ที่มา ประชาไท
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ
http://www.facebook.com/verapat.pariyawong
วันนี้มีประชาชนคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เดือดเนื้อร้อนใจเกี่ยวกับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในขณะเดียวกัน ก็มีประชาชนอีกไม่น้อยเช่นกัน ที่เดือดเนื้อร้อนใจกับผู้ที่พยายามจะแก้ไขยกเลิกกฎหมายดังกล่าว
เมื่อประชาชนหลายฝ่ายต่างเดือดเนื้อร้อนใจกับประเด็น มาตรา 112 ประชาชนจะหวังพึ่งใครได้ ?
ปรากฏชัดว่า กลุ่มประชาชนที่นำโดย คณะนิติราษฎร์ และ ครก. 112 ได้หันไปพึ่ง “ฝ่ายนิติบัญญัติ” โดยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา เพื่อแก้ไปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป
หากมองมาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในฐานะ “ฝ่ายบริหาร” รองนายกรัฐมนตรี คุณเฉลิม อยู่บำรุง ก็กล่าวชัดเจนจะไม่เข้าไปแตะต้องมาตรา 112
ล่าสุด “ฝ่ายองค์กรอิสระ” อย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็แถลงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112
จึงน่าคิดว่า “ฝ่ายตุลาการ” หรือ “ศาล” ที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ศาลจะเป็นที่พึ่งของสังคมเมื่อมีปัญหา มาตรา 112 ได้หรือไม่ อย่างไร ?
แน่นอนว่า “แนวคำพิพากษาฎีกา” ตลอดหลายทศวรรตที่ผ่านมา ได้ตีความ มาตรา 112 ไปในทางที่อาจเข้าใจได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ นั้น “ไม่อาจแตะต้องได้”
ศาลฎีกาเคยบังคับใช้ มาตรา 112 โดยนำหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักจารีตประเพณีมาประกอบการตีความไว้อย่างกว้าง เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 2354/2531 (คดีนายวีระ มุสิกพงศ์) ตอนหนึ่ง ศาลฎีกาอธิบายว่า:
“… ศาลฎีกาเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย…บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข …องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิ ได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ … บุคคลใดจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญมิได้ … บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ และ … รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต…”
“…นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญายัง มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป รวมทั้งบัญญัติความผิดฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามมาตรา 112 ด้วย…”
“…ตามบทบัญญัติรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวมา ย่อมเห็นได้โดยแจ้งชัดว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ใน ฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิและเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิ ได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ ดำรงคงอยู่คู่ประเทศตลอดไป ไม่เพียงแต่กฎหมาย แม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้า ฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล การที่จะกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบเปรียบเปรย หรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้นหามีบุคคลใดกล้า บังอาจไม่ …”
(เน้นคำและวรรคตอนโดยผู้เขียน ฉบับย่อยาวอ่านได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/112)
คำถามที่น่าคิด คือ หากวันนี้มีคดีเกี่ยวกับ มาตรา 112 ไปถึง “ศาลฎีกา” อีกครั้ง “ศาลฎีกา” จะตีความกฎหมายอย่างไร ?
หาก “ศาลฎีกา” ตีความกฎหมายดังเดิมทุกประการ ย่อมมีประชาชนเดือดเนื้อร้อนใจไม่น้อยไปกว่าเดิม กล่าวคือ ประชาชนฝ่ายหนึ่งย่อมยังคงเดือดเนื้อร้อนใจและต่อสู้เพื่อยกเลิกแก้ไข มาตรา 112 ในขณะที่อีกฝ่ายก็ต้องเดือดเนื้อร้อนใจและดำเนินการต่อต้านอีกฝ่ายพยายาม แก้ไขกฎหมาย
ในขณะเดียวกัน หากจะให้ “ศาลฎีกา” ทำตัวเป็นรัฐสภา เพื่อตีความให้ มาตรา 112 แปรผันให้สอดรับกับข้อเสนอนิติราษฎร์ ก็ย่อมเป็นการลุแก่อำนาจตุลาการและละเมิดกระบวนการทางประชาธิปไตย ศาลย่อมทำไม่ได้เช่นกัน
คำถามสำคัญ คือ “ศาลฎีกา” จะสามารถตีความ มาตรา 112 “ดังที่เป็นอยู่” ให้ “หลักแหลม ลึกซึ้ง และแยบยล” เพื่อหาทางออกที่ยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย และนำความสงบสุขกลับมาสู่สังคมไทย ได้หรือไม่ ?
