ที่มา ประชาไท นักวิชาการกฎหมายและประวัติศาสตร์ประสานเสียง รัฐไทยละเมิดนิติรัฐ ใช้ความรุนแรงทำลายประชาชนปกป้องอำนาจ ระบุประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้รัฐละเมิดความเป็นมนุษย์ ระบบ ตุลาการไทยเป็นอิสระจากประชาชน ตรวจสอบไม่ได้
เพื่อไทย
Monday, June 21, 2010
รายงานเสวนา: นิติรัฐกับความยุติธรรมแบบไทย
งานเสวนาหัวข้อ “นิติรัฐกับความยุติธรรมแบบไทย” วันที่ 20 มิ.ย. 2553 เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาชุด “โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มิ.ย. 2553 โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาฯ มหิดล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิศักยภาพชุมชน ผู้ที่สนใจบทความวิชาการที่นำมาเสนอในการเสวนา สามารถติดตามได้จากwww.peaceandjusticenetwork.org
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ, จรัญ โฆษณานันท์ คณะนิติศาสตร์ รามคำแหง, พนัส ทัศนียานนท์ อดีต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. และอดีต สว. และ สสร. สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย กริช ภูญียามา จากคณะนิติศาสตร์ มธ.
000
“รัฐต้องมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นหิริโอตตัปปะ ในการใช้อำนาจ รัฐต้องสำนึกเสมอว่าความรุนแรงในการใช้อำนาจรัฐทั้งหมดมาจากประชาชน ถ้าเรามองว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การใช้อำนาจรัฐต้องมีฐานจากประชาชนเพื่อประชาชน แต่ถ้ารัฐใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องตัวเองและทำลายประชาชน นี่คือการทำลายหลักนิติรัฐ”
จรัญ โฆษณานันท์ คณะนิติศาสตร์ รามคำแหง
เมืองไทยเราพูดเรื่องนิติรัฐกันเยอะแยะมาก คล้ายกับเป็นวาทกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง ก่อน 19 ก.ย. 49 ก็มีคนมองว่าหมดสภาพนิติรัฐไปแล้ว ก็ควรทำรัฐประหาร พูดถึงนิติทรราชในยุครัฐบาลทักษิณ เช่นเดียวกัน หลัง 19 ก.ย. ไปแล้ว นิติรัฐก็หมดไป เสื้อแดงก็พยายามพูดถึงรัฐไทยใหม่ เพื่อสร้างนิติรัฐขึ้นมา ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันก็พยายามพูดถึงประเด็นการรักษานิติรัฐเอาไว้ จนหลายคนรู้สึกว่า คลั่งนิติรัฐหรือเปล่า เป็นการพูดที่ค่อนข้างคับแคบ เน้นการปฏิบัติตามกฎหมายและเชื่อฟังกฎหมายอย่างไม่มีเงื่อนไข
นอกจากนั้นมีบางคนทีพูดถึงนิติรัฐ ซึ่งเป็นนิติรัฐแบบอำมาตยาธิปไตยคือนิติรัฐแบบราชาชาตินิยม ผู้นำพันธมิตรท่านหนึ่ง ก็พูดถึงเสื้อแดงว่าไม่ยอมไปติดคุก ขณะที่ท่านบอกว่าพร้อมจะติดคุกเพราะทำตามคำพิพากษาซึ่งอยู่ภายใต้พระปรมาภิไธย การรักษานิติรัฐก็เป็นการติดคุกเพื่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พระปรมาภิไธยศักดิ์สิทธิ์ เป็นอุดมการณ์ราชาชาตินิยมซึ่งอยู่เบื้องหลังแนวคิดการเคลื่อนไหวของพันธมติร หลายฝ่ายพูดถึงนิติรัฐในฐานะที่เป็นวาทกรรมศักดิ์ สิทธิ์ สูงส่ง
แต่ประเด็นนิติรัฐและนิติธรรม หลายคนอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกันในทางประวัติศาสตร์ แต่ผมมองว่าเชื่อมโยงกัน มันเป็นอุดมการณ์ทางกฎหมายของโลกประชาธิปไตย และมีคนที่ทั้งเชื่อถือและไม่เชื่อถืออยู่ ที่ไม่เชื่อถือก็มีอยู่เยอะไล่มาตั้งแต่ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย สำหรับฝ่ายขวา พวกที่ต่อต้านเรื่องนิติรัฐ ถือว่าตัวบุคคลหรือกษัตริย์เป็นผู้ทรงคุณธรรมที่สุด นิติรัฐเป็นเรื่องการนำมาแอบอ้าง ฝ่ายซ้ายมีทั้งซ้ายกลางและซ้ายจัด ซึ่งถ้าเรามองนักกฎหมายที่รัยกว่าสัจนิยมทางกฎหมาย พวกนี้ไม่เชื่อเรื่องความยุติธรรม มองว่าคนที่ปกครองจริงๆ ไม่ใช่กฎหมายแต่คือตัวบุคคล โดยเฉพาะผู้พิพากษา อัยการ การใช้การตีความจะมีความไม่แน่นอน ผันแปรไปตามอคติ ที่สุดแล้วเป็นการปกครองด้วยตัวบุคคลมากกว่าตัวกฎหมาย แต่ถ้าซ้ายแบบมาร์กซิสม์มากๆ ก็มองว่านิติรัฐคล้ายๆ เป็นวาทกรรมอำพร่างเพื่อที่ผู้ปกครองจะใช้อำนาจ แต่เบื้องหลังคือเรื่องการเมือง การใช้อำนาจ ชนชั้น มีการเลือกปฏิบัติ การกดขี่โดยกฎหมาย เการกดขี่ในนามของรัฐเกิดขึ้นได้ ในรัฐทุนนิยม หรือเสรีนิยม
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดเราเองก็อยู่กับการปกครองด้วยกฎเกณฑ์มากกว่าตัวบุคคล แม้ว่าจะสร้างสังคมนิติรัฐที่สมบูรณ์แบบที่เกิดขึ้นได้ยาก เป็นอุดมคติที่สลัดไม่ออก
แล้วในที่สุดแล้วนิติรัฐคืออะไรกันแน่ มันหมายถึงรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายภายใต้ความเป็นใหญ่สูงสุดของกฎหมายที่เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยด้วย
องค์ประกอบของสิ่งที่เป็นหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม หรือนิติรัฐที่เป็นประชาธิปไตยมี 4 ประการ
1 หลักคุณค่าพื้นฐานของสังคมแห่งนิติรัฐ
2 สถาบัน การยึดมั่นในสถาบันที่สำคัญ โดยเฉพาะศาล
3 กระบวนการใช้อำนาจ
4 ประชาชน
ประการแรก หลักคุณค่าพื้นฐาน ต้องยึดมั่นในคุณค่าพื้นฐานเรื่องความเท่าเทียมเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคุณค่าพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตย สิทธิในการมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน สังคมที่มีนิติรัฐแท้จริงต้องยึดมั่นในหลักคุณค่าพื้นฐานนี่ นิติรัฐจึงไม่ใช่การใช้กฎหมายอย่างเอาเป็นเอาตายบ้าเลือดโดยไม่ตระหนักถึงคุณค่าพื้นฐานนี้
ประการที่ 2 สถาบัน ศาล ตุลาการ ต้องเป็นอิสระเป็นกลาง สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างแท่จริง ไม่ใช้ตุลาการภิวัฒน์
ประการที่ 3 กระบวนการ ต้องเป็นไปตามกระบวนการที่เป็นธรรม สังคมที่มีกฎหมายแต่กระบวนการไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม จับ คุมขัง โดยไม่ชอบมีการใช้ความรุนแรง โยกโย้ ดึงเรื่อง ถ่วงเวลา ปีกว่าแล้วก็ยังสอบสวนไม่เสร็จ ฟ้องร้องไม่ได้ อ้างว่ามีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าไม่ยุติธรรม
