ที่มา thaifreenews
โดย bozo
เรียบเรียงโดย Nangfa
คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง วุฒิสภาต่างระบอบ
โดย กาหลิบ
นักปรองดองทั้งหลายเห็นรายชื่ิอสมาชิกวุฒิสภาประเภทแต่งตั้งชุดใหม่แล้ว
รู้สึกอะไรกันบ้างหรือไม่ก็ไม่รู้ จะเริ่มได้สติว่า
ขบวนการหลอกล่อและหลอกลวง
ฝ่ายประชาธิปไตยยังคงเข้มข้นรุนแรงขนาดชี้เป้าฆ่า
หรือจะลุ่มหลงว่าตัวเองมีเวลา
ที่จะลับลวงพรางฝ่ายตรงข้ามแล้วไปหักหลังเขาทีหลัง
หรือเชื่อใจเขาจริงๆ ว่าบัดนี้ดวงตาเขาเริ่มเห็นธรรม
หรือไม่ก็ “ใจอ่อน” ลงแล้ว
พวกหลังนี่ก็กลับมาเล่นเกมเรื่องผัวไม่รู้ไม่ชี้-เมียเป็นคนทำ
ฉายซ้ำอีกรอบหนึ่ง คงเผื่อจะให้อภัยผัวเขาได้ในภายหลัง
สมาชิกวุฒิสภา (หรือพฤฒิสภา) ประเภทแต่งตั้ง
เป็นผลสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง
มาตั้งแต่การปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ.๒๔๗๕
ในขณะที่ระบอบประชาชนกำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ
เพื่อใช้อำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
ผู้กุมอำนาจเดิมจะแต่งตั้งตัวแทนของตนมาปะปนอยู่ในรัฐสภา
นัยว่าเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับกลุ่มที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา
โดยมักสัญญาว่า ถึงวันหนึ่งเมื่อประชาชน “พร้อม”
สมาชิกประเภทแต่งตั้งเหล่านี้จะถูกลดอำนาจไปเรื่อยๆ จนหมดสิ้นไป
รัฐสภาก็จะเหลือแต่ตัวแทนของประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเท่านั้น
แต่ทุกครั้งที่เจ้าของระบอบโบราณเกิดหวงอำนาจ
และให้สั่ง “กระชับพื้นที่” ทางการเมือง
จะใช้วิธีรัฐประหารโฉ่งฉ่างหรือรัฐประหารเงียบ
จะหลบอยู่หลังประชาชนอย่าง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
หรือออกมาเป็นกรรมการกลางอย่างในช่วงวิกฤติแห่งเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ก็ตาม
อำนาจที่เริ่มไหลสู่ประชาชนเหล่านี้ก็จะไหลย้อนกลับ
วุฒิสภาก็จะเกิดมีอำนาจถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมา
กองทัพเริ่มแสดงบทบาทชี้นำนั่นนี่
ทั้งที่กินเงินเดือนจากประชาชนเหมือนกับข้าราชการเหล่าอื่นๆ
โดยไม่ได้สูงส่งไปกว่าเขา
สุดท้ายรัฐบาลของประชาชนก็จะถูกโจมตีว่าชั่ว โกง
คิดล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ครบชุด
แล้วก็จะถูกโค่นล้มด้วยกำลังอาวุธที่ประชาชนเป็นคนออกเงินซื้ออีกนั่นแหละ
เพราะฉะนั้นชื่อของสมาชิกวุฒิสภาในยามปิศาจสยายปีกครองเมืองอีกครั้ง
ย่อมมีความสำคัญและควรพิจารณาอย่างใกล้ชิด เช่นในขณะนี้
ยกบางชื่อขึ้นมาก็คงพอ
เพราะยกมาทั้ง ๗๓ ชื่ออาจทำให้เมืองไทยดูเหมือนสงครามกลางเมืองมากเกินไป
นายคำนูณ สิทธิสมาน, พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์, นายจักรธรรม ธรรมศักดิ์,
พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม, พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง, พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน,
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, ศ.เกียรติคุณตรึงใจ บูรณสมภพ, นายตวง อันทะไชย,
นายถาวร ลีนุตพงษ์, รศ.ทัศนา บุญทอง, พล.อ.ธีรเดช มีเพียร,
นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช, ม.ล.ปรียพรรณ ศรีธวัช, นายพิเชต สุนทรพิพิธ,
พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี, นางยุวดี นิ่มสมบุญ, พล.อ.รัชกฤต กาญจนวัฒน์,
พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์, นายวันชัย สอนศิริ, นายวิบูลย์ คูหิรัญ,
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์, ม.ร.ว.วุฒิเลิศ เทวกุล, พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ,
ศ.สม จาตุศรีพิทักษ์, พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายสมชาย แสวงการ,
พล.ต.ท.สมยศ ดีมาก, นายสัก กอแสงเรือง, พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ฯลฯ
ถ้าจะแยกแต่ละชื่อออกมาวิเคราะห์
คงจะเขียนสายสัมพันธ์และพฤติกรรมทางการเมืองได้เป็นเล่มๆ
โดยเฉพาะในช่วงจ้องทำลายระบอบประชาธิปไตยของประชาชน
ภายใต้คำว่าการต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร
และขบวนประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นหลังจากนั้น
แต่ในภาพรวมก็พอเห็นได้ว่าอะไรเป็นอะไร
ขบวนการฝั่งตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย
เขายังเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้งตัวแทนนายพลเกษียณอายุ
นักกฎหมายเอกชนที่ผูกตัวเองเข้ากับอำนาจรัฐของระบอบโบราณ
สื่อมวลชนที่เป็นตัวแทนของสัมปทานสื่อผูกขาด
ข้าราชการและนักวิชาการเกษียณที่คอยบอกสังคมว่า
ระบอบประชาธิปไตยไม่ดีอย่างไร ฯลฯ
วันดีคืนดีหรือวันร้ายคืนร้าย พอปั่นสถานการณ์เข้าทางตัวเองเต็มที่
วุฒิสภาสายพันธุ์นี้แหละ
ที่จะเชิดชูนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมาแทนนายกรัฐมนตรีเลือกตั้ง
โดยมีจุดประสงค์เพื่อค้ำยันระบอบวิปริต
ที่ใกล้จะล่มสลายลงด้วยความชั่วร้ายของตัวเอง
วิธีการก็สารพัด ใช้มาตรา ๗ บ้าง
แก้รัฐธรรมนูญให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งรวมเสียงกันไม่ติดบ้าง
(โดยเฉพาะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกเสียง
เลือกตัวนายกรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องฟังมติพรรคของตน) เป็นอาทิ
จึงขอให้นัก “ปรองดอง” ทั้งหลายลองมองโลกตามความเป็นจริง
อย่ามองตามฝันที่สลายมาแล้วไม่รู้จักกี่หนกี่ครั้งในรอบ ๕ ปี
บางทีจะเห็นเองว่าระบอบเผด็จการศักดินา
-อำมายาธิปไตยผู้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน
เขามิได้แสดงท่าทีที่ดีขึ้นกับฝ่ายประชาชนเลย
ตรงกันข้าม
เขากำลังเตรียมยึดอำนาจจากประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จด้วยซ้ำไป
เมื่อได้คืบแล้วเขาคงจะเอาศอก
และการสังหารผลาญชีวิตอย่าง ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓
และ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ก็คงจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อมีจังหวะ
วุฒิสภาย้อนยุคจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปิศาจแห่งระบอบเก่าเท่านั้น.
http://democracy100percent.blogspot.com/2011/04/blog-post_17.html