ที่มา ประชาไท
แดง ใบเตย
ผู้อ่านจากทางบ้าน
กระผมนายแดง ใบเตย เป็นผู้อ่านเว็บไซต์ประชาไท ขอเสนอข้อคิดเห็นว่าถ้าหากพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแล้ว จะต้องปฏิบัติดังนี้ ปัญหาของประเทศจึงจะได้รับการแก้ไข
1. นิรโทษกรรมคดีการเมืองหลังการรับประหาร 2549
นิรโทษกรรมผู้ที่ถูกลงโทษที่เป็นคดีทางการเมือง (ส่วนคดีฆาตกรรมประชาชนดูข้อ 2 และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดูข้อ 3) เช่น ปิดถนน ปิดสนามบิน ยึด NBT ยึดทำเนียบ ปีนทำเนียบ คดีต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม รวมถึงคืนสิทธิให้พรรคการเมืองที่ถูกยุบ คืนสิทธิให้นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ
หมายเหตุ: สำหรับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องตีพิมพ์ “สารานุกรม 2 มาตรฐาน” ให้ความรู้ความเข้าใจและบันทึกหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับมูลเหตุก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม เช่น คนยึดสนามบินไม่ติดคุก, การส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาช้าเลยไม่ถูกยุบพรรค เป็นต้น
2. เอาผิดผู้มีส่วน “สั่งการ-รู้เห็น” การปราบปรามประชาชน ทั้งกรณี 7 ตุลา และการล้อมฆ่าคนเสื้อแดง
รัฐบาลเพื่อไทยมอบหมายให้คณะกรรมการปรองดอง นำสองกรณีระหว่างการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร (7 ตุลา) และการปราบปราบคนเสื้อแดง ชี้แจงและมาเทียบเคียงบทลงโทษผู้สั่งการและผู้มีส่วนรู้เห็น ต่อสารารณะ โดยมีประเด็นพิจารณาดังนี้ -
- เอาผิดกับผู้สั่งการและรู้เห็นว่าให้ใช้แก๊สน้ำตาปราบปรามประชาชน จนเกิดเหตุทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย (ในกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ )
- เอาผิดกับผู้สั่งการและรู้เห็นว่าให้ใช้กระสุนจริงปราบปรามประชาชน จนเกิดเหตุทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย (ในกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง)
ทั้งนี้การหาความจริงและหาคนผิดเกี่ยวกับสองกรณีนี้ จะเป็นบรรทัดฐานของการควบคุม-สลายการชุมนุมต่อไปในอนาคต
3. ตั้งคณะกรรมการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนรัฐบาลเพื่อไทยที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับคดี “ล้มเจ้า” ดังนั้นจะต้องตั้งคณะกรรมพิเศษที่เป็นคนนอกและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ชื่อว่า “คณะกรรมการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน” โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ (ผู้เชี่ยวชาญด้านราชประเพณี) เป็นหัวหน้าคณะในการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112
ในรายของผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ใน ขณะนี้ให้มีการสอบสวนลับ ซึ่งคณะสอบสวนประกอบด้วย ตัวแทนสำนักราชวัง ตัวแทนศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ซิกข์ ตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรม ตัวแทนกรมสุขภาพจิต (โดยมีตัวแทนสหประชาชาติเป็นผู้สังเกตการณ์) สอบถามผู้ถูกคุมขังว่าจงรักภักดีหรือไม่ ถ้าหากตอบในเชิงบวกให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังพร้อมชดเชยความเสียหายจากการที่ถูกคุมขัง (200 บาทคูณจำนวนวันที่ติดคุก) หากผู้ที่ถูกคุมขังตอบคำถามเป็นลบ ให้ปล่อยตัวผู้คุมขังเช่นเดียวกันแล้วนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการอบรมและบำบัดความเชื่อที่หลงผิด โดยมีกระทรวงวัฒนะธรรมและกรมสุขภาพจิตเป็นแม่งาน พร้อมชดเชยความเสียหายจากการที่ถูกคุมขัง (200 บาทคูณจำนวนวันที่ติดคุก)
ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวจะต้องเป็นไปในทางลับ เพราะว่าสิทธิที่จะจงรักภักดีหรือไม่จงรักภักดีนั้น หน่วยงานของรัฐไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะชนเพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลนั้นๆ ได้