ที่มา Thai E-News
แนวทางนี้ไม่สุดโต่ง ไม่ล่องลอย ไม่ล้าหลังหวังเอาแต่การเป็นรัฐบาลหรือได้เป็น ส.ส.เท่านั้น พรรคเพื่อไทยและ นปช.ควรมีนโยบายเพียงสองประเด็นเท่านั้นที่จำเป็นในทางการเมืองขณะนี้คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกองคมนตรี และการให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม เพื่อเอาผิดผู้สังหารหมู่ประชาชน
โดย Pegasus
19 เมษายน2554
ได้ฟัง ดร.ทักษิณ ชินวัตร พูดถึงเป้าหมายของการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ว่า “ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ” แนวทางนี้ถูกต้องแน่แท้อย่างยิ่ง
เพราะปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องปากท้องหรือการเมืองอะไร แต่เป็นเรื่องที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งอาศัยอำนาจทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเผด็จการซ่อนรูป ปกครองประเทศด้วยการกดขี่ขูดรีดประชาชนอย่างโหดเหี้ยม ไร้เมตตา ปราณีต่างหาก
หากไล่ปัญหาทุกชนิดในประเทศไทย ตั้งแต่ เรื่องยาเสพย์ติด ธุรกิจผิดกฎหมาย ราคาผลิตผลการเกษตรตกต่ำ ระบบการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน การทำนาเท่าไรก็ยังยากจน จนถึงการฆ่าประชาชนจำนวนมาก ก็เพราะระบอบเผด็จการที่คอยกดหัว ปล้นสะดมภ์ประชาชนไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ยอมให้มีเงิน ไม่ยอมให้โงหัว ไม่ยอมให้มีความรู้ ความฉลาด
เรียกได้ว่าเป็นการล้างสมองแล้วฆ่าให้ตายทั้งเป็นอย่างเลือดเย็น รูปแบบก็เป็นแบบฟาสซิสต์นาซีอาศัยอำนาจข้าราชการได้แก่ ทหาร กระบวนการยุติธรรมและสื่อของรัฐในการโฆษณาชวนเชื่อติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ก่อนยึดอำนาจจากคณะราษฎร โดยความร่วมมือของพรรคการเมืองเก่าแก่ ทหารและสื่อมวลชนย้อนหลังไปถึงปี พ.ศ.2490 โน่น
แม้แต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 ก็เป็นเพียงการโค่นล้มรัฐบาลของ ถนอม-ประภาสที่ขัดขวางธุรกิจของกลุ่มผูกขาด
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 ก็เป็นการปราบนักศึกษากลุ่มอื่นๆที่ไม่ใช่พวกของตนให้ราบคาบไป
และอีกหลายครั้งหลายหนมาจนปัจจุบันนี้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของทุกคนโดยไม่ต้องกลับไปอ่านหนังสือหรือประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนตรงไหนได้อีก เหมือนที่กลุ่มโรงเรียนคาธอลิค หรือแม้แต่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาบางแห่งที่เป็นผู้รับใช้เผด็จการผลิตขึ้นก็ตาม
มีคำพูดว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด คำถามคือรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดนี้ป้องกันการรัฐประหารได้หรือไม่
คำตอบชัดอยู่กับตัวแล้วดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเลียนแบบรัฐธรรมนูญปี 40 หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของนายแพทย์เหวงฯ ไม่ใช่คำตอบแน่นอน เพราะยังติดยึดกับรูปแบบกรอบเดิมของเผด็จการซ่อนรูป
ความคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องออกนอกกรอบเหมือนที่ ดร.ทักษิณฯ พูดอยู่บ่อยๆว่าต้องคิดนอกกรอบ
การจะทำอะไรจึงต้องมองทะลุให้ตลอดทางที่เรียกว่าวิสัยทัศน์ ต้องวางให้ชัดเจนจากนั้นจึงเดินหน้าแก้ปัญหาให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่รองรับวิสัยทัศน์นั้นผลที่ต้องการจึงจะได้ตามที่หวัง คุ้มค่ากับสูญเสียชีวิตของพี่น้องประชาชน
ไม่ใช่แค่ครั้งนี้แต่ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ 14 ตุลาคม 16 โน่นเลย
นี่ยังไม่รวมการไล่กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตยของคณะราษฎรอย่างโหดเหี้ยมทารุณเหมือนสัตว์ป่าอีกจำนวนมาก ต้นเหตุก็เพียงคำพูดในสมัยนั้นของ ดร.ปรีดีฯช่วงที่รัฐบาลหลวงธำรงค์ฯซึ่งเป็นสายคณะราษฎรถูกยึดอำนาจปี พ.ศ.2490 แล้วนายเตียง ศิริขันท์ซึ่งมีกำลังของเสรีไทยอยู่ในมือที่พร้อมจะเข้ามาต่อสู้กับฝ่ายยึดอำนาจ แต่ดร.ปรีดีฯด้วยความอ่อนประสบการณ์ในขณะนั้นได้บอกว่าไม่อยากให้พี่น้องประชาชนต้องเสียเลือดเนื้อ
แต่แล้วในที่สุด ดร.ปรีดีฯนั้นเองก็กลับมาสรุปบทเรียนในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 16 ว่า ถ้ามีการต่อสู้เกิดขึ้นแล้ว แต่ยอมแพ้เพราะกลัวพี่น้องจะสูญเสียนั้นเป็นความคิดที่เหลวไหลที่สุด
แนวทางต่อสู้ขณะนี้ไม่มีทางเลือกนอกจากเป็นทางสองแพร่ง ระหว่างความพยายามรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไว้ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ถ้าฝ่ายเผด็จการไม่ยินยอม และใช้กำลังหรือการยึดอำนาจเงียบแบบว่ามีนายกฯพระราชทานด้วยการสร้างเงื่อนไขจอมปลอมขึ้นมา เป็นเหตุให้ใช้พันธมิตรกับทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแล้วให้ทหารนอกเครื่องแบบติดอาวุธเข่นฆ่าประชาชน
หรือ อาจรอยุบสภาแล้วอ้างว่าเป็นช่วงเลือกตั้งจ ากนั้นส่งมือปืนรับจ้างควบคุมด้วยหน่วยงานของรัฐออกกวาดล้างแกนนำระดับย่อยของฝ่ายประชาธิปไตย โดยอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองปกติแล้วละก็ น่าคิดว่าการลุกฮือโดยไม่ต้องอาศัยแกนนำจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน
และถ้าเป็นอย่างนั้น ก็อาจเป็นทางออกอีกหน้าหนึ่งว่าจะเหมือนกรณี อย่างเบาก็อียิปต์ อย่างหนักก็ลิเบีย อย่างกลางๆก็ไอเวอร์รีโคสต์ ตั้งแต่ประชาชนสู้ด้วยมือเปล่า ไปจนติดอาวุธ หรือในที่สุดเป็นสงครามกลางเมือง มีการประกาศรัฐบาลอีกรัฐบาลขึ้น และน่าจะมีต่างประเทศรับรองมากมาย
ต่อให้ฝ่ายเผด็จการไปตกลงมอบน้ำมันทั้งหมดทั้งประเทศให้กับประเทศตะวันตกก็ตามที ใครจะไปทานต่อมติชุมชนระหว่างประเทศได้
หมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า การจับอาวุธของประชาชนในอาฟริกาไม่ได้มีการเตรียมตัวกันมาแต่แรก แต่เกิดจากเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายจากฝ่ายปกครอง แล้วทหาร ตำรวจ บางส่วนหันมาให้การช่วยเหลือ และประกาศแยกตัวออกมาสนับสนุนรัฐบาลที่สองต่างหาก ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้
