ที่มา ประชาไท
ในทางการเมืองตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย นั้น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของไทยรักไทยสามารถนำแรงงานนอกระบบประกันสังคมมาเป็นฐานเสียง ที่เข้มแข็งได้ในอดีต นโยบายค่าแรง 300 บาทก็คือก้าวต่อไปในการสร้างความนิยมให้กับผู้ใช้แรงงานของพรรคเพื่อไทย แต่มันอาจจะยังต้องใช้เวลา วันนี้ลองมาประมวลมุมมองความจำเป็นของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ …
ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยค่าจ้างลูกจ้างไทยไม่พอยาไส้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลค่าจ้างเฉลี่ยของผู้มีงานทำในประเทศไทยที่มีอาชีพลูกจ้าง และพนักงาน ทั้งของรัฐบาลและเอกชนล่าสุด เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ที่มีงานทำที่เป็นลูกจ้างทั้งสิ้น 17,310,300 คน แบ่งเป็นลูกจ้างในภาครัฐบาล 3,560,000 คน และเป็นลูกจ้างในภาคเอกชน 13,750,300 คน พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างล่าสุด ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาพบว่า ลูกจ้างไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 9,775.1 บาทเท่านั้น
ทั้งนี้หากแยกเป็นผู้มีงานทำที่เป็นลูกจ้างในภาคเกษตรกรรมพบว่า มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 4,900.3 บาท ขณะที่ผู้ที่มีงานทำในภาคนอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งหมายรวมถึงภาคก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า และภาคบริการ มีรายได้เฉลี่ย 10,501.5 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกจ้างในภาคการเกษตร
อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน (พ.ศ. 2553) ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างโดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยสำหรับค่าจ้างแรงงานโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้น 5% ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของแรงงานในภาคเกษตรกรรม ปรับเพิ่มขึ้น 11% ค่าจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง การค้า และการบริการ ปรับเพิ่มขึ้น 5.6%
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในขณะนี้รายได้ของลูกจ้างยังต่ำ จึงควรจะได้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ และไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จนกระทั่งกลายเป็นการสร้างปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรจะขึ้นค่าจ้างแรงงานอย่างเดียว แต่ควรจะที่เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพในการผลิต และทักษะแรงงานที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ค่าจ้างแรงงานใหม่ เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้นด้วย
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น โดยตั้งแต่ ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน พบว่า อัตราการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหักเงินเฟ้อแล้ว ยังไม่ฟื้นตัว หรือมีระดับต่ำกว่าในช่วงปี 2540 หมาย ความว่า ผู้ใช้แรงงานยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเท่าที่มีการประเมินค่าจ้างที่ขึ้น หักเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในระยะที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานยังมีช่องว่างสามารถให้ปรับขึ้นได้ 10% แต่หากปรับขึ้นครั้งเดียว 300 บาท หรือประมาณ 40% อาจ จะส่งผลให้ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงแล้วก็ควร เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่ออนาคตประเทศควบคู่ไปด้วย
ทีดีอาร์ไอ สนองนโยบายหนุนปรับค่าแรงดันทฤษฎี 3 สูงแก้ปัญหายากจน
ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานเสวนาพิเศษ “การปรับตัวของภาคธุรกิจในยุครัฐบาลชุดใหม่” ที่ จัดโดย ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ซีพี ออลล์ ว่า ทีดีอาร์ไอเห็นด้วยกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา แรงงานไทยถูกกดค่าแรงให้ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประเทศไทย (จีดีพี) เห็นได้จาก ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้น 2.84% ต่อปี แต่ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น 3.25% ต่อ ปี แต่ทั้งนี้รัฐบาลควรจะมีวิธีการคำนวณหาค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างเหมาะสมที่สุด และต้องปรับขึ้นให้ชดเชยกับค่าแรงงานที่ถูกกดให้ต่ำมาตลอด รวมทั้งต้องมีแผนรับมือช่วยเหลือเอกชนและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ มั่นใจว่า การปรับขึ้นค่าแรง จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานให้สูงขึ้น
