ที่มา ประชาไท
สืบพยานโจทก์คดีกล่าวหา “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” ผิด ม.112 ที่ “นครสวรรค์” หลังเดินทางสืบพยานที่สระแก้ว-เพชรบูรณ์ นัดหน้าสืบพยานที่สงขลา ด้านทนายเล็งค้านเหตุพยานโจทก์แม้จะมีภูมิลำเนาสงขลา แต่อาศัยอยู่ กทม.
ผู้สนับสนุนนายสมยศ พฤกษาเกษมสุขหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ 16 ม.ค. 55
นายจอห์น เมย์นาร์ด เพื่อนเก่าแก่ของนายสมยศ เข้าเยี่ยมให้กำลังใจขณะการพิจารณาคดี (ภาพจาก “กลุ่มเพื่อนสมยศ”)
บทกวีที่นายสมยศ แต่งให้กำลังใจสมาชิกกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
16 ม.ค. 55 ที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์ มีการสืบพยานในคดีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin, เรด พาวเวอร์ และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
โดยในวันนี้มีทั้งนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.พรรคเพื่อไทย กลุ่มนักกิจกรรมจากกรุงเทพฯ และกลุ่มคนเสื้อแดงจากนครสวรรค์เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ที่ศาล รวมทั้งมีแกนนำสหภาพแรงงานจากนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าแก่ของนายสมยศเดินทางมาให้กำลังนายสมยศด้วยเช่นกัน
ในเวลา 9.00 น. ก่อนเริ่มการสืบพยาน กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และ Thailand Mirror ซึ่งจัดกิจกรรมแรลลี่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ราว 40 คน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมหน้าศาล โดยการชูรูปนายสมยศ และชูป้ายที่มีข้อความเช่น “ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับสิทธิประกันตัว” “คุกตารางฤๅจะหยุดยั้งความตั้งใจ “ปล่อยตัวนักโทษการเมือง” พร้อมทั้งตะโกนข้อความ “Free Somyot” หลายครั้งร่วมกัน เป็นที่สนใจแก่ผู้ที่ผ่านไปมา รวมทั้งร่วมกันร้องเพลง “เก็บตะวัน” ในตอนท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโดยก่อนหน้านี้มีการสืบพยานโจทก์ปากแรกเรือนจำ จังหวัดสระแก้ว ต่อมาเป็นการสืบพยานที่ จ.เพชรบูรณ์ และวันนี้เป็นการสืบพยานที่ จ.นครสวรรค์ และเตรียมไปสืบพยานที่สงขลา สำหรับพยานปากที่สามที่จังหวัดนครสวรรค์ คือนางปนิดดา หอมหวาน อดีตเสมียนสำนักงานสุนัยทนายความ และเป็นพี่สาวของพยานโจทก์ปากที่สอง คือนางสาวเบญจา หอมหวาน อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการของนิตยสาร Voice of Taksin
การสืบพยานใช้เวลาราว 20 นาที โดยพยานโจทก์เบิกความว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิตยสารฉบับนี้ และน้องสาวก็ไม่เคยเล่าถึงเรื่องงาน มีแต่เคยบ่นว่าเหนื่อยจากงาน แต่ก็ไม่ทราบรายละเอียดใดๆ และตนเคยได้อ่านบทความสองชิ้นในนิตยสารที่เขียนโดยนายจิตร พลจันทร์ ในตอนที่ไปให้การกับดีเอสไอ แต่ตนก็ไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจความหมายของบทความดังกล่าว อีกทั้งไม่มีเนื้อหาตอนใดของบทความที่เอ่ยถึงพระมหากษัตริย์
เมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยาน ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาล ขอให้ส่งตัวจำเลยกลับไปที่เรือนจำกรุงเทพฯ ก่อน และคัดค้านการสืบพยานปากต่อไปที่จังหวัดสงขลา ด้วยเหตุทั้งเรื่องความปลอดภัยของจำเลย และสภาพเรือนจำที่แออัด อีกทั้งทางทนายจำเลยยินดีที่จะออกค่าใช้จ่ายให้กับ พยานปากต่อไป ให้สามารถเดินทางมาเบิกความที่ศาลในกรุงเทพฯ ได้โดยจำเลยเดินทางไปสงขลา แต่ศาลเห็นว่าศาลจังหวัดไม่มีอำนาจหน้าที่ใน เรื่องนี้ การส่งผู้ต้องขังไปพักไว้ที่ไหน