ที่มา ประชาไท
“เก่งแต่สร้างภาพ” และ “ดีแต่พูด” อาจเป็นวาทกรรมใหม่ในทางการเมืองของประเทศไทยไปแล้ว ซึ่งสองคำนี้มิได้จำกัดความแต่เฉพาะ “ภาพ” และ “เสียง” ของคนในพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น หากยังเป็นคำที่ใช้ได้กับนักการเมืองแทบทุกคนทุกพรรค ด้วยสามารถเห็นได้จากพฤติกรรมการแสดงออกของนักการเมืองทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า ยันเช้าจรดเย็น ทั้งการวางตนสร้างภาพให้ดูดี จีบปากจีบคำพูดเอาเรื่องดีเรื่องถูกเข้าข้างฝ่ายตน เอาภาพเน่ารูปเสียเรื่องปดมดเท็จให้ฝ่ายตรงข้าม ปิดบังภาพจริงที่มีผลเสียกับตัวและเลี่ยงการกล่าวถึงผลงานที่ไม่ได้ทำหรือทำ ไม่ได้ โดยแสดงสีหน้าท่าทางการพูดการจาอธิบายเหตุยกผลเปลี่ยนจากผิดเป็นถูก ให้ถูกเป็นผิดได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว
“ภาพ” (image) ที่ เกิดขึ้นในใจของคน มักเป็นภาพที่เกิดจากลักษณะของการกระทำ ความประพฤติ หรือ พฤติกรรมของบุคคล องค์กร เช่น ภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย ภาพอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่ฉลาดเชี่ยวชาญการบริหารและมีความสามารถในการตัดสินใจที่เด็ดขาด หรือแม้แต่การนำมาใช้กับองค์กร เช่น ภาพของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผู้คนทั่วไปมองว่าเป็นสถาบันการเมืองฝ่ายอนุรักษ์ นิยม พรั่งพร้อมด้วยบุคลากรและนักปราศรัยที่มีคุณภาพ ส่วนพรรคไทยรักไทยเป็นภาพการรวมตัวกันของนักบริหารและกลุ่มทุนที่มี ประสบการณ์ หรือ ฝ่ายทุนเสรีนิยม เป็นต้น
สำหรับ “เสียง” (speech) มา จากพฤติกรรมการสื่อสารด้วยวัจนภาษาที่เป็นการใช้ความสามารถเพื่อเปลี่ยนความ เชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมและการกระทำของบุคคลให้เกิดการยอมรับและทำตามที่ผู้โน้มน้าวประสงค์ รวมถึงการใช้ถ้อยคำโวหารน้ำเสียงและอากัปกริยาในการถ่ายทอดความคิดและความ รู้สึกแก่ผู้ฟัง ซึ่งผู้พูดจะพยายามหาเหตุผลมารองรับสนับสนุนโดยใช้ชุดข้อมูลของตนและข้อเท็จ จริงเท่าที่เป็นประโยชน์ เช่น การใช้วาทศิลป์ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ “ประชาชนต้องมาก่อน” “การเดินไปข้างหน้าเพื่อสร้างความปรองดอง” “การอธิบายเรื่องสินค้าราคาแพงว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก” “กฎเหล็ก 9 ข้อและความรับผิดชอบทางการเมือง” หรือกระทั่งเสียงข้อเสนอและสัญญาจากอดีตนายกทักษิณที่อ้างว่า “จะแก้ปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไป” “แก้ปัญหาเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ประชาชน” “เน้นแก้ไขไม่คิดแก้แค้น” ทั้งหมดเป็นคำกล่าวที่เป็น “เสียง” เพื่อประโยชน์ ในสิ่งที่ตนปรารถนาและการได้มาซึ่งเป้าหมายที่ต้องการ
