ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
ตระกูล "คุณปลื้ม" ในบ้านแสนสุข-จ.ชลบุรี มีดีกรีการเมืองทั้งครอบครัว
ตั้งแต่ยุค "กำนันเป๊าะ" ถึงยุค "รัฐมนตรี-สนธยา" และ "นายกเมืองพัทยา-อิทธิพล"
สังกัดมาแล้วทั้งพรรคชาติไทย-ไทยรักไทย-พลังประชาชน-ภูมิใจไทย
เมื่อลมการเมืองเปลี่ยนทิศ-อำนาจเปลี่ยนขั้ว ต้องอยู่ระหว่าง "เขาควาย" เสื้อแดงกดดัน-พรรคสีน้ำเงินเพลี่ยงพล้ำ-กระแสสีฟ้า-ประชาธิปัตย์ยังอวลอยู่ในชลบุรี
ตระกูลใหญ่-บ้านแสนสุขต้องปรับตัว-ตั้งพรรคใหม่ "พลังชล" บนเงื่อนไข "ดีกับทุกพรรค รักกับทุกขั้ว"
พี่ใหญ่-สนธยา คุณปลื้ม ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองหมายเลข 15 เหลือเวลาอีก 12 เดือนจะได้คืนสนามการเมือง วิเคราะห์ ความเป็นมา-เป็นไปของพรรคพลังชล และอ่านเส้นทางคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ขั้ว
เขาบอกว่า "ถึงเวลาอยากมีพรรค ตัวเอง เป็นพรรคที่ 2 ในจังหวัดชลบุรี หลังจากมีพรรคแรกที่ก่อตั้งโดยอุทัย พิมพ์ใจชน จากพรรคก้าวหน้า"
"พรรคก้าวหน้าเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นแรงบันดาลใจให้ตั้งพรรคต่อยอดกลุ่มชลบุรี ไม่ได้มียาเร่งที่มาจากความขัดแย้งในพรรคภูมิใจไทยสังกัดเก่า"
"และเป็นความตั้งใจเดิมที่จะทำพรรค คล้ายกับคอนเซ็ปต์พรรคโคราชของกลุ่มสุวัจน์ ลิปตพัลลภ"
เหตุผล-ที่มา-ฐานะของพรรค มาจากแรงกด-แรงผลักในชลบุรีล้วน ๆ
"ที่ต้องลงมือทำสมัยเลือกตั้งนี้ เพราะความขัดแย้งทางความคิดใน จ.ชลบุรี มีทุกข้าง ทุกสี ทั้งพันธมิตร เสื้อเหลือง เสื้อแดง และเสื้อน้ำเงิน แต่พวก "พลังชล" รู้จักทุกข้าง ภาวะแบบนี้ในฐานะคนในพื้นที่ และไม่ขัดแย้งกับใคร เข้าได้กับทุกกลุ่ม ทุกขั้ว"
ภาพที่เคยผูกติดกับกลุ่ม "เพื่อนเนวิน" ผู้ยิ่งใหญ่ในพรรคภูมิใจไทย
"เป็นภาพของนักการเมืองกลุ่ม 16 ที่ยังสนิทสนมกันมากแม้แยกย้ายไปอยู่ในหลายพรรค แต่ยังมีความแนบแน่นส่วนตัว คบกันเหมือนพี่เหมือนน้อง ทั้งท่านสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการเลือกตั้งเพื่อไทย ไพโรจน์ สุวรรณฉวี แกนนำกลุ่ม 3 พี ผมกับท่านเนวินถือว่าสนิทกันที่สุดเพราะชอบคุยกันเรื่องฟุตบอล"
เขาบอก-ออกจากพรรคภูมิใจไทยแล้วก็ยังคุยกับ "เนวิน" ทุกวัน เขาบอกผมว่า "เขาเคารพการตัดสินใจของเรา อยู่พรรคไหนก็ไม่ขัดแย้งกับใคร ถ้าสามารถร่วมงานการเมืองกันได้ก็ไปกัน"
เหมือนกับตอนที่ออกจากพรรคของ "บรรหาร ศิลปอาชา" เพื่อไปอยู่กับภูมิใจไทย "ท่านบรรหารบอก ก็จากกันด้วยดี ไม่เป็นไร อยู่คนละพรรค แต่เป็นพวกเดียวกัน ผูกพันกัน"