ขึ้นอยู่กับอำนาจของราชทัณฑ์ ไม่อยู่ในอำนาจศาล และศาลต้องทำตามสำนวนและรายงานที่ศาลอาญากรุงเทพฯส่งเรื่องมา จึงแนะนำทนายจำเลยให้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเองโดยตรง จากนั้นนายสมยศได้แถลงต่อศาลเพิ่มเติมว่า ทางราชทัณฑ์เองก็บอกตนว่าไม่เคยเกิดคำสั่งศาลลักษณะนี้ที่ไม่ระบุวันเวลาส่ง ตัวจำเลย อีกทั้งยังให้ตระเวนไปมาในจังหวัดต่างๆ กว่าสามเดือนแล้วที่ตนไม่ได้กลับไปกรุงเทพฯ เท่ากับจะทรมานจำเลยในการพิจารณาคดี แต่ศาลก็ยังยืนยันให้ทนายจำเลยไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโดยตรง
นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยกล่าวว่าศาลอ้างว่าไม่มีบันทึกเรื่องคำร้องขอให้ส่งตัวจำเลยกลับ กรุงเทพฯ และคัดค้านการไปสอบพยานที่สงขลา ทั้งที่ทนายก็ได้ยื่นขอศาลแต่ละจังหวัดทุกครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกของการนัดพร้อมที่ศาลอาญากรุงเทพฯ แล้ว แต่ศาลกลับไม่มีการบันทึกคำร้องไว้ นอกจากนั้นการลงไปสืบพยานที่สงขลาเหมือนเป็นการกลั่นแกล้ง เพราะพยานความเห็นที่ทางดีเอสไอเรียกไปสอบสวน ในฐานะผู้ที่ให้ความเห็นและบอกความรู้สึกจากการอ่านบทความ ซึ่งมีจำนวน 10 คน โดย 9 ใน 10 คนล้วนมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ แต่อัยการที่กรุงเทพฯกลับเลือกพยานที่มีภูมิลำเนาอยู่สงขลามาเป็นพยานโจทก์ อีกทั้งในความเป็นจริงพยานคนนี้ก็อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯด้วย ถ้าไม่เรียกว่ากลั่นแกล้งก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร
ส่วนกรณีถ้าต้องลงไปสืบพยานโจทก์ปากต่อไปที่สงขลา ซึ่งตามกำหนดนัดจะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.พ. นายสุวิทย์เห็นว่าอาจจะขอกำลังคุ้มครองจำเลยไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย และตนเตรียมจะกลับไปยื่นคำร้องให้ส่งตัวจำเลยกลับกรุงเทพฯ และคัดค้านการไปสอบพยานที่สงขลาต่อศาลอาญาอีกครั้งในวันที่ 17 ม.ค.นี้
ด้านสมาชิกกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ซึ่งมีโอกาสเยี่ยมนายสมยศให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ถึงปัญหาเรื่องระเบียบในเรือนจำ ซึ่งได้สร้างปัญหาให้กับตัวผู้ต้องขัง ได้แก่ โซ่ตรวนของเรือนจำนครสวรรค์ที่หนักกว่าที่อื่น การไม่มีเชือกสำหรับดึงตรวนขึ้นมาเพื่อใช้ผ่อนน้ำหนักเวลาผู้ต้องขังเดิน ทำให้เกิดเสียงโซ่กระทบกับพื้นดังอยู่ตลอดเวลา หรือเรื่องที่ไม่สามารถส่งหนังสือต่างๆ เข้าไปให้ผู้ต้องขังอ่านได้ รวมทั้งการเปลี่ยนเรือนจำไปมายังทำให้นายสมยศมีอาการป่วยทุกครั้งหลังจาก ย้ายพื้นที่ และสภาพเรือนจำเกือบทุกที่ที่มีความแออัด นักโทษล้น
นายจอห์น เมย์นาร์ด ประธานสหภาพแรงงานไปรษณีย์แห่ง Aotearoa (PWUA) จากประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวว่าเขาเป็นเพื่อนกับสมยศมาตั้งแต่ 30 ปีก่อน สมยศเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่ง โดยเรียกได้ว่าสมยศเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ตนได้รู้จัก เป็นผู้ช่วยแนะนำตนให้รู้จักเพื่อนหลายคน พาไปรู้จักคนงานไทย และช่วยให้รู้จักสังคมไทย การเดินทางมาครั้งนี้ต้องการมาให้กำลังใจสมยศ เพราะไม่ได้เจอกันมานาน และต้องการสนับสนุนเพื่อน ตนดีใจที่สมยศยังได้รับการดูแลจากทั้งครอบครัวและนักกิจกรรมที่เดินทางมาให้ กำลังใจหลายคน และ สำหรับข้อกล่าวหาที่สมยศโดน ตนเห็นว่าในประเทศนิวซีแลนด์ หรือออสเตรเลีย ซึ่งก็มีพระราชินีแห่งอังกฤษเป็นกษัตริย์ ก็ยังไม่มีข้อหาแบบมาตรา 112 ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเปิดเผย