ที่มา ประชาไท
วันสตรีไทย : สตรีไทยมีใครบ้าง
วันนี้ (1 ส.ค.) ฤกษ์ไม่ค่อยดี เพราะจู่ๆ ดิฉันก็ตื่นเช้าผิดปกติ จากที่เคยตื่นบ่ายเลยเถิดไปถึงเย็น ปรากฏว่าวันนี้งัวเงียขึ้นมาดูนาฬิกา แม่เจ้า! 6 โมงครึ่ง!!! ทีแรกกะจะโทษฟ้าโทษฝน แต่เห็นว่ากำลังตกพรำๆ น่านอนเสียยิ่งกระไร แล้วทำไมเราถึงตื่นเช้า (วะ) ด้วยความที่ไม่รู้จะทำอะไรก็เลยเปิดโทรทัศน์ดูข่าวเสียหน่อย จึงทำให้ทราบว่า วันนี้ (1 ส.ค.) เป็นวัน ‘สตรีไทย’ (ต้องเป็นเพราะเหตุนี้แน่ๆ เลย) สตรีบางคนอาจกำลังเดินทางไปทำงาน สตรีบางคนอาจกำลังทำกับข้าวให้สามี แต่งตัวให้ลูกเตรียมไปโรงเรียน ส่วนสตรีอย่างดิฉันจะทำอะไรดีล่ะ งานก็ไม่มี ลูกผัวก็ (ยัง) ไม่มี สตรีที่ไม่มีอะไรทำจึงฟุ้งซ่าน นั่งคิดอะไรไปเล่นๆ ว่าแต่คำว่า ‘สตรี’ ในที่นี้กินความไปถึงไหน ผู้หญิงทุกคน ? ทุกอายุ ? ทุกชนชั้น ? ชายที่แปลงเพศเป็นหญิงแล้ว ? เพราะทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า ‘สตรี’ ภาพไฮโซวัยชราทำผมกะบังลมสูงกว่าสึนามิ แข็งยิ่งกว่าขนมปังฝรั่งเศส และประโคมเครื่องเพชร ทองหยอง แต่งกายในชุดผ้าไหม ผุดขึ้นมาหลอกหลอนในทันใด
สตรีในที่นี้ต้องไม่ใช่ผู้หญิงอย่างดิฉันแน่ๆ (เอ๊ะ! หรือว่าแก่ตัวไป เราก็อาจเป็นแบบนี้)
เอ่อ...ว่า แต่ทำไมเขาไม่ใช้คำว่า ‘ผู้หญิง’ ไปเลย ซึ่งฟังแล้วน่าจะตีความง่ายกว่าคำว่า ‘สตรี’ (อย่าถือสา ถ้าดิฉันจะงงงวย เพราะสอบตกวิชาภาษาไทยเป็นประจำค่ะ) นั่นน่ะสิ...ทำไม หรือบางทีดิฉันอาจจะคิดมากไป หรือรู้น้อยไป เพราะเค้าอาจจะใช้คำว่า ‘สตรี’ แทน ‘ผู้หญิง’ ในแง่ความสละสลวยของภาษาก็ได้ ว่าแล้วจึงไปค้นความหมายในเว็บไซต์ราชบัณฑิตฯ มา ได้ความว่า “สตรี คือ ผู้หญิง, เพศหญิง, คู่กับบุรุษ (ใช้ในความหมายที่สุภาพ)” ถ้าหากคำว่า ‘ผู้หญิง’ หมายถึงผู้ที่เกิดมามีมดลูกมาด้วย ผู้ชายที่แปลงเพศเป็นผู้หญิงในภายหลังก็ไม่ใช่สตรี (และพวกที่โดนตัดมดลูกเพราะเป็นมะเร็ง หรือเหตุอื่นๆ นั้น ใช่สตรีหรือไม่ เอ...ต้องส่งให้กฤษฎีกาตีความหรือเปล่านะ) และผู้หญิงที่ไม่ได้คู่กับ ‘บุรุษ’ ก็ไม่ใช่สตรี (หญิงรักหญิง ทอมดี้ ทั้งหลาย เอ...รวมหญิงโสดอย่างดิฉัน ที่ไม่มีบุรุษมา ‘คู่’ ด้วยหรือเปล่านะ) และผู้หญิงที่แสนหยาบคาย ไม่สุภาพอย่างดิฉันก็คงไม่ใช่ ‘สตรี’
ดิฉัน พอมีความจำอย่างเลือนลางและเลาๆ ว่า เรา (ชาวโลก) มี ‘วันสตรีสากล’ คือวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ซึ่งก็เห็นว่าประเทศไทยก็ร่วมวงสังสรรค์ในวันนี้ด้วยเช่นกัน แล้วประเทศไทยยังมีวัน ‘สตรีไทย’ ในวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปีอีก นั่นหมายความว่าสตรีไทยไม่เป็นสตรีสากลหรือย่างไร หรือว่าสตรีไทยมีลักษณะพิเศษที่พิเศษกว่าความเป็นสตรีสากล (แน่นอน...นอกจากประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่เหมือนใครในโลกแล้ว เราต้องมีผู้หญิงแบบไทยๆ ที่ไม่เหมือนใครในโลกด้วย) จึงต้องมีวันสตรีไทยเพิ่มขึ้นมาอีก 1 วัน อีกอย่างที่น่าสังเกตคือ คำว่า ‘สตรี’ ที่ประเทศไทยใช้นั้น เทียบเคียงในภาษาอังกฤษในคำว่า ‘Lady’ ไม่ใช่ ‘Woman’ แต่ขณะเดียวกัน วันสตรีสากลนั้น ในภาษาอังกฤษกลับใช้คำว่า International Woman’s Day แปลว่าสตรีไทย ณ ที่นี้ต้องเป็น Lady ไม่ใช่ Woman แน่ๆ เลย
