WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, May 3, 2011

สัมภาษณ์สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: การปะทะไทย-กัมพูชา“ต้องคำนวณแล้วว่าใครจะทนความสูญเสียได้มากกว่ากัน”

ที่มา ประชาไท

ประชาไทสัมภาษณ์นักข่าวอาวุโสซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องกัมพูชาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุดคนหนึ่งของไทย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี จากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ผลงานชิ้นล่าสุดของเขาก็คือ การเป็นคณะทำงาน “โครงการวิจัย เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านของเรา” ที่ถูกโจมตีอย่างหนักจากขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองสายอนุรักษนิยม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ว่าเป็นชุดงานวิจัย “ขายชาติ”

ประชาไทถามคำถามพื้นฐานเพื่อความเข้าใจสถานการณ์ปะทะระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาครั้งล่าสุดที่บริเวณปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควาย ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้ว

แม้ว่าพื้นที่ปะทะครั้งล่าสุดจะห่างจากพื้นที่พิพาทเขาพระวิหารถึง 140 กิโลเมตร แต่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหานี้ยังคงต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจเรื่องปราสาทพระวิหาร และการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาอยู่ดังเดิม

ลึกไปกว่านั้น ที่สุดแห่งปัญหาของการปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาระลอกล่าสุด มิใช่อะไรอื่น หากเป็นความขัดแย้งทางการเมืองภายในของไทยเอง

ประชาไท: แรงจูงใจของทั้งสองฝ่ายที่ทำให้เกิดการปะทะกันครั้งล่าสุดนี้คืออะไร
สุภลักษณ์: แรงจูงใจฝ่ายไทย มีแรงจูงใจที่จะทะเลาะกับกัมพูชาเป็นเรื่องต่อเนื่องของกลุ่มอนุรักษนิยมซึ่งตอนนี้บังเอิญได้เป็นรัฐบาล ที่จะใช้ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารเป็นจุดสำคัญในการรวบรวมแรงสนับสนุนทางการเมือง ความจริงเขาก็เริ่มมาตั้งแต่ก่อนเป็นรัฐบาลที่เขาคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหารในปี 2551 ซึ่งก็ต่อเนื่อง โดยการคัดค้านโดยอาศัยข้ออ้างว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะทำให้ไทยเสียสิทธิในการทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าสิทธินั้นหมดไปนานแล้ว เพราะว่าพิจารณาจากกฎเกณฑ์ของธรรมนูญศาลโลก การอุทธรณ์ก็หมดลงสิบปีนับจากมีคำพิพากษา นั่นก็คือ พ.ศ.2515 พอพูดเรื่องนี้มากๆ ก็บอกว่าพื้นที่รอบๆ ปราสาทซึ่งเราอ้างสิทธิอยู่ว่าเป็นของเราก็ยังไม่ชัดเจน กัมพูชาจะเอาพื้นที่ตรงนั้นไปทำ Buffer Zone สำหรับมรดกโลกได้อย่างไร (ปกติมรดกโลกจะต้องมี Core Zone และ Buffer Zone สำหรับบริหารจัดการ) ไทยก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเราอ้างสิทธิทับซ้อนอยู่ อ้างสันปันน้ำเป็นเขตแดน ข้อตกลงอะไรต่างๆ แม้ว่าข้ออ้างเหล่านี้จะตกไปหมดแล้วในคำพิพากษาของศาลโลกแต่ก็ยังยกเป็นประเด็นในการคัดค้านการดำเนินการเรื่องปราสาทเขาพระวิหารอยู่ ซึ่งก็ได้แรงสนับสนุนจากคนจำนวนหนึ่งในประเทศไทย มีกลุ่มเสื้อเหลืองเป็นจุดสำคัญ บังเอิญว่าระยะหลังเสื้อเหลืองไปไกลกว่ารัฐบาล ถึงขั้นจะใช้กำลังเอาคืนอย่างจริงๆ จังๆ ให้ยกเลิกสิ่งที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เคยทำไว้ MOU เช่นการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนที่เคยทำในสมัย พ.ศ.2543 ซึ่งเกินเลยจากที่รัฐบาลอยากจะทำก็เลยเกิดความขัดแย้งกันขึ้นของฝ่ายไทย

ทีนี้ความขัดแย้งหลายๆ อย่างก็ถูกยกระดับโดยความขัดแย้งภายในประเทศของไทยเองด้วย ระหว่างความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มของรัฐบาลกับพวกเสื้อเหลือง กับเสื้อแดงซึ่งเชื่อมโยงไปถึงทักษิณ ชินวัตรซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีมาก่อนกับรัฐบาลในพนมเปญ มันก็สะสมความขัดแย้งเพิ่มขึ้นไปอีก ก็กลายเป็นประเด็นว่าไทยกัมพูชามีปัญหากันในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลด้วย เพราะว่ารัฐบาลฮุนเซนก็ใช้เงื่อนไขความขัดแย้งภายในประเทศเป็นเครื่องมือด้วย ก็ทำให้ข้อขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ในฝั่งกัมพูชา วัตถุประสงค์สำคัญของการดำเนินการมีสองอย่าง อย่างแรกนั้นอยากได้จริงๆ ก็คืออยากบริหารจัดการในฐานะที่เป็นมรดกโลก เพราะว่าเป็นแผนทางเศรษฐกิจด้วย ตามหลักแล้วการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็ควรเปิดพื้นที่ให้ท่องเที่ยว มีพื้นที่ทำเงินในแง่ของการท่องเที่ยวได้ เหมือนนครวัด เหมือนพื้นที่อื่นๆ ในโลกนี้ ที่เป็นแผนของการส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจ ก็จะใช้ตัวมรดกโลกนี้เป็นตัวเชื่อมโยงการพัฒนาพื้นที่ทางภาคเหนือของกัมพูชาเอง

อีกส่วนหนึ่ง ในทางการเมืองรัฐบาลฮุนเซนก็ได้เครดิตมากที่สามารถเอาปราสาทเขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ ถือเป็นแห่งที่สองนับจากนครวัด ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จซึ่งเขาได้แรงสนับสนุนจากประชาชนค่อนข้างมาก เป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ในกัมพูชาช่วงที่ได้ขึ้นทะเบียนใหม่ๆ ก็มีการเฉลิมฉลองกันอย่างอึกทึกครึกโครม

พอมาประจวบเหมาะกับการที่ไทยคัดค้านก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของเขา เหตุที่ไทยอ้างก็เป็นเหตุที่สำหรับกัมพูชาแล้วฟังดูเหลวไหล เพราะการขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยทั่วไปแม้ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่คร่อมพรมแดน หรืออาจจะมีปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน แต่ตามหลักของ UNESCO Convention มาตรา 11 (3) บอกว่า การขึ้นทะเบียนของทรัพย์สินใดๆ ไม่ทำให้ประเทศที่อ้างสิทธิหรืออำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณนั้นเสียสิทธิไปแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงการเป็นเจ้าของ ถ้าหากว่าไทยเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณนั้นจริงๆ มันก็ยังคงเป็นอยู่ มันไม่เท่ากับการยอมรับว่าปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบเป็นของกัมพูชา เอาล่ะ ปราสาทพระวิหารนั้นศาลโลกตัดสินแล้วว่าเป็นของกัมพูชา แต่พื้นที่โดยรอบบริเวณนั้นก็ยกมาเป็นกรณีพิพาทได้ ทั้งๆ ที่จะไม่ยกให้เป็นกรณีพิพาทก็ได้นะ เพราะถ้าเราบอกว่ายังปักหลักเขตแดนยังไม่เสร็จก็ละไว้ ก็ขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปได้

ความจริงแล้วกัมพูชาก็ยอมไทยมากนะ ก่อนหน้านี้เขาเคลมพื้นที่ 1: 200,000 ซึ่งกว้างกว่านั้นมาก แต่พอรัฐบาลคุณสมัคร สุนทรเวชโดยคุณนพดล ปัทมะก็เจรจาว่าเอาเฉพาะที่ไทยขีดไว้ให้ได้ไหม เพราะว่าที่เหลือเรายังพิพาทกันอยู่

คือทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเรายังพิพาทกันอยู่คือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็เขียนแผนผังกันใหม่ ซึ่งมติเรื่องนี้ก็บรรจุอยู่ในคณะกรรมการมรดกโลก ตั้งแต่การประชุมที่ควิเบก แคนาดา ในปี 2551 ก็ยังบรรจุอยู่เรื่อยมาว่า พื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่บริหารจัดการนั้นไม่รวมพื้นที่พิพาทจนกว่าจะสามารถตกลงกับฝ่ายไทย แต่ว่าฝ่ายไทยก็ไม่แล้วใจ ไม่ไว้วางใจ รัฐบาลชุดปัจจุบัน (ชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ตอนที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งใหม่ๆ ถึงกับพูดว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์เพราะว่าเราคัดค้านอยู่ ทั้งๆ ที่มันไม่มีอะไรที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ มันเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่เราก็ยังโกหกพกลมกับประชาชนเราได้ เพื่ออะไร ก็เพื่อผลทางการเมือง และสื่อมวลชนก็รายงานตามคำพูดของรัฐบาลทุกคำ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรที่ไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แผนการบริหารก็คือรายงานประจำช่วงระยะเวลา และคณะกรรมการมรดกโลกก็กำหนดปี 2556 ก็ต้องส่งอีกแผนหนึ่ง เป็นการอัพเดทเรื่อยๆ การส่งแผนไม่ได้เท่ากับว่าจะมีการอนุมัติแล้วต้องหยุดหรือดำเนินการต่อ ไม่เป็นเหตุให้สถานะความเป็นมรดกโลกสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด แต่รัฐบาลไทยก็ใช้ข้อพิจารณานี้เป็นเหตุที่ว่า สามารถทำเลื่อนการพิจารณาแผนของกรรมการมรดกโลกได้ว่านี่คือชัยชนะของการต่อสู้กับกัมพูชา เป็นคำอธิบายเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองว่านี่เป็นการต่อสู้กับเพื่อนบ้านในเรื่องปราสาทพระวิหาร ซึ่งเราไม่มีสิทธิอะไรแล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อกลับไปมองฝั่งกัมพูชา ฮุนเซน ก็เป็นมนุษย์ปุถุชน เมื่อแผนงานการดำเนินงานของเขาถูกขัดขวางเยี่ยงนี้ก็ย่อมโกรธ และเมื่อสามารถลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจไทยได้ จริงๆ กัมพูชาไม่เคยกล้าหือกับไทย มีไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์ ถือเป็นครั้งแรกๆ ถ้านับจากสีหนุ นี่ก็เป็นยุคแรกๆ ที่กัมพูชากล้าหือกับไทย


