ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ภายหลังศาลฎีกาไม่รับอุทธรณ์ของนายราเกซ ที่ยื่นร้องคัดค้านความเห็นรมว.ยุติธรรมแคนาดา ที่ให้ส่งตัวเขากลับ
นายราเกซ หรือที่หลายคนรู้จักดีในฉายา "พ่อมดทางการเงิน" ตกเป็นผู้ต้องคดีร่วมกับนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการบีบีซี ในคดียักยอกทรัพย์บีบีซีราว 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,000 ล้านบาท
เนื่องจากมีพฤติกรรมปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงสูงให้แก่นักการเมือง ตกแต่งบัญชีให้มีผลกำไรนับพันล้านบาท เปิดบริษัทกระดาษหลายแห่งเพื่อขอกู้จากบีบีซีแล้วผ่องถ่ายเงินโดยไม่ได้ทำธุรกิจจริง โดยนำที่ดินถิ่นทุรกันดารมาค้ำประกันแล้วตีราคาสูงเกินจริง สร้างเกมเทกโอเวอร์หุ้นในตลาดหลัก ทรัพย์ โดยแบงก์บีบีซีสนับสนุนเงินกู้ในการเทกโอเวอร์ให้นักการเมือง เป็นเหตุให้บีบีซีต้องล้มละลาย และธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ายึดกิจการไปบริหารจัดการแทน
ปี 2539 นายราเกซ หนีคดีไปอยู่แคนาดา และถูกตำรวจออกหมายจับเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ปี เดียวกัน อีก 1 เดือนต่อมา คือวันที่ 7 ก.ค. ตำรวจไทยร่วมกับตำรวจแคนาดา จับกุมนายราเกซ ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองแวนคูเวอร์ และถูกคุมขังในคุกเมืองแวนคูเวอร์
นายราเกซ แสดงเจตนาไม่ต้องการกลับมาขึ้นศาลในไทย และติดต่อให้นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ เป็นทนายความแก้ต่างในชั้นศาลไทย ฝ่ายไทยทำหนังสือถึงรมว.ยุติธรรมแคนาดา คัดค้านการประกันตัว
ปี 2546 นายมาร์ติน คูชอน รมว.ยุติธรรมของแคนาดา มีคำตัดสินให้ส่งตัวราเกซให้ทางการไทย นายราเกซ ยื่นอุทธรณ์ อ้างว่าถ้ากลับมาไทยจะถูกสังหารหรือถูกทารุณ แต่วันที่ 11 มิ.ย. 2552 ศาลอุทธรณ์มณฑลบริติชโคลัมเบีย มีคำพิพากษาเห็นตามคำตัดสินของรมว.ยุติธรรมแคนาดา
นายราเกซ อาศัยความสลับซับซ้อนของกฎหมายระหว่างประเทศยื้อเวลามากว่า 13 ปี จน หลายคดีหมดอายุความไปแล้วในเดือนก.พ. 2552
ก่อนที่หลายคดีจะหมดอายุความในปี 2553 ศาลฎีกาแคนาดา ยกคำร้องของนายราเกซ ให้ส่งตัวกลับไทย
ขณะที่ นายเกริกเกียรติ พร้อมผู้บริหารระดับสูงหลายคนของบีบีซี ถูกจับกุมดำเนินคดีฐานฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ รวมถึงความผิดตามพ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ และพ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ หลายคดี 1 ม.ค. 2548 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาจำคุก นายเกริกเกียรติ 3 คดี คดีละ 10 ปี รวมเป็น 30 ปี ปรับ 3,330 ล้านบาท ทั้งหมดอยู่ระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
การส่งตัวนายราเกซ กลับมาดำเนินคดีที่เมืองไทย ส่งผลกระทบต่อวงการการเมือง เนื่องจากการล้มของแบงก์บีบีซี มีนักการเมืองไทยและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้เข้าไปมีส่วนพัวพันด้วย
เดือนพ.ค.ปี 2539 รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา สั่งปิดธนาคารบีบีซี ภายหลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำข้อมูลการทุจริตฉ้อฉลที่สลับซับซ้อนมาอภิปรายเปิดโปงอย่างละเอียด ถือเป็นข้อมูลเด็ดที่ประชาชนไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับการฉ้อโกงอย่างมโหฬารของธนาคารอย่างนี้มาก่อน จนประชาชนแห่ถอนเงินจากธนาคาร
เจตนาของนายสุเทพ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านขณะนั้นต้องการเล่นงานและเอาคืนกลุ่ม 16 ที่เคยเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และตัวเขา กรณีส.ป.ก.4-01 จนนายชวน หลีกภัย ต้องประกาศยุบสภา ในเดือนพ.ค. 2538
หลังการเลือกตั้ง 2 ก.ค. 2538 พรรคชาติไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล นายบรรหาร เป็นนายกฯ ขณะที่แกนนำกลุ่ม 16 ได้บำเหน็จเป็นเก้าอี้รัฐมนตรี ประกอบด้วย นายเนวิน ชิดชอบ เป็นรมช.คลัง นายสุชาติ ตันเจริญ รมช.มหาด ไทย ว่าที่ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี รมช.พาณิชย์
การอภิปรายของนายสุเทพ ส่งผลให้ทั้งหมดต้องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 23 พ.ค. 2539 แต่ไม่มีใครถูกดำเนินคดี
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2547 ว่า เขาเคยไปพบนายราเกซ ที่แคนาดา นายราเกซสารภาพว่าให้เงินใครบ้าง โดยทำเอกสารและเซ็นชื่อรับรองไว้ด้วย
เมื่อนายราเกซ ถูกนำตัวกลับไทยจริงๆ ในวันนี้ จึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงเอกสารหลักฐานที่นายกอร์ปศักดิ์ อ้างว่ามีอยู่ในมือนั้นมีจริงหรือไม่
ขณะที่ นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ อดีตที่ปรึกษากฎหมายของนายราเกซ ระบุว่า สำเนาบันทึกคำให้การของนายราเกซ เป็นการรวบรวมการทำหน้าที่สมัยเป็นที่ปรึกษาบีบีซี ไม่พบในคำให้การมีการพาดพิงถึงกลุ่ม 16 แต่หากมีข้อมูลใหม่ที่พาดพิงถึง เชื่อว่าไม่มีใครเปลี่ยนแปลงความถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมได้
ด้านนายเนวินปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีของนายราเกซ จึงไม่รู้สึกกังวลหากนายราเกซ จะถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย และได้เคลียร์บัญชีธุรกรรมทางการเงินกับบีบีซีหมดไปนานแล้ว
เช่นเดียวกับ นายสนธยา คุณปลื้ม ที่มองว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรและไม่รู้สึกวิตกกังวล
เรื่อง"เอกสารลับ" ยังไม่กระจ่าง
พรรคประชาธิปัตย์จะใช้เรื่องนี้เป็นเกมสกัดพลังต่อรองของพรรคภูมิใจไทย หรือไม่
หรือว่าจะใช้ประเด็นการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของนายราเกซ มาข่มขู่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ยืมมือเพื่อนบ้านไทยเคลื่อน ไหวอยู่ในขณะนี้
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป