ที่มา มติชน วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฎิรูปประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ "วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจ ประชาธิปัตย์ - เพื่อไทย" ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล มองโลกก่อนมองเรา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยจะต้องมองโลกก่อนมองเรา เชื่อว่าการเจริญเติบโตของโลกกำลังจะเกิดขึ้น ส่วนอเมริกา ยุโรป กำลังจะเสื่อมถอยลง และการเติบโตเข้ามาที่เอเชีย กระบวนการที่เกิดขึ้นขณะนี้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเกาะกระแสการเจริญเติบโต อีกทั้งคิดว่าจะต้องทำอย่างไรประเทศไทยถึงก้าวมาเป็นผู้นำของภูมิภาคนี้ อาจกลายเป็นศูนย์ของการเจริญเติบโตต่อไปได้ เพราะเอเชียตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นศูนย์กลางเจริญเติบโตอันหนึ่ง ขณะที่จีน อินเดีย เขาโตมาก ประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นประเทศไทยต้องโตตามไปด้วย อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยเกิดจากการจ้างงาน เพื่อไทย เศรษฐกิจต้องโต 5 % โจทย์ต่อมาก็คือ ทำอย่างไรถึงจะให้โต 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของประเทศอาเซียน (geographic hub) ต้องมีการพัฒนาพื้นที่ สร้างการเชื่อมต่อและความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศ เช่น ทำรถไฟรางคู่เข้าไปทุกประเทศ ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องของขนส่งสินค้า เพราะประเทศไทยจะต้องเป็นทั้งศูนย์กลางการผลิต การกระจายสินค้า หากเรายึดครองการเป็นศูนย์กลางได้เศรษฐกิจมันก็จะโตเอง ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาตนเอง และใช้การติดต่อสื่อสาร แลนด์บริดจ์ ร้อนๆ จ้า "เราต้องมองปัญหาหลักปัจจุบันของประเทศไทยว่าคืออะไร ต้นทุนการขนส่งสูง เนื่องจากมีการขนส่ง 19-20 เปอร์เซ็นต์ แต่ขนส่งระบบรางไม่ดี ซึ่งมีปัจจัยจากการไม่พัฒนารถไฟ ปัญหาของสหภาพรถไฟที่เป็นปัญหาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้จะต้องพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าในกรุงเทพทั้ง 10 สาย อีกอันหนึ่งก็คือ แลนด์บริดจ์ (Landbridge) เพราะอย่างในภาคใต้ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ของโลก เนื่องจากช่องแคบมะละกาเริ่มหนาแน่น การขนส่งมีปัญหา หากเราสามารถพัฒนาได้โดยไม่กระทบกับท้องถิ่น ก็จะเป็นจุดเจริญเติบโตของประเทศไทยมโหฬาร สามารถแก้ปัญหาเรื่องพลังงานได้ ผลตอบแทนจะกลับคืนสู่ท้องถิ่น" เมืองใหม่ แสนล้าน เมืองไอที นายพิชัย ยังกล่าวอีกว่า ต้องดูปัญหาระยะยาวของประเทศ เนื่องจากกรุงเทพเริ่มจม มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมใช้งบประมาณปีละเกือบหมื่นล้าน จะต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำท่วม ซึ่งต้องดูโมเดลของอัมสเตอร์ดัม แต่ต้องใช้เงินมหาศาลประมาณแสนล้าน ทั้งนี้ขณะการสร้างเขื่อนเราก็สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาด้วย ทำการถมทะเลบางส่วน สร้างเป็นเกาะ เป็นเมืองตามพระราชดำริ เป็นเมืองสวรรค์ที่มีทุกอย่างพร้อม มีการประมูลขายที่ดิน ประมูลการก่อสร้าง กลายเป็นเมืองแห่งธุรกิจ เมืองแห่งไอที ในอนาคตการเจริญเติบโตจะไปรวมอยู่ในนี้ หากโครงการนี้ทำสำเร็จรัฐจะได้เงิน ปัญหาเรื่องน้ำก็ถือว่าสำคัญ จะมีการพัฒนาลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ ทำระบบชลประทาน เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้เยอะขึ้น