ที่มา ข่าวสด
บทบรรณาธิการ
ปลาย สัปดาห์ที่ผ่านมา นางกฤตยา อาชวนิจกุล รองผอ.สถาบันวิจัย ประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.)
แถลงความคืบหน้าการสอบสวนว่า รัฐบาลไม่สมควรสั่งทหารใช้ปืนสไนเปอร์กับประชาชน เพราะมีการใช้กระสุนปืนสไนเปอร์ในเหตุการณ์ทั้งหมด 2,000 กว่านัด
และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงคลี่คลายได้ยาก หากความจริงกับการพูดของแต่ละฝ่ายยังบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยเฉพาะหากการทำงานของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และตำรวจ
ยังล่าช้าไม่มีความคืบหน้า
ใน เอกสารของศปช.ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม มีทั้งสิ้น 92 ราย เสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. 26 ราย ในระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค. 57 ราย ส่วนอีก 9 รายเสียชีวิตในการปะทะย่อยและในต่างจังหวัด
และภายหลังจากประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันที่ 7 เม.ย. ถึงปัจจุบันยังมีผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวทั่วประเทศอีก 133 ราย
ข้อหาส่วนใหญ่ คือ การละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยการชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป การร่วมวางเพลิง สถานที่ราชการ และก่อการร้าย อีก 5 ราย ฯลฯ
ขณะที่การออกหมายจับ และการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มนปช.
ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
ลําพังการเสียชีวิตจากอาวุธสงครามของประชาชนเกือบ 100 คน และได้รับบาดเจ็บอีกเกือบ 2,000 คน ก็เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอยู่แล้ว
แต่กระบวนการที่ทำให้ความจริงและความยุติธรรมล่าช้าออกไป ยิ่งสร้างรอยแผลและปัญหาให้กับสังคมยิ่งกว่า
ส่วนหนึ่งของความคับแค้นอัดอั้นนี้ สะท้อนจากผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอยู่แล้ว แต่เพียงเท่านั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ความปกติกลับคืนสู่สังคมไทย
มีแต่การนำความจริงมาเปิดเผยอย่างโปร่งใส เพื่อผลักดันให้กลไกของกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงเดินหน้าต่อไป
จึงจะสามารถทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง