รัฐบาลจุดพลุขึ้นมาตูมใหญ่
ประกาศเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย เพื่อวางรากฐานของประเทศกันใหม่ ภายใต้กรอบแผนปรองดองแห่งชาติ
หลังจากเกิดปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง สร้างความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรง
ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งและความแตกแยกขยายลุกลามไปเกือบทุกองคาพยพ ตั้งแต่สถาบันหลักระดับชาติลงไปจนถึงสถาบันระดับครอบครัว
จนก่อให้เกิดปัญหาวิกฤติความวุ่นวายในประเทศหลายครั้งหลายหน และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะล่าสุด กรณีม็อบเสื้อแดงภายใต้การนำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
บุกยึดสี่แยกราชประสงค์ชุมนุมขับไล่รัฐบาล กดดันให้มีการยุบสภา จนเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียจากการที่ฝ่ายทหารปฏิบัติการกระชับพื้นที่
มีการปะทะกับการ์ดคนเสื้อแดง และกองกำลังติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในม็อบ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นจลาจลเผาบ้านเผาเมือง
นับเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดจากเหตุ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ทั้งนี้จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศเดินหน้าแผนปรองดองแห่งชาติ
เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ และนำประเทศกลับเข้าสู่ความสงบสุข
โดยกรอบในการดำเนินการตามแผนปรองดอง ประ-กอบด้วยแนวทาง 5 ข้อ ได้แก่
การปกป้องพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์
การปฏิรูปสื่อสารมวลชนให้ทำหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลาง โดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ตและวิทยุชุมชน เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังกันในหมู่ประชาชน
การตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในห้วงที่มีการชุมนุมของม็อบเสื้อแดง โดยเฉพาะเหตุการณ์ วันที่ 10 เมษายน และเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม เป็นเหตุให้ทหารและผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะปัญหาของพี่น้องประชาชนในชนบท
การแก้ปัญหาของฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกติกาของรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องการถอดถอนสิทธิทางการเมือง และกติกาที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย
หวังใช้แผนปรองดอง 5 ข้อ แก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศ
นอกจากนี้นายกฯอภิสิทธิ์ยังประกาศเดินหน้า "ปฏิรูปประเทศไทย"
โดยจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่เชื่อมโยงกับภาคประชาชนเข้ามาร่วมวางแนวทางในการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน
ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพื่อกำหนดกรอบในการวางรากฐานของประเทศกันใหม่
เพื่ออนาคตของประเทศ และลูกหลานไทยในอนาคต
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงเรื่อง "ปฏิรูป" ถ้ามองย้อนกลับไป ในอดีต ต้องยอมรับว่าเคยมีการปฏิรูปกันมาแล้วหลายครั้งหลายหน
แต่ยังไม่เคยมีโรดแม็ปใหญ่ไปถึงขั้น "ปฏิรูปประเทศ"
การปฏิรูปที่เห็นกันชัดเจนที่สุดในห้วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็คือการปฏิรูปทางการเมืองเมื่อปี 2540
การปฏิรูปการเมืองครั้งนั้น มีสาเหตุมาจากปัญหาวงจรอุบาทว์ เนื่องจากนักการเมืองใช้เงินซื้อสิทธิ ซื้อเสียง
เมื่อผ่านการเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ก็ยังซื้อตำแหน่งเข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรี ใช้อำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์ ถอนทุน ทุจริตคอรัปชัน ฉ้อราษฎร์ บังหลวง โกงกินงบประมาณแผ่นดิน กอบโกยเงินทองเข้ากระเป๋าตัวเอง เพื่อตุนเอาไว้เป็นทุนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เมื่อวิกฤติโกงกินระบาดหนัก ประเทศประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง ประชาชนประสบปัญหาเดือดร้อน
กลายเป็นช่องทางให้ทหารเข้ามาปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง
จัดตั้งรัฐบาลทหารคุมอำนาจไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ปล่อยให้มีการเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งก็ ซื้อสิทธิซื้อเสียง เข้ามาโกงกินอีก แล้วก็ถูกปฏิวัติยึดอำนาจ จากนั้นก็เลือกตั้งกันใหม่
เป็นวงจรอุบาทว์วนเวียนอยู่อย่างนี้
ทำให้ประชาธิปไตยในเมืองไทยอยู่ ในสภาพล้มลุกคลุกคลานมาตลอด
จนทำให้เกิดกระแสปฏิรูปการเมือง ต่อต้านนักการเมืองทุจริตคอรัปชัน จนนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540
ที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ออกมาบังคับใช้
โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระต่างๆ ขึ้นมามากมาย อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมทั้งให้อำนาจวุฒิสภาในการลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อป้องกันวงจรอุบาทว์ ซื้อสิทธิ ซื้อเสียง ถอนทุน
ในช่วงแรกที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองใหม่ๆ นักการเมืองถึงกับผวาไม่กล้าใช้วิชามารในการ เลือกตั้งกันมากนัก
เพราะหวั่นเกรงการตรวจสอบขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
แต่ผ่านไปแค่ระยะเดียว นักการเมืองที่เชี่ยวชาญเรื่องการใช้กติการัฐธรรมนูญ ก็หาช่องทางเข้าไปแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระต่างๆไว้ได้
ใช้ความเป็นศรีธนญชัย พลิกสถานการณ์ ดึงเอาองค์กรอิสระมาเป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายตัวเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นก็อย่างที่เห็น พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช้อำนาจทุนดูด ส.ส. ดูดพรรคการเมือง เข้ามาผนึกจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ
คุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในรัฐบาลและเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาฯ
ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย มีการใช้ อำนาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเองและพวกพ้องอย่างโจ๋งครึ่ม
จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก และในที่สุดก็เกิด การรัฐประหาร ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
หลังจากนั้นก็มีการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มาบังคับใช้ เพื่อล้อมคอกพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีพฤติกรรมทุจริตอีกชั้น
มีการตัดสินยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคให้เห็นหลายพรรค ทั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย
ตามด้วยการดำเนินคดีต่างๆกับ พ.ต.ท.ทักษิณอีกหลายคดี มีการตัดสินจำคุกในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ และโดนยึดทรัพย์ฐานทุจริตต่อหน้าที่
ปมต่างๆเหล่านี้ได้ถูกนำไปปลุกระดมขยายผลโจมตีรัฐบาลในเรื่อง 2 มาตรฐาน และความไม่เป็นธรรม
กลายเป็นตัวเร่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัว ลุกลามกลายเป็นความแตกแยกในสังคม
จนทำให้เกิดวิกฤติม็อบเสื้อแดง และเหตุการณ์ความสูญเสียผู้คนบาดเจ็บล้มตาย จลาจลเผาบ้านเผาเมือง
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายในสังคมมองว่า หากปล่อยให้ความขัดแย้งและความแตกแยกดำเนินต่อไป
เป็นเรื่องที่อันตรายต่อประเทศไทย
เมื่อนายกฯอภิสิทธิ์ประกาศเดินหน้าแผนปรองดองแห่งชาติ และแผนปฏิรูปประเทศไทย สังคมส่วนใหญ่ จึงให้การขานรับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขยับแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆตามแผนปรองดอง อาทิ
คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจ สอบและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งชาติ ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน
คณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นประธาน
รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่มีนายอานันท์ ปัน-ยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายแพทย์ ประเวศ วะสี เป็นตัวหลักในการดำเนินการ
ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านออกมาจากฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่ม นปช. ที่เป็นเครือ-ข่ายภายใต้ บัญชาการของ "นายใหญ่"
โจมตีในเรื่องความไม่เป็นกลาง เอนเอียงเข้าข้างรัฐบาลพยายามลดเครดิตความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการเหล่านี้ตั้งแต่ต้น
แน่นอน แม้บุคคลที่เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการฯตามแผนปรองดอง และแผนปฏิรูปประเทศไทย จะเป็นคนหน้าเก่า ที่เคยใช้งานกันมาจนสึกกร่อน
แต่ก็ถือเป็นตัวเลือกที่สังคมส่วนใหญ่มองว่ามีประสบการณ์ และได้รับการยอมรับจากหลายภาคส่วนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าทำงานในการปฏิรูปประ-เทศในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกที่ฝังรากลึกในสังคม
การสร้างความปรองดอง และวางรากฐานประเทศกันใหม่ จึงต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย
และสุดท้ายแม้จะมีแผนในการปฏิรูปประเทศออกมาแล้ว แต่การปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา อาจเป็น 10 ปี หรือยาวนานเป็นชั่วอายุคน
ที่สำคัญ การปฏิรูปไม่ได้ขึ้นอยู่กับแผนเท่านั้น แต่มันขึ้นอยู่กับคน
วันนี้ แค่เริ่มต้นคิดจะปฏิรูปประเทศ ก็ยังมีคนบางกลุ่มขวางกันสุดฤทธิ์
ฉะนั้น คนรุ่นปัจจุบันจึงต้องตอบคำถามให้ได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่วันนี้ต้องการทำเพื่อตัวเอง หรือจะทำเพื่อคนรุ่นต่อไป.
ทีมข่าวการเมือง