ที่มา ประชาไท
ในที่สุดสิ่งที่ผู้เขียนเคยคาดการณ์ไว้ก็เป็นจริง เมื่อรัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจยื่นให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกตีความคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหารปี 2505 เพราะเห็นว่าไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาข้อพิพาทเหนือพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารโดยลำพังสองประเทศอีกต่อไป รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่รังเกียจบทบาทของบุคคลที่สามมาตลอด ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป เพียงแต่เมื่อถึงตอนที่กระบวนการตีความเริ่มขึ้น อาจไม่มีรัฐบาลอภิสิทธิ์แล้ว แต่เป็นรัฐบาลอื่นที่ต้องมารับปัญหาต่อไป
การยื่นขอให้ศาลโลกตีความนี้ กัมพูชาอาศัยมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลก ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีข้อพิพาทว่าด้วยความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลพึงตีความตามคำร้องของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” โดยมาตรา 60 อนุญาตให้กัมพูชายื่นได้โดยลำพัง ไม่จำเป็นต้องได้รับการสมยอมจากไทย ไม่ได้กำหนดว่าต้องยื่นภายในระยะเวลาเท่าไร (อันนี้คนละเรื่องกับการอุทธรณ์คำพิพากษา ที่ต้องกระทำภายใน 10 ปีหลังมีคำพิพากษา) แต่เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ ฝ่ายไทยก็ต้องตั้งทีมกฏหมายเพื่อไปโต้แย้งข้อกล่าวหาและคำร้องของกัมพูชาอย่างแน่นอน เพราะถ้าไม่ไป ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ฝ่ายกัมพูชาชี้แจงกับศาลโลกอยู่ฝ่ายเดียว เสียเปรียบแน่นอน
เรื่องกัมพูชายื่นให้ศาลโลกตีความนี้ เป็นข่าวอยู่หลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะยื่นให้ศาลตีความประเด็นอะไร จนกระทั่งวันจันทร์ที่ 2 พ.ค.นี้ เว็บไซต์ของศาลโลกก็ตีพิมพ์ใบแถลงข่าว ทำให้มีรายละเอียดมากพอที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังได้ จะเข้าใจประเด็นที่กัมพูชายื่นให้ตีความ เราจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูคำพิพากษาปี 2505 เสียก่อน
ข้อวินิจจัยเรื่องเส้นเขตแดนปี 2505
ความพ่ายแพ้ของไทยในคดีปราสาทพระวิหาร เป็นผลจากคำพิพากษาของศาลโลก 3 ข้อด้วยกันคือ
1. ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
2. ไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา
3. รัฐบาลไทยมีพันธะที่จะต้องส่งคืนโบราณวัตถุต่างๆ ที่ฝ่ายไทยได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทพระวิหาร
กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลตีความคำพิพากษาข้อ 2 ข้อเดียว โดยขอให้ศาลวินิจฉัยและชี้ขาดว่าประเด็นที่ว่า “พันธะที่ประเทศไทยจะต้อง “ถอนกำลังทหาร หรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตของกัมพูชา (ตามข้อ 2 ของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาเมื่อปี 2505) เป็นผลโดยตรงของการที่ไทยมีพันธะที่จะต้องเคารพต่อบูรณภาพของดินแดนของกัมพูชา ทั้งนี้ ดินแดนดังกล่าว อันเป็นที่ตั้งของปราสาทและบริเวณใกล้เคียง ได้ถูกปักปันตามเส้นเขตแดนที่ลากไว้บนแผนที่ (ซึ่งศาลได้เคยวินิจฉัยไว้ในหน้า 21 ของรายงานคำพิพากษา)”
แปลข้อความดังกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ กัมพูชาต้องการให้ศาลชี้ชัดว่า ที่ศาลเคยพิพากษาว่าไทยจะต้องถอนกองกำลังออกจากปราสาทพระวิหารและ “บริเวณใกล้เคียง” (vicinity) ในเขตกัมพูชานั้น ขอบเขตของ “บริเวณใกล้เคียง” ถูกกำหนดด้วยเส้นเขตแดนที่ปรากฎในแผนที่ใช่หรือไม่
ทั้งนี้ กัมพูชาถือว่าศาลโลกได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเส้นเขตแดนในบริเวณพิพาทคือเส้นที่ลากไว้บนแผนที่ อันเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันผสมสยาม-ฝรั่งเศส (หรือแผนที่ 1: 200,000) ดังนี้
"ประเทศไทยใน ค.ศ.1908-1909 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา ศาลมีความเห็นต่อไปว่า เมื่อพิจารณาโดยทั่วๆ ไป การกระทำต่อๆ มาของไทยมีแต่ยืนยัน และชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่าการกระทำของไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน"