แล้วทำไมฮุนเซนถึงกล้า

เพราะในทางการเมืองฮุนเซนถือว่ามีอำนาจมากนะ พรรคฝ่ายค้านในกัมพูชาอ่อนแอโดยฝีมือของฮุนเซนเอง สัม รังสี ก็อยู่ในประเทศไม่ได้ ถูกถอนจากการเป็นสมาชิกสภา พรรคก็เล็กนิดเดียว ก็ทำให้อำนาจของฮุนเซนมาก ประกอบกับฝ่ายไทยก็แสดงอาการอ่อนแอให้เห็นอย่างชัดเจน ก็เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ยามใดที่ไทยอ่อนแอก็เปิดช่องให้ศึกข้างนอกเข้ามาได้

ไทยอ่อนแอในหลายๆ มิติ ตัวรัฐบาลเองก็ไม่มีอำนาจเต็ม เพราะว่าไม่ใช่รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งมาอย่างใสสะอาด รัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างได้ว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่กระบวนการในการสร้างรัฐบาลนี้มีช่องว่างมาก

สอง ฝ่ายค้าน หรือกระบวนการอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมีความเข้มแข็งมาก และมีความสัมพันธ์อันดีกับกัมพูชาอีก

สาม ทหารต้องการมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น วิธีเดียวที่จะทำให้ทหารมีความชอบธรรมในการควบคุมทางการเมืองได้ ก็คือการสร้างศึกสงคราม ความขัดแย้ง และมีข้ออ้างเรื่องความมั่นคงมากๆ กรณีนี้ก็เช่นกันที่ประจวบเหมาะมาก ที่ทหารไทยยินดีอย่างยิ่ง กัมพูชาก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะกระโจนเข้าสู่ความขัดแย้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่เพื่อประโยชน์ทางการเมืองภายในของทั้งสองฝ่าย

จริงๆ ฮุนเซนก็ได้แรงสนับสนุนมากขึ้นมากจากประชาชนของเขา เราก็ทราบดีว่าชาวกัมพูชานิยมชมชอบความขัดแย้งนี้เพราะเขาคิดว่าฮุนเซนเป็นคนที่สามารถสยบไทยได้ในเรื่องปราสาทพระวิหาร คือทำให้ไทยหยุดพูดให้ได้ เพราะทุกครั้งถ้าสังเกต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปราสาทพระวิหาร ไม่ว่าใครก็ตาม ที่พูดว่าปราสาทหินทั้งหลายแหล่ไม่ใช่ของกัมพูชา พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณเป็นของไทยมาก่อน จะพูดจริงหรือไม่ก็ตามไม่ต้องไปสืบสวนด้วยซ้ำไป ขอให้ได้ยินว่าคนไทยอยากได้ปราสาทหิน วันนั้นคนเขมรจะเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาทันที ยิ่งคนไทยพูดว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทยยิ่งแล้วใหญ่ มันเหมือนราดน้ำมันลงบนกองเพลิง เพราะฉะนั้นก็ผสมผเสกันหลายอย่าง ความขัดแย้งจึงมีทีท่าที่จะลุกลาม เพราะมีประเด็นพ่วงค่อนข้างมาก ซึ่งประเด็นพ่วงที่เป็นปัญหาภายในของไทยก็มากอยู่ ความขัดแย้งภายในก็มากและเกือบจะเป็นกำลังขับที่สำคัญในความขัดแย้งครั้งนี้ด้วยซ้ำไป นั่นก็คือความขัดแย้งทางการเมืองภายใน บังเอิญว่ากลุ่มเสื้อแดงและทักษิณมีความสัมพันธ์อันดีกันมาก่อนกับกัมพูชา ซึ่งเปิดโอกาสให้ฮุนเซนเล่นการเมืองไทย

ไม่บ่อยนักนะในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ที่ผู้นำกัมพูชาจะมีทักษะและมีความกล้าหาญมากที่จะเข้ามาเล่นการเมืองภายในของไทย แต่ก่อนมีแต่ฝ่ายไทยเป็นผู้เล่น เมื่อก่อนไทยสนับสนุนฝ่ายเขมรแดง ต่อต้านฮุนเซน นี่คือประวัติศาสตร์ช่วงความจำระยะสั้นนะ ไม่นับรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ไทยเข้าบุกยึด หนุนคนนั้นคนนี้ขึ้นเป็นกษัตริย์เพื่อสถาปนาอำนาจของสยามในกัมพูชา แต่ในยุคร่วมสมัยนี้ การที่ไทยสนับสนุนเขมรแดง เจ้าสีหนุต่อสู้กับฮุนเซน แล้วทำไมฮุนเซนจะจำเรื่องพวกนี้ไม่ได้ล่ะ เขาต้องจำได้สิ เพราะว่าเขาอยู่ในช่วงนี้ของประวัติศาสตร์ เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาก่อน ในช่วงที่ไทยสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของเขาตอนนั้นเราก็เชื่อว่าเวียดนามสนับสนุนฮุนเซนเพื่อต่อต้านไทย นั่นก็เป็นการเล่นการเมืองภายในของกัมพูชา เพราะฉะนั้น กลับกัน มาถึงยุคนี้เมื่อฝ่ายไทยแตกแยกบ้างเขาก็เห็นช่อง เรื่องนี้เบลมกันไม่ได้

ในกัมพูชาก็มีความขัดแย้ง เนชั่นสุดสัปดาห์ก็เพิ่งเขียนบทวิเคราะห์ไปว่าในกัมพูชาเองก็มีความขัดแย้งสูง คะแนนเสียงฮุนเซนกำลังตก
นั่นเป็นข้อแก้ตัวของชนชั้นนำไทย ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมฮุนเซนก้าวร้าวกับตัวเองขนาดนี้ เลยอธิบายว่าฮุนเซนต้องการที่จะสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็รู้ว่าฝ่ายค้านของกัมพูชาไม่ได้เข้มแข็งขนาดที่ว่าฮุนเซนจะต้องสร้างคะแนนนิยมเพื่อหล่อเลี้ยงสถานะทางการเมืองของตัวเองขนาดนั้น

แม่ทัพภาคสองบอกว่า กัมพูชาเสียดินแดนให้เวียดนามเยอะ
ก็มีมูล เวียดนามกับกัมพูชาก็ยังปักเขตแดนไม่เรียบร้อยดี ก็ยังทะเลาะกันอยู่ มีปัญหา แต่ความที่ฮุนเซนติดหนี้บุญคุณกับเวียดนามมากเขาก็ไม่กล้าดึงดันกับเวียดนามมากนักเมื่อเทียบกับไทย เพราะเวียดนามเคยช่วยฮุนเซนรบกับไทย

มิติระหว่างประเทศล่ะ ดูเหมือนฮุนเซนมั่นใจว่าอาเซียนยืนอยู่ข้างตัวเองหรือเปล่า
ในกรณีนี้ เรื่องปราสาทพระวิหาร ต้องบอกว่าความชอบธรรมของไทยมีน้อย เพราะว่าปราสาท ศาลโลกตัดสินแล้วว่าเป็นของกัมพูชา ก็อธิบายยากว่าเป็นของกัมพูชาแล้วเราไปคัดค้านอะไรเขา จะคัดค้านเพราะกลัวว่าเราเสียดินแดน มันก็รับฟังไม่ค่อยขึ้น เพราะว่าจะไปเสียดินแดนได้ยังไงในเมื่อเขาไม่ได้ไปปักปันเขตแดนกัน คือคณะกรรมการมรดกโลกไม่ใช่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินนะ คุณจะไปพิสูจน์เรื่องการปักปันเขตแดนได้อย่างไร

ความขัดแย้งในกัมพูชาไม่ได้มากนักหรอก เมื่อเทียบกับไทยแล้วปัญหานั้นไม่ได้ลึก ไม่ได้เป็นแรงขับที่รุนแรงอะไร ถ้าเทียบกับความปรารถนาที่จะหยุดปัญหาของฮุนเซน ถ้าเทียบกับไทย ความขัดแย้งของเขาไม่ลึกเป็นแค่การสร้างคะแนนนิยมเบาๆ ปีหน้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่น อีกสองปีถึงจะมีเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา ไม่ใช่เวลานี้ เพราะฉะนั้นประเด็นพวกนี้เอามาวิเคราะห์ก็แค่ปลอบประโลมใจตัวเองไปแค่นั้นว่าเขามีปัญหานะ เขาถึงมาทะเลาะกับเรา แต่จริงๆ แล้วเราต้องดูตัวเองว่าเรามีปัญหามากกว่า ใครล่ะที่บอกให้รัฐบาลเอาเอฟ 16 ไปถล่ม ไม่ใช่คนไทยเหรอ ใครล่ะที่บอกให้รัฐบาลใช้กำลังทหารขับไล่ชุมชนกัมพูชาออกไปจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ก็คนไทย ใครล่ะบอกให้ยกเลิก MOU 2543 ก็คนไทยอีกนั่นแหละ เพราะฉะนั้นแรงขับจากด้านนี้แรงกว่า แรงเกินกว่าจะไปอ้างหรือกล่าวโทษฝ่ายโน้นฝ่ายเดียวโดยลำพัง