บัตรเครดิตชาวนา... แรงสุด และนโยบายที่ดีมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ บัตรสินเชื่อเกษตรกร ที่สามารถตอบโจทย์ของเกษตรกรได้ เนื่องจากเกษตรกรมีจำนวนเยอะ เรามองว่าแต่ละปีชาวนากู้เงินนอกระบบสูงเพื่อไปซื้อปัจจัยการผลิต หากมีตัวนี้แล้วก็จะช่วยในเรื่องของศักดิ์ศรีได้ อีกอย่างคือลดต้นทุนการผลิต เข้าไปควบคุมทุกจุด ถ้ามองในเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว ลดต้นทุนของชาวนาได้ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ต่อรองกับผู้ประกอบการเพื่อให้ต้นทุนถูกลง ทั้งนี้ยังกลับไปใช้ระบบจำนำเดิม อีกนโยบายหนึ่งคือ การลดภาษีนิติบุคคล เห็นว่าการที่จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตได้ต้องลดภาษีนิติบุคคล ในปีแรกจาก 30 เปอร์เซ็นต์ ลดเหลือ 23 เปอร์เซ็นต์ ปี 56 ลดเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการปรับปรุงเรื่อง BOI เอาที่เป็นแนวโน้มธุรกิจในอนาคตจริงๆ ธุรกิจนอกระบบจะเก็บภาษีได้มากขึ้น อีกทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท คนที่จบปริญญาตรีจะได้เงินเดือน 15,000 บาท บ้านหลังแรก รถคันแรก อย่างไรก็ตามยังมีในเรื่องของกองทุนมหาวิทยาลัยตั้งตัว ให้เงินมหาวิทยาลัยพันล้านปล่อยกู้กับนักศึกษาที่มีวิธีคิดใหม่ๆ รวมถึงให้ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ให้ทุกโรงเรียนและที่สาธารณะมี wi-fi นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านหลังแรก รถคันแรก ซึ่งจากนี้ไปประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นกำลังแย่ และไม่ขยายการผลิต และโอกาสที่จะมาผลิตในประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญ จากนี้ไปหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะเล่นการเมืองน้อยๆ แต่จะมุ่งในเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลัก เชื่อว่าเราจะเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้ การขับเคลื่อนจะต้องทำพร้อมกันทุกฝ่าย ทุกคนในสังคมจะได้ประโยชน์จากนโยบายของเรา คนระดับสูงก็จะได้ขับเคลื่อน ส่วนคนระดับกลางและระดับล่างก็จะได้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังคิดต่อว่าคนระดับล่างจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะเราต้องเพิ่มการบริโภคในประเทศ ไม่สามารถพึ่งการส่งออกได้อย่างเดียว ปชป. เราจะเดินหน้าต่อไป เพื่อประชาชน ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายเพื่อการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องเป็นนโยบายที่ทำได้จริงและมีแผนชัดเจน ที่สำคัญก็คือว่าเป็นนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน จะเดินหน้าด้วยนโยบายแบบไหน ปัญหาอันดับแรกก็คือ ของแพง อาหารแพง และพลังงานแพง จนเกิดคำถามที่ว่าจะแพงอีกนานแค่ไหน จากผลการวิจัยของธนาคารโลก เมื่อปี 2008-2009 ราคาข้าวสูงมาก เช่นเดียวกับราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ข้อสรุปของนักวิชาการก็คือว่าจากนี้ไปราคาของพลังงานเพิ่มสูงขึ้นและไม่กลับมาเหมือนเดิม ราคาของอย่างอื่นรวมถึงน้ำมันสูงขึ้น ฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะแก้ปัญหานี้ต่อไป "เราจะเดินหน้าต่อไป เพื่อประชาชน" โดยรวมนโยบายของพรรคจะยกระดับรายได้ของบุคคล เพราะเชื่อในข้อมูลที่ตรงกันกับธนาคารโลกที่ได้วิเคราะห์ไว้ หากไม่สามารถยกระดับรายได้แล้ว มัวแต่ใช้วิธีเดิมๆ โตทีละ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ก็จะไปไม่รอด ไม่ว่าจะควบคุมราคาสินค้าได้เก่งแค่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้นการเพิ่มรายได้จึงเป็นหัวใจสำคัญ ต่อมาก็คือ ประชาชนมี 60 กว่าล้านคน มีหลายกลุ่มบุคคลที่อยู่นอกระบบที่รัฐบาลจะต้องดูแล จะต้องมีนโยบายที่ไปช่วยเหลือ ที่เห็นชัดคือ การให้เบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาท แม้รัฐบาลในอดีตจะให้ก็ตาม แต่ก็ให้ไม่ครบ ให้เฉพาะหัวคะแนน หรือเส้นสาย ซึ่งนโยบายแบบนี้ช่วยได้หลายอย่าง เน้นช่วยค่าใช้จ่าย ทำให้เงินใน กระเป๋ามีมากขึ้น แต่เงินที่เป็นภาษีมันอยู่นิ่ง เราจะไปขยายฐานภาษีอย่างไร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคนไทยรับภาระตรงนี้ "หากมีการเลือกพรรคเพื่อไทยก็จะเดินหน้าหาความเป็นธรรมให้คนเสื้อแดง ให้ทักษิณ จากนั้นก็ทำแลนด์บริดจ์ แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำ ไม่อยากให้เรือบรรทุกน้ำมันมาทำลายหาดทราย เพราะไม่ได้มองเงินเป็นหลัก เราไม่ได้ตามก้นประเทศที่พัฒนาแล้ว แล้วเสียหายอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป เพราะท้ายที่สุดจริง ๆ แล้ว การพัฒนาประเทศไม่ได้หมายความว่า เงิน เงิน ... แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องทำก็คือสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมั่นคง ไม่ใช่แค่การขยายฐานภาษีที่สุดท้ายคนไทยทั้งหมดต้องมารับภาระ" ย้ายท่าเรือคลองเตย เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ นอกจากนี้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ยังกล่าวอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ที่เชื่อมจากคุนหมิง ภาคอีสานสู่ภาคใต้ และเชื่อมต่อไปยังมาเลเซีย เพื่อพัฒนาการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น รวมถึงจะย้ายท่าเรือคลองเตยไปแหลมฉบังอีกด้วย จะสร้างสวนสาธารณะ ทำให้ไม่มีที่จอดรถ แต่จะใช้ขนส่งมวลชนแทนทั้งหมด ฉะนั้นนโยบายพรรคจะมองต่อว่า จะให้ประเทศหารายได้อย่างไร และการหารายได้ก็ต้องพูดอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ว่าโลกสมัยนี้เป็นแบบไหน หารายได้อย่างไร ต้องดูว่าประเทศไทยเก่งเรื่องอะไร สิ่งที่เรามองว่าทรัพยากรของเราที่ไม่มีใครเหมือนเลยนั่นก็คือการท่องเที่ยว ในโลกที่มีการแข่งขันแบบทวีคูณเชื่อว่าของดีเราต้องรักษา จะเห็นได้ในภาคใต้ที่มีแหล่งท่องเที่ยวอุดมสมบูรณ์ที่สุด หาดทรายสวยที่สุดและกำลังจะหาย และจะเป็นได้ว่าประชาธิปัตย์จึงมีนโยบายตรงข้ามจากพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์มองในโลกของความเป็นจริง อย่างไรก็ตามที่พรรคเพื่อไทย ได้เสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่ไม่ได้บอกว่าทำได้เมื่อไร แต่พรรคประชาธิปัตย์สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี เนื่องจากเรื่องแบบนี้ไม่สามารถทำได้ทันที วิธีการคือต้องไปดูค่าแรงเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยค่าแรงต่ำสุด และน้อยกว่าฟิลิปปินส์ด้วยซ้ำ ส่วนการปรับได้ครั้งละ 3-5 บาท ของรัฐบาลอันที่จริงทำได้ไม่ง่าย หากผู้ว่าจ้างไม่เห็นด้วย ทุกวันนี้อยู่ที่ 206 บาท 2 ปี อย่างมากแค่ 258 บาท ทั้งนี้นโยบายแบบนี้จะเกทับด้วยตัวเลขไม่ได้ แต่ยืนยันได้ว่าทำได้ หากใช้วิธีการสร้างตลาดแรงงาน ทำความเข้าใจกับภาคอุตสาหกรรม ประชาธิปัตย์มองในโลกของความเป็นจริง มีนโยบายชัดว่าจะเปลี่ยนอย่างไรจัดลำดับการลงทุนอะไรที่ทำแล้วประเทศเก่งก็ควรทำ เชื่อว่าการลดภาษีนิติบุคคลทำให้เพิ่มค่าแรงไม่ได้ ไม่ตอบโจทย์กระจายรายได้ ขณะที่ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านเศรษฐกิจของทั้งสองพรรคว่า ทิศทางของนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศจะต้องประกอบไปด้วย เศรษฐกิจที่จะต้องเติบโตได้มากที่สุด, ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์มากที่สุด, จะทำอย่างไรไม่ให้สินค้าอุปโภคบริโภคแพง และสุดท้ายคือจะต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง ที่ผ่านมาพรรคการเมืองค่อนข้างทำได้ดีเกือบทั้งหมด แต่การที่ประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์อย่างมากที่สุดนั้นไม่ค่อยบรรลุเป้าหมาย เพราะต้นตอของปัญหาจริงๆ แล้ว คือประเทศไทยยังขาดการกระจายรายได้ หรือกระจายรายได้ไม่ดีเท่าทีควร เพราะไปมุ่งเน้นการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่นอุตสาหกรรม ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตคล้ายลักษณะลูกบอลเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้กลม ทั้งนี้เราต้องทำให้มันกลมก่อน ก่อนที่จะทำให้มันโต อาทิ ฮ่องกง "อีกลักษณะหนึ่งของประเทศไทยคือ เน้นการพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป มากถึงร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศจีน อินเดีย เติบโตกว่าประเทศไทยถึง 2 เท่า ถ้ามองแต่การพึ่งพาในประเทศอย่างเดียวคงยาก ซึ่งตรงนี้ต้องเอามาเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยด้วย กล่าวคือมองเศรษฐกิจในระดับมหภาคและจุลภาค อีกด้านหนึ่งคือการค้าเสรี ซึ่งอาจใช้ประโยชน์ได้มาก ท้ายที่สุดก็คงเป็นเรื่องของการจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล ประชาชน และภาคธุรกิจ เพราะธุรกิจจะลงทุนเพิ่มก็ต่อเมื่อมีกำไร ขณะที่รัฐบาลมีรายได้ไม่มาก เช่น ค่าจ้าง ค่าแรงงาน หากมีการขึ้นเงินเดือนก็ต้องไปเน้นการเพิ่มศักยภาพแรงงาน เพราะมิเช่นนั้นแล้วเอกชนจะลำบาก" อยากเห็น...ประชานิยมแบบฉลาด ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มองในเรื่องงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จะต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งทั้งสองพรรคการเมืองต่างมีนโยบายที่ดีและค่อนข้างชัดเจน แต่ไม่ขอวิจารณ์ว่าพรรคไหนดีหรือไม่ดี ซึ่งทั้งหมดจะต้องดูในเรื่องของการแก้ปัญหาทั้งในระยะปานกลางและยาวด้วย เชื่อว่าทั้งสองพรรคมีแผนระยะกลาง แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลายังทำได้เพียงระยะสั้น หรือประชาชนส่วนใหญ่เห็นเพียงมาตราการระยะสั้น หากเปรียบการพัฒนาหรือการบริหารประเทศก็คือการเลี้ยงลูกที่มุ่งแต่ใช้เงินอย่างเดียวก็คงไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ควรจะดูความเหมาะสม พยายามตอบโจทย์ทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว หากมองถึงทุกข์แล้ว ปัญหาสำคัญหรือทุกข์ของประเทศก็คือของแพง รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่นั่นไม่ใช่ทุกข์ระดับหนึ่งแต่เป็นทุกที่ต่อเนื่องไประยะยาว ส่วนสาเหตุของปัญหานั้นก็มาจากหลายปัจจัย ซึ่งทุกพรรคน่าจะกล่าวเหมือนๆ กันว่าจะมีการกระจายรายได้ได้อย่างไร ทั้งนี้การพูดถึงประชานิยมจะเป็นการทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์เต็มที่และรวดเร็ว เบื้องต้นไม่ได้มองว่าน่าเกลียด แต่ควรทำประชานิยมแบบฉลาด เพราะที่หลายคนห่วงคือประชานิยมคือการสร้างหนี้สาธารณะที่สุดท้ายประชาชนเป็นผู้แบกรับ ควรมีการประเมินสถานการณ์ ที่ไม่เพียงแต่ให้ประชาได้รับแต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
พิชัย นริพทะพันธุ์ -กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย
รับชมข่าว VDO