาจากการสรรหา ไม่ใช่การเลือกตั้ง ระบบตัวแทนชุมชนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ปัญหาคือสภาที่ผู้อาวุโสเหล่านี้อยากให้มี มันไม่ใช่การเมืองแบบตัวแทนหรือ การแต่งตั้งนั้นไม่ใช่การเมืองแบบตัวแทนหรือ นิทานทั้งสองเรื่องยังไม่ได้คำนึงถึง ภาวะความเป็นผู้กระทำการทางสังคมในโครงร้างของระบบอุปถัมภ์ ประเด็นของผมคือว่าระบบอุปถัมภ์มันมีอยู่แล้วไม่ว่าที่ไหนก็ตาม คุณไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่-ผู้น้อย หรือสูง-ต่ำได้ แต่ประเด็นคือระบบการเมืองแบบไหนที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในระบบเครือข่ายเหล่านั้นแสดงตัวตนออกมา ไม่ใช่การทำให้ระบบอุปถัมภ์เป็นตัวแทนของคนดี มันเป็นไปไม่ได้ นี่เป็นปัญหาตรงข้ามของปัจเจกชนนิยม กับระบบอุปถัมภ์ ซึ่งจินตภาพสองอย่างนี้ทำให้ระบบการเมืองไทยพัฒนามา แบบที่ ว่าหากไม่พัฒนาโมเดลการเลือกตั้ง ก็ไปพัฒนาการเมืองอีกแบบหนึ่งคือการเมืองภาคประชาชน นิทานเรื่องที่ 3 ชุมชนทุนนิยมเข้มแข็ง ภาพของชุมชนที่ผมไปเจอมา พื้นที่หนึ่งเป็นหมู่บ้านที่น่าสนใจมาก ในจังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่แดงทั้งจังหวัด เขาภูมิใจที่พื้นที่ของเขาถูกประกาศฉุกเฉินร้ายแรงก่อนอุบลราชธานีอีก หมู่บ้านหนึ่ง ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำชุมชนที่มีภาวะผู้นำสูงมาก ลูกบ้านเชื่อฟังและพัฒนาชุมชนเป็นกลุ่มเป็นก้อน และสามารถปลดหนี้ทุกคนได้ ผู้ใหญ่คนนี้แกก็จะพูดถึงคุณธรรมความดีสำคัญอย่างไร แต่พอถามว่าหมู่บ้านจะพัฒนาไปอย่างไร ผู้ใหญ่มีรถ 18 ล้อสองคัน เป็นนายทุนในหมู่บ้านและช่วยให้คนในหมู่บ้านเป็นผู้ประกอบการการเกษตร เล่าให้ฟังเป็นฉากๆ ถึงวิธีการพัฒนาหมู่บ้าน เอากองทุนหมู่บ้านหนึ่งล้านบ้าน ค่อยๆ จัดการทำให้หนี้สินหมดไป แล้วลงทุน เปิดโรงมัน โรงสี ทำธุรกิจให้เกษตรในหมู่บ้านมาสีข้าว บดอัดมันที่นี่ และเวลาที่พูดเรื่องราคาข้าว ราคามัน เป็นนักธุรกิจ ไม่ต่างกับคนที่เล่นหุ้น ประเด็นของผมคือว่านี่ไม่ใช่เหรอชุมชนที่เข้มแข็งน่ะ แต่เขาเป็นนายทุนอ่ะ แล้วทำไมล่ะ แล้วเอาหมู่บ้านละหนึ่งล้านมาพัฒนา หมู่บ้านนี้ก็ดีนี่ ถ้าไปเล่าในมิติของเอ็นจีโอ ชาวบ้านรู้ศักยภาพพัฒนาตัวเองได้ แต่มันผิดหลักไง เพราะภาคประชาชน คุณต้องอยู่แต่ในชุมชน และไม่อยากรวย แต่สิ่งนี้เกิดแล้ว คำถามที่คนเหล่านี้ถาม คือ ทำไมถึงไม่ชอบทักษิณ ผมไม่รู้ ผมตอบไม่ได้ คนเหล่านี้เวลาเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้าน คงไม่ได้เป็นผู้อาวุโสที่ดีงาม เพราะแกเป็นนายทุน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการเมือท้องถิ่นมันเปลี่ยนไปแล้ว และมีเงินบริหารตัวเอง มีองค์กรชุมชนท้องถิ่น นี่ต่างหากที่น่าจะเป็นกระบวนการประชาชนแบบใหม่ ที่จะเข้ามาแทนที่การเมืองแบบเลือกตั้งหรือแบบตัวแทน นี่เป็นสิ่งที่เราแสวงหาหรือเรียกร้องกันมาไม่ใช่เหรอ แต่เอาเข้าจริงแล้วการเรียกร้องที่ผ่านมามันจำกัดอยู่ที่พื้นที่ เพราะคิดว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมามันปลดปล่อยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพหรือคนในเมืองทั้งๆ ที่ดอกผลของมันเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จบ ป.