ประเด็นเรื่องกัมพูชามั่นใจในทางระหว่างประเทศมากกว่า
ความชอบธรรมในการคัดค้านเรื่องปราสาทพระวิหารของไทยไม่หนักแน่นแข็งแรงมากนัก คือกัมพูชามีความชอบธรรมจากคำพิพากษาศาลโลกปี พ.ศ.2505 เป็นพื้นฐานอยู่แล้วเขาก็อ้างได้ตลอดเวลา ไปไหนเขาก็อ้าง ในขณะที่ไทยเถียงไม่ค่อยออกว่าศาลไม่ได้ตัดสินแบบนั้น เพราะศาลตัดสินแบบนั้น ศาลตัดสินว่าปราสาทพระวิหาร “อยู่ข้าง” กัมพูชา เขาไม่ได้ใช้คำว่า “เป็นของ” ด้วยนะ คำนี้สำคัญมาก ภาษาอังกฤษเขาไม่ได้ใช้คำว่า “Belong” แต่เขาใช้คำว่า “ตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา” คำว่า “อาณาเขต” อ่านโดยคนที่อ่านหนังสือออกก็เข้าใจแล้ว ไม่ต้องคิดมาก ว่าพื้นที่มันต้องมีกว้างมียาวพอสมควร จะมาพูดเหมือนที่นายกฯอภิสิทธิ์มันดูเหมือนศรีธนญชัยไปหน่อยว่าศาลตัดสินเฉพาะตัวปราสาทแต่แผ่นดินเป็นของเรา คือไปพูดที่ไหนก็อับอาย อยู่บ้านเราพูดเลอะเทอะอย่างไรก็ได้ แต่เรื่องแบบนี้เอาไปโต้แย้งในต่างประเทศแล้วฟังดูตลก
คำพิพากษาไม่ได้ว่าอย่างนั้นสักหน่อย ถ้าศาลเปิดช่องว่าปราสาทเป็นของกัมพูชา เราก็พอจะอ้างได้แต่เขาไม่ได้เขียนอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่ว่าชาติต่างๆ จะมองเห็นว่าไทยไม่ค่อยมีความชอบธรรม

สอง ไทยเป็นชาติใหญ่กว่า ก็เหมือนรถใหญ่ชนกะรถเล็ก รถใหญ่ผิด เป็นสามัญสำนึกทั่วๆ ไปกัมพูชามีทหารน้อยกว่า ฐานะเศรษฐกิจยากจนกว่า พึ่งพิงคนอื่นตลอดเวลา ยุทโธปกรณ์ก็ไม่ดีเท่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะมารบกับประเทศที่ใหญ่โตขนาดไทย เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ เป็นผู้ก่อตั้งอาเซียน เพราะฉะนั้น ใครๆ ก็ยากที่จะเชื่ออย่างที่ที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเราบอกว่าเราถูกรังแก คือมดคงไม่รังแกช้างกระมัง นี่เป็นธรรมดา เป็นเรื่องเข้าใจยากที่จะอธิบายให้สากลโลกเข้าใจ

สาม กัมพูชามีพวกมากตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะเขาเป็นประเทศเล็กและมีปัญหามาตลอดประวัติศาสตร์ในช่วงความทรงจำระยะสั้น ปัญหากัมพูชาเป็น Global Issue มานานแล้ว ตั้งแต่เรื่องเขมรแดงเรื่องอะไร ประเทศนี้ตกอยู่ในชะตากรรมที่น่าสงสารมาตลอด เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้มากแม้พฤติกรรมส่วนตัวของฮุนเซนจะน่ารังเกียจ แต่ในแง่ความเป็นประเทศ กัมพูชาก็เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เป็นประเทศซึ่งถูกมหาอำนาจครอบงำมานาน มหาอำนาจซึ่งครอบงำมานานเขาก็คงเห็นใจมากกว่าจะเห็นใจไทย ไทยก็รู้ว่าอย่างไรฝรั่งเศสก็คงไม่เข้าข้างไทย ถ้าฝรั่งเศสเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในระยะเวลาเดือนสองเดือนนี้ โอกาสที่ไทยจะมีพวกก็น้อย และไทยก็มีพวกน้อยจริงๆ แม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้าน

ลาวก็คงไม่เข้าข้างเรา ประเทศเพื่อนบ้านเราเขามองว่าไทยเป็นคนไม่น่ารัก เรามีปัญหากับเพื่อนบ้านรอบทิศ ถ้าไม่มีกับกัมพูชาเราก็อาจจะมีกับพม่าในเรื่องคล้ายๆ กันคือเรื่องเขตแดน จึงสามารถพิจารณาได้ว่าสุ้มเสียงของต่างชาติ แม้จะไม่มีใครพูดชัดเจนว่าเข้าข้างกัมพูชาอย่างโจ่งแจ้ง แต่หลายประเทศก็แสดงออกผ่านสื่อของเขา อย่างจีนก็ชัดเจนไปดูข่าวซินหัวสิ เวลาอภิสิทธิ์ด่าฮุนเซนลงนิดเดียว แต่เวลาฮุนเซนด่าอภิสิทธิ์ลงเสียยืดยาวทุกคำพูด

แปลว่าสื่อบ้านเราบางสำนักก็ประเมินผิดว่าจีนน่าจะอยู่ข้างไทยมากกว่า
คือเราอยากให้เขาอยู่ข้างเรา เราคิดว่าเรามีสัมพันธ์อันดีกับจีน ทั้งราชวงศ์และอะไรต่อมิอะไร เราคิดไปอย่างนั้นเพราะเราเชื่อ คนไทยเป็นพวกหลงตัวเองยังไงไม่รู้นะ ไปไหนก็คิดว่าคนรักตัวเอง แต่ลืมมองอีกด้านหนึ่ง ต้องมองรอบๆ หน่อย จีนเขาอาจจะไม่ได้รักกัมพูชาเท่าไหร่หรอก แต่ผลประโยชน์ของจีนในกัมพูชานั้นมีมากขึ้นๆ เขาลงทุนของจีนในกัมพูชาเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่ไทยตกอันดับลงไปเรื่อยๆ แล้วในดุลยภาพของการต่อสู้เพื่อสร้างฐานอำนาจของจีนในกัมพูชาก็ต้องต่อสู้กับเวียดนามซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาของจีนและมีอิทธิพลเหนือกัมพูชามาตลอด อิทธิพลของไทยเหนือกัมพูชานั้นไม่ได้มีมากเท่าไหร่ กัมพูชาเป็นสนาม โอกาสที่จีนจะทิ้งกัมพูชามาหาไทยและแสดงออกว่าเข้าข้างไทยอย่างชัดเจนก็เป็นไปไม่ได้ แล้วฮุนเซนก็รู้ข้อเท็จจริงนี้ เขาก็เอาใจจีนมาตลอด สังเกตตอนส่งชาวอุ้ยเก๋อ (หรืออุยกูร์-ซึ่งเป็นชาวจีนมุสลิม จำนวน 20 คน) กลับจีน ใครๆ ก็บอกว่าอย่าส่งกลับ ฮุนเซนก็ส่งตัวกลับไปเฉยๆ ไม่เห็นมีใครไม่แคร์ ฮุนเซนไม่ต้องแคร์เรื่องพวกนี้ แล้วจีนชอบไหม จีนชอบ แม้สหรัฐจะด่าเป็นฟืนเป็นไฟ ฮุนเซนก็ไม่แคร์สหรัฐ เพราะจีนให้ผลประโยชน์ได้มากกว่า ความช่วยเหลือต่างๆ นานา บริษัทจีนลงทุนมากขึ้นๆ การค้าก็มากขึ้น ในขณะที่ของไทยวันๆ หาแต่เรื่องตัดความช่วยเหลือ หาแต่เรื่องปิดด่าน มันก็ธรรมดา โลกทุกวันนี้มันไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบค่าย เพราะมีปัจจัยเยอะ จีนก็ต้องคิดถึงประโยชน์ในกัมพูชามากพอๆ กับผลประโยชน์ของตัวเองในไทย ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีผลประโยชน์ในไทย แต่กัมพูชาเป็นพื้นที่เปิดใหม่ เขาก็ต้องการสถาปนาอำนาจของเขาที่นั่นด้วยเช่นกัน และจีนเขาก็แข่งกับเวียดนาม ไม่ใช่เขาเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกันแล้วเขาจะไม่แข่งกัน เขาก็ต้องการอิทธิพลของเขามากด้วย จีนก็ต้องคิดถึงดุลยภาพอำนาจ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ง่ายๆ ว่าเราจะวิ่งหาพวกเพื่อต่อต้านกัมพูชาได้ง่ายๆ มันมีปัจจัยอีกเยอะ ที่ต้องคำนึงถึง เพราะฉะนั้นเวลาวิเคราะห์เรื่องนี้มันไม่สามารถได้ง่ายๆ ว่าจีนเขาจะชอบไทยและจีนจะเข้าข้างไทยเพราะราชวงศ์ของเราไปเกี่ยวดองกับจีน มันไม่เสมอไป