ตรงนี้ต่างจากการจับอาวุธก่อการร้ายในประเทศต่างๆหรือทางใต้ของไทยที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
อย่างไรก็ตามสำหรับไทยก็นับว่า ฉลาดที่ฝ่ายเผด็จการรีบปล่อยแกนนำ นปช. ออกมาหยุดอารมณ์ประชาชนไว้ได้ นับว่าซื้อเวลาออกไปได้เหมาะเจาะ
แต่ปัญหาคือประชาชนจะยอมสงบลงและถูกตลบหลังกวาดล้างอย่างที่คนวางแผนหวังไว้ได้หรือไม่ แม้ว่าตอนนี้จะมีการออกไล่สังหารบ้างแล้วก็ตาม แต่ในที่สุดแกนนำ นปช. ก็คงทานอารมณ์มวลชนไม่ได้แน่นอน ใครจะไปเข้าข้างเผด็จการได้ ในเมื่อกระแสโลกไปกันไกลแล้ว นี่คือคำตอบที่ฝ่ายเผด็จการนั่งนอนไม่หลับอยู่จนบัดนี้
ละแนวทางการต่อสู้แบบหลังเสียมาดูเฉพาะแนวทางการเลือกตั้ง แน่ละการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นแน่นอนหากฝ่ายเผด็จการไม่มั่นใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ได้กลับมาปกครอง
ขณะที่เขียนบทความนี้ก็มีแต่ข่าวยึดอำนาจทุกวัน เพราะฝ่ายเผด็จการเดินหมากหลายชั้นหลายกลุ่มเหลือเกิน จนตัวเองก็งงไปหมด แต่ไม่เป็นไร ลองมาคิดดูว่าเราควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆหากจะมีได้อย่างไร โดยมีสมมติฐานว่าจะรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไว้ ขอย้ำว่าถ้าฝ่ายเผด็จการไม่ยอมถอยก็ตัวใครตัวมันแล้วล่ะ
แนวทางที่เหมาะสมในการหาเสียงเลือกตั้งรวมถึงการปราศรัยบนเวทีของ นปช.และกลุ่มอื่นๆก็คือ
สร้างประชาธิปไตย เรียกร้องความเป็นธรรม โค่นล้มระบอบเผด็จการอำมาตย์ ไม่ใช่โค่นล้มสถาบันจารีต ด้วยการยกเลิกคณะองคมนตรีและให้สัตยาบันต่อศาลโลก
ในเรื่องการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตอนนี้ความรู้แพร่กระจายชัดเจนว่าต้องมีการแก้ไขหลายประเด็นในหมวดพระมหากษัตริย์ แต่การแก้ไขให้ครบถ้วนนั้นแม้ว่าจะดีสามารถสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้เหมือนประเทศในยุโรป แต่ความรู้ของประชาชนทั่วไปในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ที่ถูกล้างสมองง่าย และสาละวนติดอยู่กับการทำมาหากินที่มีความรู้ทางการเมืองต่ำนั้นต้องอาศัยระยะเวลา
ทางออกที่เรียบง่ายและไม่กระทบกระเทือนต่อระบบทั้งหมดก็คือ การปราศรัยสืบสาวที่มาของการมีคณะองคมนตรีที่พบว่ามีการเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองมากมายตั้งแต่สมัยเริ่มยึดอำนาจโดยพรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกับทหารและสื่อมวลชนในปี พ.ศ.2490 (น่าแปลกใจว่าทำไมเกิดเหตุเหมือนเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาจนทุกวันนี้) แล้วเพียงนำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกคณะองคมนตรี ทุกเรื่องก็จะจบ
คำโต้แย้งอาจมีว่าการยกเลิกคณะองคมนตรีเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ คำตอบง่ายๆคือคณะองคมนตรีเกิดขึ้นมาจากการยึดอำนาจจากคณะราษฎรที่อภิวัฒน์ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการพระราชทานหรือเป็นราชประเพณีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช
และแม้กระนั้นก็ไม่สมควรที่จะมีอำนาจเหนือกว่าประชาชนเข้าของอำนาจอธิปไตย การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายประชาธิปไตยหาเสียงขอรับประชามติจากประชาชน ใครที่ต้องการรักษามาตราเกี่ยวกับคณะองคมนตรีไว้ก็เลือกพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเล็กพรรคน้อยที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนใครที่เห็นว่าคณะองคมนตรีนั้นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันด้วยประเทศไทยเจริญก้าวหน้าไปมากแล้ว ทั้งที่ปรึกษาของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงเป็นคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาได้เช่นเดียวกับประเทศในยุโรป ส่วนอื่นที่เป็นพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์นั้น สำนักราชเลขาธิการหรือสำนักพระราชวังก็ยังเป็นองค์กรที่รองรับได้อยู่แล้ว
เพื่อเป็นการเตือนความจำ ประเทศฝรั่งเศสก็เคยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาแล้วแต่ด้วยเหล่ากลุ่มสนับสนุนให้ถวายคืนพระราชอำนาจ สร้างปัญหาให้กับประเทศฝรั่งเศสมากมายสุดที่จะทนทานกัน ในที่สุดรัฐสภาฝรั่งเศสจึงมีการลงมติยกเลิกระบอบกษัตริย์ไปในที่สุด
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นลำพังการยกเลิกคณะองคมนตรีคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงแต่ประการใด
ประเทศฝรั่งเศสก็ไม่เห็นจะล่มจม เสียหาย ตรงกันข้ามกลับเจริญรุ่งเรืองไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ และเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้วยซ้ำไป
ถ้าใครสงสัยว่าคนฝรั่งเศสคิดอย่างไรกับประเทศของตัวเองก็ขอให้ไปฟังเพลงชาติฝรั่งเศสแล้วจะเข้าใจ ถ้าไม่ได้เรียนภาษาฝรั่งเศสมา เพลงชาติฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการที่แปลและเผยแพร่โดยสถานทูตฝรั่งเศสก็ยังมี แนะนำให้ไปอ่านกันมากๆ
มุมมองที่กล่าวมานี้เป็นมุมมองของฝ่ายประชาชน แต่อยากจะเสนอมุมมองที่เป็นประโยชน์ให้กับฝ่ายที่รักและอยากรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เช่นเดียวกับผู้เขียนว่า การที่มีคนธรรมดาสามัญบางกลุ่มพูดกับทูตต่างประเทศถึงเรื่องสถาบันฯในทางที่เสียหายร้ายแรงขนาดนั้นแล้วไม่สามารถมีใครทำอะไรได้ มองในมุมกลับแล้วเป็นสิ่งน่ากลัวสำหรับสภาบันฯเป็นอย่างมาก แสดงว่าไม่ได้มองเห็นว่าสถาบันฯเป็นสิ่งที่ควรเคารพ บูชา แต่กลับมองเป็นเรื่องของอำนาจไปเสีย สะกิดเตือนเท่านี้หวังว่า คงพอเข้าใจถ้าไม่งมงายเกินไป
ปกติผู้ที่รักและหวงแหนสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะต้องยอมเสียสละเพื่อสิ่งที่รักและหวงแหนนั้น เช่น กรณีแม่ปกป้องลูกน้อยจากอันตราย ถ้าใครที่พบว่าการกระทำของตน ยิ่งทำมากเท่าไร สิ่งที่รักและหวงแหนยิ่งบอบช้ำและเสียหายมากขึ้นเท่านั้น ที่จริงและสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเสียสละตนเองเพื่อป้องกันสิ่งที่รักและหวงแหนนั้น ...หากว่ารักและหวงแหนสิ่งที่พูดนั้นจริงไม่ใช่ตัวเอง