สี่ เขาก็ให้เป็นสมาชิก อบต. แล้ว และก็มีงบมากบ้างน้อยบ้าง มีอำนาจในการบริหารงบประมาณของตัวเองเป็นอิสระ ชาวบ้านบอกว่าสมัยนี้เขาไม่ค่อยไปหาผู้ใหญ่บ้านแล้ว แต่เขาไปหา อบต. จะไปอำเภอก็เฉพาะเวลาบัตรประชาชนหาย สำหรับกรณีที่ผู้อาวุโสกังวล ผมไม่ทราบว่าท่านไปเอาตัวอย่างที่ไหนมา นิทานสองเรื่องแรกมันฟังดูดี ตอบสนองกันอย่างดี และพยายามอธิบายครอบงำสังคมอยู่ขณะนี้ และถึงที่สุดดอกผลของการกระจายอำนาจมันเกิดขึ้นแล้ว และเราไม่สามารถที่จะยอมรับดอกผลของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้ ประจักษ์: อำนาจในการผูกขาดการนิยามว่าอะไรคือขบวนการประชาชน อะไรคือการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้อาวุโสที่ผมเรียกว่าสภาผู้เฒ่า พยายามผูกขาดการนิยามว่าถ้าเคลื่อนไหวแบบนี้ ถึงจะเป็นขบวนการภาคประชาชน คือน่ารักๆ เชื่อพ่อสิลูก แต่ถ้าเป็นอีกแบบหนึ่งก็คือ ลูกหลงผิดไปแล้ว ดีแล้วที่ลูกตื่นตัว แต่ว่าเดินมาทางนี้หน่อย คนเหล่านี้เคยสร้างวาทกรรมสังคมเข้มแข็งให้ประชาชนตื่นตัวต่อสู้กับรัฐ แต่พ.ศ. นี้ประชาชนเขาตื่นตัวขึ้นมาจริงๆ แล้วเขาเคลื่อนไหวจริงๆ พอมีขบวนการเหล่านี้ นักปราชญ์เหล่านี้ตกใจ ออกมาบอกว่าไม่ใช่ๆ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ประเด็นคืออำนาจในการผู้ขาดการนิยาม ไม่เท่ากันโดยเฉพาะทีวีช่องหนึ่งมีความพยายามอย่างยิ่งในการนิยามว่าอะไรคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนที่ถูกต้อง เชิญคนมาสามสิบสี่สิบคนมาพูดและกำกับทิศทางว่าการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ดีต้องทำแบบนี้ ผมเองสอนวิชาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองภาคประชาชา ผมก็กลัวมาก เดี๋ยวนี้เดินไปตามถนน ใครมาพูดกับผมว่าเราต้องสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาท ต้องให้ภาคีเข้ามามีส่วนร่วม ผมไม่แน่ใจว่าเรากำลังพูดถึงสิ่งเดียวกันหรือเปล่า อาจารย์ยุกติพยายามเสนอหลายๆ แบบ ชาวบ้านเขาเปลี่ยนไปแล้ว แต่นักวิชาการพยายามไปสตัฟฟ์เขาไว้ให้อยู่กับที่ 000 “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเป็นพลังมหาศาลที่เปลี่ยนแปลง การต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็ไม่ได้มีอะไร นอกจากผลักสังคมไปข้างหน้า เปลี่ยนรัฐเป็นรัฐสมัยใหม่มากขึ้น พลเมืองเป็นพลเมืองมากขึ้น กฎหมายเป็นกฎหมายมากขึ้น แต่การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป เพราะมีเหลี่ยมสองเหลี่ยมเป็นตัวขัดขวาง เพราฉะนั้นการต่อสู้จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสมดุลอันใหม่จะเกิดขึ้นก็ต้องพังทลายลงไป” เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ดิฉันรู้สึกว่าทฤษฎีของตะวันตกมันใช้ไม่ได้เลย โดยเฉพาะเรื่อง New Social Movement ซึ่งดิฉันมองไม่ออกว่ามันใหม่ตรงไหน ดิฉันจึงขอดูภาพใหญ่ เป็นสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ซึ่งนิ่งมาสักพักหนึ่งแล้ว งานวิจัยที่เพิ่งทำไปโดยอภิชาต สถิตนิรมัย ประภาส ปิ่นตบแต่ง และนักวิจัยท่านอื่นๆ เพื่อเข้าใจว่าใครคือคนเสื้อแดง ทำไมพวกเขาจึงมีพลังแม้จะเพลี่ยงพล้ำในสองฤดูร้อนที่ผ่านมา และจากการทำวิจัยลงพื้นที่ มีลักษณะสำคัญบางประการของขบวนการคนเสื้อแดงคือ หนึ่ง มีลักษณะข้ามชนชั้น ไม่ใช่มีเฉพาะทัพหน้าที่มาที่ราชประสงค์และราชดำเนินเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนที่สนับสนุนอยู่ที่บาน ให้เงินสนับสนุน บางคนเคียดแค้น แม้เราจะเห็นคนที่ออกมาเป็นคนยากคนจนหรือกลางระดับล่าง ชนบท คนบ้านนอก และมีไม่น้อยที่เป็นกลางระดับสูง คนชั้นสูงระดับสูง คหบดีท้องถิ่น เจ้าของรถสิบแปดล้อ และกลุ่มเมียนายพลที่เป็น นปช. ตำรวจที่เป็นยศนายพันนายพล ที่สนับสนุนคนเสื้อแดง คุณนายสุขุมวิท