WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, October 29, 2009

บันทึกอดีตสหายเดือนตุลา:ควานหาเขตปลดปล่ิอยจิ่งกังซาน

ที่มา Thai E-News


โดย วันลา วันวิไล
ที่มา หนังสือ"ตะวันตกที่ตะนาวศรี"
28 ตุลาคม 2552

ชาวบ้านรู้ว่าฝนจะตกหรือไม่ จากการฟังเสียงร้องของนกถึดทือ ผมจึงรู้สึกผิดพลาดที่บังอาจไปสอนว่าพวกเขาควรลุกขึ้นต่อสู้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักนกถึดทือ ที่บ้านไร่แห่งนั้น ผมหามวลชนไม่พบ “มวลชน” อาจจะอาศัยอยู่ในประเทศจีนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ตะนาวศรีจึงไม่มีโอกาสได้เป็น จิ่งกังซาน


6. จิ่งกังซาน

ก่อนที่จะได้รับมอบหมายหน้าที่และสังกัดตามหน่วยงานต่างๆ พวกเราได้ศึกษากันอยู่ช่วงหนึ่ง คล้ายๆ โรงเรียนการเมืองที่ป่าเขตอื่นเขาทำกัน แต่ไม่ได้ใหญ่โตและเข้มงวดจริงจังนัก

ในมหาวิทยาลัยเราไม่เคยได้ร่ำเรียนลัทธิมาร์กซ์ ,ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม, หรือปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธีอะไรทำนองนั้น เชื่อว่ามหาวิทยาลัยในช่วงก่อนปี 2519 ก็ไม่มีการสอนหลักสูตรวิชาเหล่านี้ อาจเนื่องจากผู้ปกครองขี้ขลาดหวาดกลัวเกินไปที่จะให้นักศึกษารู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ เพียงแต่มีพ็อคเก็ตบุ๊คมากมายให้ซื้ออ่านตามแต่ใครจะสนใจในยุคสมัยที่มีเสรีภาพในการรับรู้ แต่จะถูกป้ายสีทางความคิด

การศึกษาในป่านั้นห่างไกลเกินไปที่จะสอนทฤษฎีเหล่านี้ นอกจากมีหนังสืออยู่ไม่มีเล่มให้อ่านกันเอง ตีความกันเอง เพื่อจะได้ถกเถียงกับเพื่อนแล้วทำให้เขารู้ว่า เราก็รู้ทฤษฎีก้าวหน้าเหมือนกัน

บทเรียนบทแรกของเราคือ"ใครสร้างใครเลี้ยง" ที่กล่าวว่าชนบทเป็นผู้ผลิตหลักในการเลี้ยงสังคม แต่บทสำคัญคือ นิพนธ์ ของเหมาเจ๋อตง ว่าด้วยการต่อสู้ที่จิ่งกังซาน ผมอ่านแล้วไม่เข้าใจอะไรเลย มีการอภิปรายกันกระท่อนกระแท่นพอรู้ว่า จิ่งกังซานเป็นที่มั่นในชนบทแห่งแรกๆ ของการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

แปลเป็นนัยได้ว่านี่คือหนทางการต่อสู้ที่ถูกต้อง ตะนาวศรีจะต้องเป็นจิ่งกังซาน

เมื่อจบทฤษฎีการปฏิวัติฉบับย่อที่สุดแล้ว ผมก็ได้รับเลือกให้เรียนเพื่อจะเป็นพยาบาลสนาม ที่นั่นเขาเรียกว่าหมอ แต่ผมไม่กล้าใช้คำๆ นี้ เพราะเราเรียนกันแค่ 2 เดือน ด้วยตำราพ็อคเก็ตบุ๊ค 2-3 เล่มเท่านั้น

เนื่องจากเป้าหมายของการเรียนคือไปเป็นพยาบาลสนามในหน่วยเคลื่อนไหว(หน่วยงานโฆษณามวลชนและหน่วยรบ) ผมจึงได้รับการฝึกฝนการผ่าตัดขนาดเล็กด้วย