เขาย้ำว่า "กลุ่มผมไม่เคยออกจากพรรคไหนแบบหักหลัง ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์"
ความสัมพันธ์กับเครือข่าย "ทักษิณ" ในเพื่อไทย "สนธยา" โยงให้เห็นภาพว่า "เป็นภาพกลุ่ม 16 ในเพื่อไทย มีทั้งพี่สมพงษ์-จำลอง ครุฑขุนทด-วราเทพ รัตนากร เคยทำงานด้วยกันมาก ยังพบปะ พูดคุยเรื่องการเมือง เล่นกอล์ฟกันเสมอ"
เสียงลือกึกก้องว่า ผลการต่อรอง-เงินทองไม่ลงตัว ระหว่างกระเป๋า "เนวิน-สนธยา" เขาบอกทันทีที่ถามคำถามนี้ว่า "ไม่จริง ไม่ได้แยกเพราะเรื่องเงินทอง เรื่องต่อรอง ไม่มีเลย เป็นเรื่องการใส่ความ ดิสเครดิตทางการเมือง"
ความจริงเรื่องเงิน-ทองในภูมิใจไทย ในความรู้สึกของ "สนธยา" คำต่อคำ คือ "ถ้าอยู่แล้วเงินเยอะ จะออกมาทำไม ทุกวันนี้เราดูแลตัวเองได้ ทุกกลุ่ม ทุกคนมีกำลังหมด"
เหตุผลที่คนการเมือง-พรรคคู่แข่งในสนามชลบุรี ต้องดิสเครดิต "พลังชล" สนธยาวิเคราะห์ว่า "พื้นที่ชลบุรีมีแรงกระเพื่อมทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกที่เราไปร่วมงานกับภูมิใจไทย ก็ถูกโจมตีว่าเราทำงานการเมืองมา 20 ปี ไม่มีผลงาน"
"แรงกระเพื่อมครั้งที่ 2 เราประกาศตั้งกลุ่มชลบุรี ทำให้กระแสการเมืองในพื้นที่เปลี่ยนแปลง เพราะ จ.ชลบุรีเป็นเมืองเศรษฐกิจหลัก-เมืองท่า-ท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม ภาพรวมนายกเมืองพัทยาก็มีการเชื่อมโยงกันในระดับประเทศ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น"
สรุปความเคลื่อนไหวว่า "ผลการเปลี่ยนขั้ว 2 ครั้ง กระทบโดยตรงกับพรรคประชาธิปัตย์"
การตั้งพรรคใหม่แม้ไม่ใช่เหตุผลที่มาจาก "เสื้อแดงกดดันจนต้องออกจากพรรคน้ำเงิน" แต่ก็ปฏิเสธยาก เขาบอกว่า "ทั้ง 2 ข้างเราก็รู้จัก แต่ที่จะยื่นเงื่อนไขว่า เราไม่ออกจากพรรคสีน้ำเงินแล้วเขาไม่ช่วย...ไม่มี แต่มีข้าง-มีกระแสพรรค เราก็ไม่ได้กดดันตัวเองว่าต้องออกมา"
พรรคเกิดใหม่หวังคะแนนทั้งระบบเขต-สัดส่วนไว้ที่ 12 เสียง ในสภาผู้แทนฯ แบ่งเป็นจากชลบุรี 6 คน สัดส่วน 2 คน จันทบุรี-ระยองจังหวัดละ 1 คน รวมกับที่อาจจะได้จากนักการเมืองในพื้นที่อีสานที่อาจมารวมในภายหลังอีก 3 คน
หากมองไปไกลถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง สมมติฐานที่พรรคเพื่อไทยชนะ ได้เป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคของ "บรรหาร" จะใช้เครือข่ายกลุ่ม 16 จับมือพลังชล ร่วมเป็นฝ่ายบริหาร เขาบอก "ไม่ได้คิดว่ากลุ่ม 16 จะจับมือร่วมกันด้วยเหตุผลที่จะไปร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย"