ประการที่ 4 ประชาชน ในตำราทั่วๆ ไปมักไม่พูดถึงประชาชน แต่ผมคิดว่าองค์ประกอบเรื่องประชาชนเป็นส่วนประกอบสำคัญของนิติรัฐ ต้องมีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง มีสำนึกในคุณค่าเกี่ยวกับสิทธิ ความเป็นมนุษย์ เคารพต่อกฎหมายต่างๆ ในสังคมที่มีนิติรัฐ ต้องมีภาคประชาชน หรือประชาสังคมที่เข้มแข็ง มีพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐได้อย่างกว้างขวาง เป็นอิสระไม่ถูกครอบงำ เพราะสังคมที่มีภาคประชาชนที่อ่อนแอย่อมเป็นการเปิดไฟเขียวให้กับรัฐ ตัวอย่างง่ายๆ คือ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ มีกรณีสงครามปราบปรามยาเสพติด ฆ่าตัดตอน ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อน จริงๆ แล้วมีอะไรที่เหนือกว่าทักษิณด้วย และที่ประเด็นคือ ประชาชนที่เกี่ยวข้องไฟเขียวให้ สำรวจทุกครั้งคนก็เห็นด้วย ฉะนั้นปัญหาที่ประชาชนไม่มีสำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นตัวผลักดันให้รัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบ กรณี 10 เม.ย. และ 19 พ.ค. ก็เช่นเกี่ยวกันที่ประชาชนไฟเขียวให้รัฐบาลปราบปรามประชาชน
รัฐต้องมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นหิริโอตตัปปะ ในการใช้อำนาจ รัฐต้องสำนึกเสมอว่าความรุนแรงในการใช้อำนาจรัฐทั้งหมดมาจากประชาชน ถ้าเรามองว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การใช้อำนาจรัฐต้องมีฐานจากประชาชนเพื่อประชาชน แต่ถ้ารัฐใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องตัวเองและทำลายประชาชน นี่คือการทำลายหลักนิติรัฐ
สำหรับเมืองไทย ปัญหาการดำรงอยู่ของนิติรัฐหรืออนิติรัฐ เกี่ยวพันกับปัญหาเชิงซ้อนสองประการ หนึ่งคือการครอบงำของโลกาภิวัตน์ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาทั่วไปของอุปสรรคในการสร้างนิติรัฐ เรื่องการครอบงำของทุน
สองคือ การครอบงำของสิ่งที่เรียกกันว่าอำมาตยาธิปไตย ราชาชาตินิยม เน้นเรื่องระบบอุปถัมภ์ ที่ต่ำที่สูง การไม่เคร่งครัดเรื่องการเลือกตั้ง การรัฐประหาร
เราถูกซ้อนทับด้วยระบบทุนนิยมตัวหนึ่งที่มีศักยภาพในการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันเราถูกซ้อนด้วยอำมาตยาธิปไตย
ปัญหานี้ปัจจุบันสะท้อนออกมาชัดเจนในยุคที่อภิสิทธิ์เป็นใหญ่มักมีการพูดถึงเรื่องการอ้างนิติรัฐมาเป็นเหตุผลในการใช้อำนาจต่างๆ แต่นิติรัฐแบบอภิสิทธิ์เป็นการเน้นเรื่องการใช้อำนาจอย่างเอาเป็นเอาตาย กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย การพูดแบบนี้ยุคสมัยของฮิตเลอร์นาซีก็พูดแบบเดียวกันโดยใช้กับยิว ขณะที่อภิสิทธิ์ใช้กับเสื้อแดง นี่เป็นปัญหาในการปฏิบัติที่เกิดขึ้น จึงมีลักษณะเป็นนิติรัฐแบบสองมาตรฐาน คือใช้กับคนกลุ่มหนึ่งแต่กับอีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะยักคิ้วหลิ่วตา
การที่อภิสิทธิ์พูดถึงนิติรัฐบ่อยๆ ผมคิดว่าไม่ใช่ มันเป็นอภิสิทธิรัฐมากกว่า คือเป็นรัฐแบบอภิสิทธิ์ มันสะท้อนความล้มเหลวแห่งหลักการทั้งหมด 4 ข้อที่ผมกล่าวมา
ประการที่ 1 อภิสิทธิ์รัฐไม่เคยสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เคยสนใจ สอง เรื่องศาล การใช้อำนาจตุลาการในเชิงการแทรกแซงการเมือบงต่างๆ ไม่ยึดหลักการ ตัดความอย่างไม่เป็นอิสระ เป็นการใช้อำนาจตุลาการตอบสนองราชาชาตินิยม
สังคมที่มีระบบตุลาการแบบราชาชาตินิยมยากที่จะสถาปนา หรืออ้างความเป็นนิติรัฐ และความไม่เป็นอิสระของตุลาการ ไม่ใช่ประเด็นที่เพิ่งเกิดในยุคทักษิณ แต่ความจริงแล้วเราอาจจะสาวย้อนกลับไปที่ยุคของกำเนิดอำมาตยาธิปไตยหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งมีการรองรับคณะปฏิวัติมาตลอด ฎีกาเหล่านี้ถือมาตลอดและเป็นคำพิพากษาฎีกาซึ่งเดิมมันสะท้อนแนวคิดแบบ ปฏิฐานนิยม แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ เบื้องหลังมันสะท้อนแนวคิดทางการเมือง มีสิ่งทีเป็นแนวคิดของอำมาตยาธิปไตยเบื้องหลัง ทำให้ตุลาการกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมืองและทำให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยเติบโตเรื่อยมาตั้งแต่ 2490
ปีที่แล้วเราก็มีคดีตากใบ ที่ศาลสงขลา ที่ไปไต่สวนการตายพบว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจ หลายคดี ศาลตัดสินในลักษณะที่ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นธรรม แฝงอยู่
ประการที่ 3 มีปัญหาเรื่องสองมาตรฐาน ทั้งเรื่องการจับ การค้น
ประการที่ 4 ประชาชนแตกแยกร้าวลึก ความเกลียดชังพัฒนาสูงขึ้น สังคมที่จะมีความคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ลึกๆ แล้วต้องมีความรู้สึกเมตตา มีความเข้าใจใจเขาใจเรา แต่ในภาวะเหลืองแดง ภาคประชาชนที่จะมีสำนึกสิทธิมนุษยชนไม่เกิด ทำให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นเสื้อแดง อีกส่วนหนึ่งเป็นเสื้อเหลือง และเสื้อเหลืองกลายเป็นรัฐไปในตัว เพราะถูกครอบงำโดยรัฐ และกลายมาส่งเสริมการปราบปรามประชาชนด้วยกัน ฉะนั้นสังคมที่มีความอ่อนแอ มีความแตกแยกทางความคิด ยากที่จะเป็นนิติรัฐได้อย่างแท้จริง
ในรัฐที่เป็นอภิสิทธิ์ แฝงไว้ด้วยอำนาจของทหาร แฝงอยู่ในรูปกฎหมายรัฐธรรมนูญ หลายๆ มาตรา และแม้แต่การใช้อำนาจทหารออกมาจัดการกับม็อบ ในสมัยรัฐบาลสมชายนั้น ไม่มีทหารออกมา แต่ครั้งนี้ทหารออกมาจัดการ
ประเด็นที่ผมอยากจะเสริมคือเรื่องการต่อต้านรัฐ ในนิติรัฐ และการก่อการร้าย และสาม ความรับผิดของทหารที่เกิดขึ้น
ประการแรก การต่อต้านรัฐในนิติรัฐ สังคมไทยอาจจะมองว่าไม่ปกติ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิทางศีลธรรม และเรื่องของการต่อต้านรัฐ มีการต่อต้านได้สามรูปแบบ สังคมไทยควรเรียนรู้ให้มากขึ้น ประการแรก ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ การเดินขบวน สอง คือการดื้อแพ่ง หรือที่เรียกว่าอารยะขัดขืน ต่อต้านโดยสันติวิธี อหิงสา และสามคือขบถกับรัฐ หรือการใช้อำนาจในการปฏิวัติรัฐบาลทรราช และสิทธิในการต่อต้านการรัฐประหารต่างๆ เป็นสิทธิที่เกิดเมื่อรัฐนั้นได้ละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรง เราอาจจะสงสัยว่าสิทธิมีอยู่จริงหรือ แต่จริงๆ แล้วมี แม้จะทะแม่งๆ ว่ากฎหมายอนุญาตให้ต่อต้านตัวเองหรือ สิทธิในการถืออาวุธนั้นรวมไปถึงการต่อต้านรัฐบาลที่ฉ้อฉล ฉะนั้นถ้าเราดูประเด็นสิทธิในการถือครองอาวุธปืนของสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าเราดูรากเหง้า เป็นสิทธิในการส่งเสริมการต่อต้านรัฐ เช่นเดียวกันในการประกาศสิทธิของฝรั่งเศส ก็ให้สิทธิต่อต้านการกดขี่