สำหรับแนวทางที่ต้องการเสนอให้ภาครัฐ พิจารณาคือ การใช้ทฤษฎี 3 สูง คือ ปรับเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับค่าแรงที่สูงขึ้น และปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับค่าแรง ซึ่งหากรัฐบาลใช้ทฤษฎี 3 สูง พร้อมกันแล้ว เชื่อว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างของประเทศใหม่ และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสุดของประเทศไทย ที่แรงงานของประเทศจะมีประสิทธิภาพการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น และทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศด้อยพัฒนาในที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 176.20 บาทต่อวัน หากปรับเป็นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นวันละ 123.80 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 70% โดยแรงงงานที่ได้รับผลดีจากมาตรการนี้มีจำนวน 4.281 ล้านคนทั่วประเทศ และภาคเอกชนทั่วประเทศต้องจ่ายชดเชยเพิ่มขึ้นวันละ 530 ล้านบาท หรือใช้เพิ่มขึ้นปีละ 165,360 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ภาคครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 21,981 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 4.72%
นักวิชาการแนะปรับค่าจ้าง อย่าลืมหนุนตั้งสหภาพแรงงาน
ศาสตรา ภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นโยบายด้านแรงงานที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ควรเริ่มดำเนินการทันที คือการทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้ในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ต่อวันทั่วประเทศ และการปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แรงงานทั่วประเทศต่างจับตาว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำได้หรือไม่ ซึ่งหากทำให้เป็นรูปธรรมได้ แรงงานก็จะให้การยอมรับรัฐบาลชุดนี้
ศาสตรา ภิชานแล กล่าวอีกว่าสิ่งที่อยากให้ รมว.แรงงาน ช่วยผลักดันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานมากที่สุดก็คือ การปรับค่าจ้างของแรงงานให้เหมาะสม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยไม่ต้องทำโอที และกู้เงินมาใช้จ่าย จะได้ไม่ต้องเบียดเบียนเวลาที่อยู่กับครอบครัว จนสร้างปัญหาครอบครัวแตกแยก ซึ่งปัจจุบันต้นทุนค่าจ้างอยู่ที่ร้อยละ 10 โดยสินค้าราคา 100 บาท เป็นต้นทุนค่าจ้าง 10 บาท อยากให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มเป็นร้อยละ 15-20 และแรงงานที่ทำอยู่เดิมซึ่งได้ค่าจ้างมากกว่า 300 บาท ต่อวันไปแล้วได้ขยับขึ้นค่าจ้างเป็นขั้น ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยหากจะนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยส่วนต่างต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่ม ขึ้นให้แก่นายจ้าง เพราะอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องรู้จักเฉือนเนื้อตัวเองและเสียสละรับผิดชอบต่อสังคมบ้าง
ศาสตราภิชานแล กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากเรื่องค่าจ้าง อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ให้การรับรองเรื่องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เร่ง พัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดรับการปรับขึ้นค่าจ้างและยกระดับสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ให้เป็นองค์กรอิสระ ไม่ใช่ให้ปลัดกระทรวงแรงงานหรือ รมว.แรงงาน เป็นประธานบอร์ด สปส. และสนับสนุนแรงงานนอกระบบสู่ประกันสังคม ทั้งนี้ รมว.แรงงาน แทบไม่ต้องคิดทำอะไรใหม่ เพราะมีโจทย์ที่ฝ่ายแรงงานได้ชี้เป้าเอาไว้ให้หลายปีแล้ว แค่ทำงานไปตามโจทย์เหล่านี้ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้นได้มาก
มองต่างมุม: 2 มหาอำนาจสินค้าอุปโภคบริโภค “ซีพี vs สหพัตน์”