คนไข้รายแรกของผมที่ถูกผ่าตัดไส้ติ่ง เป็นหมาตัวหนึ่ง

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผมก็ได้ผ่าไส้ติ่งให้เพื่อนๆอีก 6-7 ราย ทั้งผ่าเองและเป็นผู้ช่วยหมอ ไม่ว่าจะอย่างไรคนป่วยที่รับการผ่าตัดของเราก็ไม่เคยมีใครเป็นอะไรเลย ทั้งๆที่ห้องผ่าตัดเป็นเพียงมุ้งขนาดใหญ่ที่ครอบบนเตียงไม้ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นดินภายใต้โรงพยาบาลหลังคามุงจากเท่านั้น

พอจบพยาบาล ก็ถูกส่งไปอยู่หน่วยงานมวลชน ที่หมู่บ้านเล็กๆ ชายแดนตะวันตกซึ่งเป็นที่ราบริมเทือกเขา มีห้วยเล็กๆไหลเลียบบ้านชาวไร่ที่ตั้งอยู่ห่างๆกัน มีชาวบ้านเพียง 2-3 ครอบครัวเท่านั้นที่เราติดต่อด้วย และมีอยู่ครอบครัวเดียวที่เป็นหลักให้เราอาศัยช่วยซื้อข้าวของและยาที่จำเป็นจากตลาด

ช่วงเวลานั้นพอตกเย็นก่อนทางเดินจะมืด เราจะพากันเดินลัดเลาะป่าไผ่และละเมาะริมห้วยแห้งไปนั่งคุยกับลุงเจ้าของบ้านทุกคืน

เรื่องที่อธิบายแรกๆ ก็เป็นเรื่องที่นักศึกษาถูกปราบปรามในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุผลที่ต้องเข้าป่า หลังจากนั้นไม่กี่คืน เมื่อวงสนทนาเริ่มใหญ่ขึ้น ชาวบ้านเริ่มคุ้นเคยกับพวกเรามากขึ้น เรื่องที่พูดคุยกันกลับเป็นเรื่อง ยิงเก้ง จับปลา หากระรอก เสียเป็นส่วนใหญ่ ผมก็ได้แต่นั่งฟังสูบยาฉุนแก้เก้อ

ตามทฤษฎีปฏิวัติแล้ว ชาวนาชาวไร่ในชนบทคือกำลังหลักในการต่อสู้ แต่จนแล้วจนเล่าผมเฝ้าถามตัวเองว่าทำไมเขาปล่อยให้ผมเป็นกำลังหลัก แล้วพวกเขากลับเป็นกำลังสำรอง อยู่กับเหย้า เฝ้าไร่นาและหากระรอกอยู่อย่างนั้น

ที่พักแถบนั้นค่อนข้างลำบาก เราผูกเปลนอนในป่าไผ่โปร่งๆ กลางวันอากาศร้อนมาก อาศัยน้ำจากบ่อเล็กๆ ที่ขุดในแอ่งห้วยแห้ง ส่วนมากผมจะอาบน้ำกลางดึกหลังจากกลับมาจากบ้านชาวบ้านแล้ว บ่อมีน้ำน้อยแต่มียุงและลูกน้ำเยอะมาก ต้องวิ่งเข้าไปจ้วงตักน้ำแล้วรีบวิ่งหนียุงออกมา อาบน้ำครั้งหนึ่งได้แค่ 1 แกลลอนเท่านั้น (ประมาณ 5 ลิตร) ใช้น้ำราดตัวสักครึ่งแกลลอนก็ถูสบู่แล้วราดที่เหลือเป็นอันเรียบร้อย

ย่างเข้าหน้าฝนในห้วยมีน้ำไหล ผมนอนตากยุงจนเป็นไข้มาลาเรีย นอนตัวสั่นอยู่ในป่าชื้นๆ ทำให้อาการไม่ค่อยดี จึงย้ายไปนอนบ้านลุงและซมด้วยพิษไข้อยู่ทั้งวันทั้งคืน เช้าวันหนึ่งรู้สึกอ่อนเพลียมากจึงให้เพื่อนช่วยฉีดกลูโคสให้ พอถอนเข็มออกกลับหนาวสั่นอย่างแรง คิดว่าเป็นเพราะแพ้เข็มหรือกลูโคสที่ไม่สะอาด ในชีวิตไม่เคยหนาวถึงขั้วหัวใจเช่นนั้นมาก่อนเป็นอยู่เกือบชั่วโมงจึงหาย

2 วันต่อมาพอไข้เริ่มทุเลาพวกเราก็เดินทางกลับค่าย มีข่าวตามหลังมาว่ามีชาวบ้านคนหนึ่งที่เราไว้ใจให้ไปซื้อของในตลาดได้นำตำรวจชายแดนไปล้อมบ้านลุงที่ผมนอนป่วย หลังจากที่พวกเรากลับออกมาเพียงวันเดียวเท่านั้น ลุงถูกจับแต่ได้รับการปล่อยตัวพร้อมได้ข้าวของเครื่องใช้เป็นของแถมมากมาย จากนั้นมาผมก็ไม่เคยได้ไปที่นั่นอีก

พอตะวันตกดินบางครั้งจะได้ยินเสียงนกถึดทือร้อง บางวันมันร้องเสียงคึกคักติดต่อกัน บางวันก็ร้องห้วนๆ เหมือนนกหดหู่ ชาวบ้านรู้ว่าฝนจะตกหรือไม่ จากการฟังเสียงร้องของนกถึดทือ จากนั้นก็รู้ว่าจะต้องเตรียมทำอะไรต่อไป ผมจึงรู้สึกผิดพลาดที่บังอาจไปสอนว่าพวกเขาควรลุกขึ้นต่อสู้ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักนกถึดทือ และไม่รู้ว่าชาวบ้านสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เพียงแค่ได้ฟังเสียงร้องของนก

ชนบทไทยถูกการปกครองทำให้แยกตัวจากกันและอ่อนแอลงในการดูแลตนเอง เนื่องจากรัฐเข้าไปครอบงำการจัดการทั้งหมด กระทั่งตั้งตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ที่ท้องถิ่นต้องพึ่งพาอาศัย

ถึงวันนี้ชนบทได้เปลี่ยนแปลงไปมาก บางแห่งในบางสายตาก็ว่าเจริญขึ้นแม้ว่าจะเป็นหย่อมๆ ไม่เท่าเทียมกัน เมื่อหมดยุคการปลุกระดมมวลชน วันนี้และวันหน้าผู้คนที่ลำบากต้องต่อสู้เอาเองตามแต่กำลังของท้องถิ่น หรือกลุ่มประโยชน์ร่วมเช่นกลุ่มหมู่บ้าน,กลุ่มป่า,กลุ่มเขื่อน,กลุ่มฝาย,กลุ่มหนองน้ำ กระทั่งกลุ่มผู้ผลิตพืชผล เป็นต้น หากจำเป็นรัฐก็คงจะช่วยแก้ปัญหาให้เป็นครั้งคราว หรือไม่ก็ทำลายการต่อสู้เป็นส่วนๆ เนื่องจากง่ายที่จะทำเช่นนั้น

ที่บ้านไร่แห่งนั้น ผมหามวลชนไม่พบ และคนอื่นๆ ก็อาจไม่เคยค้นพบ นอกจากเป็นคำตามความหมายนามธรรมในหนังสือ หรือไม่ “มวลชน” อาจจะอาศัยอยู่ในประเทศจีนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ตะนาวศรีจึงไม่มีโอกาสได้เป็น จิ่งกังซาน



7. ป่าไผ่หนามกับป่าไผ่ดำ

ในความคิดของผมเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างพม่ากับไทยไม่ใช่เทือกเขา แต่เป็นความชื้นที่ต่างกัน เมื่อเรามองทัศนียภาพของป่า มันเหมือนกับภาพวาด 2 ภาพที่ลงสีพื้นฉากหลังเป็นสองแบบ ภาพหนึ่งออกเขียวเข้มๆ ส่วนอีกภาพหนึ่งเจือสีน้ำตาลอ่อน


ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีไปทางทิศตะวันตกก็คือป่าในเขตประเทศพม่า โดยปกติเราใช้เวลาประมาณ 4 ชม. เดินจากพื้นราบถึงสันแดน และอีกประมาณ 4 ชม.

จากสันแดนลงพื้นราบอีกฝั่งหนึ่ง ผมไม่ได้เป็นนักสำรวจป่าและไม่ได้เป็นพรานไพร ปกติเดินไปเดินมาไม่รู้เลยว่าตัวเองอยู่ตรงไหน แต่จะรู้ได้ว่ามาถึงสันเขาเขตแดนโดย 2 วิธี

วิธีแรกคือ มีคนบอกว่าถึงสันแดนแล้ว วิธีที่สองสังเกตความแตกต่างระหว่างป่า 2 ฝั่ง ฝั่งตะวันตก ป่าชื้นเขียวมีทากชุม มีไม้ใหญ่มากดินเป็นดินเหนียวและโคลนสีดำ พบเห็นไผ่ดำอยู่ทั่วไปถือเป็นต้นไม้ประจำป่าก็ว่าได้ พอข้ามมาฝั่งตะวันออกเป็นป่าแล้งดินปนกรวดและทราย ไม่มีทาก มีไม้พุ่มเตี้ยและเถาวัลย์หนาม มีไผ่หนามและต้นกระชิดลำต้นคดๆงอๆ กิ่งและใบมีหนาม เป็นต้นไม้ประจำป่า

ในความคิดของผมเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างพม่ากับไทยไม่ใช่เทือกเขา แต่เป็นความชื้นที่ต่างกัน เมื่อเรามองทัศนียภาพของป่า มันเหมือนกับภาพวาด 2 ภาพที่ลงสีพื้นฉากหลังเป็นสองแบบ ภาพหนึ่งออกเขียวเข้มๆ ส่วนอีกภาพหนึ่งเจือสีน้ำตาลอ่อน

ทั้งที่ในป่าลึก และป่าริมไร่ ที่เราเดินไปทั่วทั่วทุกหน ไม่ค่อยได้เห็นสัตว์ป่าต่อหน้าต่อตา ส่วนมากจะได้ยินแต่เสียงร้อง ที่เคยปะทะสวนทางกันบ้างก็มีแต่ ลิง ค่าง ชะนี และช้าง ซึ่งอยู่เป็นฝูงใหญ่ นอกนั้นก็มี เก้ง กับ กระทิง นานๆครั้ง

สังเกตุเห็นว่าฝั่งไทยจะพบสัตว์มากชนิดกว่า อาจเนื่องจากสภาพดินและฝน เช่นมีดินโป่งมาก ไม่มีฝนมากเกินไป เหมาะสำหรับสัตว์ที่ชอบที่แห้งและทนแล้ง เช่นไก่ป่า และเต่าหกตัวใหญ่ แต่สัตว์ชอบน้ำและชอบกินหน่อไม้มักจะไปรวมกันที่ฝั่งพม่าในหน้าฝน เช่น ช้าง กระทิง และหมูป่า บริเวณใกล้เขาแดนฝั่งไทยจะพบเห็นนกกะฮัง (นกเงือก) อยู่เสมอ

ที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดระหว่างฝั่งไทยและฝั่งพม่าก็คือเราจะพบลิงเสนในฝั่งไทยมากกว่า แต่พอข้ามแดนไปป่าจะเต็มไปด้วยผีเสื้อและทาก

ด้วยความที่ไม่ใช่เป็นผู้สนใจศึกษาพืชพันธุ์ไม้ ป่าทั้งป่าสำหรับผมก็ล้วนแต่เป็นลำต้นกิ่งใบ รู้จักชื่อแต่เพียงดาดๆ จะสามารถจำแนกได้บ้างก็ตามแต่สาระที่สำคัญต่อชีวิตของพวกเรา ผู้อาศัยพักพิงชั่วคราวเท่านั้น

เราจะพบเห็นไผ่หนามอยู่ทั่วไปในฝั่งไทย ลำต้นออกเหลืองซีดๆ มีกิ่งเกะกะเต็มไปด้วยหนาม ยามหน้าฝนต้นไผ่ออกหน่อมากมาย มากจนเพื่อนผมคนหนึ่งปรารภว่าเสร็จงานปฎิวัติแล้วจะมาตั้งโรงงานทำหน่อไม้กระป๋อง หน่อไผ่อยู่ในพงหนามขุดยากมากเคยมีคนวิ่งหนีช้างป่าคลานเข้าไปในกอไผ่หนามสามารถหลบรอดจากการถูกช้างไล่เหยียบได้ ป่าที่ราบดินทรายจะมีต้นกระชิดขึ้นอยู่ทั่วไป ต้นกระชิดทั้งต้นกิ่งและใบล้วนมีหนามแหลมและยาว พื้นรองเท้าของพวกเราจะมีหนามกระชิดฝังจมอยู่เสมอ ไม้กระชิดคดๆ งอๆ ไม่น่าจะนำมาทำอะไรได้นอกจากทำไม้ฟืน ผมคิดว่าป่ากระชิดน่าจะเป็นป่าที่ปรับตัวจากความแล้งอันเนื่องมาจากถูกสันแดนบังฝนที่มากับลมมรสุม

ที่ไหล่เขาดินปนกรวดไม้กระดูกแตกจะเรียงเป็นแนว เป็นไม้พุ่มเตี้ยลำต้นเล็กๆ ขนาดข้อมือ เปราะหักง่ายมากจึงนิยมนำมาทำฟืน ถึงหน้าฝนจะแตกใบอ่อนสีเขียวอมเหลือง ทั้งป่าตัดกับสีเขียวเข้มของใบไม้อื่นดูสวยงามที่สุด ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวๆ ฝาดกินกับน้ำพริกได้

ล่างลงมาใกล้น้ำ ต้นขี้เหล็กดอกเหลืองสะพรั่ง ส่วนเถาวัลย์ดอกจอกดอกเล็กๆ สีขาว เมื่อหล่นลอยไปตามน้ำกลิ่นหอมราวกับสายน้ำผ่านการอบแป้งร่ำ ผมอาบน้ำห้วยใสเย็นกลางแสงจันทร์ได้กลิ่นเถาวัลย์ดอกจอก ถ้ามีใครสักคนให้คิดถึง ก็เหมือนดั่งได้อยู่ใกล้ๆสวรรค์ เพียงแต่วันเวลานั้นมีอยู่น้อยเหลือเกิน

พื้นที่จำนวนมากในป่าตั้งแต่ทุ่งราบถึงบนสันแดนเป็นป่าระบุ (ป่าเกิดใหม่หลังจากไม้ใหญ่ถูกตัดหรือเกิดไฟป่าแล้วถูกทิ้งร้างส่วนมากเป็นเถาวัลย์) ซึ่งรกรุงรังเต็มไปด้วยหนาม บางแห่งไม้เล็กและเถาวัลย์แน่นขนัดจนเดินบุกไปไม่ได้ต้องใช้มีดพม่าฟันนำทาง บางทีถูกหนามขอเกี่ยวแขนขาและลำตัวจนเสื้อผ้าขาดและเป็นแผลเจ็บแสบเลือดซิบ

ส่วนฝั่งพม่า น่าสนใจที่มีไม้แปลกๆเช่น ไม้งาช้าง เป็นไม้เนื้อแข็งสีขาวนวลแบบงาช้าง ขัดแล้วลื่นเรียบสวยงามมาก แต่เป็นไม้หายาก ผมเคยพบเห็นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเมื่อเพื่อนบางคนนำมันมาทำไม้หัวเปล และด้ามมีด ไม้ด้ามขวานก็แปลก มันมีชื่อคล้ายกับว่าน่าจะนำไม้มาทำด้ามขวาน ก็ไม่เคยเห็นต้นจริงเลย เห็นเพียงแต่ต้นที่ตัดมาเป็นท่อนๆ ขนาดต้นขายาวสัก 60-70 ซม. เขานำมาผ่าเป็นซี่บางๆ ตากแดดพอแห้ง ใช้จุดไฟเป็นคบเพลิงส่องสว่างในยามค่ำคืนได้

ครั้งแรกๆที่เราเดินบุกไร่ร้างมักมีเสียงเตือนด้วยความเป็นห่วงว่าให้ระวัง "อีกะปือ" ฟังแล้วผมไม่รู้ว่าเป็นอะไร เป็นภาษาไทยหรือกะเหรี่ยงหรือพม่ากันแน่ ผมก็กลัวไว้ก่อนเพราะชื่อมันน่าขนลุกดี แท้จริงอีกะปือเป็นพืชล้มลุกวัชพืชในไร่ มีใบขนาดใหญ่ ผิวใบเป็นขนสากๆ มีพิษ ไปโดนมันเข้าทำให้คันแสบๆ ร้อนๆ ถ้าโดนใบหน้าก็คงจะเห่อบวมพิลึก เพราะต้นมันสูงขนาดหัวพอดี