กรณีของทหารก็เห็นได้ชัดว่า สร้างเรื่องเพื่อหาเหตุยึดอำนาจหรือให้เกิดสุญญากาศให้มีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ทีนี้แทนที่จะสร้างเรื่องใดๆที่ห่างไกลต่อการกระทบหรือวิพากษ์ วิจารณ์เกี่ยวกับสภาบันฯ การกลับเป็นว่าเพื่อให้สามารถทำเรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อใช้กำลังสังหารประชาชนอีกรอบหนึ่งและยึดอำนาจ กลับดึงเอาสถาบันฯมาเกี่ยวข้องอีกจนได้
และขอแนะนำให้ปรึกษานายทหารพระธรรมนูญคนที่มาฟ้องร้องให้ชัดๆว่า คำพูดของแกนนำ นปช. ผิดข้อหาหมิ่นประมาทหรือไม่ ไม่ต้องมาตรา 112 แม้การหมิ่นประมาทปกตินั้นก็ไม่เข้าองค์ประกอบกฎหมายทั้งนั้น เพราะไม่ได้มีการเอ่ยอ้างถึงสถาบันฯและองค์ประกอบความผิดเกี่ยวเนื่องกับสถาบันทั้ง 4 ประการเลย (คือคุณจตุพรกับแกนนำนปช.ไม่ได้กล่าวหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระหไมกษัตริย์,พระราชินี,องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการเลย)
คำถามคือทหารคิดอย่างนี้เพราะอะไร คำตอบก็คงไม่แตกต่างจากเหตุของการมีคณะองคมนตรี เรื่องเหล่านี้สามารถประยุกต์กับข้าราชการฝ่ายต่างๆได้หมด โดยเฉพาะข่าวลือที่ว่า เพราะอยากเป็นองคมนตรีถึงทำเรื่องเลวร้ายต่างๆเหล่านั้นได้
การเสนอให้มีการยกเลิกคณะองคมนตรีด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นสิทธิของประชาชนโดยแท้ และสามารถพิสูจน์ได้จากมติเสียงของประชาชน ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ฝ่ายที่รักและเทิดทูนสถาบันฯก็จะเกิดความชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงต้องการเพียงยกเลิกระบอบอำมาตย์ซึ่งที่จริงแล้วเป็นภัยต่อสถาบันฯเสียด้วยซ้ำ ไม่ได้มีความต้องการโค่นล้มหรือยกเลิกระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเปลี่ยนไปเป็นแบบสาธารณรัฐหรือประธานาธิบดีที่พรรครัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรฯ กล่าวซ้ำซากอยู่ตลอดเวลาไม่
เมื่อไม่มีคนคอยบงการข้าราชการ กับพรรคการเมืองในสังกัด ปัญหาเส้นสายก็หมดไป ทหาร ตำรวจ ตุลาการ หรือกลุ่มเอกชนก็จะทำหน้าที่ ทำงาน ทำมาหากินกันอย่างเป็นปกติสุข
ที่สำคัญคือ นักการเมืองก็จะไม่สามารถโกงกินให้เห็นได้เนื่องจากต้องพึ่งพาประชาชนผู้เสียภาษี ไม่ใช่กลุ่มอำมาตย์อีกต่อไป ข้อโจมตีว่านักการเมืองเลวก็จะจบลง เพราะนักการเมืองที่เลวอยู่ในปัจจุบันก็เพราะรู้ดีกันว่า ทำอะไรเพื่อประชาชนไปก็เท่านั้น ระบบเดิมไม่ดี ไม่เอื้อต่อการทำงานให้ประชาชน ดู ดร.ทักษิณฯ เป็นอุทธาหรณ์ได้
แต่ฝ่ายอำมาตย์ที่เป็นคนออกแบบรัฐธรรมนูญให้เละเทะนั่นเองกลับมาโทษนักการเมืองว่าเลว ต้องหวนกลับไปเป็นระบอบราชาธิปไตย อาศัยการแต่งตั้งทางการเมืองจึงจะดี พูดแค่นี้ก็รู้แล้วว่าทำเอง โทษเองกับมือ ใครเชื่ออีกก็ไร้ปัญญาเต็มทน
ประเด็นที่สองคือ การเรียกร้องความยุติธรรมด้วยการให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมเพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือที่เรียกกันภาษาพูดว่าศาลโลกเข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริงในการสังหารประชาชน เหตุผลก็ง่ายๆ กล่าวคือ กระบวนการยุติธรรมที่เป็นสากล เป็นมาตรฐาน จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ตัดสินอย่างไรก็จะยอมรับกันไปตามนั้น
