เป็นข่าวครึกโครมกันมากว่าสองอาทิตย์ กรณีกรมทางหลวงได้ทำการขยายพื้นที่ถนนหลวงสาย 2090 หรือถนนธนะรัชต์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จากสองเลนเป็นสี่เลน เป็นระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร และมีการตัดต้นไม้ใหญ่อายุหลายสิบปีไปถึง 128 ต้น
และได้รับการคัดค้านจากนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงนักอนุรักษ์ธรรมชาติ และผู้คนในเครือข่ายเฟซบุ๊กจำนวนมาก ขณะที่ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศจะเดินหน้าต่อไปให้สิ้นสุดโครงการ เปิดฉากวิวาทะกันทางสื่อ สุดท้ายนายกรัฐมนตรีได้ประกาศชะลอโครงการขยายพื้นที่ถนนออกไปก่อน
อันที่จริงโครงการขยายพื้นที่ถนนสายนี้ ได้เริ่มก่อสร้างอย่างเงียบๆ มาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว แต่ไม่มีนักการเมืองคนใด พรรคใด ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านออกมาโวยวาย เพราะต่างได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า
ต้องยอมรับว่าที่ดินสองข้างทางของถนนธนะรัชต์ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ของชาวปากช่องมานานแล้ว แต่ถูกเปลี่ยนมือเป็นของบรรดาผู้มีอันจะกิน บรรดาอภิสิทธิ์ชน หรืออำมาตย์ในคราบนักการเมืองของทุกพรรค มาซื้อเป็นบ้านหลังที่สอง โดยเฉพาะหมู่บ้านที่มีชื่อแบบเคาบอย
รัฐมนตรีหรือพรรคฝ่ายค้านที่ออกโรงทะเลาะกัน ก็ล้วนแต่มีบ้านหลังที่สองในหมู่บ้านแห่งนี้กันทั้งนั้น
การขยายพื้นที่ถนนล้วนแต่สร้างความปรีดาให้กับคนเหล่านี้เสมอมา แน่นอนว่าราคาที่ดินย่อมเพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากการทำความเร็วได้มากขึ้นในการขับขี่
เหตุผลการขยายพื้นที่ถนนนั้น ทางกรมทางหลวงบอกว่าเพื่อลดความแออัดของการจราจร เพราะมีผู้ใช้ถนนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ผู้รับผิดชอบไม่กล้าบอกให้หมดคือ
ผลประโยชน์การตัดถนนในประเทศไทย เป็นรายได้หลักและรายได้อันแน่นอนของนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย ใครขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ก็จะต้องมีโครงการตัดถนนมูลค่าหลายหมื่นล้าน ตัดเสร็จก็ตั้งงบประมาณซ่อมถนนทันที โดยบริษัทผู้รับเหมาเจ้าเดิม จนทำให้ต้องมีการแยกกันทำมาหากิน จากกรมทางหลวงก็ขยายเป็นกรมทางหลวงชนบท
สมัยก่อนนักการเมืองมักมีผลประโยชน์จากการตัดไม้ ทำลายป่า ค้ายาเสพติด แต่ระยะหลังซบเซาลงตามสถานการณ์โลก ไม่เหมือนการตัดถนนที่เป็นแหล่งสร้างเงินอมตะนิรันดร์กาล
ใครเคยผ่านงานเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เรียกได้ว่าเป็นพวก สามล้อถูกหวย จากคนธรรมดากลายเป็นคนอู้ฟู่มีเงินถุงแบบก้าวกระโดดขึ้นมาทันที
เพื่อนชาวต่างชาติเคยบอกว่า ประเทศไทยมีโครงข่ายถนนทางหลวงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่เส้นทางคมนาคมทางน้ำและรถไฟล้าหลังที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเช่นกัน
และเพื่อนบอกว่าเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมการตัดถนนที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีแสนธรรมดา แต่เหตุใดค่าก่อสร้างถนนในเมืองไทยถึงแพงมหาศาล ทุกวันนี้ถนนทางหลวงมีราคาค่าก่อสร้างกิโลเมตรละ 10 กว่าล้านบาท เรียกได้ว่าแทบจะเอาทองคำมาปูพื้นผิวถนนได้เลย
โครงการขยายพื้นที่ถนนธนะรัชต์ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นักการเมืองหรือข้าราชการผู้เกี่ยวข้องไม่เคยสนใจหรอกว่า จะต้องตัดต้นไม้ไปกี่ต้น ที่ผ่านมาพวกเขาก็ทำแบบนี้มาโดยตลอด เพราะต้นไม้เหล่านี้แม้จะมีอายุหลายสิบปีหรือร่วมร้อยปี ก็มีคุณค่าแค่เนื้อไม้ที่ไปทำบ้านหรือเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น ไม่ได้ไปตีค่าในเชิงนิเวศเลย
