ที่มา thaifreenews
โดย bozo
ผ่าเกมรุกฝ่าย "นิติบัญญัติ" "เนติบริกร" ยุคเพื่อไทย เสิร์ฟเมนู "นิติรัฐ" ขึ้นโต๊ะ "ทักษิณ"
ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารยุค "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ต้องลอดช่อง-หาทางแก้เกม "กฎหมาย"
เพราะ 5 ปีที่ฝ่ายเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำ พ้นจากกระดานอำนาจก่อนเวลาอันควร
ด้วยสาเหตุแห่งช่องโหว่ทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
มือกฎหมายระดับ "พระกาฬ" จึงถูกจับจอง-เรียกใช้ เป็นมันสมองมา ตั้งแต่ยุคผู้นำ "พ.ต.ท.ทักษิณ"
ยุคของ "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" อดีตผู้พิพากษา
ลาออกจากราชการ สังกัดฝ่ายตุลาการ มาเล่นการเมือง เรืองอำนาจหลายตำแหน่ง เช่น
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 2 สมัย
โฆษกประจำตัว "ทักษิณ" คือตำแหน่งสุดท้ายของ "พงศ์เทพ" ที่ยังคงให้บริการด้านเนติ
เช่นเดียวกับยุคของ "วิษณุ เครืองาม"
ที่ทิ้งเก้าอี้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เข้าประจำการตำแหน่งบริกรด้านเนติ
ให้กับ "พ.ต.ท.ทักษิณ" และจบอาชีพนักการเมืองในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ไม่ต่างจากยุคของ "ชูศักดิ์ ศิรินิล"
ที่ตัดสินใจพลิกเส้นทางชีวิต ทิ้งเก้าอี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
มารับตำแหน่ง "ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคไทยรักไทย"
ก่อนเส้นทางการเมืองจบลงที่ตำแหน่ง "เลขาธิการนายกรัฐมนตรี" ในยุค "สมชาย วงศ์สวัสดิ์"
ไม่นับรวมทั้ง "ประเกียรติ นาสิมมา" ที่อยู่ในขบวนรถไฟสายบริกรด้านเนติ
ไม่เพียงภาคการเมืองเท่านั้นที่ "ทักษิณ" ใช้นักกฎหมายมาเป็นมันสมอง
หากแต่หลายครั้งทีมกฎหมาย "ทักษิณ" ถูกเชื่อมโยงให้รับหน้าที่ในด้านส่วนตัวและธุรกิจ
ชื่อของ "พิชิฏ ชื่นบาน" ก็เคยรับหน้าที่สำคัญในคดีี "ซุกหุ้นภาค 1" จนถึง "ซุกหุ้นภาค 2"
เส้นทางที่คู่ขนานระหว่างไทยรักไทย-ชินคอร์ป จำเป็นต้องใช้ "เนติบริกร" ระดับพระกาฬ
เช่นเดียวกับวาระของ "สมัคร" และพรรคพลังประชาชน
เมื่อมาโดยช่องทาง-เทคนิคทางกฎหมาย ก็ต้องจากไปด้วยเส้นทางแห่งกฎหมาย
นายกรัฐมนตรี "สมัคร สุนทรเวช" ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ด้วยข้อหารับจ้างทำกับข้าว
ยุค "เพื่อไทย" ที่เป็นรัฐบาล มี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรี
บรรดา "เนติบริกร" ในยุคไทยรักไทย-พลังประชาชน
ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ติดอยู่ในบ้านเลขที่ 111+109
ยังคงอยู่เบื้องหลังในการวางแผน วางหมากเกม ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
จนกระทั่งได้รับเสียงข้างมาก เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 300 เสียง
"ประชาชาติธุรกิจ" สนทนาปัญหาเนติกับ "พีรพันธุ์ พาลุสุข"
มือกฎหมายระดับหัวกะทิของ "เพื่อไทย" อีกคนหนึ่งที่อยู่
"หน้าฉาก" ได้วิเคราะห์หมากเกมบนกระดานนิติบัญญัติ
ในวันที่พรรคก๊อก 3 ของ "ทักษิณ" เป็นแกนนำรัฐบาล
ท่ามกลางความเข้มแข็งของฝ่ายค้าน ที่มี "ประชาธิปัตย์" เป็นแกนนำ
ซึ่ง "พีรพันธุ์" ยอมรับว่า แม้คู่แข่งจะเข้มแข็งเพียงไร
ก็ไม่สามารถเอาชนะพรรครัฐบาลได้ เพราะครองเสียงข้างมากเช่นนี้
"เขาเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่เสียงเขาน้อยกว่าเรา ที่เข้มแข็งคือ
การให้เหตุผลชี้แจงในการอภิปราย สุดท้ายก็อยู่ที่เหตุผล
เพราะในระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายก็ต้องตัดสินด้วยเหตุผล
ถ้าคุณมีเหตุผลดี แม้ฝ่ายค้านก็เห็นด้วย ที่สำคัญคือให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย"
พีรพันธุ์อธิบายว่า "สำหรับอุปสรรคก็ต้องมี
แต่เราตั้งใจทำงานให้ดี มีประสิทธิภาพ ประชาชนอุตส่าห์เลือกมาด้วยคะแนนขนาดนี้
มอบหน้าที่ให้เราเต็มที่ หากพวกผมทำให้เขาผิดหวัง อย่าหวังว่าจะได้กลับมาอีก
เพราะการตรวจสอบจากประชาชนถึงจริง ๆ การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนเขาคิดอะไร
ต้องการอะไร แล้วทำไมพวกผมจึงมาเป็นเสียงข้างมากได้
คิดว่าเป็นปัจจัยให้พรรคซีกรัฐบาลผนึกกำลังกันทำงานอย่างเต็มที่"
เมื่อประเด็นกฎหมาย อาจกลายเป็นความขัดแย้งในสังคม
เมื่อคัมภีร์-รัฐธรรมนูญกลายเป็นวาระเร่งด่วน
โดยเฉพาะมาตราที่ว่าด้วยการ "นิรโทษกรรมทางการเมือง" ให้บริการกับ "พ.ต.ท.ทักษิณ"
พีรพันธุ์-ไม่เชื่อว่ามาตรา 309 จะกลายเป็นข้อขัดแย้ง
แต่เป็นเพียงคืนความเป็นธรรมให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" เท่านั้น
"มันไม่มีหรอก ที่จะบอกว่าออกกฎหมายเพื่อคุณทักษิณคนเดียว
มันไม่มีหรอก ไปดูสิ กฎหมายอย่างนี้มี เหรอ ต้องดูเนื้อหาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มาตรานี้ ยังไงก็ขัดต่อหลักนิติธรรม การนิรโทษทั้งในอดีต ปัจจุบัน
และอนาคต อย่างน้อยมาตรา 309 ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ ขัดกฎหมายทั่วไปอยู่แล้ว"
"แต่จะบอกว่าแก้ไขแล้ว ทำให้สามารถล้างความผิดย้อนหลังหรือไม่ ถ้าทำได้
ก็จะทำ เพราะต้องคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
หากผลักดันเข้าสู่สภา ก็อยู่ที่เสียงของสมาชิก และแน่นอนว่าเราคุมเสียงได้"
"พีรพันธุ์" ย้ำหลักการที่เคยหาเสียงไว้ว่า
"เราต้องคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคน รวมถึงทักษิณด้วย ถ้าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม"
เมื่อปี 2550 ครั้งนั้น รัฐบาลพรรคพลังประชาชนพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จนเป็นชนวนเหตุทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ชุมนุมกดดันถึงขั้นยึดทำเนียบ ยึดสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ
มาครั้งนี้ ในสายตา "พีรพันธุ์" มองว่า อาจเกิดความคิดแยกเป็นสองฝ่ายอีกครั้ง
"แน่นอน ต้องมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
สิ่งเหล่านี้ต้องค่อย ๆ ให้ความรู้กับประชาชนไป สำคัญ คือเราต้องอิงประชาชน
ถ้าเขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องมีการแก้ไข เราก็ต้องดำเนินการ
อย่างน้อยพวกผมได้ไปหาเสียงบอกประชาชนไว้ว่า ถ้าเห็นด้วยจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เลือกพวกผม"
"คิดว่าประชาชนเลือกพวกผมด้วยเหตุนี้ เราก็ต้องดำเนินการภายในอายุของสภานี้
แม้มีบทเรียนว่า ประเด็นนี้จะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองได้ง่าย
โดยเฉพาะถ้าแก้ทันที ไม่มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มันอาจเกิดการต่อต้าน ดังนั้น
รัฐบาลจะต้องไปดูเวลา ทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วม คิดว่ากระบวนการอย่างนี้สำเร็จ"
ข้อโต้แย้งที่ว่า แม้แต่ในพรรค เพื่อไทยเอง ยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน
จนแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย "พีรพันธุ์" ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้
"ยังคิดกันอยู่ เพราะซีกหนึ่งอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าก่อน
เพื่อให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้น
จนทำให้อีกฝ่ายหนึ่งที่ค้านอย่างเดียวไม่มีเสียงสนับสนุนเพียงพอ ก็จะทำให้การบริหารราบรื่น"
"แต่อีกซีกหนึ่งเห็นว่าเอาเลย เมื่อแถลงนโยบายแล้ว ก็ต้องแก้ไข
เพราะถ้าช้า คุณอาจไม่ได้แก้นะ มันก็เป็นความเห็น แต่หลังจากนี้จะมีการกำหนดรายละเอียด"
"กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันไม่ได้เริ่มพรุ่งนี้ เช่น สัปดาห์หน้าแถลงนโยบาย
แล้ววันรุ่งขึ้นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย
มันไม่ใช่ อย่างน้อยจะต้องมีการศึกษาเบื้องต้น คุยพรรคร่วม คนข้างนอกด้วย
เพื่อกำหนดว่าเราจะมีกลไกกันอย่างไร"
ในตอนท้าย พีรพันธุ์สรุปว่า "ทุกเรื่องที่มีการเสนอในนิติบัญญัติ
รัฐบาลคุมเสียงได้อยู่แล้ว ไม่มีเสียงแตกแน่นอน"
นี่คือบทสรุปที่ "เนติบริกร" ในยุค "เพื่อไทย" พร้อมเสิร์ฟ คืนความเป็นธรรมให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ"
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1313816070&grpid=02&catid=no