ที่มา ประชาไท
Wed, 2012-08-15 02:09
6 สมาคมวิทยุ ขอเพิ่มกำลังสัญญาณส่งเป็น 500 วัตต์ เสาส่งสัญญาณสูง
60 เมตร และไม่กำหนดรัศมีครอบคลุมการส่ง พ.อ.นที แจงอยู่ระหว่างพิจารณา
ชัดเจน 22 ส.ค.นี้ ด้านเครือข่ายวิทยุชุมชนอีกกลุ่ม จี้
กสทช.เปิดงบประชาพิจารณ์ ถามสัดส่วนความเห็นที่ได้ต่อการปรับแก้นโยบาย
(14 ส.ค.) เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
กลุ่มผู้ประกอบการสถานีวิทยุชุมชน 6 สมาคม ได้แก่
สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย
วิทยุเพื่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สมาคมวิทยุท้องถิ่นอุดรธานี
ชมรมวิทยุกระจายเสียงจังหวัดอุบลราชธานี
กลุ่มผู้ประกอบการวิทยุเพื่อสังคมและพระพุทธศาสนาสังกัดมหาเถรสมาคม
สมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ รวมตัวยื่นหนังสือให้ กสทช.
ทบทวนร่างประกาศหลักเกณฑ์
การกำหนดเงื่อนไขในร่างหลักเกณฑ์การกำหนดเทคนิคและอุปกรณ์
เครื่องส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียง โดยเห็นว่าหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด
ไม่สอดคล้องกับการกระจายเสียงในปัจจุบัน
นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย
กล่าวว่า วันนี้มายื่นข้อเสนอกสทช.ใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1.ให้กสทช.ยกเลิกข้อกำหนดที่ระบุให้วิทยุชุมชนใช้กำลังส่ง 100 วัตต์
โดยเสนอให้ใช้กำลังส่งไม่เกิน 500 วัตต์
2.เสนอให้เปลี่ยนจากที่กำหนดให้ใช้เสาส่งสัญญาณสูง 40 เมตร
เป็นใช้เสาส่งสัญญาณสูงไม่เกิน 60 เมตร และ
3.ให้ยกเลิกการกำหนดรัศมีการกระจายเสียงที่ระบุว่าไม่เกิน 15 กิโลเมตร
เนื่องจากอยากให้เรื่องรัศมีที่ครอบคลุมเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะกำลังส่ง
500 วัตต์สามารถส่งได้ครอบคลุม 15-20 กิโลเมตร
รวมทั้งการกำหนดรัศมีครอบคลุมการส่งของ
กสทช.ไม่ตอบโจทย์ลักษณะความแตกต่างในเชิงภูมิศาสตร์และบริบทด้านพื้นที่ของ
แต่ละภูมิภาค
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.
ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.)
สำหรับข้อเรียกร้องของทั้ง 6 สมาคมวิทยุที่มายื่นหนังสือนั้น
กสทช.กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา คาดว่าจะได้ความชัดเจนในการประชุม กสทช.
วันที่ 22 ส.ค.นี้ โดยคาดว่าร่างประกาศหลักเกณฑ์
การกำหนดเงื่อนไขในร่างหลักเกณฑ์การกำหนดเทคนิคและอุปกรณ์
เครื่องส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียง จะสามารถประกาศใช้ได้ในต้นเดือน ก.ย.นี้
พ.อ.นที กล่าวด้วยว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน และหน้าที่ของ
กสทช.คือการทำให้สิ่งที่มีอยู่มีประโยชน์สูงสุด
โดยเรื่องของความแตกต่างในเชิงภูมิศาสตร์และบริบทด้านพื้นที่ของแต่ละ
ภูมิภาคก็จะนำมาพิจารณาด้วย ซึ่งวันนี้ข้อเรียกร้องคือ
ทุกคนอยากได้กำลังส่งเพิ่มขึ้น และเสาส่งสัญญาณสูงขึ้น ดังนั้นบอร์ด
กสท.ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
จี้ กสทช.เปิดงบประชาพิจารณ์ ถามสัดส่วนความเห็นที่ได้ต่อการปรับแก้นโยบาย
วันเดียวกัน ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน
เครือข่ายสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.)
และสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (สวทท.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึง
กสทช. ถึงประเด็นทิศทางของวิทยุกระจายเสียงขนาดเล็กในประเทศไทย
มีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.กสทช.ควรเปิดเผยตัวเลขงบประมาณที่ใช้ในการทำประชาพิจารณ์
พร้อมประเมินประสิทธิภาพการใช้งบประมาณด้วย
ความเห็นที่ได้รับมีคุณค่าหรือประโยชน์ต่อ
กสทช.ในการนำมาปรับใช้หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายตามที่ได้รับฟังมาเป็นสัดส่วน
เท่าใด
2.ขณะจัดทำประกาศฯ
หลักเกณฑ์อนุญาตทดลองประกอบกิจการของสถานีวิทยุขนาดเล็ก
กสทช.ควรมีมาตรการควบคุมสถานีวิทยุหลัก
ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิมให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเรื่องกำลังส่งที่ได้รับ
อนุญาตพร้อมกันไปด้วย
3.การพิจารณาออกใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง
ควรคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากการกำหนดขนาดกำลังส่ง
ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคด้วย เช่น ด้านเนื้อหา ความหนาแน่นของประชากร
จำนวนที่เป็นไปได้ของคลื่นความถี่เพื่อให้การส่งกระจายเสียงมีประสิทธิภาพ
4.ตั้งคณะทำงานกำกับดูแลความเรียบร้อยในระดับพื้นที่
เพราะจะเข้าใจปัญหาในพื้นที่และเข้าถึงผู้ประกอบการได้ดีกว่าส่วนกลาง และ
5.เปิดเผยข้อมูลด้านเทคโลโนยีดิจิตอลในอนาคตที่เกี่ยวกับวิทยุขนาดเล็ก
เพื่อป้องกันการหลอกลวงหาประโยชน์จากกลุ่มทุนที่ขายเครื่องส่งมาอย่างต่อ
เนื่อง
อนึ่ง ปัจจุบันมีสถานีวิทยุที่ออกอากาศทั้งที่ได้รับใบอนุญาต
และไม่มีใบอนุญาต กว่า 7,000 สถานี ซึ่ง
กสทช.ยังอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในหลายๆ
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกระจายเสียงในขณะนี้
และคาดว่าจะจัดระเบียบทั้งหมดได้เรียบร้อยภายในปลายปีนี้
ที่มา: บางส่วนจาก http://www.dailynews.co.th/technology/149464