ที่มา ประชาไท
เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย สำหรับการออกมาคัดค้านการเยียวยาผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ จากการสลายการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2553 ตามมติคณะรัตมนตรี เพราะฝ่ายที่คัดค้านคือพรรคประชาธิปัตย์ หมอตุลย์ และ/หรือฟากตรงข้ามคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย ที่มักคัดค้านบนจุดยืนของความเป็นฝักฝ่ายอยู่แล้ว ส่วนเหตุผลที่นำมาอ้างก็เป็นเหตุผลที่ “เบาหวิว” และ “เข้าตัวเอง” ตามเคย
เช่นที่ว่าทำไมต้องเอาเงินภาษีประชาชนตั้ง 2,000 ล้าบาท ไปปูนบำเหน็จให้ “พวกเดียวกัน” (หมายความว่า ปชป.ใช้ภาษีประชาชนร่วม 6,000 ล้านบาท สลายการชุมนุมจนทำให้ “พวกอื่น”ตาย 92 ศพ บาดเจ็บร่วม 2,000 คน เป็นสิ่งที่ชอบธรรม?)
ทำไมการเยียวยาจึงไม่ครอบคลุมกรณี 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 ฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรือเซะ ตากใบ (อันนี้ อ.พวงทอง ตอบไปแล้วว่า ถ้า ปชป.เห็นว่าสิ่งที่สร้างสรรค์เช่นนี้ควรจะทำ ตอนที่ตนเองมีอำนาจทำไม่ไม่คิดจะทำ พอคนอื่นจะทำแล้วมาคัดค้านทำไม)
ส่วนที่ว่า ทำไมต้องไปจ่ายให้ให้พวกผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง วางระเบิด ฯลฯ (ก็ต้องถามว่า ตอนที่ ปชป.เป็นทั้งผู้กล่าวหา เป็นทั้งผู้มีอำนาจรัฐนั้น ได้จับ “ผู้ก่อการร้าย” ที่ว่าแฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุมคนเสื้อแดง 500 คน ได้กี่คน ที่ตาย บาดเจ็บ พิการ พิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมืองกี่คน)
แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกตไว้เป็นพิเศษคือ บรรดาผู้ที่ออกมาคัดค้านต่างเคยอวดอ้าง “คุณธรรมจริยธรรม” และความเป็น “คนดี” ของตนเองในการต่อสู้ทางการเมือง และประณามฝ่ายตรงข้ามว่าไร้จริยธรรม
ฉะนั้น การคัดค้านการเยียวยาจึงสะท้อนถึงความเป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรม หรือความเป็น “คนดี” ของพวกเขาอย่างชัดแจ้งว่า ความมีคุณธรรมจริยธรรม หรือความเป็นคนดีของพวกเขามี “ความหมาย” อย่างไร
เราจะตอบคำถามนี้ได้ ถ้าเราพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การเยียวยาครั้งนี้เป็นการแสดงถึง “ความก้าวหน้าทางจริยธรรม” อย่างไร
เนื่องจากการสลายการชุมนุมเป็นปัญหาทางสังคมการเมือง ฉะนั้น ความก้าวหน้าของจริยธรรมที่แสดงให้เห็นในการเยียวยาปัญหาดังกล่าว จึงต้องเป็น ความก้าวหน้าของ “จริยธรรมทางสังคม” (social morality)
สำหรับผู้อ่านที่เบื่อคำว่า “จริยธรรม” โปรดเข้าใจว่า ผมกำลังใช้ความหมายของคำว่า “จริยธรรม” กว้างๆ ตาม concept ทางจริยศาสตร์ (ethics) ไม่ใช่ concept ทางศาสนา ในจริยศาสตร์สังคม หรือปรัชญาสังคมการเมืองนั้น ไม่มีสังคมการเมืองใดๆ ในโลกนี้ (หรือโลกใดๆ ที่เราอาจจินตนาการถึงได้) ที่จะดำรงอยู่โดยปราศจากระบบ “คุณค่า” (value) ใดๆ หมายความว่า ระบบหรือกติกาการอยู่ร่วมกันของสังคมการเมืองใดๆ ก็ตาม จะต้องวางอยู่บนรากฐานของระบบคุณค่าบางอย่างเสมอ
เช่น ระบบสังคมการเมืองแบบสังคมนิยมเน้นคุณค่าเรื่องความเสมอภาคเป็นหลัก ขณะที่มองเรื่องสิทธิ เสรีภาพ เป็นเรื่องรอง ส่วนระบบสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก ขณะที่ให้ความสำคัญกับ “ความเสมอภาคในความเป็นคน” แต่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้ให้ความสำคัญในความหมายเดียวกับ สังคมนิยม เป็นต้น
และโดยที่สังคมเราได้เลือกแล้ว ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 ว่า เราจะเป็นสังคมประชาธิปไตย ฉะนั้น ความก้าวหน้าของ “จริยธรรมทางสังคม” ในการเยียวยาครั้งนี้ จึงหมายถึงความก้าวหน้าของการยอมรับ และปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งสังคมประชาธิปไตย คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมใน “มาตรฐานเดียวกัน”
