ที่มา ประชาไท
Mon, 2012-08-13 23:49
มนุษย์ไม่อาจดำรงอยู่ได้หากปราศจากเสรีภาพ
ซึ่งเป็นหลักประกันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
พัฒนาการของมนุษย์เป็นการต่อสู้ดิ้นรนจากการถูกจำกัดมาสู่อิสระเสรี
การจำกัดเสรีภาพจึงต้องมีขอบเขตจำกัดและควบคุมมนุษย์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำ
เป็นเท่านั้น โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และสันติสุขของสังคม
มนุษย์เกิดมาย่อมปรารถนาชีวิตที่ดี มีเสรีภาพเต็มที่ การจองจำติดคุกตะราง สูญเสียอิสรภาพย่อมหมายถึงการลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไป
คนคุกหรือนักโทษคือ อาชญากรที่ฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นกติการ่วมกันของสังคม
นักโทษเหล่านี้ย่อมได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง
แม้กระนั้นจำนวนนักโทษมิได้ลดลงแต่อย่างใด กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น
และถึงแม้จะมีการสร้างคุกตะรางมากขึ้น ก็ยังไม่พอรองรับการขยายตัวของนักโทษ
จนแต่ละคุกแออัดยัดเยียดแน่นขนัด
สภาพความเป็นอยู่ของนักโทษจึงเลวร้ายไม่ต่างไปจากไก่ในเข่งที่ส่งไปเชือด
หรือหมาในกรงขังที่ส่งไปขายที่เวียดนาม
นักโทษส่วนใหญ่เป็นคนยากจน
เป็นชนชั้นล่างของสังคมถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหาลัก-ชิง-ปล้นทรัพย์ หลอกลวง
ฉ้อฉล ทำร้ายร่างกายผู้อื่น
อาชญากรเหล่านี้สะท้อนปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ เป็นคนว่างงาน
ยากจน จึงต้องทำผิดกฎหมายเพื่อความอยู่รอดของตนเอง
การจับคนเหล่านี้เข้าคุกตะพึดตะพือไม่ได้แก้ปัญหาอาชญากรรมแต่อย่างใด
กลับเพิ่มความรุนแรง และความสามารถในการกระทำความผิดได้ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก
นักโทษหลายคนเดินเข้า-ออกคุกเป็นว่าเล่น
ไม่ได้เข็ดหลาบหรือสะทกสะท้านสภาพการถูกจองจำอันเลวร้ายในคุกแม้แต่น้อย
บางคนปล่อยตัวได้เพียง 5 วันก็กลับเข้ามาอีก
มาดี บุญช่วย ชาวศรีสะเกษ วัย 56 ปี
เป็นนักโทษที่เข้า-ออกเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ถึง 5 ครั้งด้วยกัน
ครั้งหลังสุดเข้าไปในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น หยิบบะหมี่สำเร็จรูป 5 ซอง
เดินออกจากร้านไปยืนรอให้ตำรวจมาจับกุม
เข้ามาขังอยู่ในคุกอย่างน้อยที่สุดก็มีที่ซุกหัวนอนและมีข้าวกิน
อีกจำนวนมากที่ถูกคุมขังเป็นนักโทษ
ซึ่งถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่า
“ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลย
ไม่มีความผิดก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด
แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น
เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้”
นั่นเป็นถ้อยคำสวยหรู
เป็นการยอมรับหลักการสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ
แต่ทว่าในความเป็นจริง ศาลมักจะไม่ให้สิทธิการประกันตัว
หรือการปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ หนึ่ง
คดีมีโทษสูงกลัวการหลบหนี เป็นเหตุผลครอบจักรวาล
เพราะเป็นเพียงการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษา
จึงมักปรากฏว่าหากจะได้รับการประกันตัว ตามหลักสิทธิมนุษยชนต้องมีการ
“วิ่งเต้น” จ่ายเงินใต้โต๊ะ ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาช้านาน สอง
ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีหลักทรัพย์ หรือมีบุคคลน่าเชื่อถือค้ำประกัน
ดังนั้นคนยากจนย่อมต้องถูกคุมขัง ไม่ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนคนรวยมักจะได้รับสิทธิกันง่ายดาย
1. นายประสิทธิ์ วัชรบัณฑิตย์