เราถอดแบบหลักของเยอรมันว่าไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 65 เรื่องการต่อต้านรัฐประหาร เป็นสิทธิที่สนับสนุนเรื่องการต่อสู้ของประชาชนเต็มที่ ในกรณีของไทย มาตรา 65 ผมไม่รู้ว่าเราดัดจริตเกินไปหรือเปล่าที่ว่าต้องต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งโอเคก็ดี ในหลักทางศีลธรรม และสังคมไทยก็มักจะพูดว่ารักสันติ แต่เอาเข้าจริงแล้ว สันติวิธีของไทยสองมาตรฐาน เพราะจริงๆ แล้วชนชั้นนำเราไม่สันติวิธีมาตลอด การปราบดาภิเษก การโค่นล้ม รุนแรงนองเลือดมาตลอด แต่พอชนชั้นล่างจะเคลื่อนไหวต้องสันติวิธี คือชนชั้นนำข้างบนรุนแรงได้ แต่ประชาชนต้องสันติวิธี ต่อต้านรถถังต้องสันติวิธี ผมคิดว่านี่คือความวิปริตอย่างหนึ่ง
ผมคิดว่าการใช้กำลังในการต่อต้านเผด็จการเป็นสิทธิทางศีลธรรมมากกว่าสิทธิทางกฎหมาย การใช้สิทธินี้ผู้ใช้สิทธิต้องมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมอย่างมาก ต้องคำนึงถึงน้ำหนักของผลลัพธ์และความตายของคนที่เข้าไปร่วมต่อสู้
ประเด็นที่สอง การก่อการร้าย โดยเฉพาะเรื่องคนชุดดำ ที่คุณสุเทพพูดตั้งแต่ 12 เม.ย. เป็นต้นมา พฤติกรรมของคนชุดดำ ที่ตีความว่าเป็นการตอสู้เจ้าพนักงาน เราสามารถตีความได้ว่าเป็นการป้องกันตัวเองหรือป้องกันประชาชน แต่ไม่ใช่การก่อการร้าย เพราะเป็นการปะทะกันของสองกองกำลัง ก่อการร้ายเป็นการสร้างภาพปีศาจให้คนเสื้อแดง ที่ผมบอกว่ามันไม่ก่อการร้าย เพราะผมอยากให้มองเชิงคอนเซปท์ ที่มุ่งก่อความรุนแรงเพื่อความสยดสยอง นี่เป็นการปะทะกันระหว่างกองกำลัง ไม่ได้ทำต่อผู้บริสุทธิ์
ผมคิดว่ากรณีภาคใต้รัฐไทยกลัว และต้องการสมานฉันท์ แต่กรณีเสื้อแดง รัฐบาลเกลียด เพราะคิดอะไรไปไกล รวมถึงข้อกล่าวหาเรื่องล้มเจ้า กรณีการก่อการร้ายว่าตามข้อกฎหมายมันไม่เข้า ถ้าเราดูมาตรา 135 วรรค 1 กำหนดไว้ในวรรคสอง ขู่เข็ญรัฐบาล และมุ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน ถ้าเอาสองประเด็นนี้ในจุดมุ่งหมาย มันไม่ได้เป็นการขู่เข็ญบังคับ ไม่ได้เป็นการสร้างความหวาดกลัว
ประเด็นสุดท้าย การเลือกปฏิบัติ ความรับผิดชอบของทหาร มาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เป็นบทยกเว้นความรับผิด เป็นไปตามเงื่อนไขสองประการ คือ ต้องเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติ สอง ต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุ และไม่เกินความจำเป็น ถ้าขาดไปข้อใดข้อหนึ่ง ผู้ใช้อำนาจมีความผิดทันที สิ่งที่เห็นชัดๆ คือเป็นการเลือกปฏิบัติ นายทหารคนไหนที่พูดเรื่องการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง หรือไม่ก็ลาออกไป ไม่เคยส่งทหารออกมาเลย ไม่ขยับเลย คนๆ เดียวกันปฏิบัติสองอย่าง เลือกปฏิบัติใช่ไหม มีความผิดไหม
000
“การกำหนดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ถ้าหากกฎหมายยังเป็นอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ และได้อำนาจมาอย่างใดก็ไม่สงสัยทั้งสิ้น ฉะนั้นโดยหลักนิติศาสตร์ไทยก็ล้มล้างหลักนิติรัฐอยู่ในตัวอยู่แล้ว แม้จะนำหลักมาไว้ในรัฐธรรมนูญมันก็ว่างเปล่า”
พนัส ทัศนียานนท์
รัฐไทยขณะนี่ไม่ใช่นิติรัฐที่แท้จริงตามหลักการของอาจารย์จรัญ แล้วเกิดคำถาว่า เมื่อไม่ใช่นิติรัฐอย่างแท้จริงแล้วไปกระชับวงล้อมแล้วมีคนตายแปดสิบกว่าคน เจ็บกว่าพันคน แล้วจะหาใครมารับผิดชอบ เมื่อเราบอกว่าขณะนี้รัฐไทยไม่ใช่นิติรัฐ การปฏิบัติของรัฐบาลก็ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามนิติรัฐ เมื่อฟังดูจากที่ท่านอาจารย์จรัญพูดมันเป็นสองมาตรฐาน คำตอบเบื้องต้นก็บอกว่ามันไม่ใช่นิติรัฐ ขณะเดียวกันมันเป็นนิติรัฐแบบไทยๆ บอกว่าทำตามกฎหมาย คือพรบ. ฉุกเฉิน ผมคิดว่าสิ่งทีเป็นปมเงื่อน ที่ทำให้คนไทยต้องปวดหัวกันมาตลอด เพราะว่า หลักนิติศาสตร์ไทยติดกับตัวเอง คือวางกับไว้สำหรับสุดท้ายก็คือดักตัวเองสำหรับนักนิติศาสตร์ทั้งหลาย
เมื่อถามว่าเรื่องนั้นสุดท้ายจะจบอย่างไร แล้วใครจะรับผิดชอบด้วยวิธีการอย่างไร โดยอาศัยหลักกฎหมายและหลักนิติศาสตร์ ผมเชื่อว่าขณะนี้รัฐบาลเองก็บอกว่าทำตามกฎหมายทุกอย่าง “Law is Law” และตัวกฎหมายที่สำคัญเขาบอกว่าเขาประกาศหรืออาศัยอำนาจตามพรก. ประเด็นสำคัญคือ พรก. มันขัดกับหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม
ผมคิดว่าขณะนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเรา ทันสมัยกว่า 2540 เพราะมีมาตรา 3 อยู่ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ฉะนั้นหากอาศัยบรรทัดฐานอย่างที่อาจารย์จรัญว่ารัฐนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม เพราะหลักการข้อ 1 รัฐบาลไม่ยอมรับทราบ ไม่ยอมรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ และจริงๆ แล้ว ตามรัฐธรรมนูญ สิทธิที่สำคัญที่สุด ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือสิทธิในชีวิต แต่ปรากฏว่าประกาศ พรก. ฉุกเฉิน สถานการณ์ที่ว่ามันเป็นสถานการณ์การยกเว้น หรืออย่างที่คุณอภิสิทธิ์เองอภิปรายไว้ในสภาเมื่อ 2548 คุณอภิสิทธิ์บอกว่าถ้าผ่านกฎหมายฉบับนี้ไป ก็เท่ากับเป็นการระงับใช้รัฐธรรมนูญนั่นเอง เท่ากับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้จะถูกลิดรอนหรือขจัดหมดสิ้นไปด้วยซ้ำ นี่เป็นสิ่งที่คุณอภิสิทธิ์แสดงความห่วงใยไว้ และ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ อภิปรายไว้อย่างรุนแรงว่า พรก. จะเป็นการทำลายประบอบประชาธิปไตยไทย เทียบเคียงได้กับกรณีที่ฮิตเลอร์ออกกฎหมายรับรองไว้ เท่ากับเป็นการอ้างหลักความถูกต้องตามหลักนิติรัฐ นี่คือสิ่งที่มีการพูดจากันไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นทัศนะของตัวท่านนายกอภิสิทธิ์เอง
