ที่มา Thai E-News
ตามหา ตามซื้อ ตามเก็บวารสารฟ้าเดียวกันฉบับใหม่ "ประชาธิปไตยที่ “งอกจากดิน” ของเราเอง" สะดุดตาตั้งแต่ดีไซน์หน้าปก
โดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2554
...พื้นเพ การงานทั้งปวงไม่เหมือนกัน เหมือนหนึ่งจะไปลอกเอาตำราทำนาปลูกข้าวสาลีเมืองยุโรป มาปลูกข้าวเจ้าข้าวเหนียวในเมืองไทยก็จะไม่ได้ผลอันใด...
“พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2446)
ในบรรดาคำอธิบายอันทรงพลังของชนชั้นนำสยามเมื่อต้องเผชิญกับการท้าทายจากความรู้สึกนึกคิด สำนึก หรือกระแสภูมิปัญญาใหม่ของราษฎร ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมหรือระบบระเบียบทางการเมืองแต่ละ ยุคแต่ละสมัย ให้เป็นไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ต่อชนส่วนใหญ่ อาทิเช่น ข้อเรียกร้องเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยของปัญญาชน นอกระบบอย่างเทียนวรรณ พระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวข้างต้น ถือเป็นแม่แบบคำอธิบายที่เหล่าชนชั้นนำนำมาใช้โดยตลอด ซึ่งบริบทขณะนั้น
ในทรรศนะของพระองค์ สถาบันทางการเมืองอย่างเช่น “โปลิติกัลปาตี” ก็ดี “ปาลิเมนต์” ก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสังคมสยาม อันมี “ลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใครในโลก”
นี่เป็นกระบวนท่าของชนชั้นนำสยามในการทำให้ความรู้สึกนึกคิด สำนึก หรือกระแสภูมิปัญญาใหม่ “เป็นอื่น” หรือ “เป็นฝรั่ง” ไม่สามารถบ่มเพาะให้เติบโตเจริญงอกงามได้บนเนื้อนาดินแห่งสยาม
อย่างไรก็ดี ชนชั้นนำสยามก็ไม่สามารถทัดทานความเปลี่ยนแปลงได้ “การปฏิวัติสยาม” จึงเกิดขึ้นในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2475 ท่ามกลางความเสื่อมทรุดและความขัดแย้งภายในของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ซึ่งพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คัดสรร “นำเข้า” ระบบการเมืองนี้มาจาก “อาณานิคมฝรั่ง” เพื่อกระชับอำนาจเข้าสู่สถาบันกษัตริย์) ดังความเห็นของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า “พระราชวงศ์ตกต่ำ ราษฎรหมดความเชื่อถือ สมบัติเกือบหมดท้องพระคลัง รัฐบาลฉ้อฉล การบริหารราชการยุ่งเหยิง”
หลังจากนั้น แม้ระบบระเบียบการเมืองไทยจะมิได้หวนคืนกลับไปหาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไปแล้ว ทว่าการต่อสู้ต่อรองระหว่างฝ่ายนิยมระบอบเก่ากับฝ่ายนิยมระบอบใหม่ก็ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งในระบบ/นอกระบบ ตามกฎหมาย/นอกกฎหมาย ใต้ดิน/บนดิน เปิดเผย/แอบแฝง ผ่านรัฐธรรมนูญ รัฐสภา รัฐบาล กฎหมาย การก่อกบฏ รัฐประหาร การสืบราชสมบัติ การลอบสังหาร งานวิชาการ สารคดีการเมือง วรรณกรรม อนุสาวรีย์ หรือแม้กระทั่งพจนานุกรม เป็นต้น
