ที่มา ข่าวสด
รายงานพิเศษ
สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) ได้สรุปแนวทางการปฏิบัติของ ครม.และรัฐมนตรี รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ อันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
ฝ่ายนิติบัญญัติ
1.สมาชิกภาพของส.ส.สิ้นสุดลงทันที นับแต่วันที่พ.ร.ฎ.ยุบสภา มีผลบังคับใช้และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
2.เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ ส.ส. จะคิดถึงวันก่อนยุบสภา 1 วัน
3.จะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 60 วัน ตามวันที่กำหนดในพ.ร.ฎ.ยุบสภา
4.กระทู้ถามและญัตติทั้งหมดตกไป
5.กรรมาธิการสามัญและกรรมาธิการ วิสามัญของสภาผู้แทนฯพ้นจากตำแหน่ง
6.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพ.ร.บ.ที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้น 90 วัน แล้วมิได้พระราชทานคืนมาตกไป
7.ร่างพ.ร.บ.ที่ค้างอยู่ในวาระที่ 1, 2 และ 3 ไม่ว่าชั้นสภาใด ให้ชะลอไว้ก่อน เมื่อตั้งครม.ชุดใหม่แล้วและ ครม.ร้องขอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่วันเปิดสภา ให้ยกขึ้นพิจารณาทันที
8.วุฒิสภาไม่สิ้นสุด แต่ประชุมไม่ได้ เว้นแต่ประชุมเพื่อเห็นชอบการแต่งตั้ง-ถอดถอนบุคคลบางตำแหน่ง
9.ร่างพ.ร.บ.ที่ทั้ง 2 สภาเห็นชอบแล้วและส่งรัฐบาลทูลเกล้าฯ ไม่ว่าจะอยู่ที่รัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักราช เลขาธิการหรือพระมหากษัตริย์ไม่ตกไป ดำเนินการต่อได้
10.คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาจะพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯมิได้ เว้นแต่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการและเชิญผู้แทนส่วนราชการมาชี้แจงข้อมูลได้
คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
1.ครม.สิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้า ที่ต่อไป (ไม่เรียกว่า รักษาการ) ได้เงินเดือน ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
2.ครม.ยังคงมีหน้าที่บริหารราชการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ ย่อมมีอำนาจประกาศมาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก
3.การลงชื่อตำแหน่งของนายกฯและรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่รักษาการในตำแหน่ง
4.การปฏิบัติหน้าที่ของครม.และรัฐมนตรี
4.1 การประชุมครม.
(1) ให้มีการประชุมครม.ต่อไปได้ตามปกติ จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งครม.ชุดใหม่ โดยสลค.พิจารณาจัดเฉพาะระเบียบวาระตามระเบียบปฏิบัติ
(2) เรื่องใดที่มีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดใหม่ นอกจากสลค.จะกลั่นกรองไว้ชั้นหนึ่งแล้ว ครม.หรือนายกฯหรือรองนายกฯควรมีคำสั่งให้เสนอครม.ชุดใหม่
4.2 การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้พ้นจากตำแหน่ง (รธน. มาตรา 181(1) และแนวปฏิบัติ กกต.)
ไม่ใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน โดยต้องทำเท่าที่จำเป็นและเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน
4.3 การอนุมัติให้ไว้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (รธน.มาตรา 181(2) และแนวปฏิบัติ กกต.)
ไม่อนุมัติให้ใช้จ่ายงบสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน ซึ่งจะกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ ความปลอดภัย ของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
4.4 การอนุมัติงานหรือโครงการ (รธน. มาตรา 181(3) และความเห็น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือสคก.)
การกระทำใดๆ ที่มีผลสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดใหม่จะกระทำมิได้ในทุกกรณี
4.5 การใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ (รธน. มาตรา 181(4) ระเบียบปฏิบัติ กกต.และความเห็น สคก.)
(1) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามระเบียบที่ กกต.กำหนด
(2) ไม่ใช้เพื่อกระทำการใดไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้ง ด้วยวิธีการ ดังนี้
- ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ กำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที
- จัดประชุมครม.นอกสถานที่ นอกเหนือจากการประชุมปกติ
- กำหนด สั่งการ มอบหมายให้ประชุมอบรมบุคลากรของรัฐหรือเอกชน โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจมีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการประชุมตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน และต้องแจ้งให้ กกต. ทราบโดยเร็ว
- กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้อนุมัติ โอน หรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้แจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน และต้องแจ้งให้ กกต.ทราบโดยเร็ว
- กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้แจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐ ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยไม่มีเหตุผลอันควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามกฎหมายหรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน หรือรัฐ และต้องแจ้งกกต.ทราบโดยเร็ว
- ใช้พัสดุหรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือใช้บุคลากรของรัฐปฏิบัติงาน
- ใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม หรือใช้งบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
(3) การใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ ห้ามเฉพาะกรณีที่มีผลต่อการเลือกตั้ง ถ้าเป็นการปฏิบัติราชการปกติ ยังคงดำเนินการได้
4.6 การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 68 ห้ามมิให้นายกฯ รัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่นใช้สถานะหรือตำแหน่ง เรี่ยไรหรือชักชวนให้บริจาคให้พรรคหรือผู้สมัคร ส.ส.ด้วยตนเอง และมาตรา 89 ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แก่บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล เว้นแต่ให้ตามปกติประเพณี ทั้งนี้ ตามจำนวน หลักเกณฑ์ที่กกต.กำหนด
พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. มาตรา 53 ห้ามมิให้ผู้สมัครส.ส.หรือผู้ใดจัดทำ ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แก่ชุมชน สถาบันการศึกษาหรือสถาบันอื่นใด เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนให้ตนเอง หรือผู้สมัครหรือพรรค หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคใด
4.7 การปฏิบัติอื่นๆ ตามมติครม.
การให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรี ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉาะกรณีได้รับเชิญไปออกโทรทัศน์ในฐานะของรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์ได้เฉพาะหน้าที่ของรัฐมนตรีเท่านั้น แต่บางครั้งสื่อมวลชนอาจมีคำถามในฐานะสมาชิกพรรค ที่ทำให้คำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีให้คุณต่อพรรคของตนเอง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกับสื่อของรัฐโดยมิชอบได้
แต่หากเชิญผู้แทนพรรคหลายๆ พรรคไปสัมภาษณ์ในลักษณะเท่าเทียมกัน ก็เป็นความรับผิดชอบของสื่อนั้นๆไป
4.8 การยื่นบัญชีทรัพย์สิน
กรณีรัฐมนตรีมีสถานะเป็นส.ส.ด้วย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯภายใน 30 วันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.(วันที่ยุบสภา) และต้องยื่นบัญชีอีกครั้งภายใน 30 วันนับแต่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี(วันที่ครม.ใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ)
ส่วนรัฐมนตรีที่ไม่มีสถานะเป็นส.ส. ต้องยื่นภายใน 30 วันนับแต่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี(วันที่ครม.ใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ) และทั้ง 2 กรณีจะต้องยื่นบัญชีอีกครั้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 1 ปี
สำหรับสถานะของข้าราชการการเมืองอื่น เช่น เลขาธิ การนายกฯ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ประจำสำนักเลขาธิการ นายกฯ ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปและพ้นจากตำแหน่งพร้อม กับการสิ้นสุดการอยู่ในตำแหน่งของนายกฯหรือรัฐมนตรีผู้แต่งตั้ง แต่ต้องไม่เกินกว่าที่ครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่