แล้ว Lady กับ Woman ต่างกันอย่างไร...ซวยล่ะสิ ดันเรียนจบกฎหมายมา
วัน สตรีสากลนั้น ตามข้อมูลในวิกิพีเดียไทย ให้ข้อมูลไว้ว้า “วันสตรีสากล เป็นวันที่มีการประท้วงของแรงงานหญิง ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ขูด รีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ซึ่งมีสาเหตุมาจากสตรีถูกเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน โดยวันสตรีสากล ไม่ใช่เพียงแค่การเฉลิมฉลองเหมือนงานประเพณีที่มักทำติดต่อกันทุกปี หากจะเป็นการตระหนักร่วมและให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของผู้ใช้ แรงงานหญิง และสืบทอดเจตนารมย์ที่ต้องการให้ผู้หญิงได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย จากความรุนแรง และยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการดูแลในด้านสวัสดิการ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้กียรติและเท่าเทียมในฐานะที่ ผู้หญิงก็เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม” (วิกิพีเดียไทย)
โดยข้อมูลที่เผย แพร่ทั่วไปให้ข้อมูลถึงประวัติแห่งการต่อสู้จนเกิดเป็น วันสตรีสากลไว้ว่า “เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400)
จาก นั้นในปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก
ความ อัดอั้นตันใจจึงทำให้ ‘คลาร่า เซทคิน’ นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย
อย่างไรก็ตามแม้การเรียก ร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ ‘คลาร่า เซทคิน’ และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น
ต่อ มาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1908 (พ.ศ.2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ค เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า ‘ขนมปังกับดอกกุหลาบ’ ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง
จน กระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ ‘คลาร่า เซทคิน’ ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล (จากเว็บไซต์ kapook.com)
ซึ่งข้อ มูลในเวอร์ชั่นวิกิพีเดียไทยนั้น เป็นเวอร์ชั่นที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ว่าตกลงเวอร์ชั่นไหนเป็น ‘สาเหตุ’ ในการเกิดวันสตรีสากลกันแน่ เพราะตามข้อมูลวิกิพีเดียในภาษาอังกฤษนั้น ให้ข้อมูลไว้ว่า มีการประกาศวันสตรีสากลครั้งแรก คือในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1909 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศโดยพรรคสังคมนิยมอเมริกา (Socialist Party Of America) แต่ที่เป็น ‘สากล’ จริงๆ นั้น เกิดขึ้นจากการประชุม International Women's Conference ที่โคเปนฮาเกน ในปี 1910 แต่มากำหนดอย่างเป็นทางการจริงๆ ในปี 1911 โดยความร่วมมือของนานาประเทศและมีการเดินขบวนเรียกร้องเพื่อโปรโมทวันสตรี สากลอันอย่างจริงจังใน โดยตัวตั้งตัวตีในการประกาศวันสตรีสากล (ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นเพียงวันสตรีเฉยๆ --Woman’s Day) คือโซเชียลลิสต์ชาวอเมริกันและชาวเยอรมนี คลาร่า เซทคิน (ส่วนคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเรียกร้องคนแรกคือ Luise Zietz) เป็นการเรียกร้องเพื่อให้ได้ ‘สิทธิ’ แห่งความเท่าเทียมอันรวมไปถึงสิทธิในการเลือกตั้งด้วย
แต่ถึงแม้ใน เวอร์ชั่นวิกิพีเดียอังกฤษจะไม่ได้เคลมว่า ‘สาเหตุ’ แห่งการก่อกำเนิดวันสตรีสากลนั้นมาจากการต่อสู้ของกรรมกรแรงงานหญิงอย่าง เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้จะมีการอ้างชื่อคลาร่า เซทคิน ก็ตามที (แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดการเป็นผู้นำกรรมกร แรงงานหญิงประท้วงของเธอ และไม่ได้ยกขึ้นมาเป็นต้นเหตุของการเกิดวันสตรีสากลอย่างชัดเจน) แต่ในหลายๆ ประเทศแรงงานกรรมกรหญิงก็หยิบฉวยเอาวันนี้มาใช้ในการต่อสู้ เช่นสหภาพโซเวียต (ในสมัยนั้น) ก็นำวันนี้มาเป็นแคมเปญโปรโมทให้ผู้หญิงปลดแอกจากการเป็นทาสในครัว และโปรโมทการเป็นหญิงชนชั้นแรงงาน (Working Woman—คำว่าเวิร์กกิ้งวูแมน เคยฮิตมากๆ ในสังคมไทย) และในความหมายของยุคสมัยปัจจุบัน วันนี้ก็ถูกตีความหมายไปอีกหลากหลายอย่าง อย่างเช่นในประเทศอาร์เมเนีย ซึ่งแยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต ก็ ‘แบน’ วันนี้ แล้วตั้งวันขึ้นมาใหม่เป็นวันที่ 7 เมษายน และเปลี่ยนจากวันสตรีสากลเป็นวัน ‘Beauty and Motherhood’ (ไม่รู้ว่าจะแปลอย่างไร...วันแห่งความสวยงามและความเป็นแม่ ?) ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ในวันนี้ยังเป็นวันสำคัญในการเคลื่อนไหวของภาค แรงงานหญิงอยู่ อย่างเช่น ปากีสถาน
กลับมาที่ประเทศไทย...
ประเทศ ไทยก็ให้ความสำคัญกับ ‘วันสตรีสากล’ ร่วมกับประชาคมโลกเช่นกัน เห็นได้จาก อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีคำปราศัยออกมาในวันสตรีสากลในปีนี้ และในด้านกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมก็จะเห็นว่ามีการจัดกิจกรรมขึ้นในวัน สตรีสากล เช่นงานของ สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์กรภาคีนานาชาติในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้มีการจัดการเสวนาหัวข้อ “ส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในการเข้าถึงทางด้านการศึกษา การอบรม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแนวทางให้สตรีได้มีโอกาสเข้าถึงงานที่ดีในอนาคต” โดย H.E. Mrs.Kristie A. Kenney เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย นางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณณ อยุธยาอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่ต้องไล่ให้ฟัง เสียยืดยาว เพื่อจะเห็นภาพของงานว่า สุดท้ายก็มีแต่คุณหญิงคุณนาย ในแบบภาพจินตนาการที่ดิฉันนึกไว้เปี๊ยบ! (ไม่เชื่อไปดูภาพงานเองได้ผมกะบังตั้งสูง ชุดไหมปลิวว่อน) แต่ในแง่หนึ่งก็อาจคิดได้ว่า ในเมื่อเป็นวันสตรีสากล ‘สตรี’ ที่ต้องเกี่ยวข้องก็ต้องดู ‘สากล’ นิดหนึ่ง ทั้งเอกอัครราชทูต คุณหญิง ดอกเตอร์ รัฐมนตรี ฯลฯ ทั้งหลาย เพราะถ้าจะย้อนไปยังต้นกำเนิดแห่งวันสตรีสากลอย่างเรื่อง ‘แรงงานหญิง’ ก็อาจจะดูไม่สากล เพราะอาจพูดภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาสากลไม่ได้ แลดูไม่เชิดหน้าชูตา เป็นสากลสักเท่าไหร่
และถึงแม้จะเป็น ‘วันสตรีไทย’ ภาพของงานที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างกัน ซึ่งแม่งานของวันสตรีไทยคือ สภาสตรีแห่งชาติฯ เช่นเคย โดยในปีนี้มีคำขวัญเก๋ๆ ว่า "พลังสร้างสรรค์ สู่อนาคตที่ยั่งยืน : สตรียุคใหม่ พัฒนาก้าวไกล ห่วงใยสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม" และมีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น งานแสดงปาฐกถาพิเศษจากนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสตรีไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล (ซึ่งจะจัดในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ต้องรอฟังอีกทีว่านายกรัฐมนตรีหญิงจะพูดอะไรเกี่ยวกับ ‘สตรี’ ไทยบ้าง) ปาฐกถาพิเศษภาคเศรษฐกิจและการเงิน โดยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กิจกรรมเข้าเยี่ยมคารวะประธานสภาสตรีแห่งชาติ ฯ ของคณะสตรีไทยในต่างประเทศ ฯลฯ
และแน่นอน ว่าทั้งสองวันสำคัญนั้นต้องมีการให้รางวัล ‘สตรีดีเด่น’ ซึ่ง ‘สตรี’ แบบไหนที่ได้รางวัลบ้างก็พอจะคาดเดาได้ และลองหาอ่านได้ตามข่าวทั่วไป (ขี้เกียจยกมาแปะ...เยอะมากกก...)
จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะเห็นได้ว่าไม่ค่อยมีอะไรที่เกี่ยวข้องไปยังสาเหตุแห่งการเกิดวันสตรีสากล เท่าไหร่เลย และวันสตรีไทยก็มีรูปแบบที่ไม่ต่างจากวันสตรีสากลเท่าไหร่ด้วย บางทีสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะในปัจจุบันเรื่องราวของผู้หญิงก็ต้องเปลี่ยน แปลงไปตามยุคสมัย เคลื่อนย้ายจากประเด็นแรกเริ่มไปสู่ประเด็นใหม่ๆ จะมาเป็นเรื่องแรงงานกรรมกรหญิงอย่างเดิมคงจะไม่ได้ หรือถ้าจะได้ก็อาจต้องไปทำ ไปเรียกร้องในวัน ‘แรงงาน’ แทน วันสตรีทั้งสากลและวันสตรีไทย เราจึงได้ยินแต่คำว่า ‘สิทธิ’ ของผู้หญิง แต่ไม่ค่อยเข้าใจว่าผู้หญิงกลุ่มไหนบ้าง อย่างไรบ้าง อย่างง่ายๆ หากคำขวัญในปีนี้คือ “สตรียุคใหม่ พัฒนาก้าวไกล ห่วงใยสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม” ภรรยาของแกนนำต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินท่าทรายถือว่าเป็นผู้หญิงที่ ห่วงใยสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แรงงานหญิงไทรอาร์มอยู่ในส่วนไหนของ ‘สตรีไทย’ ฯลฯ