หากผู้ใดจะลอง “คิดให้สมศาลฎีกา” (แทนที่จะ “คิดเพื่อตามศาลฎีกา” แบบที่เนติบัณฑิตไทยถูกปลูกฝังทุกวันนี้) ผู้นั้นก็อาจจะร่างคำพิพากษาฎีกา ดังนี้
**************
…ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่ถูกบัญญัติไว้ในลักษณะ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราช อาณาจักร” ดังนั้น การตีความบังคับใช้ มาตรา 112 ย่อมต้องเป็นไปให้สมกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองรักษาไว้ซึ่ง ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งย่อมแตกต่างไปจากลักษณะความผิดอื่น เช่น ลักษณะ “ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง” ที่มุ่งหมายจะคุ้มครองเกียรติยศของบุคคลเป็นการส่วนตัว
ดังนั้น ผู้ที่จะกระทำผิดและต้องโทษตาม มาตรา 112 ได้นั้น ไม่เพียงแต่จะต้อง หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายแบบธรรมดาทั่วไปเท่านั้น แต่ผู้นั้นจะต้องกระทำในลักษณะหรือด้วยเจตนาที่รุนแรงถึงขั้นกระทบถึง “ความ มั่นคงแห่งราชอาณาจักร” อีกด้วย กล่าวคือ มาตรา 112 ตลอดจนบทบัญญัติมาตราอื่นที่อยู่ในลักษณะความผิดเดียวกัน เป็นบทบัญญัติต้องตีความตัวบทให้สอดคล้องกับตามเจตนารมณ์ของลักษณะความผิด เป็นรายกรณี มิใช่เหมารวมว่าการกระทำทุกกรณีที่ต้องตามตัวบทจะต้องสอดคล้องกับตาม เจตนารมณ์ของลักษณะความผิดเสมอไป
กล่าวให้ชัดเจนก็คือ การที่ศาลล่างในคดีนี้ ตลอดจนศาลฎีกาในอดีต ตีความประหนึ่งว่า การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ตามมาตรา 112 ไม่ว่าจะมีลักษณะเช่นใด ย่อมต้องถือเป็น “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” เสมอไปนั้น ถือเป็นการตีความกฎหมายที่กลับหัวกลับหาง คือ แทนที่จะตีความบทบัญญัติให้เข้ากับเจตนารมณ์ของลักษณะหมวดหมู่ กลับไปตีความหัวข้อหมวดหมู่ได้กลายมาเป็นเนื้อหาของบทบัญญัติมาตรา 112 เสียเอง
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การตีความในลักษณะกลับหัวกลับหางดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการประกันไว้ตามรัฐธรรมนูญเกินไปกว่าเท่าที่จำ เป็น เห็นได้ชัดจากการตีความบทบัญญัติมาตราอื่นซึ่งถูกบรรจุเป็นความผิดลักษณะ เดียวกับ มาตรา 112 ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างที่ 1
“มาตรา 115 ผู้ใดยุยงทหารหรือตำรวจให้หนีราชการ ให้ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ หรือให้ก่อการกำเริบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี”
สมมติว่า “พลทหาร ก” ยุยงให้เพื่อนทหารในกองร้อยทิ้งอาวุธหนีกลับบ้านในยามที่ต้องสู้กับผู้ก่อ การร้าย “พลทหาร ก” ย่อมทำ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”
แต่หากเป็นอีกกรณี คือ “พลทหาร ก” ยุยงให้ “พลทหาร ข” ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ล้างห้องน้ำตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการ กรณีนี้ ศาลย่อมไม่อาจตีความว่า “พลทหาร ก” ได้ทำ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” จนถูกจำคุกได้ทันที แต่ศาลต้องพิจาณาเจตนารมณ์ของบทบัญญัติให้ได้สัดส่วนและสมเหตุสมผลว่า การไม่ทำหน้าที่ล้างห้องน้ำตามคำสั่งดังกล่าว กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือไม่? และสุดท้าย แม้หากการกระทำดังกล่าวจะไม่ถือเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ผู้บังคับบัญชาก็ย่อมมีอำนาจตามกฎหมายที่จะลงโทษทางวินับตามความเหมาะสมต่อ ไป
ตัวอย่างที่ 2
“มาตรา 118 ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
สมมติว่า “นาง ก” เผาธงชาติที่สนามหลวง พร้อมปราศัยให้ล้มล้างประเทศไทย ย่อมชัดเจนว่าเป็นความผิด
แต่หากเป็นอีกกรณี คือ “นาง ก” นั่งชมกีฬาอยู่ภายในบ้านกับ “นาง ข” จากนั้น “นาง ก” นำธงชาติไทยมาขยำและพูดจาเหยียดหยามความสามารถของชาติไทยในการแข่งกีฬาให้ “นาง ข” ฟัง หากกรณีนี้ “นาง ข” จะนำคดีไปฟ้อง “นาง ก” ว่ากระทำต่อธงชาติเพื่อเหยีดหยามประเทศชาติ จึงเป็น “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” จนถูกจำคุกได้เสมอไป ก็ย่อมไม่เป็นธรรมและไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน
ตัวอย่างที่ 3
“มาตรา 120 ผู้ใดคบคิดกับบุคคลซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐต่างประเทศ ด้วยความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการดำเนินการรบต่อรัฐ หรือในทางอื่นที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี”
สมมติว่า “นาย ก” ขายความลับทางทหารของประเทศไทยให้กับเจ้าหน้าที่กองทัพของต่างชาติที่มีแผน การรุกรานประเทศไทย “นาย ก” ย่อมมีความผิดตามมาตรานี้
แต่หากเป็นอีกกรณี คือ “นาย ก” ได้รับการว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาทางการค้าของบริษัทที่ถือหุ้นโดยรัฐบาล ต่างประเทศ โดย “นาย ก” ได้นำความรู้อันเป็นสากลในด้านการค้าของ “นาย ก” ไปช่วยให้รัฐบาลต่างประเทศค้าขายได้เปรียบประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง หากจะตีความว่า “นาย ก” คบคิดกับบุคคลอื่นซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐต่างประเทศ ในทางอื่นที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ และถูกจำคุกนั้น ย่อมเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์เช่นกัน