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
|
เครือสหพัฒนพิบูล |
CP หนุนค่าแรง 300 ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ การพัฒนาภาคการเกษตร ด้านชลประทาน ลอจิสติกส์ และการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 และดึงดูดการลงทุนจากนอกกลุ่มประเทศอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทย ในฐานะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ (Regional Headquarter) พร้อมทั้งกระตุ้นภาคเอกชนเร่งการลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการผลิต โดยใช้มาตรการด้านภาษีเพื่อจูงใจ รวมทั้งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาและงานพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย ซึ่งหลังเกิดวิกฤตปี 2540 การลงทุนของไทยมีอัตราต่ำมากจากเดิม 41.8% ของจีดีพี เหลือเพียง 25.9% จีดีพี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวต่ำมากเมื่อเทียบเกาหลีใต้ ที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทยแต่ฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยจีดีพีของไทยเฉลี่ยก่อนปี 2540 อยู่ที่ 9.2% แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9% นายศุภรัตน์ กล่าวว่า รัฐควรเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการโดยสร้างตลาดในประเทศ(Domestic Demand) เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งขณะนี้ไทยมีการปรับเปลี่ยนตลาดส่งออกจากเดิมที่เน้นตลาดส่งออกในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 60% มูลค่าการส่งออกทั้งหมดลงมากึ่งหนึ่ง แล้เวหันมาเน้นในตลาดอาเซียนและจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นด้วยกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน เพื่อให้มีรายได้เหมาะสมกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540-2553 การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเพียง 1.31 เท่า น้อยกว่าดัชนีราคาสินค้าและเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นไป 1.42 เท่า และอัตราเฉลี่ยของรายได้ประชาชาติที่ปรับขึ้นไป 1.92 เท่า ทำให้แรงงานไทยเสียเปรียบมาโดยตลอด ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำนี้ยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ด้วย ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการต่างๆเข้ามาบรรเทาผลกระทบนี้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลาง และย่อม (SME) อาทิ การลดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งจัดตั้งกองทุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการSME เพื่อดูแลรายย่อยให้มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องคำนึงว่าเงินทุนต่างชาติหดหาย เราต้องกล้าเผชิญความจริง เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมีฝีมือมากกว่าแรงงานราคาถูก “ประเทศไทยมีจุดอ่อนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนลอจิสติกส์ระบบที่สูงถึง 17%จีดีพี ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่ต่ำเพียง 0.25% ของจีดีพี และภาคการเกษตรหดตัวลงในช่วง 30ปีจากเดิม 20%ของจีดีพี เหลือเพียง 8% ของจีดีพี ขณะที่ภาคการเกษตรใช้แรงงานถึง 16.95 ล้านคน หรือคิดเป็น 43% ของแรงงานทั้งหมด บ่งชี้ว่าประสิทธิภาพภาคการเกษตรต่ำ ซึ่งไม่สายเกินไปที่จะเน้นการเกษตรให้กับมาเป็นเสาหลักของประเทศอีกครั้ง”[1] |
บอสใหญ่สหพัฒน์ บอกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นไปไม่ได้ เตือนระบบจะพัง นักลงทุนหนีหาย "บุญชัย โชควัฒนา" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ แสดงทรรศนะถึงนโยบายดังกล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะไม่ให้มีการเอาเปรียบ ผู้บริโภคด้วยการค้ากำไรเกินควร แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันโครงสร้างราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยภาพรวมอยู่ใน ระดับที่ไม่ได้สูงเกินจริง ประกอบกับการแข่งขันในตลาดก็มีความรุนแรงอยู่แล้ว จึงเป็นการยากที่ผู้ประกอบการจะฉวยโอกาสการขึ้นราคา หรือเอาเปรียบผู้บริโภคได้ "คงไม่มีใครกล้าที่จะทำแบบนั้น แม้แต่ค่ายใหญ่ยูนิลีเวอร์ ยังต้องลดราคาลงมา" บิ๊กบอสสหพัฒนพิบูลย้ำว่า ไม่มีนโยบายเช่นนั้นแน่นอน ยืนยันเสมอว่าจะขึ้นราคาเป็นรายสุดท้าย "สินค้าที่รัฐบาลควรเข้าไปตรวจสอบ ควรจะเป็นสินค้าที่ผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด ที่สามารถขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงคู่แข่ง สินค้าจำเป็น ประเภทอาหารสด ยกตัวอย่างไก่ ไข่ หมู หรือปุ๋ย ฯลฯ ซึ่งธรรมชาติของสินค้าอุปโภคจะไม่เป็นอย่างนั้น" เขายังได้เสนอว่า หากจะแก้ปัญหานี้ ควรแก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้สินค้ามีราคาแพง นั่นคือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เป็นต้นทุนสำคัญของสินค้าอุปโภคบริโภค ปัญหาส่วนใหญ่มาจากการเก็งกำไรในตลาดโลก อาทิ ราคาน้ำมัน หรือกรณีของแป้งสาลีที่พุ่งขึ้นสูงมากในช่วงที่ผ่านมา โดยรัฐบาลควรเสนอตัวเป็นตัวกลางในการจัดซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ให้กับภาคเอกชน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการเก็งกำไรวัตถุดิบ ส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ประธานสหพัฒน์ว่า เป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้เลย รัฐไม่ควรดำเนินนโยบายเช่นนี้ หากทำจริง จะเป็นเรื่องที่เสียหายมาก ระบบจะพัง นักลงทุนจะหนีหายหมด เหมือนกับกรณีที่นักลงทุนจีนหนีมาลงทุนในตลาดไทย เพราะประเทศจีนมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ[2]
|
ใครรับลูก
ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่นขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน สนองนโยบายเพื่อไทย
10 ก.ค. 54 - ที่ห้องประชุมของบริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น นายประสม ประคุณสุขใจ อดีต ส.ส.ขอนแก่น 3 สมัย ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น จำกัด และบริษัทฯในเครือ แถลงข่าว ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ให้แก่พนักงานของบริษัท และบริษัทฯในเครือ 8 บริษัท โดยเป็นพนักงานในกลุ่มแม่บ้าน รปภ. และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และปรับค่าแรงให้แก่พนักงานทุกแผนก ทุกคน ขึ้นจากฐานเงินเดือนเดิม โดยเริ่มต้นปรับคนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งบริษัทฯต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 –12 ล้านบาท สนองนโยบายรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี
นายประสมกล่าวด้วยว่า โดยบริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น จำกัด และบริษัทฯในเครือ ได้เรียกประชุมกรรมการบริษัทฯเป็นการด่วนในเช้า วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติตัดสินใจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกตำแหน่งงาน ได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และปรับค่าแรงให้แก่พนักงานเก่าทุกแผนกทุกคน ขึ้นจากฐานเงินเดือนเดิม โดยเริ่มต้นปรับคนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาทขึ้นไป
“เมื่อพี่น้องประชาชนจะมีฐานะดี มีเงินจับจ่าย มีเงินเก็บ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมากในเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน และที่แน่นอนที่สุดบริษัทฯจะมียอดเพิ่มขึ้น และจะเป็นอื่นไปไม่ได้ที่ผลกระทบเหล่านั้น จะไม่ทำให้บริษัทฯมีกำไรมากขึ้นตามยอดขาย ลดภาษีเงินได้ลดเหลือเพียง 23 % ในปี 2555 และลดภาษีเงินได้ลงเหลือเพียง 20 % ในปี 2556 กำไรก็ได้เพิ่มมากขึ้น ภาษีเงินได้ก็จ่ายน้อยลง เพียงเท่านี้ก็มีความมั่นใจเสียยิ่งกว่ามั่นใจ ว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท / วัน ของพนักงานในบริษัทฯ ทางบริษัทฯต้องมีกำไรเพิ่มมากขึ้น มีเงินจ่ายเพิ่มให้พนักงานทุกคนได้มีความสุข และทำให้มีขวัญกำลังใจทำงานเพิ่มขึ้น จึงได้มีมติสนองนโยบายรัฐบาลใหม่ทันที โดยขึ้นป้ายทุกบริษัทฯ ในเครือ พร้อมกับประกาศให้ประชาชนทั่วไปให้รู้ทั่วกัน ว่า บริษัทฯในเครือของตนสนองนโยบายรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำทุกตำแหน่งงาน 300 บาท / วัน และมีผลทันทีในวันที่ 4 ก.ค. 25554 เป็นต้นไป” นายประสมกล่าว
7-11 หนุนนโยบายรัฐปรับค่าแรง 300
