WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, April 19, 2011

นิติราษฎร์ฉบับ 19: โต้ข้ออ้างในการสนับสนุนมาตรา 112

ที่มา ประชาไท

“แม้ผู้ประเสริฐที่สุด ภายหลังจากที่เขาตายแล้ว เขาก็ยังไม่อาจได้รับการสรรเสริญเกียรติคุณได้ จนกว่าทุกเรื่องราวที่บรรดาปีศาจได้กล่าวโจมตีเขานั้นจะเป็นที่รับรู้โดย ทั่วกัน และได้รับการพิจารณาวินิจฉัยเสียก่อน”

John Stuart Mill, On Liberty, 1859.

- 1 -

ท่ามกลางข้อเสนอให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความ ผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เรามักพบเห็นข้ออ้างของฝ่ายที่สนับสนุนให้คงมาตรา 112 ไว้ดังเดิม ข้าพเจ้าพอจะรวบรวมข้ออ้างเหล่านั้นได้ 9 ประการ และขออนุญาตโต้ข้ออ้างทั้ง 9 ดังนี้

ข้ออ้างที่ 1
มาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศอื่นๆที่เป็นประชาธิปไตยก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้

กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของ รัฐมีอยู่จริงในหลายประเทศ สำหรับประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทประธานาธิบดี สำหรับประเทศที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่กฎหมายของประเทศเหล่านั้นแตกต่างจากมาตรา 112 อย่างสิ้นเชิง บางประเทศมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ไม่เคยนำมาใช้หรือไม่นำมาใช้นานแล้ว บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ก็เพียงลงโทษปรับ และทุกประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ล้วนแล้วแต่กำหนดโทษต่ำกว่ามาตรา 112 มาก1

ข้ออ้างที่ 2
นำมาตรา 112 ไปเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศไม่ได้ เพราะสถาบันกษัตริย์ของเรามีบารมีและลักษณะพิเศษ

คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้อาจเห็นกันว่า สถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง เปี่ยมด้วยบารมี เมตตาและคุณธรรม มีพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรที่ดีงาม และพสกนิกรชาวไทยล้วนแล้วแต่จงรักภักดี คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จึงยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีลักษณะพิเศษ ไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่นได้ ต่อให้เรายอมรับว่าจริง แต่ความพิเศษเช่นว่าก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุให้กำหนดโทษสูงในความผิดฐานหมิ่น ประมาทกษัตริย์ หรือนำกฎหมายนี้มาใช้เพื่อทำลายล้างกัน นอกจากนี้ ในเมื่อยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง และคนไทยจงรักภักดีอย่างถึงที่สุดจนยากจะหาที่ใดมาเสมอเหมือนแล้วล่ะก็ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยิ่งไม่มีความจำเป็น

ข้ออ้างที่ 3
บุคคลทั่วไปมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทคุ้มครองเกียรติยศและชื่อเสียง แล้วจะไม่ให้กษัตริย์มีกฎหมายคุ้มครองเช่นนี้บ้างหรือ?

ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ดำรงตำแหน่งใด ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาเกียรติยศและชื่อเสียงของตน แน่นอนว่าต้องมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทเพื่อคุ้มครองเกียรติยศและชื่อ เสียงของกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ แต่กฎหมายเช่นว่านั้นต้องไม่มีความพิเศษหรือแตกต่างจากกฎหมายความผิดฐาน หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หรือหากจะแตกต่างก็ต้องไม่แตกต่างมากจนเกินไป แต่กรณีมาตรา 112 นั้น ลักษณะของความผิด (พูดทำให้ผู้อื่นเสียหาย) ไม่ได้สัดส่วนกับโทษ (จำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี) อยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ

ข้ออ้างที่ 4
ต่อให้มีบุคคลใดถูกลงโทษตาม 112 แต่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษอยู่ดี

