ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา หนังสือพิมพ์ The West Austalian
หมายเหตุไทยอีนิวส์:หนังสือพิมพ์ The West Austalian รายสัปดาห์ได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานสัมภาษณ์นายเดวิด โคเนอร์ เพอร์เซล ชาวออสเตรเลีย ที่เคยถูกยิงบาดเจ็บในการร่วมประท้วงในไทยเมื่อปีกลาย และเข้าร่วมการต่อสู้กับคนเสื้อแดง จนถูกจับกุมนาน 89 วัน ก่อนจะเดินทางกลับประเทศ ในหัวข้อข่าวเรื่อง BANGED UP IN BANGKOK : Romance pulls WA Red Shirt follower
มีผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มากกว่าครึ่งล้านคน รายละเอียดของรายงานข่าวมีดังต่อไปนี้
ชายชาวออสเตรเลียตะวันตกซึ่งถูกยิง 2 นัด แล้วจับขังคุกที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯนานถึง 89 วัน ได้ทบทวนหวนรำลึกว่า เขาได้กลายเป็นชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงในหมู่คนเสื้อแดงของประเทศไทยขึ้นมาได้อย่างไร พร้อมทั้งเตรียมการต่อสู้อย่างไรในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ใกล้เข้ามาถึง
เขากลับมาที่เมืองเพิร์ธเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำคลองเปรมเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน ,โคเนอร์ เพอร์เซล วัย 30 ปีเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง ซึ่งทำให้กรุงเทพฯเป็นอัมพาตเมื่อปีที่แล้ว
การโดดเข้าร่วมทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เมื่อชายผู้ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียตะวันตกกล่าวว่า ในวันนั้นกองกำลังทหารยิงสังหารผู้ประท้วงที่ปราศจากอาวุธไปอย่างน้อย 12 ศพ
"กองทัพใช้พลซุ่มยิงในตำแหน่งรอบๆบริเวณผู้ประท้วงและสุ่มยิงไปยังประชาชน"เขากล่าว"ทหารยิงทั้งเด็ก,ผู้หญิง,หน่วยแพทย์พยาบาล ขณะที่มีการออกข่าวทางราชการว่าไม่ได้ใช้กระสุนจริง แต่ผมเห็นพลซุ่มยิง(sniper)เต็มไปหมด"
สำหรับตัวเขาโดนยิงด้วยแก๊สน้ำตา และกระสุนยาง 2 นัดที่สะโพก เป็นเหตุให้เสียเลือดไปมาก นายเพอร์เซลเลยถูกหามออกจากพื้นที่ประท้วงไปใส่รถพยาบาล
วันต่อมาผู้จัดการการประท้วง ได้มาพบเขา และชักชวนให้เขาขึ้นเวทีเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเขาสู่สาธารณชน
นั่นเป็นเหตุให้เวลาต่อมาในวันที่ 22 เมษายน 2553 เขาได้ไปปรากฎตัวบนเวทีผู้ชุมนุมประท้วงที่ราชประสงค์ (ดูรายงานข่าวBangkok Post:Wounded Australian on handouts takes to red shirt stage)
เรื่องที่เขากล่าวปราศรัยถูกแปลถ่ายทอดไปยังผู้ชุมนุมประท้วงราว 200,000 คน "ผมว่ามันน่าสพรึงกลัวมากทีเดียว แต่มันเป็นภารกิจที่ผมจำเป็นต้องทำ และเมื่อหวนกลับไปถึงวันนั้นผมก็ยังดีใจที่ได้ทำมันลงไป"
น่าอัศจรรย์ที่ว่าเสียงของเขาบนเวทีตรึงฝูงชนผู้ประท้วง ซึ่งก็รวมทั้งหญิงอายุ 35 ปีที่ได้เข้ามาขอจับมือเขาหลังจบการปราศรัย "หลังการปราศรัยหนแรกบนเวทีของผม จันทร์เพ็ญก็ตามหาตัวผม และเธอแสดงความชื่นชมเขามาก
ในท่ามกลางการประท้วงอันดุเดือด เรื่องราวสายสัมพันธ์ของเขากับมิตรสหายเสื้อแดงชาวไทยก็งอกงามขึ้นตามลำดับ
ในเดือนพฤษภาคม 2553 เขาได้ขึ้นเวทีปราศรัยอีก2ครั้ง และได้กล่าวในฐานะประจักษ์พยานเห็นสไนเปอร์ยิงสังหารผู้ประท้วง
"มันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และหากคุณรู้คุณเห็นแล้วไม่พูดออกมา อาชญากรรมนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกต่อไป"เพอร์เซลกล่าวตอบข้อซักถามว่า ในฐานะชาวต่างชาติเขาต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์การเมืองในประเทศไทยทำไมด้วย?
ต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ผู้นำการประท้วงยอมเข้ามอบตัวต่อรัฐบาล หลังเหตุการณ์ไม่สงบยุติลง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ศพ เจ้าหน้าที่รัฐบาลมาหาตัวนายเพอร์เซลและจับกุมไปเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2553
ในวันแรกของการคุมขัง สภาพเรือนจำเป็นไปอย่างทารุณ เขาถูกโยนเข้าไปอยู่อย่างยัดเยียดร่วมกับผู้ต้องขังรายอื่นๆอีก 31 คน
ข้อหาที่เขาถูกจับกุมคือการละเมิดพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินมีโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งนายเพอร์เซลปฏิเสธข้อกล่าวหา และร้องขอให้นำเขาขึ้นสู่กระบวนการพิจารณาของศาล
ทว่าท้ายสุดแล้ว คนเสื้อแดงระดับอาวุโสกับจันทร์เพ็ญได้โน้มน้าวให้เขาสารภาพ
"เพื่อนมิตรเสื้อแดงที่มาเยี่ยมในเรือนจำทุกคนโน้มน้าวผมว่า ให้คุณทำใจกล่าวรับสารภาพข้อกล่าวหาไปเถอะ เพราะพวกเราอยากให้คุณได้ออกจากคุก"เขากล่าว"พวกเขาบอกผมว่าคุณอยู่ในคุกไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่หากคุณได้ออกมาเป็นอิสระ คุณจะได้ออกไปเป็นปากเป็นเสียงให้พวกเราคนเสื้อแดงได้"
เขาได้เดินทางกลับออสเตรเลียเมื่อเดือนกันยายนปี2553 และได้อุทิศตัวเป็นปากเสียงให้คนเสื้อแดงในประเทศไทย และถือโอกาสเยียวยาความป่วยไข้จากโรคเครียดของเขาที่ได้รับมาจากเมืองไทย
โฆษกของทางการไทยเปิดเผยว่าเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในปีที่แล้วยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน
******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:
-สื่อออสซี่เปิดสายใยมิตรร่วมรบหมอเสื้อแดงกับหนุ่มจิงโจ้ ก่อนกลับออสเตรเลียแฉความจริงในแดนเถื่อน
-Conor Purcell:Be Strong Be United You will win.
-คลิปวิดิโอ ดร.จิม เทเลอร์ และแกนนำThai Red Australia
-คารวะหัวใจThai Red Australia
-ดร.จิม เทเลอร์ บทความวิชาการ:สำคัญกว่าชีวิตคน:ความตายของ'Central World'และการก่อกำเนิดใหม่ -เสื้อแดงกับการสร้างตำนานทางวัฒนธรรมของกฎุมพีชาวกรุง