เอาเงินใส่กระเป๋ามาให้ เอาข้าวกล่องมาให้ การมองการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเฉพาะอาจจะทำความเข้าใจไม่ชัดเจน สอง มีลักษณะ Radical แม้ข้อเรียกร้องเป็นเรื่องยุบสภา เป็นข้อเรียกร้องเล็กมากๆ แต่ถ้าคุณคุยทุกคนมีเป้าหมายชัดเจน คือ หนึ่งเรียกร้องสังคมที่เป็นธรรมในเชิงอำนาจทางการเมืองหรือเชิงกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีมาก่อน เป็นข้อเรียกร้องที่ Radical ที่เป็น Irony มาก การเรียกร้องสถาบันรัฐสภาให้เข้มแข็ง มันเกิดขึ้นมาแล้ว เป็นการยืนหยัดเอาประชาธิปไตยไว้ก่อน ทำให้ขบวนการเสื้อแดงเรียกร้องสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง การเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นเรื่อง Radical ประการต่อมาคือการต่อต้านอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญที่เป็นสามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขาและไม่ใช่ขบวนการขอทาน ไม่ต้องมาเห็นใจ ไม่ได้มาขอที่ดินทำกิน เราเรียกร้องอำนาจทางการเมืองแลการเลือกตั้งเท่านั้น ฉะรั้นการทำความเข้าใจการเรียกร้องอำนาจทางการเมือง ไม่ใช่ลักษณะของภูมิภาคเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ คนที่เข้าร่วมเสื้อแดงเป็นเหนือ อิสานก็จริง แต่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองของเขา คำถามก็คือว่าก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก่อนที่จะมีเสื้อแดง สังคมไทยมีความสงบสุขจริงหรอไม่ แต่ดิฉันยืนยันว่ามันสงบจริง แต่สุขหรือไม ไม่ทราบ สงบจริง เพราะมีสามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขา มีสามหลักในอำนาจทางการเมืองคือ กษัตริยานุภาพ อำมาตยานุภาพ และอิทธิพลานุภาพ ขอบอกว่าสามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขานี้อยู่กันอย่างสมดุลที่สุด เหลี่ยมที่หนึ่ง กษัตริยานุภาพ ประสบความสำเร็จที่สุด คนไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ เป็นศูนย์รวมของจิตใจและผูกพันเข้ากับสถาบันพุทธศาสนา ความดีงาม สงบสุข บรรพบุรุษ ไม่มีการถูกท้าทายมาก่อนเลย เคยถูกท้าทายเล็กๆ น้อยจาก พคท. และจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหลี่ยมที่สองคือชนชั้นนำ ระบอบราชการ อำมาตยานุภาพ แต่เสื้อแดงให้ความหมายกว้างกว่านั้น ดิฉันก็เพิ่งตาสว่างว่าเอ็นจีโอก็ด้วย อำมาตย์นี้กว้างมากคือคนทุกคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจ นักวิชาการที่เข้าไปปรองดองสมานฉันท์ เหลี่ยมที่สาม ประชาชนคือคนมหาศาลของประเทศแต่กลายเป็นชนชั้นล่างทางการเมือง นั่นคือไม่มีส่วนร่วมเท่าไหร่ นอกจากโหวตหนึ่งเสียงเท่านั้น และพรรคการเมืองไม่มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์กระทั่งมีการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและนำเสนอนโยบายแข่งขันกัน สามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขา ทำได้อย่างไร ก็คือตัวกำกับอำมาตยานุภาพไม่มีอุดมการณ์อื่นเลย “ขับขี่ปลอดภัยเทิดไท้องค์ราชัน” “รักในหลวงห่วงลูกหลานปราบลูกน้ำยุงลาย” ชนชั้นนำไม่มีความแตกต่างเลย รสนิยมเดียวกัน มองตาก็เหมือนรู้ใจ ต้องพูดถึงความจงรักภักดี ศาสนา อิทธิพลานุภาพเป็นเครือข่ายผู้อาวุโส เป็นเครือข่ายที่ผูกพันอยู่กับประชาชนทุกๆ ที่เลย ดิฉันไปพื้นที่เชียงใหม่ ก็มี.....