ที่มา มติชน หมายเหตุ - เป็นเนื้อหาโดยสังเขปจากรายงาน "สรุปปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์" ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่นำเสนอต่อผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลใหม่ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาโดยด่วน (ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับ 1 สิงหาคม 2554 หน้า2)
ความเป็นมาของโครงการ
ความ เป็นมาของโครงการ "แอร์พอร์ตเรลลิงก์" (AIRPORT RAIL LINK) หรือโครงการระบบขนส่งทางรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่ง ผู้โดยสารท่าอากาศยานในเมือง เป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของรัฐบาลและเป็นโครงการที่รัฐลงทุนเองทั้งหมด อยู่ใต้หน่วยงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2548
ผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังระบบรถไฟฟ้าอื่นๆ ได้ 2 สถานี คือ 1.เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยมีสถานีร่วมที่พญาไท 2.เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยมีสถานีร่วมที่เพชรบุรี
นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2554 ได้เปิดให้บริการเป็น 3 แบบ โดยวิ่งในรางเดียวกัน คือ
1.รถไฟ ฟ้า ธรรมดา (SA City Line) วิ่งจากพญาไท ไปสนามบินสุวรรณภูมิ จอดให้บริการทุกๆ สถานี (รวม 8 สถานี) มีรถไฟทั้งหมด 5 ขบวน ระยะปล่อยรถทุกๆ 15 นาที ใช้เวลาเดินทางจากพญาไทถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ประมาณ 30 นาที ซึ่งจะให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. ทุกวัน
2.รถไฟฟ้า ด่วน MAS Express วิ่งจากสถานีมักกะสัน/อโศก ไปสถานีสุวรรณภูมิ เท่านั้น (รับจอดเฉพาะ 2 สถานีเท่านั้น) มีรถไฟฟ้าที่ให้บริการทั้งหมด 1 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ และมีระยะปล่อยรถทุกๆ 45 นาที (ตู้บรรทุกกระเป๋าสัมภาระ 1 ตู้) ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. ทุกวัน
3.รถไฟฟ้าด่วน PTH Express วิ่งจากสถานีพญาไทไปสถานีสุวรรณภูมิ (รับจอดเฉพาะ 2 สถานีเท่านั้น) มีรถให้บริการทั้งหมด 2 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ มีระยะปล่อยรถทุกๆ 30 นาที (ตู้บรรทุกกระเป๋าสัมภาระ 1 ตู้ ไม่ได้ใช้งาน) ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น.ทุกวัน
แผนการเงินและการลงทุนของโครงการ ARL ที่ได้จัดทำขึ้นโดยรัฐบาล เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยคาดหวังรายได้หลักจากค่าโดยสาร และรายได้จากการพัฒนาเป็นร้านค้าขาย โฆษณาต่างๆ และให้บริการที่จอดรถตามสถานี
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ
เนื่อง จาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด มีหน้าที่รับผิดชอบ และภารกิจเฉพาะในการบริหารการให้บริการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยาน ในขณะที่เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และยังคงไม่มีความชัดเจนด้านนโยบายการบริหารและงบประมาณสนับสนุน พร้อมกับมีความคาดหวังเบื้องต้นจากรัฐบาลว่า ต้องการให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หลุดพ้นจากลักษณะการบริหารแบบภาครัฐ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในระยะแรกเริ่มจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี แนวคิดดังกล่าวยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม เพราะการบริหารงานยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือ และปัจจุบันสนับสนุนต่างๆ จาก ร.ฟ.ท. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาในเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง ต่อไปนี้
1.การ พึ่งพาบุคลากรในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารระดับกลาง เพื่อรับผิดชอบการบริหารงาน และงานด้านนโยบายของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด
2.การพึ่งพางบประมาณสนับสนุนในด้านต่างๆ เนื่องจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ยังไม่มีเงินรายได้ (รายได้ปัจจุบัน ถูกนำส่งให้ ร.ฟ.ท.) หรืองบประมาณเป็นขององค์กรเอง
3.การพึ่งพาด้านกฎระเบียบและกระบวนการวิธีปฏิบัติในด้านการทำงานต่างๆ
การ พึ่งพาในเรื่องสำคัญต่างๆ ข้างต้น ได้ส่งผลกระทบอย่างมากกับแนวคิดที่จะทำให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หลุดพ้นจากแนวคิดทางการบริหาร และกระบวนการวิธีปฏิบัติแบบภาครัฐ โดยสามารถจำแนกสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาได้ 4 ประการ ดังนี้
1.การไม่ เพียงพอด้านงบประมาณสนับสนุน หรือไม่มีเงินงบประมาณเป็นขององค์กรเอง ยังคงต้องพึ่งพาการรถไฟแห่งประเทศไทย และเนื่องจากเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐยังดำเนินการไม่เรียบร้อย และใช้ระยเวลานาน ซึ่งปัจจุบันล่วงเลยมาเกือบ 2 ปี ซึ่งทำให้กระแสเงินสดหมุนเวียนภายในบริษัท เข้าสู่สถานการณ์ที่ย่ำแย่มาก ไม่สามารถนำเงินงบประมาณมาใช้ในการบริหารจัดการภายใน และปรับปรุงการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว
2.การไม่เพียงพอในเรื่อง วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้สำนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ และขาดอะไหล่สำรองและอะไหล่สิ้นเปลืองต่างๆ สำหรับรถไฟฟ้าที่จำเป็น ส่งผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นด้วยความยากลำบาก และไม่สามารถบำรุงได้อย่างเพียงพอ หรือดำเนินการใดๆ ในการยกระดับการให้บริการต่อประชาชน
3.การไม่เพียงพอในด้านอัตรา กำลัง และศักยภาพในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เต็มไปด้วยข้อจำกัด เนื่องจากงานบริหารส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจาก ร.ฟ.ท. และงานบางส่วนต้องผ่านสถาบันศศินทร์ ทำให้ไม่เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและการคัดสรร
4.การไม่สามารถบริหาร และไม่มีระเบียบวิธีปฏิบัติเป็นของตนเองในการรองรับการปฏิบัติหน้าที่
จาก ปัจจัย และสาเหตุข้างต้น นำมาซึ่งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด โดยสามารถจำแนกได้ 3 ส่วน ดังนี้
1.ปัญหาและอุปสรรคในเชิงนโยบาย
2.ปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการ และวิธีการทำงาน
3.ปัญหาและอุปสรรคในเชิงการให้บริการ
1.ปัญหาและอุปสรรคในเชิงนโยบาย ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาในหลายๆ ด้าน ดังนี้
- การที่ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เป็นบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจาก ร.ฟ.ท. ให้ทำหน้าที่รักษาการแทนในตำแหน่งระดับสูงต่างๆ เป็นการชั่วคราวในขณะที่ บุคคลเหล่านั้นยังคงต้องรับผิดชอบบริหารงานที่รับผิดชอบในส่วนของ ร.ฟ.ท.ควบคู่ไปด้วยนั้น ย่อมส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดตั้งระบบการบริหารความปลอดภัย และขั้นตอนในการปฏิบัติงานภายในต่างๆ
- รายละเอียดอัตรากำลังตามโครงการสร้างองค์กร และการรับสมัครพนักงานเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ ที่ล่าช้า ได้แสดงให้เห็นว่า อัตรากำลังในส่วนของผู้บริหารระดับสูง ยังไม่ได้ถูกเติมเต็มให้เกิดความชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดความยากลำบากในการวางแนวทางปฏิบัติในการทำงาน และการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายใน
- นโยบายการบริหารงาน ณ ปัจจุบัน ขาดนโยบายเชิงรุกในทุกด้านทั้งนโยบายภายใน และภายนอก โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแบบวันต่อวัน ขาดการวางแผนระยะยาวที่ชัดเจน และไม่สามารถคาดหวังการทำงานที่มุ่งผลสำเร็จได้ เนื่องจากขาดการพัฒนาศักยภาพในตัวพนักงาน ด้วยการเข้ารับการฝึกอบรมที่ต่อเนื่องเป็นระบบ และจำเป็น
- นโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างขวัญและกำลังใจของพนักงาน ส่งผลทำให้อัตราการลาออกของพนักงานอยู่ในอัตราที่สูงมาก โดยสาเหตุหลักที่ถูกนำมาใช้ในการลาออก คือ การเปลี่ยนไปทำงานอื่น
- นโยบายการบริหารและทางการเงินงบประมาณ ไม่สามารถแก้ไข หรือตอบสนองต่อปัญหาและอุปสรรค ที่ได้รับความเห็นจากที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ
- เงื่อนไขของการจ้างงานที่เหมาะสมสำหรับบริษัทภาคเอกชนไม่ได้ถูกนำมาใช้ โดยนำเงื่อนไขของการจ้างงานของ ร.ฟ.ท.มาใช้ชั่วคราว เกือบ 2 ปี ย่อมเป็นปัจจัยสนับสนุนในการลดประสิทธิภาพของพนักงาน และเพิ่มอัตราส่วนการลาออกของพนักงาน
- ข้อจำกัดด้านงบประมาณในการจัดซื้ออะไหล่สำรองสำหรับการเดินรถไฟฟ้าเพื่อการ ให้บริการ ได้ส่งผลทำให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการ เช่น การลดจำนวนเที่ยวการให้บริการลง เนื่องจากการขาดอะไหล่สำรอง
- การยกเลิกสัญญาจ้างกับ Deutsche Bahn International ของ ร.ฟ.ท. โดยไม่ได้มีการจัดเตรียมแผน และงบประมาณ เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ส่งผลทำให้ขาดความต่อเนื่องในการถ่ายโอนความรู้ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน ตามข้อตกลงในสัญญา
2.ปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการ และวิธีการทำงาน ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาในหลายๆ ด้าน ดังนี้
- อุปกรณ์สำนักงานมีอยู่ไม่เพียงพอ เช่น ตู้เอกสาร เครื่องพิมพ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และความไม่สะดวกสำหรับการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต พนักงานยังคงต้องพึ่งพาอุปกรณ์สำนักงานส่วนตัว
- การพัฒนาตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพการปฏิบัติงานยังไม่มีการดำเนินการบังคับใช้ เพื่อให้เกิดการประเมินผลงานเทียบกับมาตรฐานสากล
- ระบบ ERP ยังไม่ถูกนำมาใช้ เพื่อช่วยในการทำงานให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
- ระบบ SAP ยังไม่ถูกนำมาใช้ เพื่อช่วยในการทำงานให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
3.ปัญหาและอุปสรรคในเชิงการให้บริการ ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาในหลายๆ ด้าน ดังนี้
- ความยากลำบากในการยกระดับ หรือปรับปรุงการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการ วิธีการทำงาน และงบประมาณในการสนับสนุน
- การดำเนินการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เป็นไปด้วยความล่าช้า และขาดงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนา เช่น การจัดทำทางเดินเชื่อม ป้ายประชาสัมพันธ์ และป้ายสัญลักษณ์บอกทาง เป็นต้น
- มีจำนวนอัตรากำลังคนที่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการ ส่งผลทำให้เกิดปัญหาด้านภาพลักษณ์การให้บริการของพนักงาน
- อุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ เพื่อปรับปรุงการให้บริการ มีการจัดหาที่เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นของงานที่ปฏิบัติได้อย่างทันท่วงที และในบางกรณีส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
...........