WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, January 20, 2012

คำตัดสินที่ต้องยอมรับ แต่ขอไม่จำนนต่อความอยุติธรรมที่เราไม่ได้เป็นคนก่อ

ที่มา ประชาไท

ไพจิต ศิลารักษ์

บทความของคนกำลังจะติดคุก "ไพจิต ศิลารักษ์" เขียนบทความนี้ขึ้น ในช่วงเวลาของการนับถอยหลังสำหรับการที่จะมีอิสรภาพต่อไปหรือจะต้องสูญเสีย อิสรภาพ ผมอาจจะติดคุกด้วยความผิดจากความเสียหายมูลค่า 800 บาท

ผมเขียนบทความนี้ขึ้น ในช่วงเวลาของการนับถอยหลังสำหรับการที่จะมีอิสรภาพต่อไปหรือจะต้องสูญเสีย อิสรภาพ ผมอาจจะติดคุกด้วยความผิดจากความเสียหายมูลค่า 800 บาท ซึ่งผมคงต้องบอกเล่าเรื่องนี้ไปอีกนานแสนนาน

7 กันยายน 2547 เวลา 10.00 น เศษ ที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษ ห้องพิจารณาคดี ที่ 2 เป็นสถานที่นัดหมาย “พยานหลักฐานที่โจทย์นำสืบรับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมในการพังประตูทางเข้าฝายราษีไศล และบุกรุกเข้าไปภายในฝายราษีไศล ปิดกั้นประตูไม่ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของฝายราษีไศลออกไปภายนอก อันเป็นความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก 360 , 365, (2)(3) ประกอบ 364 , 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เนื่องจากความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ และฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน เป็นความผิดบทหนักที่มีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ จำคุก 2 ปี/.” เสียงผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินบน

20 มีนาคม 2551 เวลา 10.00 น. ที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษ “จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,365,(2) (3) ประกอบมาตรา 362 ,83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 362 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก”

อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวได้ ในชั้นฎีกา โดยใช้หลักประกันเดิม และตีราคาเป็น 400,000 บาท.......

วันนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษจาก 2 ปี เหลือ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งควรที่หลักประกันควรที่จะลดลงตามส่วนของโทษที่ลดลง อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป แต่ผู้พิพากษาศาลศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์กลับเพิ่มหลักประกันขึ้นอีก จาก 350,000 บาท เป็น 400,000 บาท เช่นนี้แหละผมจึงเข้าใจได้อย่างเดียวว่า “เขาเลือกแล้วว่าจะเอา” และ “ยังไงก็จะเอาให้ได้”

และในวันที่ 24 มกราคม 2555 ศาลจังหวัดศรีสะเกษนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งคงไม่ต้องคาดการณ์อะไรมาก เตรียมลุ้นต่อจะดีกว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมตอกย้ำความจริงที่ว่า ไม่มีความเป็นกลางสำหรับชาวบ้าน อำนาจไม่เคยมีไว้เพื่อรับใช้คนจน เมื่อใดก็ตามที่คุณพลาด อำนาจก็จะจัดการคุณทันที

ผมหวนคิดถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ขณะที่หลายคนกำลังชุมนุมกันเพื่อรอเผาศพพี่มด ที่วัดวชิรธรรมสาธิต อีกด้านหนึ่งที่ศาลจังหวัดอุบลฯ นัดตัดสินคดีอยู่ ผลการตัดสิน (คดีพี่มด ยึดเขื่อนปากมูล) ก่อนควันไฟจากเตาเผาศพพวยพุ่ง ศาลจังหวัดอุบลฯ สั่งจำหน่ายคดีออกจากสาระบบเพราะจำเลยเสียชีวิต

นี่ไง คือคำตอบของอำนาจที่จัดการกับผู้ที่ท้าทาย เป็นเรื่องยากที่จะ หรือเรียกหาความยุติธรรมความตายไม่ใช่ทางออกที่เลือกไว้ และการยอมรับโทษตามคำตัดสินก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการยอมจำนน หากแต่เป็นเส้นคั่นระหว่างทาง ที่บางครั้งก็น่าจะเสียเวลาบางเล็กน้อยเพื่อก้าวผ่านมันไป