ถ้าเดินบนไหล่ทางริมน้ำเราจะเห็น ต้นลูกมัน ที่ชอบขึ้นตามซอกหิน หรือสันดินริมห้วยเท่านั้น เป็นไม้พุ่มต้นขนาดน่อง มีลูกขนาดหัวแม่มือติดอยู่ตามลำต้นโดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆ กับโคนต้นลูกของมันเราเรียกว่าลูกมัน แกะเปลือกเขียวๆ ออกแล้วเอาเมล็ดกลมๆไปต้มกินเหมือนถั่ว ผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่งชอบมาก เดินไปเก็บลูกมันไปได้ถุงเป้ใหญ่ ถึงที่พักก็ต้มกินกันจนหนำใจ แต่อร่อยได้ครั้งเดียวก็เข็ดขยาดเพราะท้องเสียโครกครากอยู่สามถึงวัน

ในจำพวกใบไม้ป่าต้มน้ำแกงกินได้คงไม่มีอะไรอร่อยเกินผักหวานพม่า มันคงมีชื่ออะไรสักอย่างแต่เราเรียกว่าผักหวานเพราะยอดที่เราเก็บได้ตามพุ่มข้างทางซึ่งมีสีเขียวอ่อนๆ ระบัดใบตลอดทางเดินนั้นทำน้ำแกงรสชาติไม่ต้องพึ่งผงชูรสเลย เรียกผักหวานพม่าเพราะอยู่ข้างฝั่งพม่า ไม่เคยพบเห็นข้างฝั่งไทย

สุดท้ายไม้ไผ่ก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของป่าฝั่งพม่า เป็นไผ่ที่ได้รับฝนมาก โตเร็ว ปล้องยาว ได้แก่ ไผ่ดำ และไผ่มัน ไผ่ดำมีผิวสีเขียวคล้ำ ส่วนไผ่มันมีผิวลื่นมันๆ ขึ้นอยู่ทั่วไปตั้งแต่ริมห้วยมืดครึ้มจนถึงสันเขาในหมอกพร่างพราว เนื่องจากมีลำปล้องยาวจึงเหมาะที่จะเอาลำต้นมาจักตอกทำเครื่องจักสาน

ผมเดินไปเดินมาระหว่างฝั่งไทยและพม่าในเขตตะนาวศรีทำให้รู้สึกได้ว่า ด้วยธรรมชาติที่เหมาะสมและในจำนวนประชากรที่ไม่มากนัก ชีวิตคนเราที่จริงก็สามารถอยู่ได้ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ง่ายๆ ที่อยู่นั้นคือป่า อาหารป่าก็ให้มาแล้วครึ่งหนึ่ง เราลงแรงปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อีกครึ่งหนึ่ง มีแต่เสื้อผ้านุ่งห่มและหยูกยาเท่านั้นที่ซื้อจากการผลิตของเมือง

นอกเหนือจากความเรียบง่ายขึ้นไป มักจะเป็นความหรูหราซึ่งกำหนดจาก มาตรฐานการครองชีพและการตลาดที่สลับซับซ้อน ยิ่งกว่านั้นยังมีความโลภหลงในวิถีของทุนนิยม เพื่อสนองตอบต่อความจำเป็นที่สมมุติ อำนาจ และตัณหา คนบางคนก็รักที่จะให้เกียรติยศหน้าตามาก่อน การบริโภคและนิยมในวัตถุ บางครั้งจึงเป็นเพียงการอวดโอ่ต่อกันเท่านั้น

การดิ้นรนแข่งขันเพื่อความสูงส่งทำให้ประเทศเจริญก็จริง แต่มากไปทำให้เสียสมดุล เกิดมลพิษทั้งทางธรรมชาติและจริยธรรม ยิ่งไปกว่านั้น มันทำให้ความเป็นปัจเจกชนสูงจนห่างเหินจากความเป็นชุมชนและสังคม ทำให้ขาดการคิดถึงองค์ประกอบใหญ่ของการอยู่ร่วมกัน หรือแม้แต่การเอื้อเฟื้อต่อกันเล็กๆน้อยๆ

วิถีชีวิตไม่ได้บ่งชี้ความโง่หรือฉลาด แต่มาตรฐานที่ต่างกันทำให้คนเรามองคนอื่นด้วยสายตาที่เหยียดหยามหรือยอมรับต่างกัน ทั้งๆ ที่คนที่ถูกมองว่าด้อยกว่า

บางครั้งเขาต้องการแค่ปัจจัยที่พออยู่ได้,ความรัก และความงามอีกนิดหน่อยเท่านั้น

********
บันทึกในบทความชุดนี้ ก่อนหน้านี้:
บันทึกอดีตสหายเดือนตุลา:ตะวันตกที่ตะนาวศรี