มีหลายคดีที่จำเลยรับโทษจำคุก ต่อมาได้ขอพระราชทานอภัยโทษและในท้ายที่สุดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็มีอีกหลายคดีที่จำเลยไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือได้รับพระราช ทานอภัยโทษเมื่อเวลาล่วงผ่านไปนานแล้ว เคยมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นชาวต่างชาติและขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาผ่านไปไม่นานนัก ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่น กรณีนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์และนายแฮร์รี่ นิโคไลดส์) แต่กรณีอื่นๆ ต้องใช้เวลานานพอสมควรถึงจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่นกรณีนายสุวิชา ท่าค้อ) ซึ่งอาจให้เหตุผลได้ว่าแต่ละกรณีมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป แต่ถึงกระนั้น นั่นก็หมายความว่า จำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องแน่นอนและเสมอกันทุกกรณี ยิ่งไปกว่านั้น การที่จำเลยถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิด ต้องโทษจำคุก แต่รอลงอาญา, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิดและต้องโทษจำคุก ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ทั้ง 3 กรณีนี้มีผลทางกฎหมายไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ นักวิชาการยังได้หยิบยกสถิติจำนวนคดีแล้วสรุปว่าจำนวนคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 มีน้อยว่า “ตั้งแต่ มีกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2451 มาจนถึงการใช้ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับปัจจุบัน ตลอดเวลากว่า 100 ปี มีคำพิพากษาศาลฎีกาเพียง 4 เรื่อง...”2 ข้อสรุปนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะตัวเลขนั้นเป็นจำนวนคดีที่ศาลฎีกาตัดสิน ต้องเข้าใจว่า คดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 นี้ ในหลายกรณี จำเลยไม่ต้องการต่อสู้คดี เพราะประเมินว่าสู้ไปจนถึงชั้นศาลฎีกา ผลของคดีคงไม่ต่างกัน จำเลยจึงตัดสินใจยอมรับโทษตั้งแต่คำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้คำพิพากษาถึงที่สุด และขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป ด้วยเหตุนี้จำนวนคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจึงมีจำนวนน้อย แต่หากลงไปตรวจสอบจำนวนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ หรือจำนวนคดีที่อยู่ในชั้นตำรวจหรืออัยการ หรือจำนวนผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยถูกจับกุมคุมขังเพื่อรอการพิพากษาของศาล แล้ว จะเห็นได้ว่ามีจำนวนมาก และมีมากขึ้นนับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ข้ออ้างที่ 5
ความผิดตามมาตรา 112 เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ

โดยลักษณะของความผิดตามมาตรา 112 ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ ต่อบูรณภาพ และต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 เป็นกรณีที่เกิดจากการพูดแล้วทำให้กษัตริย์เสียหาย ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงการดำรงอยู่ของกษัตริย์ ไม่ใช่กรณีประทุษร้ายหรือปลงพระชนม์กษัตริย์ และไม่ใช่การเปลี่ยนรูปแบบของราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 จึงไม่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ

ข้ออ้างที่ 6
ในเมื่อรู้ผลร้ายของการกระทำความผิดตามมาตรา 112 แล้ว ก็จงหลีกเลี่ยงไม่ทำความผิดหรือไม่เสี่ยงไปพูดถึงกษัตริย์เสียก็สิ้นเรื่อง

เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 นี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง ทั้งในทางตัวบทและทั้งในการบังคับใช้ เป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างยิ่ง ก็ต้องยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่เห็นว่ามาตรา 112 มีโทษร้ายแรง ก็จงอย่าไปเสี่ยง เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ข้ออ้างแบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่า ไฟนั้นร้อน อาจลวกมือได้ ก็จงอย่าใช้ไฟนั้น

ข้ออ้างที่ 7
ในทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีเรื่องต้อง ห้าม เรื่องอ่อนไหวที่ห้ามพูดถึงหรือไม่ควรพูดถึง ซึ่งเรื่องต้องห้ามนั้นก็แตกต่างกันไป ของไทยก็คือเรื่องสถาบันกษัตริย์

จริงอยู่ที่แต่ละประเทศก็มีเรื่องต้องห้าม แต่หากสำรวจเรื่องต้องห้ามในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายแล้ว จะเห็นได้ว่าเรื่องต้องห้ามเหล่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ เช่น กรณีในเยอรมนีและหลายประเทศในยุโรป บุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทิศทางสนับสนุนฮิตเลอร์หรือนาซี หรือให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของนาซีได้มากนัก กรณีหลายประเทศ บุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทางเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เหยียดศาสนาได้ แต่กรณีของไทย เรื่องห้ามพูด คือ กรณีสถาบันกษัตริย์ วิญญูชนโปรดพิจารณาว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่

ข้ออ้างที่ 8
ความผิดตามมาตรา 112 เป็นเรื่องอ่อนไหว กระทบจิตใจของคนไทยทั้งชาติ สมควรให้กระบวนการยุติธรรมจัดการดีกว่า หากไม่มีกระบวนการยุติธรรมจัดการแล้ว อาจส่งผลให้คนในสังคมลงโทษกันเอง

หากจะมีการประชาทัณฑ์หรือสังคมลงโทษอย่าง รุนแรง ก็เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเข้าไปป้องกันและจัดการให้เป็น ระเบียบเรียบร้อย ไม่ใช่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 จะโดนรุมประชาทัณฑ์ เลยช่วยเอาผู้ถูกกล่าวหาไปขังคุกแทน