ซึ่งการเยียวยาในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของจริยธรรมทางสังคมดังกล่าว เช่น
1. เป็นการเคารพคุณค่าของความเสียสละเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ที่ ผ่านมาสังคมเรามักมองไม่เห็นคุณค่าของความเสียสละดังกล่าวนี้ เพราะอำนาจที่กุมชัยชนะทางการเมือง หรืออำนาจที่กำหนดการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองได้ “สร้างภาพ” ให้ผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตย เป็น “บุคคลอันตราย” ต่อความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์
เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเสียสละชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนอีกครั้ง จึงถึงเวลาที่รัฐบาลและสังคมนี้ต้องแสดงความเคารพต่อการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ในประวัติศาสตร์ทุกครั้งที่ผ่านมา เริ่มจากการเยียวยาเฉพาะหน้าครั้งนี้ก่อน หากจะมีการศึกษาเพื่อเยียวยาย้อนไปถึงเหตุการณ์พฤษภา 35 6 ตุลา 14 ตุลา ได้ ก็สมควรทำต่อไปอย่างยิ่ง
2. เป็นการสร้างบรรทัดฐานความรับผิดชอบด้าน “มนุษยธรรม” ของรัฐต่อประชาชนที่มีสำนึกสูงในความเป็นประชาธิปไตย นับแต่นี้รัฐจะเพิกเฉยปล่อยให้ประชาชนที่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูงเช่นนั้น ต้องตาย บาดเจ็บ พิการ อย่างโดดเดี่ยว ไร้การเหลียวแลไม่ได้อีกต่อไป
3. เป็นการยกมาตรฐานการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้น เมื่อรัฐผิดพลาดละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน รัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผู้ถูกละเมิดอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
การเยียวยาครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นของ “ความรับผิดชอบ” แห่งรัฐที่แสดงออกให้เห็นถึงความเคารพต่อการเสียสละของประชาชน ยกระดับบรรทัดฐานความรับผิดชอบด้านมนุษยธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชนของรัฐให้สูงขึ้น นี่คือสิ่งบ่งบอกถึงความก้าวหน้าของจริยธรรมทางสังคม
แต่นอกจากตอนมีอำนาจรัฐ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่แสดงความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวแล้ว เวลารัฐบาลอื่นกล้ารับผิดชอบยังออกมาคัดค้านเสียอีก ทั้งที่ควรจะมีวุฒิภาวะพอที่จะเข้าใจได้ว่า การคัดค้านการเยียวยา ก็คือการคัดค้านความก้าวหน้าของจริยธรรมทางสังคม
ซึ่งหมายถึง การปฏิเสธที่จะให้ความเคารพต่อความเสียสละเพื่อประชาธิปไตยของประชาชน และปฏิเสธการแสดงความรับผิดชอบด้านมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชนที่รัฐต้องมีต่อประชาชน
มันจึงสะท้อนให้เห็นว่า บรรดาคนที่เคยอวดอ้างความมีคุณธรรมจริยธรรม หรือความเป็นคนดีของตนเอง พวกตนเองในการต่อสู้ทางการเมือง และประณามฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นคนเลว ไร้คุณธรรมจริยธรรมนั้น เอาเข้าจริงคุณธรรมจริยธรรม หรือความเป็นคนดีที่พวกเขาอ้างถึงมันเป็นคนละเรื่องกับ “จริยธรรมทางสังคม” ตามระบอบประชาธิปไตย
เพราะความเป็น “คนดี” ซึ่งเกิดจากการมีคุณธรรมจริยธรรมที่ไม่ยึดโยงอยู่กับ และ/หรือไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุนหลักจริยธรรมทางสังคม คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมในมาตรฐานเดียวกันอย่างหนักแน่น จึงทำให้บทบาทของบรรดาคนที่มีภาพลักษณ์เป็นคนดี คนมีคุณธรรมจริยธรรมทั้งหลายในประเทศนี้ มีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะแสดงบทบาทคัดค้านความความก้าวหน้าของ จริยธรรมทางสังคมอยู่เสมอๆ ตลอดมา (รวมทั้งคัดค้านการแก้ ม.112 และการล้างรัฐประหารด้วย)
เช่นที่ฝ่ายคัดค้านการเยียวยากำลังทำกันอย่างจริงจังในขณะนี้!