แม้ว่าศาลโลกได้ระบุไว้ว่าข้อวินิจฉัยเรื่องเส้นเขตแดนนี้ จะไม่ถูกรวมไว้ใน “บทปฏิบัติการ” (operative clause) ของคำพิพากษา แต่เป็น “การให้เหตุผล” เพื่อใช้ตัดสินสามประเด็นที่ยกมาข้างต้นเท่านั้น แต่ฝ่ายกัมพูชามองว่านี่คือจุดแข็งของตนเอง เพราะศาลระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าเส้นเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหาร คือเส้นที่ปรากฏในแผนที่ ขณะที่ศาลไม่เคยวินิจฉัยยอมรับว่าเส้นสันปันน้ำ คือเส้นเขตแดนในบริเวณพิพาทเลย แต่ศาลยังเห็นว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะให้คิดว่าคู่กรณีได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่เส้นสันปันน้ำโดยเจาะจง เมื่อเปรียบเทียบกับความสำคัญที่เหนือกว่าของการยึดเส้นเขตแดนในแผนที่ซึ่งได้ปักปันกันในเวลาต่อมาและเป็นที่ยอมรับแก่คู่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้เรื่องได้เป็นที่ยุติกันไป ฉะนั้น อาศัยหลักในการตีความสนธิสัญญา ศาลจึงจำต้องลงความเห็นให้ถือเส้นเขตแดนตามแผนที่ของบริเวณพิพาท”
นัยของการตีความข้อนี้คือ หากศาลตีความเป็นคุณให้กับฝ่ายกัมพูชา ก็หมายความว่าไทยต้องถอนทหารออกจากบริเวณพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.ให้หมดนั่นเอง
มาตรการเฉพาะกาล (Provisional measures)
กัมพูชายังได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมว่า ในระหว่างรอผลการตีความของศาลนี้ ขอให้ศาลได้ออกมาตรการเฉพาะกาล (provisional measures) เป็นการเร่งด่วน ดังต่อไปนี้
1. ให้กองกำลังทั้งหมดของไทยถอนตัวออกจากดินแดนของกัมพูชาในบริเวณปราสาทพระวิหาร
2. ห้ามไทยกระทำกิจกรรมทางทหารทุกชนิดในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร
3. ให้ประเทศไทยยุติการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นการแทรกแซงสิทธิของกัมพูชา หรือทำให้สถานกาณ์เลวร้ายลง
กัมพูชาให้เหตุผลประกอบคำร้องดังกล่าวว่า เป็นผลจากการปะทะกันอย่างรุนแรงของกำลังทหารในบริเวณปราสาทพระวิหารและชายแดนจุดอื่นๆ จนนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน การบาดเจ็บ และผู้คนจำนวนมากต้องอพยพออกจากที่พัก มาตรการเฉพาะกาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับปกป้องอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของกัมพูชา ทำให้ไทยยุติการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น และป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม
ในกรณีนี้ กัมพูชาอ้างมาตรา 41 ของธรรมนูญศาลโลกที่บัญญัติว่า “หากศาลพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นในทางสถานการณ์ ศาลพึงมีอำนาจที่จะกำหนดให้ใช้มาตราการเฉพาะกาลที่จะช่วยพิทักษ์สิทธิของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” นี่จึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ฝ่ายไทยจะต้องโต้แย้งอีกเช่นกัน เพราะหากศาลมีคำสั่งตามที่กัมพูชาร้องขอ ก็จะนำไปสู่คำถามที่สำคัญอีกว่า อาณาบริเวณที่กองกำลังของไทยจะต้องถอนตัวออกมานี่ มีขอบเขตแค่ไหน ใช้อะไรเป็นเกณฑ์
ผู้เขียนเห็นด้วยกับอ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ที่ว่าเป็นการยากที่จะคาดคะเนว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ แพ้ หรือเสมอ และศาลอาจรับหรือไม่รับคำร้องขอให้ตีความของกัมพูชาก็ได้ การอ่านผลของคดีเก่าๆ อาจช่วยให้เราคาดคะเนทิศทางการวินิจฉัยคดีของศาลได้บ้าง แต่ก็เป็นได้แค่การประเมินเท่านั้น เพราะแต่ละคดีมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การตีความเหตุการณ์และตัวกฎหมายยังขึ้นกับตัวผู้พิพากษาเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือ ทีมกฎหมายของไทยมีงานหนักที่จะต้องโต้แย้งคำร้องของกัมพูชาอยู่หลายข้อทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังอดรู้สึกผิดหวังไม่ได้ที่ในที่สุดกรณีปราสาทพระวิหารต้องเดินมาถึงจุดนี้ เพราะในความเป็นจริง ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปราสาทพระวิหาร สามารถเจรจาจนรัฐบาลกัมพูชายอมรับที่จะให้มีการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารร่วมกัน แต่ความพยายามนี้ก็ต้องถูกทำลายลงด้วยกระแสคลั่งชาติ จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายหลายครั้งหลายครา ปัญหาคือ การยื่นตีความนี้ ไม่ว่าฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะ ก็จะไม่ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาดีขึ้น มีแต่จะเป็นเหตุแห่งการเพิ่มพูนความเกลียดชังซึ่งกันและกันยิ่งขึ้นไปอีก
*ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเป็น Visiting research fellow, the Shorenstein Asia Pacific Research Center, Stanford University