ที่มา ประชาไท
Fri, 2012-08-17 08:02
การแคมเปญต่อต้านการแก้ไขกฎหมายคอมพิวเตอร์ของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีออกมารับปากว่าจะทบทวนเรื่องดังกล่าว
กฎหมายที่จะถูกแก้ไขนั้นเปรียบได้กับปัญหาของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของไทย ซึ่งใช้กำกับเสรีภาพในโลกออนไลน์ โดยมาตรา 114A ที่จะทำการแก้ไขนั้น จะผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้กับผู้ถูกกล่าวหา โดยระบุว่า (1) ผู้ใดซึ่งเป็นเจ้าของ บริหาร หรือสร้างเว็บไซต์ ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปเข้ามาสร้างเนื้อหา เช่น ฟอรั่มออนไลน์ บล็อก (2) ผู้ให้บริการเว็บโฮสติง หรือบริการอินเทอร์เน็ต และ (3) เจ้าของคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เผยแพร่เนื้อหาออนไลน์ ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านบริการ เว็บ หรือ "ในนาม" ของพวกเขา นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จะถูกถือว่ามีความผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์ ซึ่งขัดกับหลักทั่วไปในกระบวนการยุติธรรมที่บุคคลจะต้องบริสุทธิ์จนกว่าจะ พิสูจน์ได้ว่าผิดด้วย
เรื่องที่น่าสนใจ มีอยู่ว่า พลังที่ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวนั้เนป็นพลังชนชั้นกลางโดยแท้ คือผู้ผลิตสื่อออนไลน์ นักกิจกรรมทางสังคมและบล็อกเกอร์ที่เคลื่อนไหวร่วมกันในประเด็นอื่นๆ มาก่อนหน้านี้ เช่น กรณีทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล การรวมตัวกันเป็นขบวนการ Bersih ที่เรียกร้องการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา
ที่กล่าวมาข้างต้น ขอใช้ท่าทีแบบชนชั้นกลางตาสว่างที่ชีวิตทางการเมืองเคลื่อนไหวอยู่ในเฟซบุ๊ก กล่าวต่อไปเป็นคำถามว่า แล้วพลังชนชั้นกลางไทยอยู่ตรงไหนในขบวนการเสรีภาพและประชาธิปไตยของประเทศ นี้
กล่าวเฉพาะกรณีที่คล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง กรณีรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงแรกที่ยังไม่มีการลงพื้นที่รณรงค์ในต่างจังหวัด มีคนร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพียงหลักพัน แต่เมื่อคณะรณรงค์เดินสายออกต่างจังหวัด และมีการประสานงานกับพื้นที่นั้นแหละ ตัวเลขจึงใกล้เคียงความเป็นจริงอย่างรวดเร็ว และเลยไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้อีกเกือบ 2 เท่าตัว บางจังหวัดทางภาคอิสานนั้นมีผู้ร่วมลงชื่อเกินกว่าหมื่นรายชื่อเลยทีเดียว ตัวเลขเช่นนี้ ถ้าเอามาทำเป็นกราฟคงยิ่งน่าใจหาย ว่าพลังของคนต่างจังหวัดโดยเฉพาะอิสานมีมากกว่าคนชั้นกลางในเมืองกรุงมากมาย เพียงใด มิพักต้องกล่าวว่านี่เป็นประเด็นที่ท้าทาย และรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมาเองประกาศไม่ยุ่งไม่สนับสนุนก็ตาม
นี่ทำให้ย้อนคิดและเขียนจากความทรงจำ ถึงคราวที่เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันเผชิญปัญหาถูกฟ้องร้อง และเว็บมาสเตอร์ขณะนั้นต้องโพสต์แจ้งข่าวว่า ไม่สะดวกจะดำเนินการต่อไปต้องการหาอาสาสมัคร ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นทันทีคือการเข้ามาฟูมฟายก่นด่าการปิดกั้นและคุกคาม เสรีภาพของรัฐ จำนวนนับสิบความเห็น แต่ไม่มีใครอาสาทำหน้าที่เว็บมาสเตอร์เพื่อรักษาพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออก ของพวกเขาเอง กระทั่งเว็บมาสเตอร์ต้องกลับมาโพสต์แสดงความแปลกใจอีกครั้งว่า เขาคิดไม่ถึงและคิดว่าเมื่อประกาศออกไปจะมีแต่คนขออาสาทำหน้าที่นี้เสียอีก