อ้าว คณะสังคมวิทยาก็มี คณะรัฐศาสตร์ก็มี ขัดแย้งกันที่ราชประสงค์ก็โทรหานายพลคนหนึ่งทำให้หยุดยิงกันได้ตั้งหลายวัน ประชาชนทุกคนอยู่ในเครือข่ายนี้หมดเลย เป็นเครือข่ายของความไม่เป็นทางการ และเครือข่ายเหล่านี้จัดสรรผลประโยชน์ลงตัว เข้าไปสนับสนุนอำมาตยานุภาพ และที่เคยถามว่าเลือกแล้วได้อะไร คำตอบคือ ก็ได้คนของเราเข้าไปนั่งในสภา แต่เขาไม่ได้ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต การจัดสรรลงตัวนี่ทำให้คนจำนวนมหาศาลเป็นไพร่ ไม่ได้เป็น Citizen แต่สิบปีที่ผ่านมา จะบอกว่าเป็นทักษิณก็ได้ แต่ดิฉันจะอธิบายว่าเป็นการกระจายอำนาจ จึงเกิดการเคลื่อน เอาละสิ หมอประเวศก็เริ่มร้อนๆ หนาวๆ เหลี่ยมที่หนึ่งไม่เขยื้อนจึงไม่เสถียร ส่งผลให้อำมาตยานุภาพไม่สามารถอ้างอิงได้แบบเดียว แตกเป็นอ้างอิงกับกษัตริยานุภาพ และกับประชาชน เป็นความแตกแยกของชนชั้นสูงที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าไพร่ เป็นการอ้างความชอบธรรมสองประการที่แตกต่าง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เคยเกิดขึ้นแว๊บๆ ดิฉันผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏตรงหลักสี่กำลังถูกทุบ เหลี่ยมที่สามมีพลวัตรประชาธิปไตย การเลือกตั้งมันผลักให้ไพร่กลายเป็นพลเมือง ที่เราท่องว่ารัฐไทยสมัยใหม่เกิดสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ความเป็น Citizen เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง ฉะนั้นเหลี่ยมที่สามจึงกลายเป็นพลังที่ขยับเขยื้อนไปได้ หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงจึงมีพลังมหาศาลที่จะหมุนสามเหลี่ยมนี้ไปได้ กระบวนการทางสังคมเป็นเรื่องไม่ใหม่ เป็นประเด็นของศตวรรษที่ 19 ในยุโรปหรืออเมริกา แต่จะเปลี่ยนไปสู่การอภิวัฒน์ หรือ ปฏิรูป พูดง่ายๆ คือในทางรัฐศาสตร์แล้ว การเลือกตั้งมันได้ทำลายตัวกลาง อุดมการณ์ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย และเอาสังคมกับรัฐเข้ามาเชื่อมโยงกันโดยตรง หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเป็นพลังมหาศาลที่เปลี่ยนแปลง การต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็ไม่ได้มีอะไร นอกจากผลักสังคมไปข้างหน้า เปลี่ยนรัฐเป็นรัฐสมัยใหม่มากขึ้น พลเมืองเป็นพลเมืองมากขึ้น กฎหมายเป็นกฎหมายมากขึ้น แต่การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป เพราะมีเหลี่ยมสองเหลี่ยมเป็นตัวขัดขวาง เพราฉะนั้นการต่อสู้จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสมดุลอันใหม่จะเกิดขึ้นก็ต้องพังทลายลงไป คนไทยจำนวนมากต้องการประนีประนอม จะหาทางอย่างไรให้เส้นเหล่านี้กลับมาได้ ศาลอ้างอิงตัวเองกับประชาชนมากขึ้นได้ไหม กองทัพทำอะไรอย่างอื่นที่มากกว่าการยิงประชาชนได้ไหม ปรับสมดุล หรือไม่ก็ทำลายมันให้หมดเลย แล้วเหลือแต่สีแดงเท่านั้น ทำลายให้เหลือแต่พลเมืองเท่านั้น แล้วสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งดิฉันไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ประจักษ์: ท้ายสุดเสื้อแดงต้องต่อสู้กับอิทธิพลานุภาพด้วยไหม เพราะตอนนี้ผูกโยงกันอยู่ 000 “เพราะการแสวงหาความดีและเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี ทำให้คนเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องระบบ และไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านเสื้อแดงจึงชอบทักษิณ ชอบนักชอบหนากับวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ขณะที่พวกเขาเห็นว่ามีแต่คนดีและคนเลว ดิฉันคิดว่านี่เป็นกำแพงที่แข็งแกร่งในการปิดกั้นการทำความเข้าใจคนเสื้อแดง