ปมเงื่อนที่ทำให้นักนิติศาสตร์ไทยติดกับตัวเอง ผมคิดว่ามองย้อนกลับไปเลยไปไกลกว่าอาจารย์จรัญ ผมคิดว่าอำนาจตุลาการไทยที่ทำให้รัฐไทยไม่เป็นนิติรัฐ ผมมองว่าอำนาจตุลาการไม่เคยเป็นของประชาชนเลย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2575 จนถึงปัจจุบัน อำนาจตุลาการไม่เคยเป็นของประชาชนคนไทย แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยก็ตาม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลวงหรือเขียนรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ ตอนที่ผมไปร่าง รธน. 2540 ว่าอำนาจตุลการจะมีจุดยึดโยงอะไรกับประชาชนบ้างหรือเปล่า อย่างของอังกฤษขามีระบบลูกขุน แต่ของไทย อำนาจตุลาการเป็นอิสระอย่างแท้จริงจากประชาชน เพราะว่าเป็นองค์กรของราชาชาติธิปไตย การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระเจ้าอยู่หัว เดี๋ยวนี้เรามีศาลงอกออกมาจากเดิมที่มีแค่ศาลยุติธรรม มีศาลปกครอง มีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าสนใจมากที่สุดที่มาโยงเข้ากับนิติรัฐ
ศาลทั้งหลายส่วนใหญ่มาจากการคัดเลือกกันเอง ถ้าเป็นผู้พิพากษาต้องเรียนกฎหมายให้จบ สอบเนติฯ แล้วก็ไปเป็นผู้พิพากษา ระบบนี้เป็นการประกันว่าไม่ให้ใครเข้าไปแทรกแซง ระบบบริหารงานของตุลาการไทย ก็มีคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ คนอื่นเข้าไปยุ่งไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้จาก รธน. 2540 ต้องมีตัวแทนจากวุฒิสภาเข้าไป 2 คน ฉะนั้นอาจจะพอพูดได้ว่ามีจุดยึดโยงกับอำนาจประชาชนอยู่บ้างเหมือนกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางวุฒิสภา
ขณะเดียวกันการใช้อำนาจของศาล ศาลไทยเรานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักนิติศาสตร์เป็นหลักซึ่งวางรากอย่างมั่นคงมาจนปัจจุบัน เป็นหลักคิดทางกฎหมาย สำนักกฎหมายบ้านเมือง หรือ Positivism คือกฎหมายคือรัฏฐาธิปัตย์ ผู้เป็นรัฏฐาธิปัตย์คือผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ใครก็แล้วแต่หากสามารถเข้ามาปกครองบ้านเมืองได้ ไม่ว่าจะโยวิธีใด แม้แต่การทำรัฐประหารยึดครองอำนาจ ถ้าทำได้สำเร็จก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ปกครองได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
การกำหนดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ถ้าหากกฎหมายยังเป็นอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ และได้อำนาจมาอย่างใดก็ไม่สงสัยทั้งสิ้น ฉะนั้นโดยหลักนิติศาสตร์ไทยก็ล้มล้างหลักนิติรัฐอยู่ในตัวอยู่แล้ว แม้จะนำหลักมาไว้ในรัฐธรรมนูญมันก็ว่างเปล่า
และเมื่อคนบาดเจ็บล้มตายอยู่ขณะนี้ จะหาตัวคนเป็นฆาตกรมาลงโทษได้หรือเปล่า จะนำเข้ามาสู่ความยุติธรรมจะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเรายึดหลักนิติศาสตร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เกือบจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะ เราต้องมีอำนาจตุลาการหรือศาลที่เที่ยงธรรมและมีความเป็นอิสระ แต่กระบวนการยุติรรมแบบไทยๆ ก็เป็นอิสระอย่างที่กล่าวไป คือเป็นอิสระจากประชาชนโดยสิ้นเชิง และเมื่อท่านเป็นตุลาการภิวัฒน์ เป็นอำมาตย์ และจริงๆ แล้วท่านเป็นมหาอำมาตย์เลยทั้งสิ้น ฉะนั้นการที่ท่านจะมาบอกว่าฝ่ายบริหารทำตามหลักนิติรัฐและนิติธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้เลยอย่างสิ้นเชิง
สมมติว่ามีการนำคดีขึ้นไปสู่ศาลได้ ซึ่งเท่าที่ผมดู พรก. ฉุกเฉิน มันยังมีมาตรา 17 สมควรแก่เหตุและทำตามกรณีจำเป็น และเขาคุ้มครองว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐในการปฏิบัติตามพรก. ฉุกเฉิน อาจจะไม่สามารถไปฟ้องปกครอง แต่ในทางแพ่งและทางอาญายังเปิดช่อง ฉะนั้นหากมีการนำคดีไปฟ้องต่อศาล ทางแพ่งไปฟ้องมาแล้ว และปรากฏว่าเจ๊งมาเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเสื้อแดงก็พยายามไปฟ้องหลายอย่าง ท้ายสุดรู้สึกจะเป็นการขอความคุ้มครองไม่ให้รัฐบาลสลายการชุมนุม ศาลก็บอกว่าทำได้ ก็เหลือต้องไปที่ศาลอาญา และต้องดูพยานหลักฐานว่าใครก่อให้เกิดการสลายการขอพื้นที่คืน การกระชับวงล้อม คุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ ไก่อูอะไรทั้งหลาย แต่ว่า ศาลส่วนอาญาจะรับฟ้องหรือเปล่า เพราะศาลแพ่งบอกว่าเป็นดุลพินิจในการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร เท่ากับศาลบอกว่าศาลไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล
ท่านฟังแล้วอาจจะบอกว่าหมดท่า หมดประตูแล้ว สิ้นหวังแน่นอนแล้ว ผมว่ามันก็ริบหรี่เต็มทีแล้วละครับ เพราะถ้าศาลยังรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้ ผมคิดว่าศาลไทยคงจะสิ้นหวังเป็นแน่
สิ่งที่ผมจะบอกว่าสิ่งที่เราต้องมาช่วยกันดู ถ้าหากมีช่องทางบ้าง อย่างน้อยคนที่เป็นฆาตกรก็ไม่สมควรจะลอยนวล ไม่ว่าจะเป็นฆาตกรนิติรัฐ หรือนิติธรรม ก็ตาม ผมเองเป็นนักกฎหมายสำรักธรรมศาสตร์เราก็ถูกอบรมสั่งสอนมาว่า อะไรทีเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารแล้ว ศาลก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบ แต่พอจะตรวจสอบอะไรที่เกี่ยวกับเสื้อแดงสามารถเข้าไปใช้ดุลพินิจได้ทุกเรื่อง กฎหมายมันคลุมเครือก็พยายามตีความกฎหมายในลักษณะเติมความ เช่น กรณีเขาพระวิหาร ชัดเจนอย่างยิ่งว่าเป็นการเติมความ เป็นผลจากการที่เขียนกฎหมายอย่างคลุมเครือ ทำให้เกิดการตีความอย่างกว้าง
ถ้าศาลเป็นพวกรัฐบาล ท่านก็ไม่ควรพิจารณา ต้องคัดค้านผู้พิพากษาเหล่านี้ทั้งหมดโดยอ้างหลักนิติธรรม กฎหมายไม่ได้บอกว่าอะไรที่ให้เป็นอำนาจดุลพินิจของฝ่ายบริหารแล้วศาลจะเข้ามาไมได้เลย
พฤติการณ์หลายแหล่ ที่ยิงคนเป็นว่าเล่น โดยไม่ปรากฏว่าคนที่ถูกยิงตายเหล่านั้นมีอาวุธในการต่อสู้ชัดเจน ข้อเท็จจริงมันฟังได้แน่นอนว่าเกินกว่าเหตุ แต่จะมีช่องทางอย่างไรในการนำเรื่องขึ้นไปสู้การพิจารณา ต้องเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ เท่าที่ทราบองค์กรนิรโทษกรรมสากลมีข้อชี้แนะที่ผมเห็นว่าสำคัญอย่างยิ่ง คือเขาชี้แนะว่ามาตรา 17 ตามที่กำหนดไว้ตาม พรก. ฉุกเฉินน่าจะขัดกับหลักนิติรัฐ เพราะเป็นการกำหนดนิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้า การที่จะมีคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาก็น่าจะยกประเด็นเหล่านี้ ว่า พรก. ขัดกับ รธน.