เป็นวิทยากรบรรยายธุรกิจขายตรงให้กับบริษัทอีซี่เน็ตเวิร์คมาเก็ตติ้ง
ถูกกล่าวหามีความผิดตามพรบ.ขายตรง
และพรก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
ถูกจับกุมคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพกับพวกรวม 13 คน
บริษัทดังกล่าวชักชวนและจูงใจให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมฟังการบรรยาย อบรม
เพื่อลงทุนซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เช่น ข้าวสาร กาแฟ บะหมี่สำเร็จรูป
ฯลฯ โดยคิดมูลค้าการลงทุนซื้อเป็นหุ้น
และจ่ายผลตอบแทนเงินปันผลในจำนวนที่สูงขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน
เขาเป็นนักโทษถูกขังอยู่ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ปัจจุบันอายุ 65 ปี
ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เคยผ่าตัดบายพาสและบอลลูน 2 ครั้ง
คดียังอยู่ในระหว่างการไต่สวนของศาลมา 4 ปีแล้ว ยังไต่สวนไม่เสร็จ
ได้ขอใช้สิทธิประกันตัว พร้อมหลักทรัพย์ตามเกณฑ์กำหนดมา 9 ครั้งแล้ว
ศาลไม่อนุมัติ ช่วง 4 ปีในคุกบุตรสาวล้มป่วยจนเสียชีวิต
โดยที่นายประสิทธิ์ไม่สามารถไปร่วมงานศพของลูกสาวได้
2. นายมานพ เอี่ยมสะอาด ผู้ต้องหาในความผิดตามพรบ.ขายตรง
และพรก.กู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ในคดีเดียวกันกับนายประสิทธิ์และพวก
13 คน ตำรวจจับกุมตัวเขาได้ และส่งตัวขังคุก เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555
ได้รับการประกันตัวปล่อยออกไป เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555
3. นายประภากร วรวรรณ ณ อยุธยา
ผู้ต้องหาในความผิดฐานลักทรัพย์บัตรเครดิตผู้อื่น
นำไปใช้ชำระซื้อสินค้าลงชื่อในบันทึกการขาย เป็นการปลอมเอกสารสิทธิ
ศาลตัดสินจำคุก 3 กระทง กระทงละ 2 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษหนึ่งในสาม รวม 4
ปี 16 เดือน
นายประภากรต่อสู้คดี นำสืบเป็นราชนิกูล ร่ำรวยมาก
ไม่มีความจำเป็นลักทรัพย์ แต่ที่กระทำลงไป เพราะมีจิตบกพร่อง
หรือโรคจิตที่เรียกว่า “Bipolar Disorder” มีหลักฐานเป็นเวชระเบียบ
และนายแพทย์โรงพยาบาลวิชัยยุทธ มาเบิกความว่านายประภากรป่วยทางจิต
อารมณ์แปรปรวน หากอาการกำเริบไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมตนเอง
ศาลวินิจฉัยว่านายประภากรประกอบอาชีพขายน้ำหอมที่ห้างมาบุญครอง
สามารถอธิบายสินค้าและเจรจาต่อรองได้ ทำความผิดด้วยการใช้อุบาย
ระหว่างสอบสวนโต้ตอบได้
ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดเพราะจิตบกพร่อง ตามมาตรา 65
ประมวลกฎหมายอาญา
ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2555 นายประภากรยื่นคำร้องขอประกันตัว
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ว่าเป็นโรคจิตประเภทอารมณ์แปรปรวน ทำความผิดหลายครั้ง
สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของแพทย์ หากปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นอันตรายต่อสังคม
และกลัวการหลบหนี จึงไม่อนุญาตประกันตัว
นายประภากรถูกคุมขังมา 2 ปี
ไม่มีญาติมาเยี่ยมเยือนปล่อยให้เป็นนักโทษราชนิกูลอนาถา
ทำให้ขาดโอกาสการรับการรักษาพยาบาลให้หายขาดเป็นปกติได้
4. นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ
(นปช.) ถูกกล่าวหาก่อการร้าย
ยุยงปลุกปั่นประชาชนก่อความวุ่นวายหลายครั้งด้วยกัน
หลบหนีการจับกุมเป็นเวลา 1 ปี กลับเข้ามามอบตัวถูกจับขังคุกเมื่อ 7 ธันวาตม
54 ได้รับสิทธิการประกันตัวออกไปเมื่อ 28 ธันวาคม 2554
5. นายสุรภักดิ์ อายุ 41 ปี
สมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook จำนวน 5 ครั้ง
ถูกจับเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 นายสุรภักดิ์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ยื่นคำร้องขอประกันตัว 5 ครั้ง ศาลไม่อนุญาตเกรงว่าจะหลบหนี
6. สนธิ ลิ้มทองกุล
ถูกกล่าวหาร่วมกันทำรายงานการประชุมกรรมการบริษัทเป็นเท็จเกี่ยวกับการค้ำ
ประกันเงินกู้กับธนาคารกรุงไทย 6 ครั้ง เป็นเงิน 1,078 ล้านบาท
โดยไม่ทำรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เป็นการลวงนักลงทุน ศาลพิพากษาจำคุก 85 ปี
นายสนธิรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 42 ปี แต่กฎหมายลงโทษสูงสุด 20 ปี
แต่นายสนธิได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท
ระยะเวลา 1 ปี ที่ผมถูกคุมขัง เป็นนักโทษการเมืองตั้งแต่วันที่ 2
พฤษภาคม 2554 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้เจอะเจอผู้ถูกกล่าวหาถูกคุมขัง
ได้รับทราบจากการบอกเล่าโดยตรงว่า
สำหรับคนร่ำรวยอยู่คุกไม่กี่วันได้รับสิทธิประกันตัวด้วยเงินที่ต้องจ่ายใต้
โต๊ะกันรายละ 1-5 ล้านบาท
ส่วนหลักทรัพย์เป็นไปตามกฎเกณฑ์กำหนดจากโทษที่ระบุไว้ในกฎหมาย เช่น โทษ 1
ปี ต้องใช้หลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 1 แสนบาท โทษ 10 ปีก็ต้องใช้หลักทรัพย์ 1
ล้านบาท เป็นต้น
ในส่วนของผู้พิพากษายังไม่มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส
ไม่ต้องแสดงทรัพย์สินก่อนและหลังรับตำแหน่ง
ไม่มีการตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติ เหมือนกับฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร
กระบวนการยุติธรรมจึงเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น กินสินบาทคาดสินบน
ใช้อิทธิพล เส้นสายช่วยเหลือผู้กระทำความผิด
ตลอดจนใช้เป็นช่องทางกลั่นแกล้งทางการเมืองและการละเมิดสิทธิเสรีภาพของ
ประชาชน “จริยธรรม” และ “ศีลธรรม” เป็นเพียงการแอบอ้าง และการโฆษณาชวนเชื่อ
เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือประชาชน เป็นพวกอภิสิทธิ์ชนในสังคม
อีกประเภทหนึ่งของคนไร้สิทธิเสรีภาพโดยสิ้นเชิง
คือผู้ถูกกล่าวหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
ที่จะไม่มีโอกาสได้รับสิทธิประกันตัว เว้นแต่บุคคลที่เป็นนักการเมือง
หรือผู้มีอิทธิพลก็จะเป็นข้อยกเว้นให้ได้รับการประกันตัวเช่นกัน
การไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว เท่ากับเป็นการมัดมือชกผู้ถูกกล่าวหา
ไม่สามารถต่อสู้คดีอย่างเที่ยงธรรม ตามหลักนิติธรรม
ผู้ถูกกล่าวหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องยอมรับสารภาพใน
ภาวะการถูกบีบบังคับเพื่อรับโทษกึ่งหนึ่ง และขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป
ทุกวันนี้เราจึงมีนักโทษทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้กระทำความผิดจริง
เป็นผู้ถูกกักขังอยู่ในคุกทั่วประเทศ 142 แห่ง เป็นจำนวน 2.8 แสนคน
ในจำนวนนี้ 40% หรือราว 80,000 คน
เป็นผู้ต้องขังอยู่ในระหว่างการไต่สวนของศาล ซึ่งยังไม่มีความผิด
แต่ถูกกระทำเสมือนผู้กระทำผิดไปแล้ว
คุกตะรางและเหล่านักโทษที่มีชีวิตเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน
คือบาดแผลอักเสบของสังคมไทย
ตราบเท่าที่สังคมยังมีชนชั้นและความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ยังมีคนรวยล้นฟ้า
และคนจนต่ำติดดิน คนรวยมีอำนาจอิทธิพลต่อกระบวนการยุติธรรม
จึงได้รับสิทธิพิเศษเป็นอภิสิทธิ์ชน
กฎหมายและศาลมีไว้เพื่อปกป้องทรัพย์สินคนรวย
คุกตะรางนอกจากมีไว้กักขังพวกที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรที่เป็นอันตรายต่อ
สังคมแล้ว คุกตะรางยังมีไว้เพื่อกลั่นแกล้งผู้บริสุทธิ์
ใช้เป็นเครื่องมือปิดหูปิดตาประชาชน
เพื่อความมั่นคงของอำนาจรัฐเผด็จการอีกด้วย
(ติดตามอ่านตอนต่อไป)