ใน อดีตการแข่งขันกันทางการ เมือง ประชาชนอาจไม่สามารถเปรียบเทียบนักการเมืองจากผลงานได้มากนัก เนื่องจากยังไม่ค่อยปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมสักเท่าใด การแข่งกันที่นโยบายไม่ชัดเจนเข้มข้นเหมือนปัจจุบัน ประชาชนมักใช้วิธีการพิจารณานักการเมืองและให้การยอมรับพรรคการเมืองที่ “ภาพ” และ “เสียง” เสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นการดูว่าใครมี“ภาพ”สวยดูดี ใครพูดได้มันใช้”เสียง”ได้ เก่งเชื่อมโยงเหตุผลได้ดีกว่ากัน จึงเป็นการวัดกันด้วยเกณฑ์ของภาพที่เห็นที่ปรากฏบวกกับเสียงพูดจาปราศรัยที่ ได้ยิน โดยไม่ได้มองและให้ความสำคัญกับผลงานและการปฏิบัติที่ผ่านมา
กระทั่งวันนี้นักการเมืองและพรรคการเมืองหลายคนหลายพรรคก็ยังนำ”ภาพและเสียง”ที่ เป็นระบบเก่าโบราณมาใช้แสดงชักจูงโน้มน้าวประชาชนให้หลงเชื่ออยู่อีก นำเสนอภาพซื่อสัตย์สุจริตแต่พฤติกรรมอิงแอบกับการทุจริตคอรัปชัน วา ทะคารมที่เปล่งออกมาสวนทางกับผลการปฏิบัติที่ขายไม่ออก อธิบายความด้วยหลักการเหตุผลชนิดเอาดีเข้าตัวชั่วให้คนอื่น และอีกมากมายหลายแง่มุมจนนำมาสู่ความเสื่อมเสียและบั่นทอนศรัทธาของประชาชน ซึ่งก็ล้วนมาจากบริบทของความเป็นนักการเมืองที่ติดหล่มอยู่กับการเมืองล้า สมัยทั้งสิ้น ทำให้นักการเมืองจึงไม่ต่างอะไรมากไปกว่าการแสดงของดาราในบทละครน้ำเน่าที่ มีเรื่องราวฉาวโฉ่ได้ทุกวี่ทุกวัน ตัวตนที่แท้จริงเป็นอย่างไรมิอาจใช้สายตาและหูฟังแยกแยะตัดสินได้ เพราะเท่าที่เห็นได้ยินได้ฟังพวกเขามักแสดงบทลุยน้ำลุยโคลนดูเสมือนว่ารัก และมุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชน แต่ผลลัพธ์กลับโยนปัญหาเข้าใส่ประชาชนอยู่ร่ำไปทั้งสิ้นค้าราคาแพง ค่าครองชีพสูง ปัญหาการว่างงานและอื่นๆ มากมาย อีก พูดจาไพเราะอ่อนหวานหลักการดี เสียงบอกพร้อมปรองดองแต่ปากแทะเล็มเหน็บแหนมทิ่มแทงกันตลอดเวลา จนบางครั้งหลายคนหลายท่านแอ็คชั่นมากไปจนลืมบทท่องของตัวเองแล้วเพี้ยนกลาย ไปว่าเขาทั้งที่อิเหนาเคยเป็นก็ยังมี
ขณะที่การเลือกตั้งกำลังงวดเข้ามานี้ คงเป็นเวลาเดียวกันที่บรรดานักการเมืองจะได้ใช้ความสามารถพิเศษในการแสดง “ภาพ” ดี และ หยอด “เสียง” ใส เข้าใส่ประชาชนจนยากที่จะแยกแยะได้ว่าภาพไหนเสียงใดจริงปลอม เพราะภาพที่เขาตั้งใจให้เราเห็นอาจไม่ได้เป็นของจริงดังที่ปรากฏ เสียงที่ได้ยินอาจเคลือบแคลงแฝงไว้ด้วยผลประโยชน์ตามที่เขาได้เขียนบทไว้ แล้ว ดังนั้นการต่อสู้กับ “ภาพและเสียง” ของนักการเมืองครั้งนี้ประชาชนจำต้องใช้วิจารณญาณและความสามารถที่พิเศษกว่า นั่นคือ “เห็นรูปแต่ไม่เชื่อภาพ ได้ยินแต่ไม่เชื่อเสียง” ใช้ความจริงที่จับต้องมองเห็นและสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมเป็นเกณฑ์ในการ ตัดสินใจ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ ผลงานและการปฏิบัติของนักการเมืองที่แล้วมา ซึ่งหากใช้สติและเปรียบเทียบดูก็จะรู้ได้ว่าภาพการแสดงที่เคยปรากฏในอดีตและ ผลที่ได้ตามมาหลังจากนั้นมันสอดคล้องกับภาพที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ สิ่งใดที่เคยพูดเคยสัญญาแล้วผลสัมฤทธิ์หลังจากนั้นเป็นอย่างไร ประชาชนจะไม่นำภาพที่ถูกปรุงแต่งและเสียงที่ผ่านการตัดต่อมาใช้ตัดสินใจอีก แล้ว อย่าลืมว่ามีกรณีตัวอย่างมากมายที่ประชาชนได้เห็นได้ทราบ มีผลงานการปฏิบัติที่ผ่านการเรียนรู้และประจักษ์แล้วทั้งสองตา จักเป็นตัวชี้วัดที่ดีและสำคัญที่สุดมากกว่าแค่ “ภาพและเสียง” อย่างแน่นอน