ที่มา Thai E-News
ช่วงนี้ไทยอีนิวส์ ขอติดตามข่าวกิจกรรมครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทราบว่าในวันที่ 19 กันยายน 2554 จะมีกิจกรรมย้ำเตือนสังคมไทยและสังคมโลกมากมายทั้งในประเทศไทยและในประเทศ ที่มีคนไทยอยู่หลายประเทศ เพื่อจะบอกว่า "แนวรบด้านตะวันตก สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงแล้ว"18 กันยายน 2554
ขอบคุณมติชนสำหรับภาพและเนื้อหาข่าว "5 ปี รัฐประหาร เผด็จการ...โปรดฟังอีกครั้ง" เมื่อการยึดอำนาจอย่างเปิดเผยเป็นความเสี่ยงของ "เผด็จการ"
ที่มา มติชน
เมื่อ เวลา 13.00 น. วันนี้ (17 ก.ย.) ได้มีการจัดเสวนา "5 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ′เผด็จการ...โปรดฟังอีกครั้ง′" ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา อาทิ พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนายจอม เพชรประดับ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
5 ปีรัฐประหารที่ผ่านมา ประเทศไทยได้อะไร เสียอะไร?
นาย จอม เพชรประดับ พิธีกรเกริ่นนำว่า ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมานั้น ถ้าไม่นับความสูญเสียชีวิตของกลุ่มคนเสื้อแดงแล้ว การรัฐประหารดังกล่าวก็ยังมีข้อดีที่ว่า ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และทำให้ประชาชนเกิดอาการ "ตาสว่าง"
ต่อมา รศ.ดร.พิชิต วิทยากรคนแรกได้กล่าวว่า ในการต่อสู้ของขบวนการคนเสื้อแดงที่ผ่านมานั้น ตนมีคำถามมาตลอดว่า "นักวิชาการไปอยู่ที่ไหน"
"แต่ ผ่านมาครบ 5 ปีแล้วก็ยังคงไม่มีคำตอบอยู่ดี หลังการเข่นฆ่าประชาชนในปีที่ผ่านมา (เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53) คนเสื้อแดงเลิกถามไปแล้วว่านักวิชาการอยู่ที่ไหน ในสองสามปีนี้ ประชาธิปไตยจะไม่ได้ได้มาด้วยนักศึกษาหรือนักวิชาการ แต่จะได้มาด้วยประชาชน" อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว
รศ.ดร.พิชิต กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นแค่ไม่กี่ปีมานี้ แต่การต่อสู้ดังกล่าวมีมาตั้งแต่ครั้งปฏิวัติ พ.ศ. 2475 แล้ว นอกจากนี้ ขบวนการเสื้อแดงยังเป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประชาคมโลกให้การ ยอมรับ
"ก่อนช่วงเมษา-พฤษภา 2553 สื่อต่างชาติยังไม่ค่อยเข้าใจกลุ่มคนเสื้อแดง เวลาที่สื่อเหล่านี้เรียกคนเสื้อแดงก็จะมีคำต่อท้ายมาด้วยว่า ′พวกทักษิณ′ หรือ ′Thaksin′s supporters′ แต่ตั้งแต่เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 เป็นต้นมา เวลาที่สื่อต่างชาติเรียกขบวนการเสื้อแดง ไม่มีคำว่า ′Thaksin′s supporters′ อีกแล้ว มีแต่คำว่า ′ขบวนการเสื้อแดงประชาธิปไตย′"
"ทุกวันนี้นักข่าวต่างชาติมองว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงคือขบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่เครื่องมือของนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง"
รศ.ดร.พิชิต กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มระบบเผด็จการซึ่งเกิดขึ้นใน ตะวันออกกลาง ตูนิเซีย อียิปต์ ซีเรีย ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงนั้นไม่มีใครเป็นแกนนำ แต่เป็นการเคลื่อนไหวโดยอาศัยสื่อออนไลน์อย่างอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก สื่อต่างชาติมองเหตุการณ์ในตะวันออกกลางว่ามีลักษณะการเคลื่อนไหวแบบเดียว กับของกลุ่มคนเสื้อแดงในประเทศไทย