เพิ่มเติมประเด็น มาตรา 17 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ต้องเพิ่มเจตนาสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินความจำเป็น การเตรียมการของฝ่ายรัฐบาลนั้น ผมเชื่อว่าเรื่องก่อการร้ายเขาเตรียมการตั้งแต่ต้นอยู่แล้วก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ไม่ใช่ฉุกเฉินธรรมดา ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย เขาถือว่ามีการก่อการร้ายเกิดขึ้นแล้ว แต่ข้อต่อสู้นี้จะเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ และหลังจากมีคลิปคนชุดดำ รัฐบาลเริ่มเรื่องการก่อการร้าย แม้รัฐบาลจะไม่พูดเรื่องคนเสื้อแดง แต่มาถึง 19 พ.ค.สุเทพพูดชัดเจนเลยว่าเป็นขบวนการเดียวกัน แต่ผู้ชุมนุมถูกหลอก ฉะนั้นโดยฐานะทางคดีหรือทางกฎหมาย ทางรัฐบาลเขาเตรียมการไว้อย่างดีเรียบร้อยแล้วครับ ฉะนั้นการใช้อำนาจของเขาตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้นไม่เกินจำเป็น ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องพยายามช่วยกันเอาใจใส่ให้มากๆ คือการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเมื่อเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้เตรียมการมาแล้ว โดยเฉพาะวันที่ 10 เม.ย. คุณอภิสิทธิ์มั่นใจมากว่าคนชุดดำเริ่มก่อน นั่นคือข้อต่อสู้ของเขาตั้งแต่แรก
ก่อนการสลายการชุมนุมวันที่ 19 ประกาศว่าต้องรักษานิติรัฐไว้ให้ได้ และประกาศวันหยุดราชการ และได้พยานบางคน โดยเฉพาะนายเมธีที่โยงไปสู่กองกำลังไม่ทราบฝ่าย ซึ่งก็คือกองกำลังของฝ่ายเสื้อแดงนั้นเอง และโดยเฉพาะศาลไทย เราก็รู้อยู่แล้ว ถ้าไปศาลอาญา เราก็ต้องช่วยกันภาวนาว่าจะมีตุลาการภิวัฒน์ในทางย้อนกลับ ซึ่งขณะนี้มีปรากฏการณ์มาบ้างแล้ว
แต่ที่น่าสนใจมากก็คือการที่องค์กรนิรโทษกรรมสากล เรียกร้องให้มีการสอบสวนกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ปรากฏชัดแล้วหากได้ความชัดเจนอย่างไรแล้วต้องมีการลงโทษ และไม่ใช่เพียงการลงโทษทางวินัยหรือทางแพ่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น แต่ต้องเป็นการลงโทษทางอาญาให้สมกับโทษานุโทษ ที่กระทำให้คนตายไปเป็นจำนวนมาก
การที่ไทยเข้าไปนั่งในสภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติตั้งแต่ 13 พ.ค. นั้น ก็มีความผูกพันตามพันธกรณี ฉะนั้นเวทีที่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่ง น่าจะเป็นเวทีที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเขามีองค์ประกอบเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ดูเหมือนว่าไทยนั้นไม่เข้าองค์ประกอบ
ยิ่งไปกว่านั้น มีดำริที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือนิรโทษกรรมเสื้อแดงที่ไปชุมนุม แต่โดยประเพณีคือนิรโทษกรรมหมดทุกฝ่าย ฉะนั้นโดยจุดประสงค์คือการนิรโทษกรรมให้ตัวเองและทหาร ซึ่งหากรัฐบาลไทยทำเช่นนั้น ถือว่าเป็นการทำผิดพันธกรณีในฐานะภาคีองค์การระหว่างประเทศ
000
“ผมคิดว่าต้องยอมรับว่าความอ่อนแอของสังคมเป็นปัญหาที่สำคัญ แต่ถ้าเราพูดถึงความอ่อนแอของสังคม ชนชั้นกลางไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักคนที่อยู่ร่วมกับสังคม ไม่เห็นหัว เราเห็นมหกรรมช็อปปิ้งครั้งแล้วครั้งแล้ว ถ้าผมชอบช็อปปิ้งผมมึน เป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือนักธุรกิจ ควรเยียวยาหรือเปล่า ควร คนจำนวนมากไมได้เป็นผู้ก่อเหตุ แต่คำถามคือว่า แล้วคนที่ตายล่ะ ผมคิดว่าถ้าสังคมไหนเห็นการช็อปปิ้งมีค่ามากกว่าชีวิต สังคมนั้นน่ากลัวนะครับ มันยากที่จะทำให้เราดำรงอยู่ได้อย่างสันติในอนาคต”
สมชาย ปรีชาศิลปะกุล
วิทยากรทั้งสามท่านเป็นวิทยากรที่ผมเคารพนับถือ อาจารย์พนัส แปลงานกฎหมายธรรมชาติ อาจารย์จรัญ เป็นคนที่สนใจเรื่องปรัชญากฎหมาย อาจารย์ไชยยันต์ ซึ่งสนใจด้านปรัชญากฎหมาย และสอนพิเศษให้กับ ม.เชียงใหม่ ทั้งสามคนจะมีประเด็นที่แตกต่างจากไอ้พวกนักกฎหมายที่พูดกันอยู่ มันน่ารังเกียจยังไงไม่รู้ ปกติผมเป็นคนสุภาพนะครับ ผมขอบ่นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ก็เพิ่งเขียนกันไป ขอโทษเถอะ คุณเพิ่งดวงตาเห็นธรรมอะไรกันเหรอ แล้วไปนั่งกันแบบภาคภูมิใจว่าบัดนี้เราได้ช่วยเหลือประเทศชาติให้ล่มจมลงไปอีกแล้ว ถือเป็นอาชีพที่รายได้ดี ไม่ต้องมีความรับผิดชอบ ร่างแล้วสังคมจะวิบัติขนาดไหน ไม่ต้องรับผิดชอบเลย เทียบกับนักการเมืองมาแล้วไป แต่เนติบริการนั้นไซร้อยู่ยั้งยืนยง
ผมขอพูดใน 3 ประเด็น
1 เรามองเห็นอะไรเกี่ยวกับการใช้กฎหมายหรือแวดวงกระบวนการยุติธรรมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
2 ภาวะแบบนี้เกิดได้อย่างไร
3 แล้วสังคมไทยจะไปข้างหน้ากันอย่างไร
ประการที่ 1เรามองเห็นอะไรกันบ้าง เราเห็นลักษณะเด่นๆ สามเรื่องคือ เรื่องแรก การใช้อำนาจรัฐที่พูดถึงการอ้างกฎหมาย คือเมื่อไหร่ที่ใช้อำนาจรัฐก็บอกว่าผมใช้อำนาจตามกฎหมาย ในแง่หนึ่งการใช้อำนาจที่เป็นไปตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือตัวเนื้อหาของกฎหมายไม่เคยถูกพูดถึงว่ากฎหมายที่เอามาใช้โอเคหรือเปล่า เป็นสิ่งที่ละเมิดต่อพื้นฐานหลักการสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า ไม่มีการพูดถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. ความมั่นคง หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
กฎหมายรักษาความมั่นคงฯ คุณอภิสิทธิ์ เคยให้ความเห็นคัดค้านอย่างแข็งขัน ว่ากฎหมายฉบับนี้มีปัญหาในแง่กระบวนการ และตบท้ายว่า เพราะไม่รู้ในอนาคตใครจะมาใช้และอาจจะมาใช้อย่างน่ากลัว เห็นด้วยครับ มึงน่ะแหละ
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ถูกกล่าวหาว่าละเมิดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร คนพิการโดน พรก. ฉุกเฉิน ตัวกฎหมายเปิดให้ใช้อำนาจมากขนาดนั้นหรือเปล่า แต่การอ้างอำนาจตามกฎหมายอย่างเดียวเป็นปัญหาแน่ๆ ฮิตเลอร์ก็ไม่ได้ฆ่าใครโดยไม่มีกฎหมาย