ฉันใดก็ฉันนั้น การตีความบังคับใช้ มาตรา 112 ย่อมต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยพิจารณาว่า การที่จำเลยได้กระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 นั้น มีลักษณะที่รุนแรงหรือเจตนาที่มุ่งให้กระทบต่อ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” หรือไม่ หากศาลพิจารณาข้อเท็จจริงเฉพาะกรณีและพบว่าความผิดมีความรุนแรงหรือเจตนาที่ กระทำเพื่อให้กระทบต่อ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ศาลย่อมต้องพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษให้เข็ดหลาบและสาสม
ในทางตรงกันข้าม หากการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการกระทำโดยความไร้เดียงสา หรือโดยไม่ทันระวังยั้งคิด หรือเป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริต โดยปราศจากเจตนาที่จะกระทำเพื่อให้กระทบต่อ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” แล้วไซร้ ศาลย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ใดจะไม่ได้กระทำผิดตามมาตรา 112 แต่กฎหมายก็ย่อมเปิดช่องให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำการดังกล่าวหากการ กระทำนั้นเป็นความผิดตามบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๗ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดในที่สาธารณ สถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ...กระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หรือ มาตรา ๓๗๒ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใด...กระทำโดยประการอื่นใดให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณหรือ สาธารณสถาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท” เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่โจทก์อ้างถึงรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 8 ซึ่งบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ นั้น เห็นว่า เป็นบทบัญญัติที่ต้องตีความประกอบกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 ซึ่งการจะลงโทษจำคุกผู้ใดนั้น ศาลย่อมต้องอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเป็นการเฉพาะ ดังนั้น เมื่อได้วินิจฉัยไปแล้วว่า มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับในกรณี “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” เท่านั้น อีกทั้งยังมีบทบัญญัติอื่นที่นำมาบังคับใช้ลงโทษได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม เฉพาะกรณี ข้ออ้างของโจทก์ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง นอกจากเหตุผลทางกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ยังพึงระลึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวฯ ซึ่งได้ทรงพระราชทานต่อคณะผู้เข้าเฝ้าถวายพระพร รวมถึงบรรดาผู้พิพากษาตุลาการ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ซึ่งพระราชดำรัสดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การตีความบังคับใช้มาตรา 112 โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์นั้น นอกจากจะเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนำมาซึ่งความแตกแยกภายในสังคมดังที่ปรากฏในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นการใช้อำนาจตุลาการที่สร้างความเดือดร้อนลำบากต่อเบื้องพระยุคลบาท อันเป็นการมิบังควรยิ่งอีกด้วย
ดังนั้น จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ จึงวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายกรณีมาตรา 112 โดยไม่ได้พิจารณาถึงลักษณะการกระทำและเจตนาของจำเลยว่าเป็น “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” หรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยความผิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง…
**************
ผู้เขียนเชื่อว่า หาก “ศาลฎีกา” ตีความมาตรา 112 ดังที่กล่าวมานี้ ผู้ที่ต้องการแก้ไขยกเลิก มาตรา 112 ไม่จำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขยกเลิกต่อไป และฝ่ายที่ต่อต้านการแก้ไข ก็สบายใจได้เช่นกัน สังคมอาจแก้ปัญหา มาตรา 112 โดยไม่ต้องมีการยกเลิกแก้ไขตัวบทกฎหมายเลย ก็เป็นได้
ผู้เขียนย้ำว่า “ศาล” ไม่ได้เป็นร้านขายคำพิพากษา แต่เป็นศูนย์กลางของสังคมที่คอยเชื่อมโยงความสูงส่งแห่งหลักการให้สอดรับกับ มโนธรรมสำนึกของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ศาลคือผู้ที่ต้องแสวงหาความจริงแห่งยุคสมัยและอธิบายความถูกต้องให้แก่สังคม ในยามที่มืดมนและสับสน
ดังนั้น ในยามที่ขาดแสงเช่นนี้ จึงขอฝากให้พวกเราประชาชน โดยเฉพาะบรรดานักนิติศาสตร์และครูบาอาจารย์กฎหมายทั้งหลาย โปรดร่วมส่งแรงจรรโลงความหวังทางสติปัญญาไปยังตุลาการผู้มีใจอันเป็นธรรม ให้สามารถเป็นตุลาการที่หลักแหลม ลึกซึ้ง และแยบยล และเป็นตุลาการในพระปรมาภิไธยเพื่อปวงชนได้อย่างสง่างามและแท้จริง.