ฝ่ายทหารกล่าวหาว่าเสื้อแดงยิงกันเอง ก็ให้หาหลักฐานมายืนยัน ฝ่ายเสื้อแดงบอกว่าทหารยิงก็หาหลักฐานมายืนยัน ฝ่ายสลิ่มเสื้อหลากสีได้เข้าไปช่วยล้างพื้นที่ กลบเกลื่อนหลักฐานไว้แล้ว ดังนั้นฝ่ายทหารเองไม่น่าจะหนักใจ
ปัญหากลับมาอยู่ที่ผลการสืบสวนของพวกเดียวกันเอง คือการสั่งการของรัฐบาลจากบางคนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำการดังที่ให้สัมภาษณ์แปลกๆเพียงแค่วันหรือสองวันแรกหลังการสลายและสังหารประชาชน รวมถึงคำสารภาพที่เกิดตามมาจากเหตุนี้
อย่างไรก็ตามทหารควรจะสบายใจเพราะว่า ไม่ใช่ทหารทั้งกองทัพที่จะโดนคดี มีเพียงชุดล่าสังหารที่รัฐบาลให้ ดีเอสไอ ทำคดีที่เกิดการรั่วไหลเป็นข่าวนั้นแหละที่จะต้องถูกขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ และผู้ควบคุมซึ่งก็คงเป็นพวกนายพัน นายพล ไม่กี่คนที่เกี่ยวข้องกับคนยิงนั้น
ถ้าทหารเข้าใจตัวเองว่าเป็นลูกผู้ชายจริงไม่ใช่เพศอื่น และการหักหลังนี้ก็มาจากรัฐบาลเอง ไม่ได้มาจากฝ่ายเสื้อแดงแต่ประการใด ถ้าทหารอ้างว่า ตัวเองรักชาติจริง ไม่ได้รักรัฐบาลเพราะผลประโยชน์จากเงินที่เขาจ้างให้มาสังหารประชาชน ทั้งที่เป็นเบี้ยเลี้ยงพิเศษและเงินพิเศษที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ก็ไม่ควรที่จะเดือดร้อนอะไร
ที่สำคัญคือคดีแบบนี้ไม่สามารถอภัยโทษได้ด้วยกฎหมายภายในประเทศ และรัฐบาลก็ไม่มีสิทธิที่จะยับยั้งถ้าได้มีการดำเนินการไปแล้ว ทั้งอายุความก็ยาวนานตลอดชีวิต ไม่ใช่ 20 ปี หรือมีการอภัยโทษใดๆได้
ดังนั้นการยอมรับสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความสงบได้อย่างรวดเร็ว ไม่เสียหายมากและประชาธิปไตยก็จะเดินหน้าไป ผู้มีความผิดไล่เรียงแล้วก็คือพรรคพวกของเหล่าองคมนตรีเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับทหารอื่นๆแต่ประการใด
คำถามคือ ทหารรักชาติหรือเปล่า ทหารเป็นคนไทยหรือเปล่า ทหารยังเป็นคนอยู่หรือเปล่าต่างหาก ที่ต้องพูดจากันให้ชัด และมีการแสดงออกของมนุษยธรรมใช้ชัด
อย่าลืมว่า กลุ่มบุคคลที่ทหารรับใช้อยู่ไม่ใช่ชาติ ชาติตามนิยามที่เรียนกันในชั้นประถมคือ ดินแดน อำนาจอธิปไตย รัฐบาลและประชาชน 4 ประการนี้ ทหารมีหน้าที่พิทักษ์ รักษา รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองไหน ไม่มีสิทธิไปยึดอำนาจ ทหารต้องปกป้องรักษาดินแดนไม่ใช่สมรู้ ร่วมคิดกับรัฐบาลให้ประเทศอื่นได้ดินแดนไทยไป
ทหารต้องไม่ไปยึดอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน และที่สำคัญทหารต้องรัก และปกป้องประชาชนเหมือนทหารในประเทศที่เจริญแล้ว
ทหารพึงรู้ว่า ในสงครามโลกนั้น แม้แต่พลเรือนของประเทศคู่สงครามทหารยังไม่ยิงถ้าไม่ใช่กองกำลังใต้ดินติดอาวุธ แต่ทหารไทย อนิจจา หลายครั้ง หลายหน เพียงเป็นเครื่องมือทางอำนาจเท่านั้น สละทิ้งทุกอย่างแม้ความเป็นมนุษย์ ครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ทหารยังเป็นที่พึ่งได้ โดยแยกตัวออกมาเสียจากเรื่องของอำนาจ กลับเข้ากรมกอง ใครผิดก็ว่าไปตามผิด จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายทำไปตามนายสั่งคงไม่ได้ ถ้าคิดได้ตกอย่างนี้ ประเทศชาติก็จะเป็นหนี้บุญคุณการกลับใจครั้งนี้ของทหาร