เป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยมนุษย์ที่มาจากดาวสองดวง ไม่เข้าใจ สื่อสารกันไม่ได้ คนเหล่านี้ไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจความเจ็บปวดของคนเสื้อแดงที่ถูกสลายการชุมนุม พวกเขาจึงสามารถพูดเรื่องการปรองดองได้อย่างสนิทใจโดยไม่สนใจว่ารัฐกำลังทำอะไรกับคนเสื้อแดง” พวงทอง ภวัครพันธุ์ ก่อนหน้านี้อาจารย์พฤกษ์ เถาถวิลตั้งคำถามว่าทำไมสื่อมวลชน นักวิชาการ เอ็นจีโอถึงได้เงียบเฉยต่อความตายของคนเสื้อแดงขนาดนี้ ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงดีอกดีใจนักหนา ก่อนหน้านี้ไม่เพียงเงียบเฉยแต่ยังออกมาเชียร์ให้ปราบปราม โดยใช้วาทกรรมโง่ จนเจ็บ มาใช้เป็นฐานในการอธิบายว่าคนเสื้อแดงไม่เสียอะไรมากนักที่ถูกปราบ แต่วันนี้อยากจะอธิบายมวลชน ที่เลี้ยวขวาเหล่านี้ ในแง่ความคิดทางสังคม อุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองของคนเหล่านี้ เรามีความจำเป็นต้องเข้าใจขบวนการมวลชนเลี้ยวขวาเหล่านี้ ว่าทำไมจึงมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้น ใช้อำนาจของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างกว้างขวาง ปิดกั้นสื่อ คุกคาม ฟ้องจนล้มละลาย ในกรณีของสังคมไทย สิ่งที่เราเห็น การที่รัฐสามารถทำได้แบบนี้เพราะว่ามีคนจำนวนมากในสังคมที่อนุญาตให้รัฐใช้ไฟเขียว วัฒนธรรมทางการเมืองไทยมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญญาชน สื่อมวลชนจำนวนมากออกมาสนับสนุนการรัฐประหาร คนส่วนใหญ่ไม่เดือดร้อนกับการที่มีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน และปราบปรามจับกุมคนจำนวนมาก ปิดกั้นสื่อมวลชนอีกต่างหาก สื่อที่มวลชนเลี้ยวขวาไม่ต้องการให้อยู่ปิดกั้นไปเลย ดิฉันอยากให้กลับไปพิจารณามวลชนเยอรมันในยุคนาซีเยอรมัน บางทีอาจจะทำให้เราเห็นตัวเองมากขึ้น ถ้าเราหันไปดูสังคมอื่นที่มีลักษณะสุดโต่ง ไม่ต่างกัน และอย่างน้อยในยุคนาซีเยอรมัน โลกยอมรับแล้วว่าเป็นความเลวร้าย มีความอำมหิตเจือปนอย่างไร เรามักเข้าใจว่า มีแต่ชาวยิวที่เป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ประมาณ 5.9 ล้านคนถูกฆ่าตายเป็นคนยิว นอกจากนั้นยังมี เชลยศึกชาวรัสเซียประมาณ 2-3 ล้านคน ยังมีชาวโปล ประมาณ 1.8-2 ล้านคน ชาวยิปซี ถูกสังหารทิ้งประมาณเกือบสองแสน รวมถึงคนพิการ รักร่วมเพศ เกย์ เลสเบี้ยน ผู้นับถือพระยะโฮวา พวกฮิตเลอร์มองคนที่พิการทางสมองว่าเป็นมนุษย์ที่ต่ำกว่า โดยมียิวเป็นพวกต่ำสุด คนเหล่านี้เป็นภาระทางสังคมฉุดรั้งให้เยอรมันไม่สามารถก้าวไปได้อย่างรดวเร็งวก็ต้องถูกจำกัดออกไป คำอธิบายคือฮิตเลอร์เป็นผู้นำที่มีบารมีสูง ดึงดูดมวลชนด้วยการไฮด์ปาร์ก นักทฤษฎีคนหนึ่งอธิบายว่า ต้องเข้าใจลักษณะของมวลชนขณะนั้นได้ด้วยว่า ทำไมคนเหล่านั้นรับรู้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จำนวนมากนิ่งเฉย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และจำนวนมากสนับสนุน เพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เกิดขึ้นในเมือง ต่อหน้าต่อตา เช่น การคนอพยพไปอยู่ในเกตโต หรือค่ายกักกัน เพื่อรอการสังหารต่อไป ก่อนหน้าที่จะถูกอพยพถูกสั่งให้ติดสัญลักษณ์ ห้ามแต่งงานกับคนเยอรมัน มีการคัดเลือกว่าบ้านไหนเป็นยิวบ้านไหนไม่ใช่ยิว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยที่คนเยอรมันรับรู้ตลอด ที่สำคัญ ผู้ที่สนับสนุนให้ระบบนาซีเยอรมันอยู่ได้ 12 ปี ไม่ใช่มีแค่คนเยอรมันชาวบ้านตาสีตาสา แต่ยังมีวิศวกร ศิลปิน ศาสตราจารย์ จิตแพทย์ คนเหล่านี้ทำให้นาซีบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เช่น จิตแพทย์เป็นคนชี้ว่าคนนี้มีความผิดปกติทางสมองหรือไม่ วิศวกรช่วยกันคิดเทคโนโลยีต่างๆวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เอาคนยิวมาทำการทดลองอย่างเสรี ทำอะไรก็ได้กับมนุษย์ แน่นอนว่ามีคนเยอรมันที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น คัดค้านและถูกลงโทษ ถูกปราบปราม แต่คนเหล่านี้ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของคนเยอรมัน ความสำเร็จของระบอบนาซีไม่ได้เป็นผลมาจากการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ใช่ว่า ฮิตเลอร์ประกาศแบบหนึ่งแล้วทำแบบหนึ่ง แต่ฮิตเลอร์พูดอย่างชัดเจนว่าจะต้องทำอะไร เช่น โปสเตอร์ที่บอกว่าต้องทำอย่างไรกับคนที่ไม่มีคุณค่า สำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาพูดชัดเจนเรื่อง 70:30 คนของเขาก็ไม่พูดอะไร และคนเหล่านี้ก็พูดชัดเจนว่าไม่เอามาตรฐานทางประชาธิปไตยที่สังคมยอมรับมาตลอดว่าใช้ไม่ได้ ถ้าจะนำสังคมไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ สิทธิทางการเมืองมีแต่จะขัดขวางการเดินหน้าไปสู่สิ่งที่เราอยากจะไป มีรัฐประหารมาขัดเวลาไว้ก่อน ฮิตเลอร์ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ที่สุดก็มาทำลายการเลือกตั้ง ก็ลองคิดดูว่ารัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าหรือถอยหลัง การกระทำเหล่านี้ ไม่ทำให้มวลชนตกใจ แต่ยอมรับได้ โอบกอดเอาไว้ บอกว่า โอเคยอมรับว่ามันเลวร้าย แต่ก็จำเป็น ก็จัดการไปตามที่จำเป็น ถ้าเรามองมวลชนฝ่ายขวาเหล่านี้ ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน เพราะคนเหล่านี้มักจะได้ประโยชน์จากรัฐบาล รัฐบาลต้องคำนึงถึงคนเหล่านี้เป็นหลักอยู่แล้ว คนกรุงเทพฯไม่ต้องไปเรียกร้องลำบากลำบน รัฐบาลก็ต้องหาวิธีเอารถไฟฟ้าไปลงหน้าบ้านคุณให้ได้ มวลชนเลี้ยวขวาเหล่านี้มักมองไม่เห็นความแตกต่างทางชนชั้น ไม่เชื่อว่ามีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทางชนชั้นอยู่ โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสองมาตรฐาน เพราะคนเหล่านี้มีอภิสิทธิ์อยู่แล้ว สำหรับคนเหล่านี้ รัฐเป็นกลาง รัฐทำเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ฉะนั้นในแง่นี้มวลชนเลี้ยวขวาเหล่านี้อธิบายทุกอย่างว่าเป็นความสำเร็จส่วนบุคคล ฉันประสบความสำเร็จได้เพราะฉันเป็นคนดี ขยันหมั่นเพียร ฉลาด ฉันดีของฉันเอง คนจนที่จนดักดานอยู่อย่างนั้นเพราะตัวมันเองไม่รักดี ไม่ขยัน ขี้เกียจ โง่ ซึ่งในหมู่คนเลี้ยวขวาเหล่านี้จริงๆ ก็มีคนจน และก็รับเอาคำอธิบายเหล่านี้มาด้วย เช่น ฉันไม่เก่ง ไม่ฉลาด โดยปกติมวลชนเลี้ยวขวา มักจะเฉยชา ไม่สนใจการเมือง บ่อยครั้งไม่ไปเลือกตั้ง งานวิจัยของอาจารย์อภิชาต สถิตนิรมัย บอกว่าคนเมืองต่างหากที่ไม่ได้ไปเลือกตั้ง ไม่สนใจ ไม่แคร์ จึงไม่แยแสต่อการเรียกร้องต่อผู้ที่ด้อยอภิสิทธิ์ทางสังคม ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับชนชั้น และอธิบายว่าที่ไม่ทำเพราะเป็นกลาง เอาเข้าจริงแล้วคนพวกนี้ไปไหนก็ไม่มีใครเอา เพราะโง่เกินไป มองทุกอย่างเป็นเรื่องดี-เลว ข้อความที่คนเหล่านี้ส่งออกมามักเต็มไปด้วยความเกลียดชัง มองว่านักการเมืองน่ารังเกียจ เลวร้าย มวลชนสมัยฮิตเลอร์ก็ไร้เดียงสาทางการเมือง สมองเหมือนเด็กแรกเกิด ง่ายที่ผู้นำจะดึงคนเหล่านี้เข้ามาเป็นพวก รื้อถอนความคิดแล้วยัดความคิดลงไป เช่น สามัคคี ปรองดอง สันติ ไม่รุนแรง รักกันไว้เถิด