ที่มา ประชาไท
Mon, 2012-08-13 14:50
(13 ส.ค.55) วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมบริการ 30
บาทในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามนโยบายรัฐบาลว่า
โครงการดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 1 กันยายน 2555 พร้อมกันทั่วประเทศ
โดยดำเนินการในระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไปจนถึงโรงพยาบาลทั่วไป
โรงพยาบาลศูนย์ และในโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
โดยประชาชนจะร่วมจ่าย ในกรณีที่มีการรับยาเท่านั้น
หากรายใดไม่ประสงค์จะจ่าย 30 บาท ก็สามารถใช้สิทธิ์ได้
โดยผู้ที่เคยได้รับสิทธิยกเว้นการร่วมจ่าย 30 บาทมีทั้งหมด 21 กลุ่ม
ก็จะได้รับการยกเว้นร่วมจ่ายเหมือนเดิม
ขณะนี้ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด
เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจประชาชนในพื้นที่
และให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาความพร้อมให้บริการที่ดีขึ้นทุกด้านทั้งผู้ป่วย
ฉุกเฉิน ผู้ป่วยเรื้อรัง บริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ
โดยไม่มีเวลาหยุดพักเที่ยง
นอกจากนั้น ยังให้ให้สิทธิประชาชน
สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการที่พอใจได้ปีละ 4 ครั้ง จากเดิมเปลี่ยนได้ปีละ 2
ครั้ง โดยใช้บัตรประชาชนหรือเอกสารทางราชการที่มีเลข 13 หลักเป็นหลักฐาน
เพิ่มความสะดวกประชาชนยิ่งขึ้น ในเขต
กทม.สามารถยื่นเปลี่ยนได้ที่สำนักงานเขต
ส่วนต่างจังหวัดยื่นที่สถานบริการสาธารณสุข
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
จะมีการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์
โรงพยาบาลทั่วไป ในวันที่ 21 สิงหาคม 2555
เพื่อให้ระบบบริการราบรื่นเหมือนกันทั่วประเทศ
โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนที่มี 875 แห่ง ให้จัดแพทย์ตรวจรักษาอย่างน้อย 2
คน โครงการร่วมจ่ายนี้
จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนไปใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิใน
พื้นที่ใกล้บ้านมากขึ้น ซึ่งสามารถดูแลประชาชนได้ดี เหมือนโรงพยาบาลใหญ่
ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ความดัน
การตรวจรักษาโรคทั่วไป
โดยใช้ระบบการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตพูดคุยปรึกษากับแพทย์ผู้รักษาในโรง
พยาบาลใหญ่โดยตรง
ขณะที่นายแพทย์วินัย สวัสดิวร
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.กล่าวว่า ขณะนี้
สปสช.ได้จัดทำคู่มือบัตรทองจำนวน 3 ล้านฉบับ
เพื่อชี้แจงเรื่องการร่วมจ่ายด้วย แจกให้ประชาชน
โดยกลุ่มประชาชนที่ได้รับการยกเว้นการร่วมจ่าย 30 บาท มีทั้งหมด 21 กลุ่ม
ได้แก่ 1.ผู้เข้ารับบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค
กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ฉุกเฉินเร่งด่วน
หรือเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ระดับต่ำกว่าโรงพยาบาลชุมชน
2.ผู้มีรายได้น้อย 3.ผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
แพทย์ประจำตำบล และบุคคลในครอบครัว
4.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร
และบุคคลในครอบครัว 5.ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี 6.เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี
7.คนพิการทั้งที่มีบัตรและไม่มีบัตรประจำตัว 8.พระภิกษุ สามเณร แม่ชี
นักบวช นักพรต ผู้นำศาสนาอิสลามที่มีหนังสือรับรอง
และบุคคลในครอบครัวของผู้นำศาสนาอิสลาม 9.ทหารผ่านศึกทุกระดับที่มีบัตร
และบุคคลในครอบครัว รวมถึงผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิและทายาท
10.นักเรียนไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 11.นักเรียนทหารและทหารเกณฑ์
12.ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปและบุคคลในครอบครัว
13.อาสาสมัครมาเลเรีย ตามโครงการของกระทรวงสาธารณสุขและบุคคลในครอบครัว
14.ช่างสุขภัณฑ์หมู่บ้านตามโครงการของกรมอนามัยและบุคคลในครอบครัว
15.ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญชายแดน
16.ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน
17.สมาชิกผู้บริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย
ที่มีหนังสือรับรองว่าได้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 18 ครั้งขึ้นไป
18.หมออาสาหมู่บ้านตามโครงการกระทรวงกลาโหม 19.อาสาสมัครคุมประพฤติ
กระทรวงยุติธรรม 20.อาสาสมัครทหารพรานในสังกัดกองทัพบก
21.บุคคลที่แสดงความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ
ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์