ที่มา ไทยรัฐ
"จตุรนต์"ซัดแหลกปฏิรูป-ปรองดองเหลว "อานันท์-ประเวศ" ฝักใฝ่รัฐบาล อัด อภิสิทธิ์ชนเมินเสียงชาวบ้าน ฉะแหลก ชนชั้นนำหนุนเผด็จการ สังคมโลกผิดหวังไร้คนกลางสอบม็อบ...
วันที่ 20 มิ.ย. 2553 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี รับบทบาทเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย โดยมี นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการและราษฎรอาวุโสร่วมด้วย ว่า ทั้งสองคนนี้ ก็พูดเองอยู่แล้วว่า สิ่งที่จะทำ ไม่ได้เน้นเรื่องปรองดอง กลายเป็นจะแก้ปัญหาความหลื่อมล้ำต่าง ๆ ซึ่งพูดลักษณะกว้างมาก ๆ ไม่มีความชัดเจน และยังตัดบทเรื่องการปรองดองและประเด็นที่เป็นปัญหาที่มีสื่อมวลชนถามว่าจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำของไพร่กับอำมาตย์ ก็รีบบอกว่าไม่เกี่ยวเลย สะท้อนให้เห็นว่าไม่ต้องการที่จะรับรู้ปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริงของสังคมไทย การจะปฏิรูปโดยจะรวบรวมความคิดของภาคประชาสังคมบางฝ่ายมานั้นก็มีปัญหาทั้งเรื่องผู้ที่เป็นประธานทั้งสองในระยะหลัง ๆ มาท่านได้แสดงตัวในลักษณะที่เลือกข้างเลือกฝ่ายทางการเมืองชัดเจน และ มีแนวโน้มในการที่จะช่วยในการอนุรักษ์ระบบ กติกาต่างๆ ของสังคมปัจจุบันเสียมากกว่าที่จะมาดูว่าระบบกติกาเป็นปัญหาอยู่อย่างไร คงจะโยนไปให้คณะอื่น ซึ่งก็จะไม่ทำด้วย บุคคลทั้งสองฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจนแล้ว แสดงตัวอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายหนึ่งมาตลอด การที่จะทำให้เกิดการปรองดองจึงเป็นไปไม่ได้
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ความคิดที่จะปฏิรูปประเทศเป็นความคิดที่กว้างมาก การให้ทั้งสองคนนี้มาทำเรื่องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก สะท้อนถึงแนวความคิดแบบอภิสิทธิ์ชน ไม่ได้คำนึงถึงความเห็นของประชาชนผู้ลงคะแนน ทั้งที่การเมืองของไทยพัฒนาไปค่อนข้างมาก ประชาชนหวังพึ่งการเลือกตั้ง จะเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศไปอย่างไร เขาก็อยากให้รัฐบาลที่เขาเลือกมาแก้ไปตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ระหว่างหาเสียง แต่บุคคลทั้งสองท่านนี้มาทำในลักษณะจะรวบรวมคนที่ท่านเห็นว่าดี เหมาะสม คิดไปทางเดียวกันแล้วบอกว่าจะเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อใครเลย ก็มีปัญหาว่าจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่นายก ฯ แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือไม่ ถ้าไม่ตรงรัฐบาลจะสนับสนุนหรือไม่ จะรับผิดชอบอย่างไร ที่เริ่มพูดว่าต้องใช้เวลา 3 ปี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าอาจต้องข้ามหลายรัฐบาล ในขณะที่ระบบการเมืองของประเทศคนเขาคุ้นเคยและคิดว่าพอเลือกตั้งคราวหน้าเขาจะเลือกรัฐบาลมา ซึ่งอาจจะไม่ใช่รัฐบาลนี้ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกับแผนการปฏิรูปของทั้งสองคณะนี้จะทำอย่างไร รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจมีสิทธิที่จะผลักดันการพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆ ตามที่เขาได้สัญญากับประชาชนไว้ตอนหาเสียง
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นระบบความคิดคนละแบบ สะท้อนความคิดว่า นี่คือปัญหาของประเทศไทย ที่มีปัญหามาจนทุกวันนี้คือการที่คนส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะชนชั้นนำในสังคม อภิสิทธิ์ชนทั้งหลายไม่ยอมรับเชื่อถือการเลือกตั้ง ไม่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จะคิดอะไรให้เกิดการปกครองประเทศให้ดีได้ มีกลไกในรัฐธรรมนูญที่สามารถชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะเป็นนายกฯหรือรัฐบาลต่อไปได้หรือไม่ ระบบแบบนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองท่านนี้มาตลอด ทั้งนี้หากทบทวนจากคำพูดของนายกฯที่เสนอแผนปรองดองซึ่งลดลงมาจาก 9 เดือน ความจริงก็เหลือเพียง 4-5 เดือนเท่านั้น ที่ควรจะมีการเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสินเอง แต่วันนี้กำลังมาทำเหมือนว่าจะพาประเทศไปทางไหนก็ไม่รู้ แต่จะขอนำพาประเทศกันไปอีกหลาย ๆ ปี โดยไม่ให้ประชาชนผู้ลงคะแนนมีสิทธิมีส่วนอะไรเลย เป็นการมาสร้างความชอบธรรมในการซื้อเวลาให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้คนลืมประเด็นที่เป็นปัญหาต้นเหตุความขัดแย้งของสังคมไทย ทำให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพและลืมการให้ประชาชนเลือกตั้งตัดสินว่าใครควรเป็นรัฐบาล
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้ายิ่งมองไปที่คณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ จะมาดูแลแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ของนายคณิต ณ นคร แม้จะมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายดีมากคนหนึ่งของประเทศ แต่กำลังเจอปัญหา หาคนไม่ได้ และเพิ่งบอกว่าอาจจะไม่ได้มาตรวจสอบว่าใครผิดหรือถูกในเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ความคาดหวังของสังคมไทยและสังคมระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และรัฐบาลของต่างประเทศ เขาผิดหวัง ตกใจกันหมดว่าตกลงประเทศไทยจะไม่มีคณะที่เป็นอิสระน่าเชื่อถือที่จะมาทำความกระจ่างว่าใครผิดหรือถูก มีการสั่งให้ฆ่าคนหรือไม่ ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ในสายตาของต่างประเทศและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเขาถือว่าเมื่อรัฐเป็นคู่กรณีก็ต้องมีองค์กรที่เป็นกลางที่เชือถือมาตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ใช่ปล่อยให้รัฐทำเอง