เรื่องที่สอง เลือกปฏิบัติ หรือสองมาตรฐาน จับคู่เลย ราชประสงค์กับยึดสนามบิน สมยศ กับหมอตุลย์ จอแดงจอเหลือง ยาบ้ากับตากใบ-กรือเซะ รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งกรรมการสอบสวนกรณีสงครามยาบ้า แต่กรณีตากใบ-กรือเซะควรทำด้วย หรือจีทีสองร้อยก็เช่นกัน เราเห็นการใช้กฎหมายเอียงข้างอย่างชัดเจน
เรื่องที่สาม กระบวนการยุติธรรม ซึ่งซ้ำเติมสองมาตรฐานให้แรงขึ้นไม่ว่าจะในแง่ของแนวโน้ม คุณภาพคำตัดสิน บุคลากรที่เกี่ยวกับคำตัดสิน ก่อนหน้านี้ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมเอียงข้างเข้าหาอำนาจรัฐ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าไม่ใช่ แต่รัฐนั้นต้องเป็นรัฐที่ตอบสนองจุดยืนหรือผลประโยชน์ของตน ฉะนั้น รัฐบาลคุณสมัคร การตีความจึงพิสดารไปแบบหนึ่ง อภิสิทธิ์เป็นอีกแบบ นี่เป็นปัญหาสำคัญนะครับถ้าตัวกระบวนการยุติธรรมเราสามารถทำนายผลคำตัดสินล่วงหน้า จริงๆ ผมอยากจะคาดเดาด้วยซ้ำคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ผมคิดว่าเราเห็นสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล
เราอยู่ภายใต้ภาวการณ์แบบ “มาร์คเคลเวลเลียน” คือ “การดำรงอยู่ของรัฐบาลสำคัญที่สุด อั๊วไม่ยุบสภา อั๊วผสมกับใครก็ได้” แมคคิอาเวลลี กล่าวว่า เราทำชั่วได้แต่ต้องทำให้เหมือนเราเป็นคนดี แต่มาร์คเคลเวลเลียนบอกว่าเราไม่ได้ฆ่าคน เราขอกระชับพื้นที่ ผมกำลังเขียน คู่มือผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ประเด็นที่ 2 ภาวะแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ประการแรก ผมคิดว่าต้องยอมรับว่าความอ่อนแอของสังคมเป็นปัญหาที่สำคัญ แต่ถ้าเราพูดถึงความอ่อนแอของสังคม ชนชั้นกลางไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักคนที่อยู่ร่วมกับสังคม ไม่เห็นหัว เราเห็นมหกรรมช็อปปิ้งครั้งแล้วครั้งแล้ว ถ้าผมชอบช็อปปิ้งผมมึน เป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือนักธุรกิจ ควรเยียวยาหรือเปล่า ควร คนจำนวนมากไมได้เป็นผู้ก่อเหตุ แต่คำถามคือว่า แล้วคนที่ตายล่ะ ผมคิดว่าถ้าสังคมไหนเห็นการช็อปปิ้งมีค่ามากกว่าชีวิต สังคมนั้นน่ากลัวนะครับ มันยากที่จะทำให้เราดำรงอยู่ได้อย่างสันติในอนาคต แบบนี้ หลังพ.ค. 2535 มีคนตายจำนวนมาก มีการใช้กระบวนการทางศาลเพื่อเรียกร้องการเยียวยาสิทธิให้ผู้ตาย ซึ่งเสียงชนชั้นกลางดัง ศาลสูงบอกว่าไม่ เมือมีนิรโทษกรรมแล้ว ไม่มีใครต้องรับผิด แต่สำหรับเหตุการณ์ที่เพิ่งจบลง อย่าไปคาดหวังเกี่ยวกับคำตอบเลย แค่ทำให้เป็นคำถามขึ้นก็ยากแล้ว คนทุกคนต้องตาย แต่ความหนักเบาของคนตายไม่เท่ากัน บางคนตายเสียงดัง บางคนตายเหมือนขนนก บางคนตายไม่มีความหมาย ตราบใดที่ไม่เรียนรู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม...
ประการที่สอง มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น ในห้วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา เรามีกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐเขียนขึ้นอย่างกว้างขวาง เช่น ปปง. พรก. ฉุกเฉิน พรก. คอมพิวเตอร์ และโดยที่เราคิดว่าจะใช้กฎหมายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับอะไรๆ ที่ไม่ดี แต่กลายเป็นว่ากฎหมายพวกนี้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ฉะนั้นการใช้อำนาจของรัฐบาลทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะคนพวกนี้เฮงซวย แต่มันมีโครงสร้างทางอำนาจมารองรับการใช้อำนาจของรัฐบาลอย่างไม่สิ้นสุด เราต้องตะหนักกฎหมายแบบนี้มากขึ้น
ประการที่สาม กระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ความสามารถของสังคมไทยในการกำกับกระบวนการยุติธรรมน้อยมาก กต. มีคนจากนอกแวดวงกฎหมายน้อยมาก โดยตัวระบบเปิดโอกาสให้สังคมกำกับการทำงานได้เท่าที่ควร ทำให้ตำรวจและศาลจะเอียงได้
และอำนาจในการกำกับในทางสาธารณะก็อ่อนมาก ความสามารถในการวิจารณ์ศาลของสังคมไทยต่ำมาก เช่น ศาลนัดคู่ความนัดเก้าโมง ศาลขึ้นบัลลังก์สิบโมง ทำให้เราเห็นอะไรแปลกๆ ในศาล เราทำโครงการคอร์ทวอช เพราะศาลต้องเปิดเผย ใส แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ มีคนนอกไปฟังศาลเรียกเจ้าหน้าที่มาถาม นี่ใคร
เราจะทำให้เกิดการปรับตัวได้อย่างไร ทำให้สังคมกำกับและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลได้อย่างไร เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ศาลและคำพิพากษานั้นสำคัญ กรณีศาลอเมริกาขยายการตีความเรืองการถือครองอาวุธของประชาชน หนังสือพิมพ์วิพากษ์ว่าจะคำพิพากษาของศาลจะทำให้สังคมนองเลือด ถ้าเป็นที่เมืองไทย หนังสือพิมพ์ต้องโดนจำคุกข้อหาหมิ่นศาลก่อนหกเดือน
สิ่งที่เราเห็นวันนี้คือเราเห็นคนในองค์กรยุติธรรมออกมาพูดอะไรก็ไม่รู้เพราะการกำกับน้อยมาก เราต้องปรับเปลี่ยน
ประเด็นสุดท้าย สังคมไทยจะไปข้างหน้ากันอย่างไร ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ยุ่งยาก แล้วเราจะทำอะไรกันบ้างให้สังคมไทยนี้มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นบ้าง ผมคิดว่า เร่าจะต้องคืนชีวิตให้คนที่ตาย คือ เราต้องทำให้คนที่ตายถูกทำให้มีความหมายมากขึ้น เขาคือใครมาจากไหน ตายด้วยเหตุอะไร เรากำลังปล่อยให้คนตายไร้ความหมาย ถ้าเราทำให้คนตายมีชีวิตกลับมา ทำให้เป็นที่รับรู้ มันจะทำให้เราสามารถเริ่มทำให้เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้ และสิ่งที่ต้องผลักดันคือ เสรีภาพในการแสดงความเห็น ผมคิดว่าเราต้องยืนยัน ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องคิดคือทำอย่างไรให้มีการประกาศยกเลิกกฎหมาย ฉุกเฉิน ความมั่นคง ทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกลับคืนมาก่อน ก่อนที่จะทำให้เราสามารถสร้างความรู้และขอเท็จจริงได้
