ที่มา ประชาไท
Fri, 2012-08-10 21:44
หากถามว่าใครคือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดและอาจต้องตกที่นั่งลำบากมาก ที่สุดหากมีการเก็บค่ากระจายสินค้า 1% จากร้านหนังสือซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และร้านนายอินทร์ คำตอบก็คือ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือ (book distributors) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สายส่ง
ผู้จัดจำหน่ายหนังสือคือใคร?
ผู้จัดจำหน่ายหนังสือคือผู้ทำหน้าที่กระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือทั่วประเทศ หรือจะเรียกว่าเป็นผู้ “ค้าส่ง” หนังสือ ก็คงไม่ผิด
ผู้จัดจำหน่ายก็คือหน่วยสำคัญที่อยู่ตรงกลางระหว่าง สำนักพิมพ์ กับ
ร้านหนังสือ ทำหน้าที่ให้บริการจัดจำหน่ายหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ
และ ส่งหนังสือให้กับร้านหนังสือ ติดตามยอดขายจากร้านหนังสือ
ดูแลหนังสือที่ส่งคืนกลับมาจากร้านหนังสือให้มาถึงมือสำนักพิมพ์ กล่าวคือ
บรรดากิจกรรมต่าง ๆ
เกี่ยวกับหนังสือที่อยู่ระหว่างเส้นทางจากสำนักพิมพ์กับร้านหนังสือ
ล้วนมีผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้ดูแล
บางครั้งสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือเป็นจำนวนมาก
ก็เป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือของตนเอง สำหรับธุรกิจหนังสือในประเทศไทย
สำนักพิมพ์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่วนมากจัดจำหน่ายหนังสือของตนเอง
แต่ผู้จัดจำหน่ายที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน
คือผู้จัดจำหน่ายอาชีพ ที่รับจัดจำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ
เป็นหลัก ไม่ได้เป็นสำนักพิมพ์ หรือทำสำนักพิมพ์เป็นหลัก
ผู้จัดจำหน่ายอาชีพที่ทำสายส่งอย่างเดียวเหล่านี้มีเป็นจำนวนไม่มาก
แต่ก็เป็นที่ที่สำนักพิมพ์จำนวนมาก โดยเฉพาะสำนักพิมพ์เล็ก ๆ
จะต้องใช้บริการ
ค่า DC (distribution center fee) 1% ของราคาปกจากยอดส่งสินค้าทั้งหมด
เรียกเก็บโดยร้านซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และร้านนายอินทร์
ให้ผู้จัดจำหน่ายทุกเจ้าต้องชำระหากต้องการวางจำหน่ายหนังสือในร้านทั้งสอง
โดยปรกติ
ผู้จัดจำหน่ายย่อมเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
จากสายส่งไปถึงร้านหนังสือทุกแห่ง รวมทั้งค่าขนส่งหนังสือที่จำหน่ายไม่ได้
จากร้านหนังสือกลับคืนไปยังสายส่ง ในกรณีของร้านค้าต่างจังหวัด
บางครั้งเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งขากลับ (หนังสือคืน)
แต่ร้านหนังสือที่มีสาขาจำนวนมากดังเช่นร้านซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์
และร้านนายอินทร์ จะมีศูนย์กระจายสินค้าของตนเอง
เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการภายใน
ผู้จัดจำหน่ายจึงไม่ต้องส่งหนังสือไปถึงร้านสาขาต่าง ๆ จำนวนมาก
แต่จะส่งไปที่ศูนย์กระจายสินค้าของร้านเพียงแห่งเดียว
ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเรียกเก็บค่ากระจายสินค้าจากทั้งสองร้าน
เนื่องจาก แม้ว่าผู้จัดจำหน่ายจะไม่ต้องส่งหนังสือไปยังสาขาต่าง ๆ
ของทั้งสองร้าน แต่ก็ชดเชยให้ด้วยส่วนลด
หรือส่วนแบ่งกำไรให้กับร้านทั้งสองในสัดส่วนที่สูงกว่าร้านหนังสืออื่น ๆ 5 –
10%
ค่า DC จึงเหมือนอยู่ในส่วนลดที่ผู้จัดจำหน่ายให้กับร้านหนังสือทั้งสองอยู่แล้ว