ผมไม่รู้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกา จะตัดสินออกมาอย่างไร ในวันที่ 24 มกราคม นี้ แต่สิ่งที่ต้องบอกเพื่อรับรู้ร่วมกันว่ายังมีคนจนอีกจำนวนมาก ที่กำลังถูกรัฐใช้กระบวนการยุติธรรมเล่นงานอยู่กว่า 3,800 คดี บทลงโทษที่มักเกิดขึ้นกับคนจนเหล่านี้ มันเป็นความยุติธรรมของใคร กระบวนการยุติธรรมใช้เพียงปรากฏการณ์และมองการเดินขบวนของประชาชน เท่านั้นหรือ ? ผมยืนยันว่าหากไม่มีการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2543 ของชาวบ้านราษีไศล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนราษีไศล และการเรียกร้องในครั้งนั้นก็เป็นเหตุที่นำมาสู่คดีนี้ ผมก็คงไม่ต้องตกเป็นนักโทษเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตรงกันข้ามเพราะมีการชุมนุมในครั้งนั้น ซึ่งนำไปสู่การเปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 70,000 ชีวิต สามารถประกอบอาชีพเดิมอยู่ในชุมชนเดิมได้อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

หากเวลาหมุนกลับได้ โดยไม่มีเขื่อนราษีไศล ชุมชนก็ไม่ต้องมีความขัดแย้ง ไม่มีความแตกแยก ครอบครัวจะอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก มีที่ดินทำกินอย่างพอเพียงกับสมาชิกในครอบครัว มีป่าบุ่ง – ป่าทามให้เลี้ยงวัว – ควาย มีปลาสดๆ จากแม่น้ำมูนกินอย่างเต็มอิ่ม และผู้คนมีรอยยิ้มให้กัน

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 19 ปี (เขื่อนราษีไศลสร้างเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2536 – 2555) ใครบ้างได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง ใครบ้างได้งานทำ ใครบ้างที่ร่ำรวยเงินทอง สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นเลย เห็นมีแต่ความยากจน ปนความขัดแย้ง ชุมชนแตกแยก วิถีชีวิตล่มสลาย บ้านช่องเหลือแต่คนแก่กับเด็กอยู่เฝ้า คนหนุ่มสาว คนวัยทำงานอพยพไปรับจ้างขายแรงงานในต่างถิ่น เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว

เมื่อคุณเป็นนักโทษด้วยเหตุแห่งการใช้สิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชน

เมื่อคุณเป็นนักโทษเพราะพฤติกรรมที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาของรัฐบาล ด้วยเหตุว่าโครงการที่ก่อสร้างขึ้นมานั้น ได้ไปทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมทั้งยังไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คุณได้ร่วมกับชาวบ้านซึ่งเป็นเหยื่อของโครงการพัฒนานั้น เรียกร้องความเป็นธรรมที่สมควรได้รับจากเจ้าของโครงการ กลไกการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนตามโครงสร้างการทำงานของรัฐ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เวลาผ่านไปหลายปี ความเดือดร้อนไม่ได้รับการเยียวยา ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ชาวบ้านไปติดตามทวงถามถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ไป 3 – 5 คน ก็เจอแค่ภารโรงเฝ้าประตู ไป100 – 200 คน ก็เจอเสมียนหน้าห้อง แต่เมื่อไปเป็น 1,000 คน ก็ได้เจอเจ้าผู้ว่า เจออธิบดี หากไปติดตามการแก้ไขปัญหา 5,000 – 10,000 คน ก็ถึงจะมีโอกาสได้เจอรัฐมนตรี แต่เมื่อชาวบ้านไปกันมากๆ รัฐบาลและราชการก็จะมองว่า “ไอ้พวกม๊อบ” ไม่ยอมทำมาหากิน วัน ๆ คิดแต่เรื่องเดินขบวน ทัศนคติเช่นนี้เกิดกับชาวบ้านตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านผู้เดือด ร้อน

จากนั้นรัฐบาลก็จะใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อมาจัดการกับผู้ชุมนุม เช่น 1.การใส่ร้ายป้ายสี ทำลายความชอบธรรม 2.ส่งคนมาการแทรกแซงในการเคลื่อนไหว 3.จัดม๊อบชนม๊อบ 4.การข่มขู่คุกคามผู้นำ (แกนนำ) และครอบครัว 5.การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม 6.ปล่อยหมากัด 7.การจับกุม 8.การดำเนินคดีกับผู้นำ และ9.การฆ่าผู้นำขาวบ้านในการเคลื่อนไหว ทุกกลุ่มขบวนการประชาชน จะต้องเจอกับมาตรการเช่นนี้อย่างทั่วถึงกันทุกกลุ่ม