แม้เป็นคนไม่มีสิทธิทางการเมืองในบ้านเลขที่ 111 แต่ในฐานะที่ครั้งหนึ่ง ชื่อ "สนธยา" เคยถูก "ทักษิณ" เอ่ยนามไว้ว่า "เป็นเพื่อนตาย"
ดังนั้นสถานภาพ "เพื่อนตาย"อาจถูกนำมาใช้เป็นพลังเชื่อม "พลังชล" เข้าร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทยอีกครั้ง
สมมติฐานที่ "พลังชล" จะมี ส.ส.หลั่งไหลเข้าสภาไม่ต่ำกว่า 1 โหล อยู่ภายใต้พื้นฐานการวิเคราะห์คู่แข่งเป็นรายพรรค อาทิ
"พรรคประชาธิปัตย์เดิมเขามี 8 ส.ส. มีทั้งคนที่มีประสบการณ์-ข้าราชการ-นักการเมืองเก่า และกระแสการเมืองคราวที่แล้ว ทำให้ประชาธิปัตย์ชนะหมด คนที่เลือกฝ่ายประชาธิปัตย์ถึงกับออกปากว่า ผมเลือกข้างโดยไม่ได้ดูตัวผู้สมัครด้วยซ้ำ"
"ฝ่ายพรรคพลังชล ผู้สมัครมีทั้งอดีต ส.ส.-รัฐมนตรี เป็นคนทำงานการเมืองมาตลอด จุดเด่นของฝ่ายเรามีนักการเมืองทุกระดับพื้นที่"
พี่ใหญ่-บ้านคุณปลื้มสรุปว่า "ในทางการเมือง "กระแส" เป็นที่พึ่ง ที่หวัง ถ้ากระแสดีก็จะประกอบกันไป เหมือนกับที่ผ่านมา ถ้าเราเลือกข้าง เราก็ชนะ เราอยู่ข้างไหน ก็ชนะทั้ง 2 ข้าง"
เพราะในเมืองชลบุรีมีอุดมการณ์การเมือง 3 ขั้ว 3 สี คือ ประชาธิปัตย์ (เหลือง)-แดง-น้ำเงิน ถ้าฝ่ายพลังชลพลิกไปรวมกับฝ่ายสีใดสีหนึ่งจะทำให้สีนั้นชนะขาด
"อย่างน้อยหากไปรวมกับ "ประชาธิปัตย์" จะทำให้ประชาธิปัตย์ได้แต้มเพิ่มขึ้น หากไปรวมกับเพื่อไทย เขามีโอกาสชนะขาดแน่นอน"
จุดแข็ง-ของฝ่ายพลังชล จากสายตาสนธยาคือ "ที่ผ่านมาแล้วทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาลกลาง-รัฐบาลท้องถิ่น และเราประสานได้กับทุกกลุ่ม...ตั้งพรรคทั้งทีก็คิดหวังว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล"
"ทำให้ฝ่ายพวกเราพูดคุยกันว่า ถ้าเราเลือกข้างรวมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราก็เสีย ลงเลือกตั้งครั้งนี้เราไม่ได้หวังชนะอย่างเดียว สมัยที่มีพรรคเทพ-มาร เราก็แพ้เหลือ ส.ส. 2 คน สมัยปี 2550 กระแสฝ่ายเหลืองแรง เราก็ตก ผลการเลือกตั้งออกมาเรายอมรับ"
ชัดเจน-เส้นทางการเมืองของ 12 ว่าที่ ส.ส. "จึงต้องไปอยู่กับขั้วที่ไม่ทำอะไรให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมืองเหมือนทุกวันนี้"
"การจัดตั้งรัฐบาลมันอยู่ที่ความลงตัวทางการเมือง สมัยท่านอุทัย พรรคก้าวหน้าได้ 3 เสียง ยังได้เป็นประธานสภา พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ 18 เสียง ยังได้เป็นรัฐบาล วิถีการเมืองแบบนั้นยังมีอยู่"
ความเชื่อของเขาคือ "การจัดรัฐบาลสมัยหน้า เป็นเรื่องของนักการเมือง ล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับอำนาจภายนอกกระดานการเมือง"
................