ร้านซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และ ร้านนายอินทร์ อ้างว่า ก่อนหน้านี้
ร้าน B2S ได้เรียกเก็บค่า DC มาก่อนแล้ว และขณะนี้
ร้านทั้งสองก็มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บค่า DC เช่นเดียวกับ B2S
ข้อเท็จจริงก็คือ B2S เรียกเก็บค่า DC จริง
แต่ไม่ใช่ว่าผู้จัดจำหน่ายทุกรายจะต้องจ่าย บางส่วนก็ไม่จ่าย (ไม่มีค่า
DC) แต่ทดแทนให้ด้วยส่วนลดเช่นเดียวกับกรณีของร้านซีเอ็ด และร้านนายอินทร์
บางส่วนยินดีจ่ายค่า DC แต่ก็ให้ส่วนลดกับร้าน B2S น้อยกว่าร้านซีเอ็ด
และร้านนายอินทร์มาก
กรณี B2S จึงไม่ใช่การเรียกเก็บจากผู้จัดจำหน่ายทุกเจ้าเสมอเหมือนกัน
แต่เป็นการต่อรองกันของคู่ค้าแต่ละราย
และสัมพันธ์กับส่วนลดที่ผู้จัดจำหน่ายกับร้านหนังสือตกลงกัน
แต่ร้านซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และ ร้านนายอินทร์
ซึ่งปรกติได้ส่วนลดสูงมากอยู่แล้ว ประกาศจะเรียกเก็บค่า DC 1%
จากผู้จัดจำหน่ายทุกเจ้า และจะปรับเพิ่มอีกในอนาคต
นโยบายดังกล่าวจะทำให้ผู้จัดจำหน่ายมีต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นทันที 1%
เป็นต้นทุนที่ต้องเสียไม่ว่าหนังสือจะขายได้หรือไม่
ซึ่งกระทบกับความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้จัดจำหน่ายทั้งหมดโดยตรง
ร้านหนังสือซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และร้านหนังสือนายอินทร์
เมื่อรวมกันแล้วมีทั้งจำนวนร้าน และส่วนแบ่งยอดขายของตลาดทั้งระบบ มากกว่า
50% ดังนั้นจึงอยู่ในฐานะครอบงำตลาดที่ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือใด ๆ
ก็ไม่สามารถปฏิเสธไม่จำหน่ายยังร้านหนังสือทั้งสองได้
นโยบายดังกล่าว จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือ ทั้งระบบ
ยกเว้นเพียงสองเจ้าที่ไม่ได้รับผลกระทบในทางลบ คือ บ.ซีเอ็ด และ
บ.อมรินทร์ ซึ่งทำธุรกิจจัดจำหน่ายหนังสือด้วยเช่นเดียวกัน
และถือเป็นสายส่งรายใหญ่ที่เป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจของสายส่งอื่น ๆ
โดยปรกติส่วนแบ่งกำไร (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย) ของผู้จัดจำหน่ายอยู่ที่
15% ของราคาปกหนังสือ
แต่เนื่องจากอำนาจต่อรองของร้านเชนสโตร์ที่มีสาขาจำนวนมากในปัจจุบัน
ทำให้ต้องเพิ่มส่วนลดให้ร้านหนังสือรายใหญ่เหล่านี้ ส่งผลให้
ส่วนแบ่งของผู้จัดจำหน่ายในปัจจุบัน เหลือเพียง 5 – 10%
โดยที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย
หากต้องจ่ายค่า DC จากยอดส่งหนังสือ (ไม่ใช่ยอดขาย)
จะทำให้ส่วนแบ่งกำไรของผู้จัดจำหน่ายลดลงมาอีกเหลือ 5 – 8% กว่า ๆ
และอาจจะลดลงกว่านี้อีก หากร้านทั้งสองปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมดังกล่าว
ผลกระทบนี้อาจส่งผลให้
บริษัทผู้จัดจำหน่ายอาชีพซึ่งไม่ได้ทำธุรกิจอื่น
และถูกกดดันจากการที่ต้องแข่งขันกับบริษัทครบวงจรอย่างเช่น ซีเอ็ด และ
อมรินทร์ อยู่แล้ว ต้องประสบความยากลำบากยิ่งขึ้น และไม่สามารถอยู่รอดได้
ต้องเลิกกิจการไปหมด
เหลือแต่ผู้จัดจำหน่ายที่เป็นบริษัทครบวงจรอย่างเช่น ซีเอ็ด และ
อมรินทร์ ที่ยังแข็งแรงอยู่
และจะสามารถผูกขาดตลาดการจัดจำหน่ายได้ทั้งระบบในที่สุด
หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ"ผู้จัดจำหน่ายหนังสือ,
เหยื่อรายแรกของการเก็บค่ากระจายสินค้าร้านหนังสือซีเอ็ด-นายอินทร์
ข้อต่อสำคัญของห่วงโซ่อุปทานซึ่งกำลังถูกระบบผูกขาดไล่ล่า"