คุณบอกว่าฝ่ายอนุรักษนิยมอยู่ในรัฐบาลขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่เมื่อต้นปี อภิสิทธิ์ก็เคยพูดว่าต้องพัฒนาพื้นที่ร่วมคล้ายๆ กับที่นพดลเคยพูดว่าต้องพัฒนาร่วมกัน
โดยข้อเท็จจริง มันไม่อาจจะทำอย่างที่ฝ่ายอนุรักษนิยมอยากจะทำได้ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล อภิสิทธิ์จริงๆ ก็เข้าใจเรื่องนี้มาแต่ต้นแล้วล่ะว่า ข้อแรก เราคงไม่อาจจะเอาปราสาทพระวิหารคืนมาได้ ไม่ว่าจะทั้งชาตินี้และชาติหน้า ก็จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์แถลงเอาไว้ว่าจะเอาปราสาทเขาพระวิหารคืนมาให้ได้ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ความจริงถ้ามันมีเหตุจะเอาคืนได้ในชาตินี้ก็คงไม่ต้องรอชาติหน้า ฉะนั้นทุกคนก็ต้องรู้ดีอยู่ว่าเมื่อชาตินี้คงเป็นไปไม่ได้ และอย่าหวังว่าชาติหน้าจะเป็นไปได้

เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะทำให้รู้สึกดีๆ ที่เรามีต่อปราสาทพระวิหารของเรายังคงอยู่ ก็มีแต่ต้องญาติดีกับกัมพูชาเพื่ออย่างน้อยที่สุด ก็คือแผนการแนวทางการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันซึ่งมีการวางแผนมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณและขิงแก่แล้วล่ะ ก็คือการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน แล้วไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก คือมีชิ้นที่เป็นปราสาทและชิ้นที่เป็นบริวาร เช่น สถูป ซึ่งอยู่ใกล้ไทยมาก แม้จะไม่สามารถเถียงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ทะเลาะไม่ขัดแย้งกัน ข้อเสนอเดิมคือกัมพูชาเป็นผู้เสนอหลักเอาตัวปราสาทขึ้นทะเบียน แล้วไทยก็พัฒนาพื้นที่ข้างล่างแล้วเอาไปจดทะเบียนอีกชิ้นหนึ่งคู่กันและบริหารร่วมกัน ซึ่งถ้าความสัมพันธ์ดีก็ทำได้ แต่บังเอิญว่าฝ่ายฮาร์ดคอร์อนุรักษนิยมปีกหนึ่ง บอกว่าไม่ได้ เราอยากจะร่วมในทรัพย์สินซึ่งเป็นของกัมพูชาชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว เขาคงไม่ยอม แล้วเราก็ไปพูดเพ้อเจ้อว่าเขาไปขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวโดยเราไม่ได้ เราต้องแบ่งพื้นที่ ไม่...เราไม่ได้ตกลงกันอย่างนั้น ตอนสมัยขิงแก่ ที่ตกลงกันที่ไครซ์เชิร์ช ก็ตกลงกันว่าไทยจะเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันให้กัมพูชาเป็นฝ่ายจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ นั่นคือข้อตกลง แต่ไม่รู้ใครเป็นผู้เอามาบิดเบือนว่ากัมพูชาไม่ยอมให้เราขึ้นทะเบียนร่วมเขาไม่เคยพูด ขึ้นร่วมไม่ได้ แต่เอาไปขึ้นทะเบียนชนกันได้ เหมือนน้ำตกอีควอซูระหว่างบราซิลกับอาร์เจนตินาต่างขึ้นทะเบียนคนละครึ่งแบบนั้นทำได้ แต่ไม่ใช่การเคลมว่าเราจะไปขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกัน เวลาอธิบายจึงต้องชัดเจน ว่าขึ้นทะเบีบนร่วมคือการทำอย่างไร คนก็ยังเข้าใจผิดอยู่นะ นักข่าวก็ยังเขียนผิด ว่าเขาไปขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว ก็ต้องเป็นฝ่ายเดียวอยู่แล้ว ก็มันเป็นของเขาน่ะ ไม่มีฝ่ายอื่น แต่การขึ้นทะเบียนโดยเอาส่วนของเราไปขึ้นทะเบียนบ้าง นั่นก็ทำได้ แต่เมื่อไม่อธิบาย ทำให้คนคลุมเครือ ทำให้คนรู้สึกเกลียดกัมพูชาว่ามันเห็นแก่ตัว เอาไปขึ้นฝ่ายเดียว ทางขึ้นก็ไม่มี มันเข้าใจผิดทั้งเพ เขาก็ทำถนนขึ้นเราก็ทำถนนขึ้น ทางขึ้นฝ่ายกัมพูชาก็มี

สื่อกัมพูชาบอกว่าทหารไทยไม่ยอม ขณะที่รัฐบาลไทยน่าจะพยายามเจรจามากกว่า
ใช่ พูดค้างไว้อยู่เมื่อกี้ว่ากองทัพใช้ข้อขัดแย้งกับกัมพูชาเป็นที่แสวงอำนาจ ในอดีตคนที่กำหนดความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน คือกองทัพ ไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ นี่คือสมัยสงครามเย็น ก่อนรัฐบาลชาติชาย สมัยเปรม สมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ กองทัพเป็นคนกำหนดความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อบ้านในนามของความมั่นคง ไม่ว่าจะเปิดด่านปิดด่าน คนในกองทัพอาจจะฝันหาวันชื่นคืนสุขแบบนั้นอีก ที่จะได้กำหนดนโยบายของไทยที่มีต่อกัมพูชาไม่ใช่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนกำหนด ฉะนั้นกรณีที่ไทยไปตกลงเรื่องให้มีผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียที่ปราสาทพระวิหาร รัฐบาลตกลงแล้ว พอกลับมากองทัพบอกไม่เอา เราไม่ต้องการบุคคลที่สาม เกิดข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกองทัพ กินกันไม่ลง จนถึงบัดนี้กษิตก็ยังต้องไปเปลี่ยน TOR ขอแก้ขอเพิ่ม ขอขยาย ก็ยังไม่สามารถพาผู้สังเกตการณ์เข้าพื้นที่ได้สักที ทั้งๆ ที่กัมพูชาทันทีที่มีข้อตกลง TOR ไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงก็ตอบกลับไปแล้วว่ายินดีให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปในพื้นที่โน่นนี่นั่น กัมพูชาเขาเคยชินแล้วกับการมีผู้สังเกตการณ์ขนาดกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปเป็นกองทัพยังเคยมาแล้ว นับประสาอะไรกับการมีผู้สังเกตการณ์แค่สิบกว่าคน

แต่ทหารไทยไม่ชิน ไม่เคย เราเคยแต่ไปดูกิจการของประเทศอื่น เราไม่เคยต้องเปิดบ้านให้คนอื่นดู ถือเป็นเรื่องน่าอายของทหารไทย เขาก็รับไม่ได้ ไม่ได้ตกลงกับรัฐบาลหรือกระทรวงการต่างประเทศก่อน กระทรวงการต่างประเทศเป็นคนไปว่าเอง ทีแรกกระทรวงฯ ต้องการบลัฟกัมพูชา เพราะตอนแรกกัมพูชาเสนอให้มีผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนเข้าไปรักษาสันติภาพ คุณกษิตก็ไปเสนอใหม่เป็นการบลัฟโดยเสนอให้ผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดเป็นผู้สังเกตการร์ร่วมกับทหารไทย เข้าใจว่าบลัฟกัมพูชา เข้าใจว่าคุณกษิตยังไม่ได้ปรึกษากับกองทัพ กัมพูชาก็รับ ไทยก็รับแต่พอกลับมาบ้าน กองทัพไทยบอกว่าเขาต้องมี Final State ในพื้นที่ที่เขาดูแล นี่คือกองทัพ

ก็เป็นไปได้ที่กัมพูชาจะรู้สึกว่าไทยไม่มีอำนาจเต็ม Full Mandate เจรจากับเขาแล้ว ตกลงกับเขาแล้วก็ทำไม่ได้ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ อินโดนีเซียก็โมโหกับท่าทีของไทยมาก จนบัดนี้ก็ยังส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาไม่ได้ จนกระทั่งรบกันครั้งหลังเพิ่มขึ้นอีก แนวรบจะขยายไปเรื่อยๆ