ลงทุนน้อยหวังผลตอบแทนสูง
เราอาจจะวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอด 6 ปีว่า ชนชั้นกลางไทยที่ไปมีใจให้กับการเคลื่อนไหวสนับสนุนอำนาจนอกระบอบ ประชาธิปไตย และพวกคลั่งเจ้านั้น เมื่อครั้งที่พวกเขาออกมาในนามของมวลชนพันธมิตร ก็ไม่มีน้ำอดน้ำทนพอที่จะต่อสู้ด้วยพลังของตัวเองกระทั่งเรียกหาอำนาจนอก ระบบ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นการรัฐประหารในที่สุด
ชนชั้นกลางที่มีใจให้กับขบวนการคนรักทักษิณ และกลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ในนามของคนเสื้อแดง และนปช. ล่ะ เอาเข้าจริงก็อาจไม่ต่างกัน พวกเขาพาตัวเองไปอิงแอบกับขบวนการที่มาจากต่างจังหวัดซึ่งมีศักยภาพในการรวม ตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ขนาดมหึมา และเคลื่อนไหวได้ทรงพลังกว่า แม้ลึกๆ ก็รู้แก่ใจว่า คนส่วนใหญ่ที่มาใส่เสื้อแดงนั้นเอาทักษิณ และถ้าจัดลำดับความสำคัญ ก็เอาความอยู่รอดของพรรคเพื่อไทยก่อนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็น ประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย
แล้วคนชั้นกลางที่บางคนเคยไม่เอาทักษิณมาก่อน บางคนเคยร่วมกับพันธมิตรขับไล่ทักษิณมาก่อน ที่หันมาสวมเสื้อแดงเพราะมีรัฐประหารบ้าง มีการล้อมปราบบ้าง มีคนตายบ้าง...พูดแบบบ้านๆ คือมาทีหลังแล้วจะกำหนดท่าทีของขบวนผ่านการพร่ำบ่นก่นด่า น่าจะเป็นการลงทุนที่น้อยเกินไปสักหน่อย ยิ่งเมื่อรัฐบาลทำไม่ถูกใจ ยิ่งรู้สึกถูกหลอก อึดอัดกับท่าทีของชาวบ้านที่ถูกหลอกด้วยกัน ว่าไม่รู้สึกรู้สมอะไรบ้าง หลับหูหลับตาเชียร์กันอยู่ได้ แต่หากย้อนคิดและตั้งคำถามกับตัวเองดู ชัยชนะที่ได้ และรัฐบาลที่มีอยู่นี่ ตัวเองออกแรงไปมากน้อยแค่ไหนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าไม่นับการ “นั่ง” หน้าจอ
ตาสว่างจนทนความเป็นไทยไม่ได้
พวกเขาจำนวนหนึ่งเรียกตัวเองว่า ลิเบอรัล ซึ่งไม่แน่ใจความหมายนักเพราะมันถูกใช้อย่างเบลอๆ จึงขอเรียกพวกเขาว่า ชนชั้นกลางตาสว่าง ไปพลางก่อน หลักๆ คือยืนข้างหลักประชาธิปไตยและเสรีนิยม (แม้หลายคนแสดงให้เห็นจากสเตตัสว่า ถ้าจะจัดสำนักคิดกันจริงๆ น่าจะกระเดียดไปทางนีโอคอนเซอร์เวทีฟมากกว่า)
การรัฐประหารอาจจะเปิดแผลของประเทศนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้มองเห็นผู้เล่น และวิธีเล่นในสังคมการเมืองไทยชัด เมื่อรู้สึกว่าตัวเองตาสว่างก็ไม่อยากจะดูโง่และกลัวจะถูกหลอกอีกและแม้จะ เป็นคนจำนวนไม่มากของประเทศนี้ แต่พวกเขาก็คิดได้เป็นเหตุเป็นผล อยู่บนฐานข้อมูลมีความรู้ ทว่าคนที่เต็มไปด้วยข้อมูล มีการศึกษา แต่เก็บกดหวาดระแวงหลายๆ ครั้งแสดงความเกลียดชังประเทศที่เขาอยู่ พยายามต่อต้านทุกสิ่งที่เป็นสังคมของตัวเอง สังคมที่พวกเขาได้ประโยชน์จากมันมากกว่าคนจำนวนมากของประเทศ
วิธีปฏิบัติต่อโอกาสที่มากกว่าในเชิงบวกคือแชร์ข้อมูลข่าวสารพร้อมคำ แปล/อธิบายประกอบเล็กน้อยในเฟซบุ๊ก ในทางตรงข้ามกัน ก็ใช้ความรู้ที่มีกลับมาบลัฟสรรพสิ่งในประเทศตัวเองด้วยข้อมูลด้านเดียว
หลายๆ ครั้งพวกเขาพูดราวกับประเทศอื่นไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีความรุนแรง ไม่มีคอร์รัปชั่น ไม่มีการเลือกฏิบัติ ไม่มีกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง ไม่มีคนที่คิดคับแคบ ไม่มีนักการเมืองกลับกลอกและแสดงออกแบบโง่เขลา ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีคนที่ไม่เคารพกติกา ไม่มีมาเฟีย ฯลฯ ราวกับว่าทุกความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในโลกหาได้ที่นี่ที่เดียว ประเทศไทย
