ที่มา ประชาไท
“ผมหมดแค่นี้แล้วครับ ไม่มีอะไรจะสู้แล้วครับ...
...ผมขอกลับไปเป็นวัวเป็นควายอยู่บ้านผมดีกว่าครับ (ที่นั่น) ยังมีคนให้กำลังใจผมอยู่”
อนันต์ ทับเสาร์ทอง หนุ่มชาวไทใหญ่ จาก อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ กล่าวกับกรรมการทั้งสามหลังจากที่ยุติการแสดงของเขาในรายการ “Thailand Got Talent” แล้วสนทนาตอบโต้กันอีกไม่กี่ประโยคและนี่คือบทสนทนานั้น
นิรุตติ์ : เพลงเกี่ยวกับอะไรครับ ฟังแล้วยังไม่เข้าใจ
อนันต์ : เป็นภาษาไทใหญ่ครับ
นิรุตติ์ : ภาษาไทใหญ่ แล้วร้องไปแล้วได้อารมณ์อะไรออกมาครับ
อนันต์ : ตอนนี้ผมกลัว ยังไม่กล้าพอครับ
นิรุตติ์ : ไม่เป็นไรครับ สรุปเลยดีกว่าคุณอนันต์ เชียงใหม่บ้านอยู่แถวไหนครับ
อนันต์ : อยู่บนดอยครับ
นิรุตติ์ : ดอยไหนครับ
อนันต์ : อำเภอเวียงแหง ดอยเวียงแหงครับ
นิรุตติ์ : เดี๋ยวจะไปหาที่นั่น วันนี้ไม่ผ่านนะครับ ไปรอผมที่นั่นครับ (น้ำเสียงดุดัน-ผู้เขียน)
การกล่าวถึงตัวเองว่า “เป็นวัวเป็นควาย” ของอนันต์ เป็นการตอกย้ำและทำให้บทสนทนากับท่าทีของนิรุตติ์เป็นรูปธรรมและตรงไปตรงมามากขึ้น และก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกับผู้ชมจำนวนมากในห้องส่งในขณะนั้นรวมทั้งสองพิธีกรที่หัวร่องอหงายอยู่ข้างเวทีที่เข้าใจและมีทัศนะไปในแบบเดียวกัน ผมออกจะมั่นใจว่าเพราะการตีตราอนันต์เช่นนั้น จึงทำให้นิรุตติ์และผู้ชมในห้องส่งและพิธีกรเข้าไม่ถึงความหมายโดยนัยที่เขาสื่อออกมา
อันที่จริงแล้ว “วัวควาย” ก็คือ “วาทกรรม” ที่ชนชั้นกลางในเมืองตีตราชาวบ้านชาวช่องที่อยู่ตามชายขอบ ชาวบ้านรวมทั้งอนันต์ต่างก็รู้ว่าคนชั้นกลางในเมืองหมายความถึงพวกเขาเช่นนั้น แต่อนันต์คงไม่คาดคิดว่าเขาจะประสบเหตุการณ์นี้บนเวทีประกวดที่เขาตั้งใจมาแสดงความสามารถให้ได้ชม
อนันต์ คงไม่ได้คาดหวังรางวัลใด ๆ จากการประกวดในรายการนี้ นอกจากจะใช้เป็นเวทีหรือพื้นที่สำหรับบอกกล่าวกับสังคมว่าในแผ่นดินที่เรียกว่าประเทศไทยนี้ ยังมีเขาที่เป็นชาวไทใหญ่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ด้วย เขามีศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเอง รวมทั้งเพลงที่เขานำมาแสดงให้ชมให้ฟัง
เหตุการณ์ไม่กี่นาทีที่เกิดขึ้นบนเวที คงกล่าวได้ว่าความคาดหวังของอนันต์นั้นไม่บรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้ ไม่เพียงไม่ได้การต้อนรับและเงี่ยหูรับฟังสิ่งที่เขานำเสนอจากคณะกรรมการและผู้ชมในห้องส่งเท่านั้น อนันต์กลายสภาพ “เป็นวัวเป็นควาย” ที่ถูกไล่ลงจากเวทีที่ต้อนรับเฉพาะคนพวกเดียวกัน ผู้ที่มีรสนิยมทางศิลปวัฒนธรรมในแบบที่ผู้สร้างรายการโทรทัศน์ในประเทศนี้สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากพวกเขา รสนิยมที่ว่าเป็นอย่างไรนั้นผมขอยกเอาคำกล่าวของฝรั่งคนหนึ่งชื่อเบน แอนเดอร์สัน ว่า
“...หลับหูหลับตาบริโภคหนังขยะฮอลลีวู้ด หนังขยะกังฟูจีนที่แสนซ้ำซาก นำเข้าวิดีโอเกมกับละครงี่เง่าต่อไป ถ้าเราดูจากโฆษณาทั้งหลาย ก็จะเห็นว่าชนชั้นกลางกรุงเทพฯ สนใจแต่อาหารดีๆ แฟชั่นจากต่างประเทศ รีสอร์ตหรูๆ และการไปเที่ยวช้อปปิ้งในเอเชียตะวันออกกับยุโรป ...”
อันที่จริงนั้น ศิลปวัฒนธรรมบนโลกใบนี้ มิใช่มีเพียงจากฝั่งตะวันตกที่ครอบงำผู้คนทั่วทั้งโลกโดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองอยู่ในขณะนี้เท่านั้น แต่โลกยังมีศิลปะวัฒนธรรมที่งดงามซี่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปอีกมากมาย แน่นอนว่าย่อมมีความต่างไปจากขนบ แบบแผนในแบบที่คุ้นชิน ซึ่งหากยังยึดมั่นในสิ่งที่ครอบงำอยู่อย่างหัวปักหัวปรำและไม่คิดจะเปิดหูเปิดตาออกไปจากสิ่งครอบอยู่ ก็ยากที่จะเห็นความงดงามที่แตกต่างออกไป ดังกรณีคณะกรรมการ พิธีกร และผู้ชมในห้องส่ง
แต่จะว่าไปแล้ว หากนั่นมิใช่ความคาดหวังของอนันต์ ในทางตรงกันข้ามเขาต้องการจะสื่อให้เห็นว่าสังคมบ้านเรายังมีการเหยียดหยามทางชาติพันธุ์อยู่ อนันต์ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นชัดยิ่งกว่าชัด ไม่ว่าจะเป็นท่าทีที่ปรากฏในห้องส่ง
กระบวนการโลกาภิวัตน์ที่พยายามเชื่อมให้โลกเป็นผืนเดียวกัน แต่ก็การดูหมิ่นเหยียดหยามก็ยังพบเห็นอยู่ทั่วไปบนโลกใบนี้ ไม่เพียงในรายการโทรทัศน์ในประเทศไทยที่อนันต์เจอด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ผมคิดว่านิรุตติ์ก็น่าจะเคยประสบเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันกับอนันต์เมื่อคราวไปอาศัยอยู่ต่างบ้านต่างเมืองก่อนจะย้ายกลับมาเมืองไทย