ที่มา มติชน
โดย เกษียร เตชะพีระ
ด้วยภาษาอังกฤษที่ถูกบ้างผิดบ้างแต่พออ่านเข้าใจ หนูกลอยรีบเขียนอี-เมล เล่าข่าวคราวสู่พ่อแม่ทันทีที่ไปถึงโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในเมืองปูซาน เกาหลีใต้ ตามโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนกับโรงเรียนในเมืองไทยระหว่างปิดเทอมใหญ่
นับเป็นหนแรกที่หนูกลอยไปต่างประเทศโดยไม่มีพ่อแม่ไปด้วย ถึงจะร่วมคณะกับครู และเพื่อนนักเรียนร่วมสิบคน แต่หัวอกพ่อแม่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เมื่อได้ อี-เมล มาไวทันใจ ก็ช่วยให้โล่งอก
ตอนไปญี่ปุ่นด้วยกันครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน หนูกลอยเพิ่งอายุ 5 ขวบ จำได้ว่าเธอเที่ยวจ้อภาษาไทยกับผู้โดยสารบนรถไฟฟ้าในเกียวโตหน้าตาเฉย เพราะคิดตามประสาเด็กเล็กว่า ที่ไหนในโลกก็น่าจะเหมือนบ้านเรา คนที่ไหนก็ควรจะพูด/ฟังภาษาไทยรู้เรื่องกันทั้งนั้น
เมื่อพบว่าไม่เป็นดังคาดและใครต่อใครล้วนพูดภาษาต่างด้าวอะไรไม่รู้เร็วๆ สั้นๆ กระชั้น กระชับที่เธอฟังไม่เข้าใจ หนูกลอยก็อึดอัดใจพอควร ถึงขนาดที่ช่วงแรกของการเข้าเรียนอนุบาลคริสเตียนที่นั่น เวลาพ่อแม่พาไปส่งโรงเรียน หนูกลอยจะตาแดงๆ ยุดพ่อแม่ไว้ไม่ยอมให้กลับทุกเช้า
จนกระทั่งครูใหญ่พาไปปีนต้นไม้หน้าโรงเรียนเล่นร่วมกับเด็กญี่ปุ่นคนอื่นๆ และครูประจำชั้นมอบหมายให้เพื่อนนักเรียนหญิงชื่อยูมิโกะจัง คอยเป็น "บั๊ดดี้" (เพื่อนเกลอ) ประกบดูแลนั่นแหละ หนูกลอยจึงค่อยๆ ปรับตัวได้และสนุกสนานรื่นเริงขึ้น
หนึ่งเดือนผ่านไป หนูกลอยเริ่มฮัมเพลงญี่ปุ่นสั้นๆ ซึ่งหัดจากโรงเรียนที่บ้าน, เอา "สิ่งประดิษฐ์" ซึ่งทำที่โรงเรียนมาโชว์ (เช่น กระดาษตัดเป็นรูปแมวตัวเล็กๆ หนีบด้วยตัวหนีบตากผ้า แทนขาตั้ง), และพอพ่อแม่พาไปส่งถึงโรงเรียนปุ๊บ เธอก็ไล่พ่อแม่กลับปั๊บเลยทีเดียว!
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเข้าใจเอาเองว่าธรรมเนียมการแสดงความรักระหว่างพ่อกับลูกของคนจีนนั้นไม่นิยมการสัมผัสโอบกอด
เท่าที่จำได้ตั้งแต่เล็กจนโต เตี่ยไม่เคยกอดผมเลย การแสดงความเคารพรักท่านทำโดยเอ่ยขาน เรียกหาเวลากินข้าว, เข้าออกบ้านหรือไปไหนต่อไหนว่า: "เตีย อั้วไหล่ขื่อนา", "เตีย อั้วตึ้งไหล่เหลี่ยว นา", "เตีย เจี๊ยะอ้า" ฯลฯ
ผมไปได้เรียนรู้การแสดงความรักเคารพด้วยการกอดอย่างอบอุ่นที่อเมริกา โดยเฉพาะครูเบ็นของผมซึ่งตัวแกท้วมใหญ่ดี เจอแกทีไร เป็นต้องเข้าไปสวมกอดตบหลังตบไหล่กันอย่างอุ่นกายอุ่นใจ
กับลูก นอกจากเรียกหากันแล้ว ผมจึงโอบกอดหอมแก้มหอมหัวตั้งแต่เล็ก มันอบอุ่นดีออก
เรื่องวุ่นมาเกิดตอนกลอยเรียนประถมปลาย จู่ๆ วันหนึ่งครูประจำชั้นก็สั่งให้นักเรียนทั้งชั้นกลับไปแสดงความรักพ่อด้วยการกราบเท้าพ่อที่บ้าน
กลอยไม่เคยทำมาก่อนเพราะไม่ใช่ธรรมเนียมบ้านเรา จึงมาปรึกษาแม่ว่าจะทำอย่างไรดี
เมื่อภรรยาบอก ผมรู้สึกอึกอักและเขินพิกล ไม่ถึงกับรับไม่ได้ แต่ไม่คุ้นชิน หากลูกจะกราบ เพราะความรู้สึกจากใจจริง ผมก็คงไม่ขัด แต่พอซักไซ้ไล่เลียงละเอียดเข้า ผมก็เปลี่ยนใจ
ผมพบว่าครูถือว่าการให้นักเรียนไปกราบเท้าพ่อที่บ้านเป็น "การบ้าน" ที่ครูสั่งและคิดคะแนนด้วย
ใครกราบเท้าพ่อได้คะแนน ใครไม่กราบเท้าพ่อเสียคะแนน!
และเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กได้กราบพ่อจริง ผู้เป็นพ่อต้องเซ็นใบกำกับรับรองยืนยันการกราบของลูกฝากกลับมาส่งครูด้วย!
ผมฟังเท่านี้ก็บอกกลอยว่า เลิกเถอะลูก ไม่ต้องไปก่งไปกราบแล้ว
เพราะมาตรการแบบนี้ (ยังไม่ต้องพูดถึงความไม่อ่อนไหวต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย) มันทำลายเป้าหมายแต่ต้นลงหมด
ถ้าคุณคิดคะแนนการกราบพ่อ คุณจะรู้แน่ได้ไงว่าเด็กกราบพ่อเพราะรักเคารพพ่อจริงๆ หรือเพราะกลัวไม่ได้คะแนน?
และถ้าเด็กกราบพ่อเพราะอยากได้คะแนนแล้ว มันจะสัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์แต่ต้นได้อย่างไร?
ความรักที่กำกับบงการบังคับขับไสด้วยการให้คุณให้โทษนั้น มันกัดกร่อนบ่อนทำลายสารัตถะของความรัก - ซึ่งก็คือความจริงใจและสมัครใจอย่างบริสุทธิ์ใจโดยไม่มีผลประโยชน์ได้เสียมาเกี่ยวข้อง - จนบูดเปรี้ยวเน่าเสียไปหมด
การสั่งให้รักพ่อแบบนี้อาจสร้างภาพลักษณ์ของความรักระหว่างพ่อกับลูกขึ้นมาเกลื่อนกลาดเต็มโรงเรียน (เป็นไปได้ว่าต่อไปครูอาจกำชับให้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายคลิปตอนกราบพ่อเอาขึ้นเว็บบอร์ดโชว์เป็นหลักฐานด้วย...) แต่มันจะเป็นแค่เปลือกปลอกกลวงเปล่าที่ไม่มีความหมายแก่นแท้อะไรเลย
มันจะไม่เพิ่มความรักพ่อในใจเด็กขึ้นมาแม้สักน้อย และไม่เพิ่มเด็กนักเรียนที่รักพ่อขึ้นมาแม้สักคน
นี่หรือสิ่งที่คุณครู, โรงเรียน, และสังคมไทยพอใจและต้องการ?
ผมอธิบายเหตุผลให้ลูกฟัง กลอยเองซึ่งก็ไม่ค่อยสบายใจกับมาตรการสั่งให้รักพ่อแต่ต้นอยู่แล้ว จึงตัดสินใจเลือกยอมเสียคะแนน ดีกว่าทำสิ่งที่เธอไม่เชื่อและคิดว่าไม่ถูกต้อง
มองย้อนกลับไปแล้ว ผมคิดว่าการที่พ่อลูกร่วมกันขัดคำสั่งให้รักพ่อครั้งนั้น ช่วยให้กลอยได้เข้าใจพ่อมากขึ้น และผมก็รักลูกมากขึ้นพร้อมกันไปด้วย
สิ่งที่กลอยต้องเสียก็คือคะแนน แต่คิดๆ ดูแล้วก็ช่างมันเถอะ เพราะอะไรที่ได้มามันสำคัญกว่ากันมาก
ท่านว่าจริงไหมล่ะครับ?