โดยไม่ตั้งคำถามว่ามันคืออะไร ปัญหาคือเมื่อคนเหล่านี้ที่ไม่เคยสนใจการเมือง อยู่ๆ ก็มาตื่นตัวทางการเมือง พวกนี้แม้จะมีการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นแต่ไม่รู้สึกเป็นมิตรกับสังคมการเมืองเลย ช่างเสียเวลาเหลือเกินในการต้องมาให้ความสนใจทางการเมือง รู้สึกว่าเสียสละเวลามากที่ต้องมาเคลื่อนไหวต่อต้านคนเสื้อแดง แต่ความสนใจกระตือรือร้นจะเกิดเมื่อสังคมวิกฤต แต่ความที่คนเหล่านี้มองไม่เห็นว่าปัญหาทั้งหลายแหล่เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างเป็นความดีเลวส่วนบุคคล ไม่เห็นโครงสร้าง พวกนี้ต้องการวิธีรวดเร็ว ต้องการอัศวินม้าขาว รัฐประหาร ที่จะมากำจัดนักการเมืองที่เขาไม่ชอบไปอย่างรวดเร็ว พวกเขาไม่ปฏิเสธความรุนแรง และมองว่าระบบรัฐสภาที่เป็นอยู่ไม่มีความชอบธรรม แปลกปลอม และสิ่งที่เชื่อมโยงคนเหล่านี้ไว้อย่างมากก็คือชาตินิยม ดังนั้นทุกวันนี้เราก็จะเห็นบทบาทของมวลชนที่เลี้ยวขวาเหล่านี้คึกคักมากขึ้น เห็นการออกมากวาดถนน ชะล้างสิ่งสกปรกออกไปจากถนนอันเป็นที่รักของเขา วิกฤต ทำให้ผู้นำที่แข็งแกร่งเข้ามาเป็นอัศวินม้าขาว การรัฐประหารที่เกิดขึ้นก็คือสิ่งที่ทำให้เห็น ไปสู่เป้าหม่ายอย่างรวดเร็ว อะไรก็ได้ โดยเป้าหมายคือสังคมที่ดีงาม แม้จะกำจัดคนไปบ้าง หมอคนหนึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า เขาคือศัลยแพทย์หน้าที่คือตัดเนื้อร้าย คนเสื้อแดงคือเนื้อร้าย หมอในยุคนาซีก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ปัญหาคือพวกนี้มองสังคมว่าเหมือนองคาพยพ ซึ่งหากเอามาอธิบายสังคมมันมีปัญหามาก ทุกอย่างต้องทำงานสอดคล้องกัน เบื้องต้นถ้ามีปัญหาก็ใช้ยาเบา แต่ถ้าไม่หาย วิธีดีที่สุดคือ ตัดทิ้ง แต่ปัญหาคือสังคมไม่ใช่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตยที่ต้องเคารพความแตกต่างหลากหลาย ที่จะต้องทำให้กลุ่มต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีระบบป้องกันความขัดแย้งให้จัดการได้โดยสันติ ไม่ใช่การตัดทิ้ง เพราะคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิที่จะบอกว่าจะขจัดคนอีกกลุ่มหนึ่ง ท่าน ว.วชิรมธี ให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย เราคนไทยก็คิดว่าเสียงข้างมากนั่นแหละเป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐาน แต่ในประเทศต้นแบบของประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษก็ตาม ฝรั่งเศสก็ตาม หรือแม้แต่อเมริกาก็ตาม ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์ของสังคมซึ่งพัฒนาประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน เราก็จะเห็นว่าประชาธิปไตยคือระบอบที่เสียงประชาชนคือประชาชนที่รัฐบาลต้องรับฟัง และนั่นเป็นเสียงสวรรค์ด้วย แต่มีข้อยกเว้นว่าต้องเป็นเสียงของคนมีการศึกษา อาตมาเพิ่งกลับมาจากอเมริกา ตอนที่ไปก็ได้ไปดูงานเรื่องการทำประชาพิจารณ์ คนที่จะมาออกเสียงทำประชามติ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาแสดงประชามติ” คนสัมภาษณ์ก็ถามว่า อ้าว ไม่ใช่หนึ่งคนหนึ่งเสียงหรือคะ ท่าทางจะงงเหมือนกันว่า ดิฉันเรียนมาตลอดชีวิตเนี่ย ผิดหมดเลยเหรอ ดิฉันเข้าใจว่าท่าน ว.