การกล่อมตัวเองด้วยวิธีคิดแบบนี้ทำให้อายที่จะบอกว่าเป็นคนไทย ด้วยฐานคิดว่าคนไทยนั้นโง่และคับแคบ ในทางกลับกัน พวกเขาอาจจะไม่ฉุกคิดว่าทัศนคติคับแคบเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ ทั้งโลก
ความรู้มาก และอับอายกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลของเพื่อนร่วมชาติ อาจะทำให้ลืมไปด้วยว่า ชาตินิยมแบบญี่ปุ่นช่วยผลักดันให้ประเทศที่ล้มไม่เป็นท่าจากสงครามให้ลุก ขึ้นยืนได้ ชาตินิยมแบบเกาหลีที่พยายามปลดโซ่ตรวนออกจากญี่ปุ่นทำให้เกาหลีกลายเป็น ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และกลายเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ให้กับองค์การสหประชาชาติในปัจจุบัน แน่นอนว่าทั้งสองประเทศแข่งกันครองสถิติคนฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกด้วย
หลายๆ ครั้งที่พบเห็นข้อความทำนองเบื่อความเป็นไทย อายความเป็นคนไทยมากๆ ก็อยากจะแนะนำอย่างจริงใจเลยว่า ถ้าคุณมีทักษะทางวิชาชีพดี ภาษาดี และหาช่องทางได้ ก็ควรจะไปหาประเทศที่คุณจะอยู่ได้อย่างมีความสุขจะดีกว่า ซึ่งคุณอาจจะดูแบบอย่างได้จากประชาชนของประเทศฟิลิปปินส์ ที่คนจบแพทย์ยอมไปทำงานเป็นบุรุษพยาบาลในสหรัฐจำนวนมาก (นี่น่าจะไม่เข้าข่ายความเป็นไทย น่าจะเลียนแบบได้ไม่ต้องอาย เพราะคนที่ออกไปหางานทำในต่างประเทศของไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ จากทางภาคอิสาน)
เสียงข้างน้อยที่สุดและความอึดอัดคับข้องใจ
ไม่ใช่จะโยนความผิดให้กันเสียหมด ความอึดอัดนั้นเข้าใจได้ ในฐานะที่เป็นผู้มีสติปัญญาดี มีการศึกษา แต่เป็นเสียงข้างน้อยอย่างยิ่ง ส่วนชนชั้นกลางคลั่งชาตินั้นมีพื้นที่ในการเสพและแสดงออกซึ่งความเป็น ไทยอย่างล้นเฝือแล้วทั้งจากหนังละครและข่าวสารแบบละครทุกเมื่อเชื่อวัน
คนชั้นกลางตาสว่างจึงน่าจะเป็นกลุ่มที่อึดอัดคับข้องใจที่สุดเมื่อเทียบ กับบรรดากลุ่มทางการเมืองอื่น ถ้าเป็นตาสีตาสีบ้านนอก อย่างน้อยยังเกาะเกี่ยวตัวเองเข้ากับแกนนำในท้องถิ่น เผลอๆ แกนนำเป็นนายกอบต. ซะอีก หารือกันได้ทั้งการเมืองระดับบนและการเมืองระดับท้องถิ่น มีสื่อวิทยุชุมชนให้ติดตามฟัง และให้ต้องคอยปกป้องถ้าถูกปิด (เราเคยเห็นชนชั้นกลางไทยที่ไหนไปปกป้องเว็บไซต์ที่ถูกปิดล่ะ)
ชนชั้นกลางตาสว่างไม่มีเครือข่ายที่แน่นแฟ้นเช่นนี้ ครั้นจะคุยกับนักการเมืองที่ไหนก็ดูไว้ใจไม่ได้ทั้งนั้น แต่พอคุยกันเองก็พาลทะเลาะกันด้วยเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง สงวนท่าที จุดยืน การตีความ รายละเอียดปลีกย่อย สะดุดขาตัวเองล้มกันไปก่อนจะคิดการอะไรต่อไปอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
แม้แต่สื่อก็หาที่เป็นกระบอกเสียงให้ตัวเองได้ยาก เพราะสื่อมันมัวแต่ขายข่าวห่วงความอยู่รอดของตัวเองกันอยู่ และคุณภาพระดับที่มี อ่านฟรีก็บุญแล้ว ความอึดอัดนี้อาจเยียวยาได้ด้วยการโพสต์ตามเว็บบอร์ดและเฟซบุ๊กระบายออกมา เป็นการบำบัดชั้นดี
คำถามอย่างสุดโต่งและออกจะดูถูกดูแคลน เราจะหวังอะไรจากชนชั้นกลางตาสว่างของไทย ในเมื่อวันๆ เขาต้องประกอบวิชาชีพ ตามข่าวสารเศรษฐกิจ และอื่นๆ ที่ส่งเสริมต่อการประกอบวิชาชีพก่อนเป็นเบื้องต้น จากนั้นแชร์ลิงก์ข่าว และก่นด่าประเทศตัวเองและเพื่อนร่วมชาติ ก็ดูเหมือนเวลาจะหมดเสียแล้ว....
แต่...หรือเราอาจจะไม่ต้องคิดเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีคุณภาพ เป็นขบวนจากคนเหล่านี้หรอก เพราะถึงยังไง จำนวนที่พวกเขามีอยู่ ต่อให้รวมกันแล้วก็ได้ไม่ถึงหนึ่งเขตเลือกตั้งด้วยซ้ำ!!!