ที่มา มติชน
เมื่อ วันที่ 31 กรกฎาคม รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งว่ากรณีที่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. ขอถอนตัวจากการเป็นแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทยถึงสาเหตุที่ พ.อ.อภิวันท์ขอถอนตัว ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะ พ.อ.อภิวันท์ ได้รับแรงกดดันจากแกนนำพรรค เนื่องจากที่ผ่านมา พ.อ.อภิวันท์ เคยขึ้นปราศรัยบนเวทีคนเสื้อแดงด้วยถ้อยคำที่ดุเดือดทำให้เกรงว่าหาก พ.อ.อภิวันท์ได้รับเลือกเป็นประธานสภาจริงอาจะส่งผลต่อภาพความปรองดองของ รัฐบาลชุดใหม่ได้
"โดย ขอร้องให้ไปรับตำแหน่งในฝ่ายบริหารแทน ขณะที่กระแสข่าวอีกส่วนหนึ่งแพร่สะพัดว่าที่ พ.อ.อภิวันท์ ต้องถอนตัวเนื่องจากเป็นความเห็นส่วนตัวของ พ.อ.อภิวันท์เองเพราะถือเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อยังไม่ได้รับการยืนยันจากแกนนำพรรคให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวทำให้ พ.อ.อภิวันท์ขอถอนตัวก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะประกาศรายชื่อแคนดิเดตที่เหลืออีก 2 คน ซึ่งอาจทำให้ พ.อ.อภิวันท์เสียภาพลักษณ์ของผู้ใหญ่ได้" รายงานข่าวระบุ
ราย ข่าวแจ้งว่า สำหรับแคนดิเดตของผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น เหลือเพียง 2 คน ซึ่งก็คือนายสมศักดิ์ และนายวิทยา โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์จะแจ้งรายชื่อ ส.ส.1 ใน 2 รายชื่อนี้ให้กับที่ประชุมพรรคได้รับทราบเพียงรายชื่อเดียว โดยจะไม่มีการโหวตในที่ประชุม เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยได้มอบหมายให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายยงยุทธ ไปดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมแล้ว โดยชื่อของนายสมศักดิ์จะมาแรงกว่านายวิทยา เพราะเคยผ่านการดำรงตำแหน่งรองประธานสภามาแล้วหลายครั้ง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้วางนายสมศักดิ์ให้เป็นประธานสภามาในสมัยที่พรรคพลังประชาชนมาเป็นรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายวิทยามีความโดดเด่นที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรค ร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ทำให้บรรดา ส.ส.ของพรรคส่วนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายเป็นพิเศษให้การสนับสนุน รวมไปถึงยังเป็นหนึ่งในสายตรงของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย แต่ที่ผ่านมานายวิทยาไม่เคยแสดงตัวชัดเจนว่าอยากดำรงตำแหน่งดังกล่าว
รายงาน ข่าวแจ้งว่า นอกจากตำแหน่งประธานสภาที่จะมีความชัดเจนในการประชุมดังกล่าวแล้ว แกนนำพรรคเพื่อไทยยังจะมีการแจ้งรายชื่อรองประธานสภา 2 รายชื่อต่อที่ประชุมด้วย โดยคาดว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เนื่องจาก นพ.ชลน่าน มีความแม่นยำในข้อบังคับการประชุมสภาและการทำหน้าที่ในสภาที่ผ่านมามีผลงาน เป็นที่ประจักษ์จนได้รับตำแหน่ง “ดาวเด่นสภา” จากการโหวตของสื่อมวลชนประจำรัฐสภาในปี 2552