ทุกๆ วันสำคัญนี้ ไม่ว่าจะเป็นวันสตรีสากล หรือวันสตรีไทย เราจึงได้ดูแต่ข่าวว่าปีนี้มอบรางวัลให้ใครบ้าง ซึ่งก็เป็นคุณหญิงคุณนายใหญ่ๆ โตๆ เสียส่วนใหญ่ มีระดับท้องถิ่นบ้าง แต่ก็เป็นผู้นำองค์กรของภาครัฐเสียเป็นส่วนใหญ่อีก และแน่นอนมันเป็นข่าวที่ผ่านแล้วผ่านเลย ไม่มีความสลักสำคัญใดๆ เหมือนคำว่า ‘สตรีไทย’ จะถูกจำกัดความอยู่เฉพาะแค่คนกลุ่มหนึ่ง จัดงานกันเอง เป็นงานแบบ ‘พอเป็นพิธี’ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบถึง ‘ผู้หญิง’ ในทุกภาคส่วนของสังคม (เกลียดคำนี้จริงๆ ให้ตายเหอะ) ดูได้จากภาพงานอย่างเป็น ‘ทางการ’ ก็พอจะรู้แล้วว่าผู้หญิงแบบไหนที่อยู่ในกลุ่มของคำว่า ‘สตรีไทย’ ส่วน ‘ผู้หญิง’ ส่วนอื่นๆ หากอยากจะหยิบฉวยเอาวันนี้มาทำอะไรเพื่อตัวเองบ้างก็เชิญไปทำกันเอง (เพราะงานสตรีไทยภายใต้การรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็เหมือนเป็นการรับรองความเป็น ‘สตรีไทย’ แบบไหนที่เป็นสตรีไทยนั้น ต้องเป็นแบบนั้น นอกจากนั้นที่ไม่รับรอง ไม่เป็นสตรีไทยค่ะ) อย่างกรณีแรงงานหญิงไทร์อาร์มที่จัดการเดินขบวนเรียกร้องในวันสตรีสากลที่ ผ่านมา แล้วพวกเธอถูกหยิบยกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสตรีไทย (ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสตรีสากลในวันสตรีสากล) หรือวันสตรีไทยไหม...ไม่ แม้จะพูดได้ว่าเรื่องราวของพวกเธอคือที่มา จุดกำเนิดเดียวกับกับเรื่องราวของวันสตรีสากลเลยก็ตาม
คำว่า ‘สตรีไทย’ ที่เป็นวาทกรรมภายใต้วันสตรีสากล หรือวันสตรีไทยนั้น จึงเหมือนถูกจับจองเป็นเจ้าของเพียงแค่ ‘ผู้หญิงชนชั้นหนึ่ง’ ผูกขาดโดยผู้หญิง ‘เฉพาะกลุ่ม’ ละเลยผู้หญิงอีกหลายกลุ่ม (ด้วยการที่ผู้หญิง Discriminate ผู้หญิงด้วยกันเอง) และหลงลืมรากเหง้าที่มาที่แท้จริงของความสำคัญของวันสำคัญนี้ (ถ้าเราคิดว่ามันเป็นวันสำคัญน่ะนะ) คำว่าสตรีจึงไม่ใช่คำที่มีความหมายเฉพาะเพียงเรื่องเพศเท่านั้น แต่มันยังกินความไปยังเรื่องของชนชั้นด้วย (บวกเศรษฐกิจอีกสักเรื่องยังได้) ไม่ใช่ว่าใครๆ ในผืนแผ่นดินนี้ที่เกิดมาเป็นเพศหญิงจะเป็น ‘สตรีไทย’ ได้ เพราะวันสตรีสากลและสตรีไทย (ในประเทศไทย) นั้นทำให้เราเห็นแล้วว่า อยากจะเป็นสตรีไทย มีส่วนร่วมกับคำว่าสตรีไทย ในวันสตรีสากล หรือวันสตรีไทย เกิดเป็นผู้หญิงอย่างเดียวนั้นไม่พอ!
ดิฉันผู้ซึ่งอาจถูกคัดออกใน ดำลับต้นๆ เช่นเดียวกัน ผู้ซึ่งไม่รู้จะทำอะไร จะไปเกี่ยวข้องตรงไหน ในวันสตรีไทย ก็ได้แต่นั่งคิดฟุ้งซ่าน เขียนอะไรไร้สาระ คิดได้ดั่งนั้น จึงอาบน้ำแต่งตัว เป็นเพียงผู้หญิงสวยๆ และไปเดินช้อปปิ้งให้เขาครหาว่านอกจากความสวยแล้วยังไม่เป็น (กุล)สตรีที่ดีอีก!