4 ส.ค. 54 - นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนาพิเศษ การปรับตัวของภาคธุรกิจในยุครัฐบาลใหม่ว่า ซีพีออลล์พร้อมปฏิบัติตามนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน ของรัฐบาลถึงแม้ว่านโยบายดังกล่าว จะกระทบต่อต้นทุนการผลิต แต่ก็พร้อมปรับตัวด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพราะการปรับขึ้นค่าแรง ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับลูกจ้าง ขณะเดียวกัน ซีพีออลล์ มีความพร้อมที่จะรับแรงงานปริญญาตรีจบใหม่ 10,000 อัตรา เข้าทำงานในทันที นอกจากนี้ ยังฝากให้รัฐบาลชุดใหม่ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคบริการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การออกกฎหมายควบคุมธุรกิจค้าปลีก ขณะเดียวกัน ต้องลดแรงงานภาคเกษตรลง
เด็กปั๊มบางจากเฮ! ขึ้นค่าแรงเด็กปั๊มเป็น 300 บ. ต้นปี 2555
25 ส.ค. 54 - นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) กล่าวว่า ในปี 55 บริษัทเตรียมปรับเพิ่มค่าแรวขั้นต่ำให้กับเด็กปั๊มเป็น 300 บาท/วัน จากขณะนี้อยู่ที่ 250 บาท/วัน มองทิศทางธุรกิจจำหน่ายน้ำมันค่าแรงงานถือว่ามีความสำคัญ และพร้อมตอบสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งการปรับค่าแรงจะดำเนินการควบคู่ไปกับประสิทธิภาพการทำงาน เพราะจะทำให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มขึ้น 0.07 บาท/ลิตร ส่วนหนึ่งบริษัทอาจแบกรับต้นทุนเองและอีกส่วนหนึ่งผลักเข้าไปที่ราคา น้ำมัน นอกจากนี้บริษัท ยังพร้อมให้ความร่วมมือโครง การบัตรเครดิตพลังงานและบัตรเครดิตชาวนา ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสถานีบริการน้ำมันที่ร่วมมือกับสหกรณ์ของเกษตรกร หลายแห่งอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเติมน้ำมันของเกษตรกร และสถานีบริการน้ำมันทั่วไปของบางจากก็รับบัตรเครดิตต่าง ๆ อยู่แล้ว
ปตท.ปรับค่าแรง 300 บาทเริ่มต้นปี 55 รายจ่ายเพิ่ม 500 ล้าน
1 ก.ย. 54 - นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. มีนโยบายที่จะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจำนวนวันละ 300 บาทในกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน (Contract Out) ที่มีสัญญาจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยตรง ตามนโยบายของรัฐบาล ในส่วนของภาระต้นทุนที่สูงขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีนั้น ปตท. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้เอง ทั้งนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 โดยจะดำเนินการในเมืองหลักก่อน เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และภูเก็ต และจะทยอยดำเนินการในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
ส่วนกรณีลูกจ้าง ที่ปฏิบัติงานในสถานีบริการน้ำมัน ของ ปตท. ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ ปตท. ก็มีนโยบายที่จะสนับสนุนให้เจ้าของกิจการ ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวในต้นปี 2555 เช่นกัน ทั้งนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการเป็นไปตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้ต่อไป โดยปตท.หวังว่านโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นนอกจากจะช่วยให้ ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานอันนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการทำ งานที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
เผย พนง.ขสมก.ได้ปรับขึ้นค่าแรง 300 บ.
8 ก.ย. 54 - พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลัง การประชุมมอบหมายงานกับทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. โดยเน้นย้ำในส่วนของนโยบายค่าแรง 300 บาท ว่า พนักงานของ ขสมก.ได้ปรับตามมาตรการดังกล่าวเหลือเพียง 2 ราย ที่จะมีการปรับให้ต่อไป และสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาทนั้น พนักงานของ ขสมก. ได้ในอัตราที่สูงกว่าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรถยนต์โดยสารประจำทางนั้น ขณะนี้ทาง ขสมก. มีรถให้บริการ 3,500 คัน เป็นรถที่หมดอายุการใช้งาน 2,800 คัน และรถเสีย 700 คัน ซึ่งจะหามาตรการในการแก้ไขต่อไป
……………………
เรียบเรียงจาก: สำนัก ข่าวไอเอ็นเอ็น, กรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวอินโฟเควสท์, แนวหน้า, ข่าวสด, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์, ไทยรัฐ, สำนักข่าวไทย, เดลินิวส์