ข้ออ้างที่ 9
มาตรา 112 สัมพันธ์กับมาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” บทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายประเทศ เป็นบทบัญญัติในลักษณะประกาศ (declarative) เพื่อให้สอดรับกับหลัก The King can do no wrongไม่ใช่เป็นบทบัญญัติในลักษณะวางกฎเกณฑ์ปทัสฐาน (normative) การอ่านมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ต้องอ่านแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่อ่านแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากอ่านแบบประชาธิปไตย จะเข้าใจได้ทันทีว่า มาตรา 8 มีเพื่อเทิดกษัตริย์ไว้เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งไม่ทำอะไรผิด เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อไม่ได้ทำผิด และไม่ได้ทำอะไรเลย จึงไม่มีใครมาละเมิดได้ คำว่า “เคารพสักการะ” ก็เป็นการเขียนเชิงประกาศเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลทางกฎหมายในลักษณะมีโทษแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในระบอบประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆมอบให้แก่กษัตริย์ ก็เป็นการมอบให้แก่กษัตริย์ในฐานะตำแหน่งกษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐ ไม่ได้มอบให้แก่บุคคลที่มาเป็นกษัตริย์ หากกษัตริย์ปฏิบัติหน้าที่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆก็ต้องหมดไป

การแก้ไขมาตรา 112 ให้โทษต่ำลงก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 112 ก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นโทษตามมาตรา 112 ก็ดี ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ทำให้กษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น และหากสมมติว่ามีการยกเลิกมาตรา 112 จริง หากมีผู้ใดหมิ่นประมาทกษัตริย์ ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาให้ใช้ได้

ณ เวลานี้ มีความเข้าใจผิดกันในหมู่ผู้สนับสนุนมาตรา 112 และผู้เลื่อมใสอุดมการณ์กษัตริย์นิยมว่า การรณรงค์เสนอให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และเป็นพวก “ล้มเจ้า” ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า การรณรงค์เช่นว่าไม่มีความผิดใดเลย เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ไม่ต่างอะไรกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐ ธรรมนูญ กฎหมายความมั่นคง กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายอื่นใด มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิใช่สถาบันกษัตริย์ สมมติว่ามาตรา 112 ถูกแก้ไขหรือยกเลิกจริง สถาบันกษัตริย์ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ไม่ได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 112 ไปด้วย

หากความเห็นของข้าพเจ้าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ข้าพเจ้าขอยกเอาความเห็นของข้าราชการผู้หนึ่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เขาผู้นี้เคยให้ความเห็นไว้ ณ ห้องแอลที 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2552 ในการเสวนาหัวข้อ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความมั่นคงของรัฐ” ว่า “ใน เรื่องการแสดงความเห็นหรือรณรงค์อะไร ผมคิดว่าทำได้นะ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบที่จะไม่ไปผิดกฎหมายด้วย คงขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอและรายละเอียดของการรณรงค์ว่ามีความเห็นให้เลิก มาตรา 112 เพราะอะไร ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112 เสียอีก ก็ทำได้”3 นอกจากนี้นายธาริตฯคนเดียวกันนี้ยังอภิปรายในงานเดียวกันว่า "...ขณะ นี้มาตรา 112 ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งขอเสนอต่อจาก อ.วรเจตน์ ว่า ต้องจัดการพวกที่เยินยอเกินเหตุนั้น ซึ่งต้องต่อท้ายด้วยว่า หาประโยชน์จากการเยินยอโดยการไปใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม ผมไม่ทราบว่าจะตั้งบทบัญญัติอย่างไร แต่เรารับรู้และรู้สึกได้ว่า พวกนี้แอบอ้างสถาบันฯ แล้วใช้เป็นเครื่องมือหรือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการจัดการฝ่ายตรงข้าม พวกนี้จะต้องรับผิดเพราะโดยเจตนาส่วนลึกแล้วก็คือการทำลายสถาบันฯ นั่นเอง..."4

อ่านฉบับเต็ม (ช่วงที่ 2 และ 3) ได้ที่เว็บไซต์ติราษฏร์ คลิก! ที่นี่

............................................................

1. ในส่วนของกฎหมายต่างประเทศเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ โปรดดู ปิยบุตร แสงกนกกุล, “ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ขัดกับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น : กรณีหมิ่นประมาทกษัตริย์สเปน”, http://www.enlightened-jurists.com/page/193 และสามารถฟังคลิปบันทึกเสวนาเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จัดโดยคณะนิติราษฎร์ วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ ในส่วนการอภิปรายของปิยบุตร แสงกนกกุล และบางส่วนจากการอภิปรายในหัวข้อ "บทวิพากษ์ขบวนการล้มเจ้า ฉบับ ศอฉ." เนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือหลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่๖เมษายน๒๕๕๓คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ที่ http://archive.voicetv.co.th/content/12710

2. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ “ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก” และ “วัฒนธรรมไทยกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก” , มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๖ และ ๗ เมษายน ๒๕๕๒ ตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งใน จันทจิรา เอี่ยมมยุรา (บรรณาธิการ), หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล , ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓, หน้า หน้า ๒๑๐

3. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา (บรรณาธิการ), หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล , ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓, หน้า ๑๐๑.

4. เพิ่งอ้าง, หน้า ๙๒.

ที่มา: นิติราษฎร์ฉบับที่ 19 (ปิยบุตร แสงกนกกุล)