วชิรเมธีคงจะนั่งไทม์แมชชีนกลับไปที่อเมริกาที่ ศตวรรษที่ 19 สมัยซึ่งยังมีทาสระบบทาสที่ไม่ใช้ทุกคนจะมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงได้ คุณหมอประเวศพูดเรื่องสมานุภาพ บอกว่าสังคมต้องใช้นสมองส่วนหน้าแก้ปัญหา เพราะสมองส่วนหน้าเกี่ยวกับสติปัญญา ความมีน้ำใจ แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักใช้สมองส่วนหลังคืออารมณ์ ดิฉันฟังแล้วเอ๊ นี่มันทฤษฎีใหม่หรือเปล่าคะ แต่ปัญหาคือนี่คือคำพูดของบรรดานักปราชญ์ของไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของวาทกรรมโง่ จนเจ็บมาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือคนชนบทโง่ เป็นที่มาของอามิสสินจ้าง สำหรับนักปราชญ์เหล่านี้ นักการเมืองเลวคือปัญหาที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย สิ่งที่เรียกร้องคือคนดี และนักปราชญ์เหล่านี้มักเชื่อสนิทใจว่าตัวเองเป็นคนดี ดิฉันก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราถึงพูดเรื่องคนดีได้มากขนาดนี้ บรรดามวลชนก็จะชอบเพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดีด้วย แต่บรรดานักปราชญ์แห่งสยามมักไม่ตระหนักว่าวาทกรรมคนดีคนชั่วนั่นแหละคือปัญหาสำคัญของการเมืองในปัจจุบัน เพราะการแสวงหาความดีและเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี ทำให้คนเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องระบบ และไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านเสื้อแดงจึงชอบทักษิณ ชอบนักชอบหนากับวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ ขณะที่พวกเขาเห็นว่ามีแต่คนดีและคนเลว ดิฉันคิดว่านี่เป็นกำแพงที่แข็งแกร่งในการปิดกั้นการทำความเข้าใจคนเสื้อแดง เป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยมนุษย์ที่มาจากดาวสองดวง ไม่เข้าใจ สื่อสารกันไม่ได้ คนเหล่านี้ไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจความเจ็บปวดของคนเสื้อแดงที่ถูกสลายการชุมนุม พวกเขาจึงสามารถพูดเรื่องการปรองดองได้อย่างสนิทใจโดยไม่สนใจว่ารัฐกำลังทำอะไรกับคนเสื้อแดง ประจักษ์: ขบวนการประชาชน ไม่ได้เท่ากับประชาธิปไตยเท่านั้น อาจจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาก็ได้ อาจจะสนับสนุนรัฐบาล หรือเชียร์ให้รัฐบาลใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดก็ได้ เราอาจจะกำลังเผชิญกับสังคมเผด็จการอยู่ คือรัฐไม่อาจจะใช้อำนาจเผด็จการแบบนี้ได้หรอก ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมที่เป็นกองเชียร์ที่คอยสนับสนุนให้รัฐใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการปิดกั้นข่มขู่คุกคามคนที่เห็นต่างกับรัฐและตัวเอง เราอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากลัวเหมือนกัน เพราะเราอยู่ในสังคมที่คนจำนวนหนึ่งเชียร์ให้รัฐปราบปรามข่มขู่คุกคามคนที่เห็นต่างกับตัว นอกจากนี้คือกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ ก่อนที่จะฆ่าก่อนที่จะสร้างความรุนแรงทุกสังคมต้องทำสิ่งหนึ่งคือ การทำให้คนที่เห็นต่างกับเราด้อยค่าความเป็นมนุษย์กว่า ผมคิดว่าน่าตกใจที่กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคม มีความพยายามจาก ศอฉ. หรือมวลชนเฟซบุ๊ก ว่าคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นมนุษย์เท่าเรา บางเรื่องฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะใช้สมองส่วนหลัง ตอนที่พ.อ.สรรเสริญ พูดว่า คนเสื้อแดงปล้นเอาแต่ของกิน หนังสือไม่เอาไป คนเสื้อแดงไม่เอาไป ผมฟังแล้วสมองส่วนหลังพุ่งปรี๊ด แต่เพื่อนผมบอกว่า พ.อ. สรรเสริญไม่รู้อะไร ที่คนเสื้อแดงไม่เอาหนังสือไปเพราะหนังสือในเซเว่นมีแต่หนังสือดารากับหนังสือธรรมะ แต่ถ้ามาศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์อาจจะถูกขโมยหมดเลยก็ได้