ดังนั้นจึงอยากจะแนะนำแนวทางการหาเสียงและการปราศรัยของ พรรคเพื่อไทยและ นปช.ว่า มีเพียงสองประเด็นเท่านั้นที่จำเป็นในทางการเมืองขณะนี้คือ การสร้างประชาธิปไตยด้วยการยกเลิกคณะองคมนตรี ซึ่งแน่ละกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ควรแก้ไขตามไป ส่วนประเด็นมาตรา 112 นั้นแทบจะหมดความหมาย ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ในเรื่องคณะองคมนตรีได้ ส่วนเรื่องความยุติธรรมนั้นไม่ต้องกล่าวถึงรุ่งอรุณแห่งความยุติธรรมใดๆได้เลย ถ้าไม่ใช่การให้รัฐสภาให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม นั่นแหละ ประชาชนจึงจะได้ความยุติธรรมคืนมา
แนวทางนี้ไม่สุดโต่ง ไม่ล่องลอย ไม่ล้าหลังหวังเอาแต่การเป็นรัฐบาลหรือได้เป็น ส.ส.เท่านั้น และเห็นได้ชัดเจนว่า ศัตรูของประชาธิปไตยคือคณะองคมนตรี การยกเลิกกฎหมายก็ชัดเจน ปฏิบัติได้ไม่คลุมเครือ เป็นการโค่นล้มอำมาตย์โดยตรง ไม่ใช่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของคนอีกจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถวัดได้ว่าแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่ควรที่จะไปเสียเวลา หรือสร้างการปะทะกันระหว่างประชาชนกันเอง
ส่วนทหารนั้นน่าจะถูกกวาดล้างไปตั้งแต่แรกที่ใช้กำลังเพื่อปกป้องฝ่ายอำมาตย์ หรือเมื่อสหประชาชาติเข้าแทรกแซงแล้ว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงประชาชนผู้รักและเทิดทูนสถาบันฯเองก็จะต่อต้านการคงอยู่ของกลุ่มอำมาตย์ที่เกาะกินสถาบันฯเช่นกัน
เพียงแต่หวังว่า การให้สัญญาของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดงต่างๆจะมาร่วมใจกัน ต่อสู้เพื่อประเด็นประชาธิปไตยและความยุติธรรมนั้น จะพิจารณานำแนวทางสองประเด็นนี้ไปใช้ ผู้เขียนเชื่อว่าจะได้ใจของคนรักประชาธิปไตยจากทุกฝ่ายมาร่วมกันเพื่อตัดสินอนาคตประเทศไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้....หากมี
สรุปไว้เพียงสั้นๆว่า ถ้าหากกลุ่มอำมาตย์ไม่เสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวมและผลักทหารหรือองค์กรอิสระต่างๆให้สกัดกั้นประชาธิปไตยด้วยการมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือยึดอำนาจโดยตรงเพราะจะซ่อนรูปอย่างไรคนก็รู้ทันแล้วละก็ ... อิยิปต์ ไอเวอรีโคสต์ ลิเบีย เยเมน หรือแม้แต่ บาห์เรน คงเป็นบทเรียนเตือนใจได้เป็นอย่างดี
อย่าคิดว่า มหาอำนาจจะเข้าข้าง เปรียบเทียบไทยกับ อิยิปต์ ซาอุดิอารเบีย บาห์เรน ฯลฯ เหล่านี้ ไทยเราคงไม่มีเสียงหรือความสำคัญเท่ากับมิตรสนิทของมหาอำนาจเหล่านั้น การเจรจายกน้ำมัน หรือยกผลประโยชน์ประดามีให้กับต่างชาติ หรือเรียกว่าขายชาติเอาชีวิตรอดนั้น
ถึงเวลาจริงๆ ทุกประเทศก็เข้าข้างผู้ชนะคือประชาชนทั้งนั้น
**************