หลังการต่อสู้อันยาวนาน ฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ได้บรรลุถึงสิ่งที่ตนเองต้องการ คือ การสถาปนา “ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในทศวรรษ 2490 กระทั่งเติบโตงอกงามกลายเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี เมื่อสภาพการณ์และเงื่อนไขทางสังคมได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็ดูจะเกิดแรงตึงเครียดขัดแย้งภายในขั้นวิกฤต จนปรากฏออกมาในรูปของการรัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
น่าเสียดายที่ ชนชั้นนำและปัญญาชนจำนวนมาก ทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาที่ระบอบนี้กำลังกัดกินตัวเอง แต่กลับหันเหต้นตอแห่งวิกฤตไปยัง “ผีทักษิณ” และ/หรือแนวคิดประชาธิปไตยที่พวกเขาแปะป้ายว่ายึดติด “ฝรั่ง” ไม่ต่างจากพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อกว่าศตวรรษก่อน
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก็สมาทานความคิดทำนองเดียวกันมาผลิตซ้ำ เพื่อตอบโต้กับฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยา ว่า “...เวลาคิดถึงประชาธิปไตย ไม่ควรเทียบกับที่อยู่ในกระดาษ แต่ต้องดูประชาธิปไตยที่ ‘งอกจากดิน’ ของเราเองให้มาก... ปัญหาของเราเวลานี้คือโครงสร้างทางสังคมที่เป็นจริง
ไม่ได้มีแต่ประชาชน แต่มีอภิชนและสถาบันดังเดิม เพราะฉะนั้นการสร้างประชาธิปไตยต้องสร้างบนพื้นฐานที่เป็นจริงของเรา” (“ต้องดูประชาธิปไตยที่งอกจากดินของเราเองให้มาก,” กรุงเทพธุรกิจ, 9 ธันวาคม 2549)
อันที่จริง ในแง่หนึ่ง พระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและแนวคิดของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ดังกล่าว ก็มีส่วนถูกต้อง กล่าวคือ สังคมทุกสังคมหรือประเทศทุกประเทศนั้น ล้วนแต่มี “ลักษณะเฉพาะ” ของตน และ “ไม่เหมือนใครในโลก” ทั้งสิ้น ระบบระเบียบทางการเมืองและความสัมพันธ์ทางสังคมของแต่ละแห่ง ก็ย่อม “งอกจากดิน” ของตนทั้งสิ้น แม้ว่าบางครั้งเราจะได้รับเมล็ดพันธุ์แปลกใหม่มาจากภายนอกบ้างก็ตาม แต่มันมักจะถูกเลือกสรร คัดทิ้ง ดัดแปลง (ตามแต่ผลประโยชน์และอุดมการณ์ของผู้นำเข้า) ผ่านกระบวนการทำให้เป็นแบบฉบับของเราเสียก่อนที่จะเจริญงอกงาม
ปัญหาคือ เหล่าชนชั้นนำจำนวนมากลืมตระหนักไปว่า สิ่งที่ “งอกจากดิน” ของเรานั้น ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงและกระทั่งดับสูญได้ไปตามปัจจัยภายในของ “เนื้อดิน” ของตน ซึ่งมีพลวัตตลอดเวลา เช่นกัน
ดังนั้น ปมประเด็นปัญหาการเมืองประการสำคัญ ณ ขณะนี้ จึงไม่ใช่อยู่ที่สิ่งแปลกปลอมจากภายนอกอันไม่เหมาะที่จะเจริญงอกงามในเนื้อ นาดินของเรา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเรียกว่า “ประชาธิปไตย” หรือหลักการสากล อาทิ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เป็นการที่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” กำลังกัดกินตนเองอย่างไม่ลืมหูลืมตา กระทั่งฝ่ายกษัตริย์นิยมกำลังสูญเสียฐานะครอบงำทางอุดมการณ์ต่างจากที่เคย เป็นมาในหลายทศวรรษ
เหล่าอภิชนและสถาบันดั้งเดิมใน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ต่างหาก ที่ต้องเป็นฝ่ายคิดให้หนักและตอบให้ได้ว่า จะยังคงผลักให้ความขัดแย้งลงรากลึกในเนื้อดินจนไม่เหลือ “ที่ว่าง” ให้แก่ตนหรือไม่