แต่บังเอิญมีนักข่าวบางฉบับไปพบเห็น มาทำข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ เท่านั้นแหละ เจ้ากระทรวงฝ่ายหนึ่งก็ออกมาคัดค้านอย่างขึงขัง กะแจ้งเกิดเป็นวีรบุรุษเขาใหญ่ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็รู้เรื่องนี้มานานแล้ว ขณะที่เจ้ากระทรวงอีกฝ่ายหนึ่งก็แสดงบทปกป้องผลประโยชน์ของพรรคพวกอย่างเต็มที่ เพราะของมันเคยชิน แถมวางก้ามขู่คนที่ออกมาคัดค้าน
สุดท้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบพรรคประชาธิปัตย์ คือช่วง กม.ที่ 2-10 ที่สร้างแล้วก็แล้วกันไป ส่วน กม.ที่ 11-16 ให้ระงับโครงการไว้ก่อน และตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องราว และเป็นที่คาดได้ว่า พอเรื่องเงียบไป โครงการที่ถูกระงับก็น่าจะสร้างได้ต่อไป เพราะระงับ ไม่ใช่ การยกเลิก
ส่วนในอนาคตกระทรวงคมนาคม จะมีการสร้างถนนผ่านป่าอีกหลายสาย ทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังก่อสร้าง อาทิ เส้นเชียงใหม่-ลำพูน ป่าแม่ปิง-อมก๋อย เส้นภูเขียว-น้ำหนาว เส้นตาก-ขอนแก่น เส้นสุราษฎร์-ตะกั่วป่า เส้นพัทลุง-ตรัง ฯลฯ
นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยกล่าวว่า "พื้นที่ป่าทั้งหมดก่อนที่จะมีถนนผ่านนั้น ประเมินความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมเอาไว้ดีมาก เช่น ที่ป่าแม่ปิง-อมก๋อย ก่อนหน้านี้ มีนกเงือกและสัตว์ใหญ่ชุกชุมมาก แต่วันนี้ไม่มีใครเห็นนกเงือก เสือ หมี อีกแล้ว หรือทางหลวงสาย 3259 พนมสารคาม-คลองหาด บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีการทำวิจัยพบว่ามีสัตว์ป่าถูกรถชนตายมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะตอนกลางคืน ปีละนับหมื่นตัว"
นายกรัฐมนตรีก็คงปล่อยให้เจ้ากระทรวงดำเนินโครงการไปตามปกติ ด้วยความเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาล ยกเว้นจะตกเป็นข่าวแบบกรณีขยายถนนบนพื้นที่เขาใหญ่
ไม่น่าแปลกใจ ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แทนที่คุณอภิสิทธิ์จะปรับรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาในเรื่องการทุจริตจากฝ่ายค้าน ให้ออกจากตำแหน่ง ตามมารยาททางการเมือง แต่ถือโอกาสปรับรัฐมนตรีคนอื่นที่ไม่ถูกอภิปรายไว้วางใจออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผล เพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ส.คนอื่นได้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรีครั้งหนึ่งในชีวิต แบบสมบัติผลัดกันชม ยกเว้นคนใกล้ชิดนายกฯ ที่ได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า และไม่ยอมปรับรัฐมนตรีที่มีมลทินตามประกาศิตของคุณเนวิน ชิดชอบ ผู้จัดการรัฐบาลตัวจริง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจออกมาว่า ปรับรัฐมนตรีครั้งนี้ ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย เพราะมีแต่นักการเมืองที่ได้กับได้อย่างเดียว
ด้วยเหตุผลความมั่นคงทางการเมือง ความเกรงใจพรรคร่วม และผลของการเลือกตั้งสมัยหน้า คุณอภิสิทธิ์จึงกล้าแหกกฎเหล็ก 9 ข้อของตัวเอง โดยเฉพาะข้อที่สอง "ให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด"
อาวุธสำคัญของคุณอภิสิทธิ์คือภาพลักษณ์ที่ดี และคำพูดที่ทำให้เขาสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แต่นับจากนี้เป็นต้นไป สงสัยว่า เมื่อนายกฯพูด จะมีคนฟังเหมือนเดิมอีกหรือไม่
ต้นทุนทางสังคมและภาพลักษณ์ของนักการเมืองรุ่นใหม่ท่านนี้ที่เป็นขวัญใจชนชั้นกลางกำลังติดลบลงเรื่อยๆ จากการที่ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง
ระวังกระแสในเฟซบุ๊กที่กำลังคลั่งไคล้ศิษย์เก่าออกซ์ฟอร์ดคนนี้ อาจจะตีกลับในพริบตา