เราขัดแย้งตรงเขาพระวิหาร แต่ล่าสุดปะทะกันในพื้นที่ห่างออกมาถึง 140 กม. ทำไมจึงออกมาไกลขนาดนี้
มีเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกพื้นที่นั้นคลุมเครืออยู่ เดิมมีหลักเขตปักปันกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แต่ช่วงสงครามกลางเมืองหลักเขตแถวนั้นหายไป เจตนาใครย้ายหรือพังด้วยสภาพก็ไม่รู้ ก็ด่ากันไปด่ากันมา กัมพูชาก็ว่าไทยเป็นคนย้ายหลักเขต แต่เอาเถอะมันหายไป และเมื่อมันหายไปก็เกิดความไม่ชัดเจน คือกลุ่มปราสาทตาเมือนมีหลายหลัง แล้วบังเอิญว่าจำนวนหนึ่งตั้งคร่อมสันปันน้ำพอดี ทีนี้ถ้าเคร่งครัดกับเรื่องเส้นเขตแดน ก็อาจจะต้องผ่า องค์หนึ่งเป็นของกัมพูชา องค์หนึ่งเป็นของไทย มันก็เกิดความเบลอในแง่ของการจัดการ แต่บังเอิญไทยอาศัยว่าพื้นที่นั้นเคยเป็นพื้นที่ฐานที่มั่นของเขมรแดงเก่า และไทยเคยให้การสนับสนุนเขมรแดงมาก่อนในพื้นที่บริเวณนั้น เขาก็ไม่ว่า และไทยก็ให้กรมศิลป์ไปบูรณะขึ้นทะเบียนเป็นของเราเรียบร้อยแล้ว เราก็อ้างว่าเป็นของเรา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เขมรเขาก็บอกว่ามันไม่แน่นะ พักหลังๆ เขาก็เลยส่งทหารขึ้นมาประจำ ก็ไล่ตั้งแต่ ปราสาทตาควาย คนไทยไม่กล้าเรียกว่าตากระเบย หรือตากระบือ เราเลยต้องพูดคำหยาบว่าตาควาย จริงๆ ชื่อเดิมคือปราสาทตากระเบย เราเลยต้องแปล จำเป็นต้องแปล เราต้องเปลี่ยนศัพท์หลายอย่างที่เรายืมมาจากกัมพูชา พระวิเฮีย ก็ต้องเรียกพระวิหาร ต้องปรับให้เป็นภาษาไทย เสียมเรียบ เราก็พูดว่าเสียมราฐ ศรีโสภณบังเอิญไม่รู้จะเรียกว่าอะไรก็ต้องเรียกศรีโสภณ

เหตุที่สองที่มันขยายการปะทะมาก็เป็นเพราะว่า ฝ่ายกัมพูชาต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าการที่ไทยไม่รับผู้สังเกตการณ์เสียทีมันจะไม่มีสันติภาพที่ถาวร แปลว่าความขัดแย้งจะขยายไปที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครรู้

พูดแบบนี้ก็แปลว่าครั้งนี้กัมพูชาเริ่มก่อน
จริงๆ ก็ใช่ เพราะแต่ก่อนนั้นไม่มีกำลังทหารกัมพูชาในพื้นที่แถวนั้นมาก่อน เพิ่งเอาเข้ามาเมื่อเร็วๆ นี้เอง กัมพูชาไม่ได้พัฒนาพื้นที่แถวนั้นเลยเป็นป่าเขาลำเนาไพร แต่เหตุใครเริ่มก่อน บางทีก็พูดยาก บางทีเขมรเป็นฝ่ายยิงก่อนก็จริง แต่เกิดจากการยั่วยุของฝ่ายไทย เหมือนกรณีการปะทะที่บริเวณปราสาทพระวิหารนั่นก็เขมรยิงก่อน เพราะว่าอะไร เพราะว่าไทยเอารถแทร็กเตอร์ไถถนนขึ้นไปจากวัดแก้วไปภูมะเขือ แต่ถามว่าใครยิงก่อน เขมรยิงก่อนใช่ไหม แต่ถามว่าใครยั่วล่ะ เหมือนตอนที่เราเอาเอฟ 16 ไปบิน ชั่วนาตาปีไม่เคยบิน วันนี้อยากบิน เขมรเห็นบินมาก็ยิงไว้ก่อน เพราะไม่รู้จะล้ำมาหรือไม่ เราก็กล่าวหาได้ว่าเขมรยิงก่อน ก็ไม่ผิด เรื่องอย่างนี้พูดกันไปก็ขนมผสมน้ำยา ยิงกันข้างเดียวที่ไหนก็ยิงกันทั้งสองข้าง ตราบเท่าที่เอาทหารไปไว้ใกล้กันมันก็ยิงกัน แต่ก่อนมันไม่ใช่ปัญหา ทหารเมายิงกันวันเดียวก็จบ วันเดียวเคลียร์ได้ แต่ตอนนี้เคลียร์ไม่ได้ ไม่ได้ถามว่าเมาหรือเปล่า

ทหารไทยไม่ชินกับการที่ให้คนอื่นเข้ามาแทรกแซง อยากกลับไปสู่คืนวันที่กำหนดทิศทางได้ แต่ถ้ามองไปที่ประชาคมอาเซียนจะสามารถเข้ามามีบทบาทได้หรือไม่
ไม่ขัดแย้งกันหรอก เราอยากเป็นประชาคมแบบยุโรป แต่เราก็ไม่กล้าไปถึงจุดนั้นจริงๆ เรายังหวงอำนาจอธิปไตยอยู่ เราไม่กล้าให้อาเซียนเป็นองค์กรเหนือรัฐ เราให้มันเป็นแค่องค์กรระหว่างรัฐ แต่เราก็อยากเพราะโลกเป็นกันอย่างนั้น

แต่พอถึงเวลามีปัญหาเราก็ไม่อยากให้องค์กรนี้เข้ามายุ่มย่ามกิจการภายในของเรา ก็เป็นข้อที่อิหลักอิเหลื่อมาก และสังเกตได้ในเรื่องของความลงตัวไม่ลงรอย กัมพูชาซะอีกที่ยังมีสปิริตกว่า เพราะว่ามีปัญหาก็เอาไปให้อาเซียน ไทยกลับรู้สึกว่านี่เป็นการฉีกหน้าไทยทำไมต้องให้อาเซียนเป็นคนไกล่เกลี่ย อ้าว ก็ไทยบอกว่าอาเซียนเป็นองค์กรของภูมิภาคไม่ใช่เหรอ เป็นครอบครัวเราไม่ใช่เหรอ ทำไมไม่ให้อาเซียนเป็นคนไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งนี้ล่ะ กัมพูชาไปถึงยูเอ็น ยูเอ็นก็บอกว่าให้อาเซียนทำ อาเซียนก็บอกจะส่งกำลังเข้ามารักษาสันติภาพ

พอถึงวัน ไทยก็บอกว่าเรารับไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไทยเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนนะ เราทำใจไม่ได้ที่จะมีคนอื่นมาดูแลกิจการความขัดแย้ง ไทยอาจจะรู้สึกว่าเราเป็นพี่เบิ้ม เราเป็นผู้ใหญ่ แต่มันน่าอายที่ผู้ใหญ่ต้องตอแยกับเด็กแล้วมีผู้ใหญ่อีกคนมาบอกว่าเฮ้ย ทะเลาะกับเด็กนะเว้ย ผมว่าไทยรับไม่ค่อยได้ที่จะให้เกิดสภาพแบบนั้น โดยเฉพาะให้อินโดนีเซียทำยิ่งแล้วใหญ่เลย

อินโดนีเซียมีความชำนาญเรื่องนี้เพราะว่าเขาทำเรื่องนี้ร่วมกับไทยมาก่อน ในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนตอนนี้ เขาก็อยากให้อาเซียนมีบทบาทนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ไทยไม่ให้ความร่วมมือเพราะบังเอิญว่าเป็นปัญหาของไทยโดยตรง แต่ก่อนนั้นเป็นปัญหากัมพูชากับเวียดนาม

คุณมองกัมพูชาในแง่ดีเกินไปหรือเปล่าในแง่ที่เขามีสปิริต จริงๆ แล้วเพราะเขาเป็นประเทศเล็กเขาจึงต้องหาที่พิง
แล้วไทยไม่หาเหรอ ไทยก็หาเหมือนกัน เวลาเราสู้กับสหรัฐเราก็ต้องหาพวก หรือแม้แต่สู้กับกัมพูชาเราก็วิ่งหาจีน นี่เป็นธรรมดาของกฎเกณฑ์ของการมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคสมัยซึ่งไม่มีค่าย เมื่อไม่มีค่ายก็ต้องหาพวก เมื่อก่อนมีค่าย ก็ไม่ยากเท่าไหร่ ไทยแทบไม่ต้องคิดเองถ้าจะทะเลาะกับกัมพูชาก็แล้วแต่วอชิงตันจะว่า เปิดฐานทัพให้บอมบ์ประเทศเพื่อนบ้าน เราก็ไม่รู้สึกอับอายอะไรนี่ กัมพูชาก็มีสิทธิที่จะวิ่งหาความช่วยเหลือเราก็ไม่ใช่ว่าไม่วิ่งหา เราก็เรียกทูตสหรัฐทูตจีนมาบรีฟไม่ใช่เหรอ เราก็วิ่งหาพวกเพียงแต่เราไปสร้างวาทกรรมอีกแบบว่าเราจะจัดการปัญหานี้ได้ เราจะใช้ทวิภาคีเพราะเชื่อว่าถ้าอยู่ในทวิภาคีเราก็จะบีบเขมรได้ เราก็ไม่อยากให้เขมรมีพวก เราก็เลยว่าเขาวิ่งหาพวก แล้วมันผิดตรงไหน

ในการประชุมอาเซียนที่จะมีการสร้างองค์กรสร้างสันติภาพจะเป็นไปได้หรือไม่
มันคงไม่เวิร์ก องค์กรสร้างสันติภาพไม่มีอำนาจสร้างสันติภาพ เพราะประเทศคู่ขัดแย้งไม่ฟัง เราจะมีองค์กรสันติภาพเอาไว้ศึกษาแต่แก้ปัญหาไม่ได้ เพราประเทศคู่ขัดแย้งไม่ฟัง ถ้าคู่ขัดแย้งฟัง หรือองค์กรใดก็ตามฟัง ผู้ที่จะมาไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาได้ แต่นี่ไม่พร้อมอะไรสักอย่าง ทำได้อย่างเดียวคือยิงก่อนต่อไปจนกว่ากระสุนจะหมด