วิธีการที่รัฐใช้เหล่านี้เพียงเพื่อที่จะไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของชาว บ้าน ในขณะที่รัฐไม่ได้ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาเลย ไม่มีใครหรอกที่จะเอาอนาคต เอาชีวิตมาแลกกับการเดินขบวน แต่มันไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะครอบครัวและชุมชนที่ล่มสลายลงด้วยน้ำมือของรัฐ ที่ได้ยัดเหยียดความทุกข์ยากให้ เมื่อออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ก็มีโอกาสเจอกับวิธีการป่าเถื่อนของรัฐ จะกลับไปชุมชนก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ การเดินขบวนจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จำต้องทำ และเมื่อคุณก้าวเท้าออกมาเดินขบวนคุณจะต้องเตรียมใจรับกับสิ่งที่รัฐจะยัด เหยียดให้ อย่างไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้

มีชาวบ้านจำนวนมากที่ต้องเดินขบวน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐ โครงการพัฒนาของรัฐอีกมากมาย และจะต้องมีนักโทษการเมืองเช่นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการจับกุมคุมขังไม่ได้ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนหมดไป แต่ตราบใดที่ความไม่เท่าเทียมของคนในสังคม การเอาเปรียบเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปจากท้องถิ่น ยังรุนแรงอยู่เช่นนี้ การเดินขบวนก็ยังต้องมีต่อไป

หากคุณเป็นชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน เพราะน้ำจากเขื่อนมาท่วมนา โดยที่รัฐบาลไม่ให้การช่วยเหลืออะไรเลย และผู้สูญเสียที่ทำกินมีจำนวนหลายพันครอบครัว รวมทั้งญาติพี่น้องคนในชุมชนเดียวกับคุณ คุณจะทำอย่างไร ที่ไม่ต้องเดินขบวน ที่ไม่ต้องเป็นนักโทษการเมือง และไม่ต้องติดคุกด้วย

สงครามแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างรัฐผู้มาปล้นชิง กับชาวบ้านในชุมชน ผู้ที่ต่อสู้ปกป้องวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่สืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษ อย่างเต็มกำลังความสามารถมันจะต้องดำเนินไป ผ่านมาแล้ว 19 ปี และต้องเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกกี่ปี ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร

จำต้องยอมรับ แต่จะให้ยอมจำนนต่อความอยุติธรรมที่พวกเราไม่ได้ก่อขึ้นได้อย่างไร

หากคำพิพากษาว่าต้องติดคุก ซึ่งเป็นคำตัดสินของศาลฎีกา ผมก็ต้องเข้าคุก เข้าไปอยู่ในคุกเดียวกันกับนักโทษ ปล้น ฆ่า ค้ายาบ้า และนักโทษคดีซึ่งเราเรียกว่า คดีอาชญากรรม โดยที่ผมเป็นนักโทษหนึ่งเดียวที่ติดคุกเพราะบังอาจกระทำการไม่เห็นด้วยการ โครงการพัฒนาของรัฐ ผมยังพยายามคิดหาเรื่องเล่าเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับนักโทษในเรือนจำ แต่ก็ยังคิดไม่ออก เพราะไม่มีประสบการณ์ในการปล้น ฆ่า และอื่น ๆ แต่จำต้องพยามเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นให้ได้ หากต้องติดคุกจริง

คำตัดสินที่จะมีขึ้นย่อมถือว่า สิ้นสุดของกระบวนการยุติธรรม แต่ผมยังคงมีคำต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ กระบวนการยุติธรรม ได้ทำหน้าที่ในการอำนวยความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็นหรือยัง เพราะผมมองว่าเป้าหมายของการอำนวยความเป็นธรรม คือการให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข แต่หลังคำตัดสินจะออกมาอย่างไรก็ตาม คนจนถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการอยู่ร่วมในสังคมอย่างปกติสุข หรือยัง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมจะต้องสำรวจ การทำหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมของตนเอง

ติดคุกอย่างไง ผมมั่นใจว่าต้องมีวันถูกปล่อยตัว เมื่อวันนั้นมาถึงหากการกดขี่ยังมีอยู่ ความเดือดร้อนของชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขดังที่เป็นอยู่ ผมก็คงไม่อาจนิ่งเฉยได้ ก็จำต้องร่วมกับพี่น้องเพื่อสู้กับรัฐให้ได้ความเป็นธรรมต่อ ผมยอมรับได้ในคำพิพากษาที่จะมีขึ้น แต่คงมิอาจจำนนต้องความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนจนซึ่งเป็นพี่น้องของผมได้ แล้วผมจะกลับมาอยู่กับพี่น้องของผมอีกครั้ง.......