กฎหมายจะยกเลิกได้คงต้องใช้เวลา แต่การยืนยันของสื่อมวลชนของคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยคือเราต้องท้าทาย คือกฎหมายจะเลิกหรือไม่เลิกเรื่องของมึง เราต้องพูดเรื่องเสรีภาพ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ แต่พูดอย่างตรงไปตรงมาเราต้องระวังไว้บ้างและจะต้องสร้างหลักนิติธรรมทางสังคมขึ้นมา ไม่ว่ารัฐจะประกาศใช้กฎหมายห่าเหวอะไรก็ตาม มันดูเป็นไปได้น้อย แม้แต่กับตุลาการ มันก็มีการตีความที่พิสดาร แต่ก็ต้องระวังว่าอย่าไปมีชื่อต่อท้ายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือสมยศ พฤกษาเกษมสุข
000
“สิ่งที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ และราชดำเนิน มันทำร้ายประชาชน มันขัดกับ The Rule of Law ทำในนามพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด แต่ไม่ใช้ในนามของนิติธรรมและนิติรัฐ ถ้าศาลตัดสินแบบนี้เราก็ควรจะเอาศาลมาขึ้นศาล และคำถามต่อไปคือว่า ใช่เราจะต้องเชื่อฟังกฎหมาย แต่เราจะหากฎหมายนั้นได้อย่างไร เพราะบางสิ่งนั้นไม่ใช่กฎหมาย มันเป็นแค่ พรก. ฉุกเฉิน”
ไชยันต์ รัชชกูล ม.พายัพ
ผมเริ่มง่ายๆ ว่าหากมีคนตายแปดสิบกว่าศพ แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันต้องมี Something seriously wrong กับสังคมไทย และไม่ใช่แค่อภิสิทธิ์ และสุเทพ ไม่ได้ด้วยซ้ำ แสดงว่ามีคนให้ท้ายเขา สมรู้ร่วมคิด เห็นด้วยและผลักดัน เชียร์ให้เขาปราบ ส.ส. ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอันจะกิน คหบดี นักธุรกิจสีลม มัน seriously wrong กับคนเหล่านี้ด้วย
คำว่า กฎหมายที่เป็น Law มันมีความหมายต่างกับ l ตัวเล็กนะครับ สองคนนี้ต้องมีปัญญาที่จะแยกตัวเล็กกับตัวใหญ่ The Rule of Law กฎหมายเล็กๆ ต่างๆ ต้องขึ้นกับกฎหมายตัวใหญ่
ความจริงแล้วเราต้องเอาศาลขึ้นศาลด้วยในบางกรณี เปรียบเทียบง่ายๆ เราพูดที่ธรรมศาสตร์ เราพูดถึงนิติธรรม ถ้าพูดถึงนิติธรรม นิติรัฐต้องอยู่ใต้นิติธรรม เหมือนคณะนิติศาสตร์ ต้องอยู่ใต้ธรรมศาสตร์ นี่คือ The Rule of Law
แต่ The Rule of Law ศาลจะตีความอย่างหนึ่งว่านิติรัฐเป็นอย่างนี้ ไล่ๆ ไป อาจารย์จรัญบอกว่า Law is Law ถามว่า Law ที่มีอยู่มี Law ที่เลวไหม แล้วมีไหมที่ควรทำจะแต่ยังไม่มีกฎหมาย แล้วกฎหมายที่ไม่ดีมีไหม เราต้องแก้ได้ ปรับได้ ยกเลิกได้ We cannot be always law
ในแง่ภายในกรอบของกฎหมาย ในฐานะที่เป็นระบบกฎหมายในความหมายแคบ ความหมายเฉพาะที่กำหนดเรื่องกระบวนการ เรื่องหลักการตีความ ฯลฯ แต่มี The Rule of Law ในความหมายกว้าง ข้อสำคัญประการหนึ่งคือการที่จะป้องกันไม่ให้อสูรมาทำร้ายประชาชน คือจะทำร้ายชีวิตประชาชนไมได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ และราชดำเนิน มันทำร้ายประชาชน มันขัดกับ The Rule of Law ทำในนามพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด แต่ไม่ใช้ในนามของนิติธรรมและนิติรัฐ ถ้าศาลตัดสินแบบนี้เราก็ควรจะเอาศาลมาขึ้นศาล และคำถามต่อไปคือว่า ใช่เราจะต้องเชื่อฟังกฎหมาย แต่เราจะหากฎหมายนั้นได้อย่างไร เพราะบางสิ่งนั้นไม่ใช่กฎหมาย มันเป็นแค่ พรก. ฉุกเฉิน
ผู้พิพากษาก็ควรได้รับการพิพากษา อำนาจนั้นต้องแยกกัน ถ้าแยกกันแล้วจะเอาอะไรผิดอะไรถูก ไอ้การที่เราเรียกว่าThe Separation of Powers เขาก็จะบอกว่าเพื่อให้สมดุล ผมก็ไม่เข้าใจ เพิ่งเร็วๆ นี้เอง ผมเพิ่งเข้าใจคือ ปัจจุบันในสังคมไทย เราจะเห็นมากเลยว่าทำไมอำนาจไปทางเดียวกันหมด สื่อก็ไปทางเดียวกัน พวก ส.ส. รัฐบาลก็ไปทางเดียวกัน พวกคหบดีทั้งหลาย รวมทั้งผู้มีอันจะกินก็ไปทางเดียวกัน คนจำนวนหนึ่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็คิดไปเช่นนั้น ไปทางเดียวกัน จะพูดเลยก็ได้ว่า อำนาจตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ อำนาจทางสังคม อำนาจในการสื่อสาร ตอนนี้มันเป็น Unification ของหลายๆ อำนาจแม้แต่ประชาสังคม ซึ่งกำลังตื่นเต้น ดี๊ด๊ากันใหญ่ สิ่งที่ผมอยากจะแบ่งปันคือ ทำไมเราต้องแบ่งแยกอำนาจเหล่านี้ แล้วมีอำนาจอะไรที่เหนือกว่าอำนาจเหล่านี้หรือไม่ มีอำนาจอะไรที่เหนือนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อำนาจอะไรที่ควรจะเป็นคืออำนาจอะไร รัฐธรรมนูญเขาก็เขียนนี่ครับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน อำนาจที่เหนือกว่าสามอำนาจนี้ ควรจะได้ใช้อำนาจเพื่อควบคุมอำนาจทั้งสามนี้ ตอนนี้เหลือแค่อำนาจนิติบัญญัติถึงได้มีการเรียกร้องเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมอำนาจบริหารได้ มีสภาที่ใหญ่กว่านั้นอีก แต่ที่คุมไม่ได้เลยก็คืออำนาจปวงชนไม่ได้คุมอำนาจตุลาการ อำนาจศาลจะต้องเป็นประชาธิปไตย หรือเราจะต้อง Democratizing the Juridicial มีหลายประเทศที่จะต้องโยงตั้งแต่ศาลแขวงระดับเล็กๆ ที่ประชาชนต้องควบคุม และนี่ทำให้นิติรัฐเป็นนิติรัฐ และเป็นนิติธรรม
ประเด็นสุดท้าย แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้ น้ำหนักของความตายมันไม่เท่ากัน 88 คนตายไม่สำคัญเท่าน้องโบว์นะครับ มันลดหลั่นกันไปแต่ละชั้น
กลับมาประเด็นที่ว่าเราต้องมีลำดับการพิจารณาเป็นชั้นๆ ไม่ใช่กฎหมายต้องเป็นกฎหมายนะครับ เป็นมาตรการที่ไม่ได้ไปไหนเลย มีอะไรที่เหนือกว่ากฎหมาย ศีลธรรม ความถูกต้องต้องเหนือกฎหมาย เพรากฎหมายไม่ถูกต้องก็ได้ เราไม่ต้องถึงพระเจ้าหรอกครับ แต่มีหลักการนักประชาธิปไตย ว่าหลักการของกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อ อิสระและเสรีภาพของปวงชนLiberty อิสรเสรีภาพ ต้องมาสูงสุด กฎหมายอันใดที่ขัดกับสิ่งนี้ ต้องถือว่า Unconstitutional คือการล้มมูลฐานของกฎหมายทั้งปวง
สอง คือสิทธิทั้งหลาย สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ สาม การที่จะดำเนินชีวิตอย่างผาสุก ถ้าหลักการของกฎหมายไม่เป็นไปเพื่อสามข้อนี้ ก็ถือว่ามีอะไรบางอย่างผิดพลาดเกี่ยวกับกฎหมาย
ประเด็นเรื่องการมีอาวุธ ในสหรัฐมีใบอนุญาตให้มีอาวุธ แต่บางประเทศอื่นห้ามเด็ดขาด ห้ามแสดงการมีอาวุธที่ตัว แต่หากโยงเรื่องปัญหาการก่อการร้ายกับการมีอาวุธ กรณี Civil Right Movement กลุ่มที่เรียกร้องติดอาวุธเพราะว่ามีกลุ่มในสหรัฐที่รังเกียจคนดำ ฉะนั้นขบวนการเคลื่อนไหวเขาติดอาวุธเพื่อป้องกันตัว และปรากฏว่าการติดอาวุธของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการลด เป็นการปรามให้อีกฝ่ายหนึ่งยับยั้งชั่งใจในการทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ทำไมสหรัฐคิดอย่างนี้ว่าติดอาวุธได้ เราย้อนกลับไปว่ามีคนอเมริกันเป็นจำนวนมากที่เป็นโปรแตสแตนท์ มีการฆ่าหมู่ครั้งประวัติศาสตร์เนื่องจากฝ่ายโปรแตสแตนท์ถูกคาทอลิกฆ่าถึงสองหมื่นคน และได้สรุปบทเรียนว่าเพราะไม่ได้ติดอาวุธ ขณะที่บางประเทศติดอาวุธไมได้เด็ดขาด เรากลับมาพิจารณาที่หลักการประชาธิปไตย ก็คือการให้ต่อสู้กัน คุณจะจัดตั้งได้ไหม เป็นองค์กรขึ้นมา คุณจะมีกำลังทรัพย์ของตัวเองได้ไหม คุณจะมีความคิดที่ตรงข้ามกับรูปแบบของรัฐนั้นที่มีอยู่ได้ไหม คุณจะมีการโฆษณาทางความคิดได้ไหม ได้ ยกเว้นอันเดียว ห้ามมีอาวุธ เพราฉะนั้นพรรคการเมืองมีอาวุธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันตัวหรือไม่
แต่เมื่อห้ามอาวุธ แต่ต่อสู้ได้ กติกาคือฝ่ายรัฐก็ต้องไม่ใช่อาวุธกับประชาชน แต่เมื่อมีการปราบปรามก็มีการใช้อาวุธที่ไม่ถึงชีวิต อย่างกรณีอังกฤษ เขาใช้ตำรวจขี่ม้า แล้วมีกระบอง มีเหตุการณ์หนึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างคนประท้วงกับคนที่อยู่บนหลังม้ามีคนเสียชีวิตเพราะม้าตื่น ถือว่าการขี่ม้าเป็นอาวุธชนิดหนึ่งได้ เพราะมันอันตราย ทำให้ตอนหลังมาการปราบปรามประท้วงเขาใช้ม้าน้อยมาก
แต่ก็มีบางกรณีในไอร์แลนด์เหนือ สาธารณชนในอังกฤษบางส่วนยังเห็นด้วยว่าตำรวจต้องติดอาวุธเพราะฝ่ายไออาร์เอ ก็มีอาวุธ และไม่ปฏิเสธ ฉะนั้นการให้ฝ่ายรัฐบาลมีอาวุธก็ไม่ถึงกับชอบธรรม แต่เข้าใจได้
ทีนี้กรณีของไทย อาวุธที่เขาใช้ มีภาษาอังกฤษติดเลย “Live Firing Zone” แล้วเขาก็ไม่อายเลย ติดอยู่ตรงประตูน้ำ ติดเป็นภาษาอังกฤษด้วย และใช้กองทัพที่เต็มที่นะครับ ใช้รถถัง จัดการกับป้อมไม้ไผ่ที่ราชประสงค์ ผมชอบมาก อยากเห็นอีก บางคนบอกจบหน้านาจะมาใหม่ขอให้จริงเถอะ
การที่ใช้รถถังออกมา ละเมิดข้อตกลงพื้นฐานของกติกาประชาธิปไตย การอ้างชุดดำ นอกจากวันที่ 10 เม.ย. แล้ว วันที่ 19 พ.ค. มีทหารคนไหนตายบ้าง มาตรฐานคงเส้นคงวา ไม่ลักลั่นคือ กูทำอะไรก็ได้ แต่มึงต้องทำอย่างที่กูบอก
การพูดถึงนิติรัฐ ไม่ใช่แค่สิ่งที่รัฐจะทำกับประชาชน แต่รัฐและสังคมต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน กฎนี้ต้องควบคุมรัฐด้วย ไม่เช่นนั้นจะบิดเบือนไปเลย
ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะเปิดอกก็คือ ตอนนี้อย่างที่เราทราบ เราทุกท่านทราบดีถึงความแตกแยกในสังคมไทย ส่วนหนึ่งการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์และราชดำเนินปีที่แล้ว คนเสื้อแดงชุมนุมได้เป็นความสำเร็จของคนที่ต่ำต้อยน้อยหน้า นี่ไม่ได้เป็นวิกฤตอะไรเลย การอยู่เฉยๆ ให้เขาเหยียบสิครับถึงจะเรียกว่าวิกฤต แต่ตอนนี้หน่วยทางสังคมไทยที่แตกแยกออกเป็นสองข้างเป็นอย่างนี้หมด ตอนนี้เป็นเวลาที่เรามาเช็ดน้ำตาเช็ดเลือดกัน ทำยังไงที่เราจะมีวิธีที่จะต่อสู้กันโดยไม่ให้เลือดตกยางออก ขอให้หลายๆ ฝ่ายมาร่วมคิดกัน ไม่ใช่มาดีกันเกี่ยวก้อยเหมือนเด็กประถม แต่อยากจะมาคุยกันว่าเราจะมาสู้กันอย่างไร โดยไม่ให้ถึงขั้นที่จะต้องฆ่ากัน อาจจะมีบาดเจ็บ ด่าทอ ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ และถ้ามีการต่อสู้กันอีก ซึ่งก็หวังไว้เช่นนั้น ขอว่าอย่าใช้รถถัง อาวุธหนัก อาวุธสงครามเมาปราบปราม แต่อย่าให้มนุษย์ของเราและอย่าให้คนของเราเป็นผักเป็นปลากันต่อไป หลักคือต้องรักษาชีวิต และวาระซ่อนเร้นคือถ้าสู้กันอย่างนั้นเราสู้เขาไม่ได้
อภิปราย
ประชาชนผู้ร่วมเสวนา: ผมอยากให้จัดงานนี้ให้กับชนชั้นล่าง เพราะเขาคือคนที่ขับเคลื่อน แต่เขาขาดความรู้ทั้งแง่กฎหมาย ถ้าสามารถไปติดพลังให้พวกเขา เขาจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่าให้เขาเป็นขนนกไปตลอดชีวิตเลยครับ
ประชาชนผู้ร่วมเสวนา: ประชาชน ตั้งแต่เลือกตั้งมา ไม่เคยมีที่ระบบอำมาตยามีอำนาจมากขนาดนี้ เหตุการณ์พฤษภามหาโหดเหมือนหกตุลาเลยครับ ที่สำคัญคือหลังจากปฏิบัติ 19 กันยา ก่อนปฏิวัติ อำมาตยาได้ฟื้นอำนาจขึ้นมาอย่างน่ากลัวมาก ทั้งทางกายภาพ คือรัฐธรรมนูญ และคนที่ไปวางไว้ในกระบวนการยุติธรรม และที่สำคัญคือการฟื้นอำนาจในทางความคิดจิตวิญาณที่สามารถดึงกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยได้มาก และกลุ่มนี้เป็นพลังสำคัญที่คอยสร้างความชอบธรรมให้ หนังสือพิมพ์บางฉบับถึงขนาดตั้งคอลัมน์ใหม่ คือตุลาการภิวัฒน์ เผยแพร่ความคิดให้สังคมหลงใหลได้ปลื้มไปกับตุลาการภิวัฒน์
การทีอภิสิทธิ์ได้รับการโหวตในสภาเป็นการรัฐประหารซ้ำ โดยแนบเนียนมาก และเราเห็นว่าศาลสนองคำสั่งของ ศอฉ. เป็นเอกภาพ รัฐไทย ผสมผสานกับมาร์กอสกับพม่า มันมีคณะตัดสินใจสูงสุดในทางการเมือง คนที่มาจากทหารก็ยังจัดแถวทหาร มีการบัญชาการอย่างเป็นเอกภาพ และอาวุธชิ้นใหม่ มีสื่อยึดความเป็นใหญ่ทางอุดมการณ์การที่เขาฆ่าคนเป็นร้อยคน มันเฉยๆ เลย เขาสามารถสร้างกระแสสังคม สามารถกำหนดกระแสสังคม ใช้ความยุติธรรมเยียวยามาล้างการฆ่าคนได้ แต่งเพลงอะไรต่างๆ นี่เป็นสังคมที่น่ากลัวมากๆ ไม่มียุคไหนที่จะมืดเท่ายุคนี้ อีกแล้ว