คืออาเซียนถ้าสมาชิกทุกคนยอมรับนับถือว่าเป็นองค์กรที่จะช่วยแก้ปัญหาได้และยอมให้แก้ปัญหา แต่ตอนนี้ถ้าปัญหาของเพื่อน เรายินดีให้เขาไปแก้ แต่ปัญหาของเราเราไม่ยอม แบบนี้ก็แย่ อย่างกรณีพม่า เราก็บอกให้อาเซียนแก้ปัญหา พม่าก็ไม่เอา สามจังหวัดภาคใต้ ไทยจะยอมไหม ก็เหมือนกันแหละ

ประเทศไทยและประเทศส่วนใหญ่ของอาเซียนไม่ชินให้คนอื่นแก้ปัญหา แต่กัมพูชาชินกับการให้คนอื่นแก้ปัญหาให้ ชินกับการวิ่งหาคนนั้นคนนี้ให้คนอื่นแก้ปัญหาให้มาตลอด

การเจรจาหยุดยิง แล้วยังยิงกันอยู่
นั่นเป็นแท็กติกเฉยๆ ไม่ใช่การเจรจาหยุดยิง เป็นเพียงยุทธวิธี แต่เราพูดราวกับของจริง ก็เพื่อดิสเครดิตเขมรเท่านั้น จริงๆ เราก็ทำแบบเดียวกัน เพราะว่ากัมพูชาก็คงอยากได้ตำแหน่งที่ดีในการวางกำลังบนเทือกเขาพนมดงรักบริเวณนั้น ฉะนั้นเขาก็จะยังไม่หยุดจนกว่าจะได้ตำแหน่งที่เขาต้องการ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ แต่จะทำได้เลยหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจ เพราะกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เขาไม่พร้อม ถ้าเทียบกับฝ่ายไทย กัมพูชาก็เลยใช้การเมืองระหว่างประเทศมาช่วย

ทหารไทยก็เข้าใจนั่นแหละไม่งั้นคงไม่ด่ากัมพูชา นี่คือพยายามดิสเครดิตกัน “ตกลงกันแล้ว ทำไมยังยิงอยู่” นี่เป็นแท็กติก แบบยิงไปด้วยเจรจาไปด้วย เป็นวิธีการที่ประเทศในอินโดจีนถนัด เป็นการต่อสู้แบบจรยุทธ์ ไม่ใช่สงคราม จริงๆ แล้วเป็นการปะทะตามแนวชายแดนเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ดีกว่าในการควบคุมชายแดน ไทยก็อยากได้ภูมะเขือไว้ควบคุมชายแดน แล้วทำไมถึงคิดว่าเขมรไม่อยากได้

พื้นที่ตรงนั้นยังเบลอไม่รู้ว่าของใคร?
จริงๆ มันไม่ค่อยเบลอเท่าไหร่ แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายตัดสินใจจะใช้กำลังกันแล้ว เรื่องการเคลียร์เขตแดนก็พักเอาไว้ก่อน จริงๆ พื้นที่นี้ไม่ได้ยากอะไรหรอก มันเคยมีหลักฐาน เคยมีหมุดอ้างอิงที่พอจะหาได้ แต่ก็เจตนาจะทำให้มันเบลอกันทั้งคู่

การปะทะจะยืดเยื้อ?
จนกว่าปัญหาดั้งเดิมจะได้รับการแก้ไข ถ้าไทยหยุดการคัดค้านปราสาทพระวิหาร ไม่ขวางแผนอะไรของเขา ถอนทหารออกแล้วมาเจรจาสำรวจและปักเขตแดนกัน แต่ถ้ายังยันกันอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวประชุมปารีสเราจะไปค้าน ไปประชุมคณะกรรมการมรดก เราก็จะไปค้าน ก็อย่าหวังว่าจะเลิก

ในเมื่อกัมพูชาเป็นประเทศเล็ก ทหารอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ไม่พอ แล้วกัมพูชาจะได้อะไรหากปะทะกันไปเรื่อยๆ อาเซียนก็ยื่นมือเข้ามาช่วยไม่ได้
ไม่ได้ เขาก็เสีย และเขาก็คงกำลังคำนวณว่าจะสู้แบบนี้ได้สักกี่วัน ไทยก็คิดนะ จะยิงกันต่อไปได้อีกสักกี่วัน มีลูกปืนพอหรือเปล่า

ฝ่ายเราหรือฝ่ายเขาที่คิดอย่างนี้
ฝ่ายเราคิด ยิงมายิงไป เขายิงมาลูกนึง เรายิงไปสิบ จริงๆ กัมพูชาก็รู้ว่าเราไม่ได้ยิงได้นานขนาดนั้น เราก็ไม่ได้มีของมากขนาดนั้น อย่าคิดว่าเรามีมาก เอาล่ะ หลงจ๊งทหารไทยรบได้หกเดือน แต่เขมรรบมาแล้วสิบปี ต้นทุนเขมรถูกกว่าไทย

เวลาวิเคราะห์ว่าไทยมีแสนยานุภาพมากกว่าก็จริง กำลังพลดีกว่า อาวุธดีกว่า แต่ต้นทุนการรบของเราแพงพอๆ กับสหรัฐ เพราะอะไร ประชาชนไทยบริเวณแนวชายแดนทำมาหากินได้วันนึงไม่น้อย ถ้าเขาหยุดทำมาหากินสักหกเจ็ดวัน เขาต้องของบประมาณมาสนับสนุนแล้วล่ะ เดี๋ยวนี้รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณไปเป็นพันๆ ล้านแล้วล่ะ สวนยางสวนหนึ่งแปดพันบาท ต้นยางหักต้นนึงก็แปดพันบาทนะ ทำบังเกอร์อันละแสนสอง ทำไปหลายร้อยอันแล้วล่ะ มันใช้เงินมากในการจัดการปัญหาข้อพิพาท

ในขณะที่กัมพูชานั้น ผมยังไม่เห็นทำบังเกอร์ให้ประชาชนกัมพูชาสักอันเดียว แล้วประชาชนกัมพูชาหาได้ไม่เกินวันละสองดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่ไทยหาได้เอาแค่กรีดยางวันหนึ่งเป็นพันบาทหยุดไปเจ็ดวันก็เจ็ดพันบาท ต้นทุนของไทยน่ะแพง ไอ้ความที่เขาจนต้นทุนเขาก็ถูกด้วย ถ้าพิจารณาแบบนี้แล้วเขาสูสี ผมยังคิดได้เลย ฮุนเซนมันเก่งกว่าผมตั้งเยอะ ฉันยิงไปลูกหนึ่งแกยิงมาสิบ แปลว่าไทยหมดไปสิบแล้ว เขมรหมดไปลูกเดียวนะ นี่เป็นแท็กติกทางการทหารแล้ว ในขณะที่ไทยออกข่าว โอ้โห ทหารเขมรตายสามร้อยแล้ว สามร้อยนี่กองพันหนึ่งแล้วนะ แล้วทำไมมันยังไม่หยุด แปลว่ายังไม่หมด แปลว่ายังรบต่อไปได้อีก ฉะนั้นต้องคำนวนแล้วแหละว่าใครจะทนความสูญเสียได้มากกว่ากัน ประเทศกัมพูชาผ่านความสูญเสียอันมากมายมหาศาลมาแล้ว เขายังทนได้ ฆ่ากันล้านเจ็ดยังทนมาได้ ของไทยเคยฆ่ากันได้ถึงล้านเจ็ดหรือเปล่า เราไม่เคยฆ่ากันถึงล้านเจ็ด เดี๋ยวเราต้องเรียกร้องให้หยุดสงครามแน่นอน เพราะไทยคงทนไม่ไหว


ถ้าอย่างนั้น อีกหกเดือนข้างหน้าทำอย่างไร
ก็ต้องหาทางหยุด

สื่อไทยเสนอข่าวเรื่องโล่มนุษย์
เรื่องโล่มนุษย์ ผมคิดว่าใช้กันทั้งคู่ สงครามนะ ถ้าทำความเสียหายให้พลเรือนได้ก็โพนทะนาว่าอีกฝ่ายหนึ่งไร้มนุษยธรรม ง่ายๆ เขมรยังไม่ค่อยโพนทะนาว่าเรายิงถูกประชาชนของเขาเท่าไหร่ อาจเพราะไม่โดนจริงๆ หรือว่าชีวิตประชาชนเขมรไม่มีค่า ต้นทุนถูกไง ปกติถ้าไม่รบกับไทยก็เดินเหยียบกับระเบิดอยู่แล้ว เพราะแถวนั้นกับระเบิดเยอะอยู่แล้ว ในเขมรวัวแพงกว่าคน ฉะนั้น ทำไมฮุนเซนถึงคำนวณว่าสู้กับไทยไหว กองทัพก็เล็ก อาวุธก็น้อยกว่า งบประมาณก็น้อยกว่า แล้วทำไมกล้ายิงไทย ต้องชัวร์ว่ากระสุนแต่ละลูกแพงมาก ของเราโดนบ้านพลเรือนหลังหนึ่งโอ๊ยจะเป็นจะตาย ออกสื่อกัน

ไทยใช้คลัสเตอร์บอมบ์ไหม
เราใช้นั่นแหละ แต่เราไม่เรียกว่าคลัสเตอร์บอมบ์ คืออะไรที่ยิงออกไปแล้วแตกเป็นลูกๆ ก็เรียกคลัสเตอร์บอมบ์ทั้งนั้นแหละ แต่ไทยบอกว่าลูกนี้ไม่เรียกคลัสเตอร์บอมบ์ จริงๆ เรามีข้อโต้แย้งอย่างเดียวว่าเราไม่ได้เป็นภาคีคลัสเตอร์บอมบ์ เราใช้โดยเสรีภาพเพราะว่าเชื่อว่าไม่มีใครเอาผิดได้ เสียหน้านิดหน่อยตรงที่อ้างว่าตัวศิวิไลซ์แต่ใช้ของไม่ศิวิไลซ์ แต่อ้างว่าไม่ใช้นี่ไม่ควรอ้างนะ ยอมรับแบบลูกผู้ชายดีกว่า แต่เราไม่ได้เป็นภาคี


สรุป 6 เดือนก็ต้องเจรจาอยู่ดี

ทางออกก็คือ มีแนวโน้มที่จะออกแบบทุเรศๆ อภิสิทธิ์คงรอดตัว ก็ต้องหาทางหยุด จริงๆ ถ้าไทยไม่ยิงกลับก็หยุด แต่เราพูดแบบนั้นก็คงไม่ได้ ถ้าเขายิงมาเราไม่ยิงไปก็คงยอมไม่ได้ ถ้าหยุดก็คือไทยต้องหยุดยิง

สอง ต้องไปผลักดันอาเซียนทำแพลทฟอร์มการเจรจายุติความขัดแย้งนี้ได้จริงๆ สุดท้ายทหารไทยอาจจะต้องยอมให้มีผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเข้ามาประจำการสักห้าหกเดือน เขาก็คำนวนแล้วแหละสักห้าหกเดือนก็คงหยุด

สาม อ้างเหตุยุติ เพราะกัมพูชาให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ก่อน ก็อาจจะเป็นเหตุให้หยุดได้ทั้งสองฝ่าย โดยไม่เสียหน้า เพื่อรอฟังคำพิพากษาก่อน คือการรบไปแล้วหยุดก่อนก็เสียหน้า

ไทยก็อาจจะมีเหตุว่าถ้าอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง การเลือกตั้งของไทยอาจจะเป็นเหตุยั่วยุให้กัมพูชารุกมากขึ้นก็ได้ แต่เขมรไม่มีศักยภาพพอที่จะรุกมาถึงกรุงเทพฯ เขาอาจจะยิงมา แล้วไม่ยิงกลับไป เขาก็ยิงได้ไม่กี่นัด แบบนั้นจะยุติเร็วกว่า แต่ถ้าเขายิงมาหนึ่งเรายิงไปสิบ แรงมาแรงไปก็หยุดยาก

เป็นไปได้ว่าจะต้องหาคนกลางเข้ามา ก็อาจจะยุติกันได้ ตอนนี้ก็เพียงแต่ว่าทำให้คนกลางเข้ามาให้เร็วขึ้น รัฐบาลไทยก็คงต่อต้านเรื่องนี้ยาก เพราะบังเอิญหลวมตัวตกลงไปแล้วอย่างน้อยวันอังคารนี้ก็ต้องพูดกันแล้ว ครม. ก็คงต้องตัดสินใจก่อนยุบสภา หรืออาจจะอาศัยเหตุที่จะยุบสภาแล้ว ก็เลยไม่ตัดสินใจโยนภาระให้รัฐบาลใหม่ อาจจะทำอย่างนั้นก็ได้ ถ้ามั่นใจว่าตัวเองจะไม่กลับมา เพื่อจะได้บลัฟกันในวันสุดท้ายว่าแกเป็นคนสร้างสงครามไม่ใช่ข้า เหมือนกรณีให้ศาลตีความแผนที่หนึ่งต่อสองแสน ซึ่งคงตีความในรัฐบาลนี้ไม่ทัน แล้วรัฐบาลหน้าเข้ามาก็โป๊ะเชะ

ก็มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะไม่ตัดสินใจ
ก็เป็นไปได้ มีแนวโน้มก็อาจจะชิ่งออก ครม. ยังไม่สามารถตัดสินใจเรื่องนี้ได้ หรือรับไว้ก่อนแต่ยังไม่พิจารณา พอยุบสภาก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่กัมพูชาต้องอาศัยเหตุหยุดยิงได้ เพราไปศาลโลกแล้ว ถ้ากัมพูชาหยุดไทยก็หยุดเหมือนกัน

ความขัดแย้งนี้จะส่งผลต่อการเมืองไทยแค่ไหน
เป็นเชื้อปะทุที่หยิบมาใช้ได้เรื่อยๆ สมมติว่ารัฐบาลหน้าเป็นพรรคเพื่อไทย จับผลัดจับผลู หรือใครก็ตามที่ให้เฟเวอร์กัมพูชาหรือมีท่าทีประนีประนอมกับกัมพูชา อีกฝ่ายหนึ่งจะหยิบเรื่องนี้มาใช้ได้อีก จะเป็นเหตุให้ขยาย กลายเป็นเชื้อปะทุทางการเมืองที่ดี เก็บไว้ใช้ได้ยืดยาว ตราบใดที่ทัศนคติคนไทยเป็นอย่างนี้ เลี้ยงความเกลียดชังเพื่อนบ้านเอาไว้ สื่อก็ช่วยกระพือว่ากัมพูชาเป็นชาติที่ทรยศ พวกลูกหลานพระยาละแวกมันเป็นอย่างนี้ ทุกวันนี้เราก็เกลียดคนเขมรมากขึ้นเรื่อยๆ

วาทกรรมเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าไม่มีพลังหรือ
มีอยู่ เพียงแต่ว่าสองสามปีที่ผ่านมามู้ดแบบคลั่งชาติมันเยอะ มันประกอบกันหลายส่วน คือคนที่พูดเรื่องค้าๆ ขายๆ ก็เป็นประมาณทักษิณ ก็จะถูกอธิบายว่าเป็นพวกขายชาติ เห็นแก่เงินทองเล็กๆ น้อยๆ ไม่เห็นแก่เกียรติภูมิของชาติ อำนาจอธิปไตยต้องมาก่อน

แต่จริงๆ แล้ววาทกรรมสนามรบเป็นสนามการค้ายังมีพลังอยู่ วันก่อนหอการค้าไทยออกข้อเสนอมาชุดหนึ่ง เป็นชาติชายกลับชาติมาเกิดเลย คือบอกว่า อย่าไปด่าว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่าปิดด่าน อย่าตัดน้ำตัดไฟเขา เราค้าขายกว่าแปดหมื่นล้าน เขาไม่เสียมาก แต่เราเสีย รัฐบาลก็คงคำนวณเรื่องนี้แหละ กษิตก็คงอยากปิดด่านจะแย่ อยากจะปิดด่านใจจะขาด แต่ถ้าทำก็เหมือนยิงปืนใส่หัวแม่เท้าตัวเอง ถ้าคุณปิดด่านกัมพูชาการค้าขายเป็นหมื่นๆ ล้านของคุณก็จะหายไปเลย ยังไม่นับว่าตลาดของคุณจะถูกจีน เวียดนาม เกาหลีใต้แซงขึ้นมา ไอ้เรื่องทำให้เขมรรักไทยก็คงทำไม่ได้ แต่อย่าทำให้เขาเกลียดมากขึ้นก็จะดี

สื่อไทยถามทหารว่าไทยตั้งรับมากเกินไป
ทหารก็คงทำได้นั้น จะให้บุกไปถึงพนมเปญก็คงไม่ได้ สื่อไทยก็เป็นอย่างนี้ สื่อไทยก็ใช้วาทกรรมก่อนสงครามเย็น

สื่อบางที่ก็อธิบายว่าสงครามครั้งนี้เกิดจากการพยายามผลักดันลูกชายฮุนเซนขึ้นมา
นั่นคงต้องใช้กับเกาหลีเหนือมากกว่ามั๊ง ก็คิดได้ แต่โดยสามัญสำนึกนะ ถ้าลูกชายบ่มิไก๊ จะดันยังไงก็ดันไม่ขึ้น ฮุนเซนถึงจะไม่ใช่คนดีเท่าไหร่แต่คงไม่เอาประเทศทั้งประเทศเสี่ยงเพื่อลูกชายตัวเองหรอก เขาต้องเข้าใจว่าลูกชายของเขาเก่งหรือไม่เก่ง

แล้วลูกชายเขาเก่งหรือเปล่า
บังเอิญลูกชายเขาเก่ง ไม่งั้นคงไม่จบเวสปอยท์ได้


พธม. มีเป้าประสงค์อะไรมากกว่า 4.6 ตารางกิโลเมตร

ไม่ พธม.ไม่ต้องการ 4.6 จริงๆ พธม.ต้องการใช้สิ่งนี้เป็นสะพานรวมพลังอนุรักษนิยมรวมพลังกันให้มากกว่านี้เพื่อสถาปนาอำนาจของตัวเองในสารบบการเมือง บังเอิญที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใจถึงขนาดนั้น ไม่เล่นด้วย และหลายอย่างทำไม่ได้อย่างที่ พธม. ต้องการ พธม.ก็หาเหตุ แนวร่วมในกองทัพก็ไม่มี ก็เลยจุดกระแสไม่ค่อยขึ้น

เซนส์ของเรื่องการเอาพื้นที่คืน หรือการเอาปราสาทคืนนั้นในทางปฏิบัติมันทำยาก ถ้าเราไม่มีคำพิพากษาศาลโลก อาจจะโน้มน้าวคนไทยได้มากกว่านี้ แต่บังเอิญสิ่งที่พูดมันขัดแย้งกับข้อเท็จจริง คือถ้าไม่มีคำตัดสินศาลโลกหรือไม่มีคดีกันมาก่อน ก็คงพอจะพูดได้ ใช้กำลังยึดก็คงได้ ชอบธรรมที่จะทำ แต่ตอนนี้ก็ยาก แค่พูดแผนที่สองสามตัวคนก็งงตายห่าแล้ว ทั้งสันปันน้ำ ทั้งแผนที่ ไอ้คนพูดก็ไม่เคยเห็นสันปันน้ำว่าหน้าตาเป็นยังไง ยังไม่นับการไปยกข้อโต้แย้งที่ศาลโลกตีตกไปหมดแล้วมาเป็นข้ออ้าง ก็เลยถูกอีกฝ่ายโต้แย้งตลอดเวลา
และรัฐบาลไม่เหมือนรัฐบาลที่มีอำนาจมาก จะทำอะไรก็ต้องประนีประนอมคนจำนวนมากอยู่ จะเอาใจ พธม. ข้างเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้

พธม. พยายามทำให้เข้าใจว่าทำงานให้ข้างบน?
ถ้าทำงานให้ “ข้างบน” จริงๆ น่าจะมีคนสนับสนุนมากกว่านี้ แต่นี่ด่ากันเองกระทั่งพวกไฮโซ ไฮซ้อ ก็ด่ากัน เดี๋ยวนี้เริ่มตีตัวออกจากกัน เกินเลยกว่าที่อยากจะได้แล้ว

แต่ที่สำคัญ คือ พธม.เสนอทางออกไม่ได้ เสนอได้ไม่ดี เช่น การกลับมาพูดเรื่องมาตรา 7 อีกครั้ง พวกอีลิทเขาก็ถามว่าแล้วจะเอาเทวดาที่ไหนมาเป็นนายกฯ อภิสิทธิ์ก็ดีที่สุดแล้ว ชาติตระกูลดี การศึกษาดี หน้าตาดี ปัญหาของอีลิทคือไม่มีตัวเลือกที่จะโน้มน้าวให้ประชาชนทั้งมวลเห็นว่าคนของตัวเองเจ๋ง ถึงที่สุดก็คงไม่สามารถหาเทวดาที่ไหนมาปกครองประเทศนี้ได้ ถ้าข้อเสนอมาตรา 7 เป็นเรื่องใช้ได้จริง การปฏิวัติ 2549 ก็คงจะสวยงามกว่านี้ ให้ผลที่ดีกว่านี้ คุณไม่มีทางที่จะหาผู้นำที่เลิศเลอนำพาประเทศไปได้หลังทำความเสียหายครั้งใหญ่

ความคิดเรื่องการทำความสะอาดทางการเมือง ยิ่งทำก็ยิ่งเลอะ ข้อเสนอนี้ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าทำไม่ได้ และเป็นข้อเสนอที่ไม่ accommodate ความเห็นอื่นๆ คุณจะทำอย่างไรกับเสื้อแดงล่ะ คุณไม่มีทางทำให้เสื้อแดงศิโรราบได้ คุณก็อยู่ยาก คุณไม่สามารถจะยิงแล้วยิ้มได้ตลอดเวลา ครั้งหน้าคุณยิงแล้วอาจจะยิ้มไม่ได้ก็ได้ ยิงแล้วมันยังไม่ตายนี่แหละเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าตายหมดก็ง่าย แต่นี่ไม่ตายแล้วมีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ ที่สุดแล้วเสื้อแดงจะไม่ต่อต้านแค่รัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่จะต่อต้านทั้งระบบ ก็จะยุ่งกันใหญ่นี่คือสิ่งที่น่ากลัวมากกว่า

ปัญหาปะทะกับกัมพูชาเป็นเงื่อนไขให้รัฐประหารได้ไหม
ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นคุณจะควบคุมไม่ได้ ถ้าบังเอิญว่าคุณสามารถร่วมมือกับฮุนเซนได้ คุณก็คุมสถานการณ์ได้ แต่คุณไม่มีทางควบคุมฮุนเซนได้ ฮุนเซนก็คงคำนวณว่าถ้าคุณติดศึกสองด้าน คุณก็เสร็จ ถ้าต้องวุ่นวายกับการเอากำลังมาปิดล้อมทำเนียบด้วย

ฮุนเซนอาจร่วมมือกับทักษิณโจมตีชายแดนไทย
แล้วทักษิณมีใครอยู่ในกองทัพล่ะ ทักษิณหนุนใครในกองทัพให้ทำรัฐประหารได้บ้าง จริงๆ ในสากลโลกก็มีแบบนี้ ที่ร่วมมือกับต่างชาติเปิดศึกสองด้าน แต่ข้อสังเกตนี้ไม่สมจริงเพราะเราไม่เห็นคนของทักษิณอยู่ในกองทัพ ไม่ต้องใหญ่มาก แต่สักกองพันหนึ่ง ทำให้กองทัพส่วนใหญ่พะวักพะวงระหว่างการคุ้มครองทำเนียบรัฐบาลกับการคุ้มครองชายแดน

แต่ถ้าการรัฐประหารโดยฝั่งตรงข้ามทักษิณล่ะ
เขาจะเอาอภิสิทธิ์ลงทำไม เพราะอภิสิทธิ์ให้เขาได้ทุกอย่าง คุณจะไปหาใคร

ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจแย่ลงล่ะ
ถ้าทหารยึดอำนาจด้วยเหตุที่ว่าเศรษฐกิจแย่ลง เขาก็จะทำให้มันเลวลง ทหารเขามีประสบการณ์แล้วล่ะ ทหารเขารู้ตัวดีว่าเขาทำงานเศรษฐกิจได้ไม่ดี แม้แต่ตักน้ำขายยังขาดทุนเลยกองทัพไทยน่ะ อย่าว่าแต่ค้าขายนะ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีอย่าอ้างเป็นเหตุยึดอำนาจเพราะจะทำเลวยิ่งกว่า แค่พวกที่จะต่อต้านรัฐประหารทิ้งหุ้นคราวเดียวก็ทำอะไรไม่ถูกแล้ว

กองกำลังเวียดนามเข้ามาหนุนกำลังให้กัมพูชาจริงหรือเปล่า
ไม่มี ยุคนี้แล้ว นี่เป็นศตวรรษที่ 21 แล้ว กองกำลังเวียดนามจริงๆ ถอนออกไปจากัมพูชาตั้งแต่ 2529 ก่อนการเลือกตั้งในกัมพูชา แม้จะไม่มีผู้สังเกตการณ์ แต่ก็เป็นการถอนโดยสมบูรณ์แบบ

แต่มีข่าวออกมาว่าเวียดนามหนุนกัมพูชา
ทหารไทยมีอิมเมจเดิมๆ อยู่ว่าเวียดนามจะต้องช่วยลาวและกัมพูชา นี่เป็น Cold War Mentality แต่ข้อเท็จจริงคือไทยชุดนี้ไปขอให้เวียดนามช่วยพูดกับฮุนเซนให้หยุด แปลว่าเขาเชื่อว่าเวียดนามจะช่วยไทยเพื่อเห็นแก่สัมพันธภาพอันดี แปลว่าเขาก็รู้ด้วยว่าไม่มีทหารเวียดนามไปช่วยกัมพูชา

การชูประเด็นเขาพระวิหารของ พธม. แป้ก แต่ทำไมยังเกิดการปะทะได้
มันแป้กในประเทศแต่สำหรับฮุนเซนไม่แป้ก ไม่ใช่ว่าฮุนเซนไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ความขัดแย้งอันนี้ เขาก็พร้อม เมื่อได้เชื้อเพลิง แม้ไทยจะไม่โหมกระพือต่อต้านเขมรมากมาย แต่มันก็มากพอที่จะทำให้กัมพูชาตัดสินใจที่จะส่งทหารมาประชิดชายแดนได้ ตามจริงฮุนเซนจะถอนทหารแล้วนะ เขาเป็นคนเสนอตั้งแต่สมัยคุณเตช บุนนาคเป็น รมต.ต่างประเทศเหลือไว้แค่สักสิบยี่สิบคนแล้วเสนอการบริหารจัดการชั่วคราว เหลือผู้ประสานงานที่ไม่มีอาวุธอยู่สี่ห้าคนในพื้นที่ทับซ้อน แต่ไทยไม่เอา เพราะตอนนั้น พธม. อยากจะรบ ประชาธิปัตย์ก็เป็นฝ่ายค้านอยู่

จริงๆ เดิมพื้นที่นั้นก็ไม่มีทหาร แต่บังเอิญ ผบ. กองกำลังสุรนารี ขึ้นไปช่วยพวกธรรมยาตราและถูกจับ กองกำลังสุรนารีก็มีเหตุจากการตามไปช่วยแล้วก็ตรึงกำลังอยู่นับแต่นั้นมา

ความขัดแย้งเกิดจากการเมืองภายในของไทยโดยตรงเลย พูดอย่างนั้นได้ไหม
สาเหตุมาจากไทย เกิดจากจุดนี้เลย เกิดจากความขัดแย้งการเมืองภายในของไทย แล้วเราหยิบเรื่องเขาพระวิหารมาเล่น ถ้าเราไม่หยิบเรื่องนี้มาเล่น เขาก็อยากทำอีกแบบ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก เปิดให้คนมาท่องเที่ยว ขายไก่ย่างส้มตำ เขาก็อยากทำแบบนั้น แต่ไทยมันหยุดไม่ได้ เริ่มหนึ่งสองสามสี่ห้า จะกลับก็ไม่ได้


สรุปว่าไทยเล่นเกมทำลายต้นทุนตัวเองอยู่ใช่ไหม

มันเสี่ยงนะ เสี่ยงมาก แต่ก็มีหลายปัจจัย To be Fair ไม่มีเสื้อเหลืองก็มีเสื้อแดง ความขัดแย้งก็ไม่จบลงง่ายๆ