"ตอนนี้ ขบวนการของคนเสื้อแดงกลายมาเป็นหัวข้อถกเถียงกันในวงวิชาการทั้งไทยและต่าง ประเทศ จากงานวิจัยของอาจารย์ท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่า คนเสื้อแดงนั้นมีทุกลำดับชั้น ตั้งแต่ชนชั้นสูงจนถึงคนรากหญ้า คนเสื้อแดงมีในทุกอาชีพ ทุกระดับการศึกษา ซึ่ง ลักษณะ ที่หลากหลายของคนเสื้อแดงนั้นมีจุดร่วมอยู่อย่างหนึ่งคือ ความไม่พอใจกับความอยุติธรรม ที่ในช่วงเวลา 4-5 ปีมานี้ มีการใช้อำนาจทั้งในและนอกกฏหมายมากระทำอยู่ฝ่ายเดียว มีการผูกขาดอำนาจและความร่ำรวยของคนกลุ่มหนึ่งที่เอาอำนาจการปกครองมาอยู่ใน มือตัวเอง นี่คือแรงขับดันที่สำคัญที่สุดของคนเสื้อแดง"
นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุด้วยว่า คน เสื้อแดงนั้นถูก "รุม" จากทุกสถาบัน ทั้งทหาร องค์กรยุติธรรม นักวิชาการ และที่สำคัญคือสื่อกระแสหลัก โดยปัจจัยสำคัญของฝ่ายเผด็จการคือการกุมสื่อไว้ในมือ ในขณะที่คนเสื้อแดงไม่มีสื่อกระแสหลักอยู่ในมือ
"ปัจจัย สำคัญที่ทำให้รัฐประหารครั้ง นี้ไม่สำเร็จในระยะยาวก็เพราะว่า คนเสื้อแดงมีสื่อชนิดหนึ่งที่ควบคุมไม่ได้ สื่อชนิดนี้คือสื่อออนไลน์ ′สื่ออินเตอร์เน็ตคือกระดูกสันหลังของการสื่อสารของคนเสื้อแดง′ เมื่อปิดทีวี ปิดวิทยุแล้ว คนเสื้อแดงก็ยังสื่อสารกันได้" รศ.ดร.พิชิตกล่าว
อาจารย์ ธรรมศาสตร์กล่าวในช่วงท้ายว่า เราจะสามารถเข้าใจเหตุการณ์ทางการเมืองทุกวันนี้ได้ไม่ยาก หากเรามองย้อนไปในเหตุการณ์เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายเผด็จการยังคงมีกลไกอำนาจอันเดิมอยู่
"การยึดอำนาจอย่างเปิดเผยเป็นความเสี่ยงของฝ่ายเผด็จการ เพราะว่าตอนนี้ นานาชาติเขาก็ไม่เอาด้วยแล้ว" รศ.ดร.พิชิต สรุป
ส่วน พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการรัฐประหารมากครั้งที่สุด "เรามีการยึดอำนาจรัฐทั้งหมด 24 ครั้ง เป็นการปฏิวัติเสีย 2 ครั้งซึ่งได้แก่การปฏิวัติในปี พ.ศ.2475 และการปฏิวัติตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจร นอกจากนั้นแล้ว ที่เหลือคือการรัฐประหารทั้งสิ้น"
ส.ส.ระบบ บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การรัฐประหารของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลินได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งการรัฐประหารดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างชัดเจน มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ทั้งนี้ การรัฐประหารดังกล่าวก็มีข้อดีคือ "ทำให้เรารู้ว่า บ้านเมืองของเราแบ่งเป็นฝ่ายเผด็จการ กับฝ่ายประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย"
"การ รัฐประหารในปี 2549 ก่อให้เกิดพัฒนาการของมวลชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเห็นได้จากประชาชนจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร บ้านเมืองได้มาถึงจุดนี้แล้ว แต่ถ้าถามว่าบ้านเมืองได้พัฒนามาจนถึงจุดที่เป็นประชาธิปไตยหรือยัง ก็ต้องตอบว่ายัง" อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าว