คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "โศกนาฏกรรมจากราชดำเนินสู่ราชประสงค์” ในโอกาสครบรอบหนึ่งเดือน ของการสลายการชุมนุม ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3ตึกเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้เข้าร่วมการอภิปรายอาทิ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชนดร.จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์พฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวายอิ เข้าร่วมการอภิปราย
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ได้กล่าวในหัวข้อที่ว่า "รัฐบาลและสื่อกับการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง"ว่า ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลได้ปิดกั้นสื่ออินเทอร์เน็ตปิดสื่อของฝ่ายตรงข้าม จับกุมคุมขังบรรณาธิการ โดยอ้างว่าเพื่อจัดการกับสื่อต้องการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและนำไปสู่ความรุนแรงและรัฐบาลได้ย้ำว่าปฏิบัติการเหล่านั้นมิใช่การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใดแท้ที่จริงปฏิบัติการของรัฐบาลคือการปิดกั้นควบคุมสื่อและข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับรัฐบาลและกองทัพในการการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือกลุ่มเสื้อแดง
รัฐบาลได้อาศัยอำนาจพรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551และพรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548ปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง ดังนี้
1. ออกอากาศคำสั่งและประกาศของศอ.รส. และ ศอฉ. ในลักษณะรวมการเฉพาะกิจ
2. เซ็นเซอร์สื่อท้องถิ่น เช่นวิทยุชุมชุน เคเบิลทีวี โดยมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ยั่วยุปลุกปั่นประชาชน
3. สั่งปิดเว็บไซต์ 36 เว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่อาจส่งผลต่อความมั่นคง
4. แทรกแซงสื่อกระแสหลักโดย ให้ระงับรายการหรือคอลัมน์หรือตัวนักข่าว, ให้ระงับการเสนอภาพลบของปฎิบัติการทหาร เช่นภาพทหารประทับปืนเล็ง, ให้ใช้ถ้อยคำ/วาทกรรมของฝ่ายรัฐ เช่น การขอคืนพื้นที่การกระชับวงล้อม, ข่มขู่คุกคามและสร้างความหวาดกลัวต่อสื่อมวลชนในช่วงการสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ด้วยการยิงผู้สื่อข่าวจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวม9 คน(ผู้เสียชีวิตเป็นนักข่าวต่างประเทศ 2 คน), และตรวจค้นบังคับให้ลบภาพถ่าย
คำถามคือเหตุใดสื่อมวลชนจึงตกเป็นเป้าหมายของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพถูกปิดกั้นด้วยการใช้ความรุนแรงขั้นสูงสุด(ถ้าพวกเขาไม่ได้ถูกยิงโดยบังเอิญ)ภาพการสลายการชุมนุมที่ประชาชนถูกยิงเสียชีวิต90คนและบาดเจ็บนับพันเป็นภาพที่ฝ่ายรัฐต้องการปกปิดกระนั้นหรือถ้าเป็นเช่นนั้นคำถามที่ตามมาคือมีอะไรบ้างที่ต้องปกปิดรัฐบาลต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงและตอบคำถามกับสังคมและผู้เสียหายอย่างเร่งด่วนอาทิต่อรัฐบาลญี่ปุ่นและครอบครัวของนักข่าวชาวญี่ปุ่นจากสำนักข่าวรอยเตอร์สที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่10 เมษายน
เทคนิคต่างๆที่ศอฉ.ใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อเช่น เลือกกล่าวโจมตีที่ตัวบุคคล, ใช้คำ วลี ประโยคที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามน่ารังเกียจและน่ากลัว, การตัดต่อภาพและการอ้างอิงคำพูดนอกบริบท, การพูดความจริงเพียงแค่เพียงบางส่วน, การเบี่ยงเบนความสนใจออกจากประเด็นหลัก, ปิดกั้นช่องทางสื่ออื่นๆรวมทั้งเทคนิคการสร้างความนิยมในบุคลิกลักษณะของตัวผู้โฆษณาชวนเชื่อ เช่น การเสนอภาพความน่าคลั่งไคล้“ไก่อู”ในฐานะ“ผู้ก่อการรัก”
อ.พฤกษ์ เถาถวิล กล่าวว่าพื้นที่ในชนบทมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว มากและเป็นที่มาของการจ้างแรงงาน ไม่ว่าทางอุตสาหกรรมและทางเกษตรกรรม แต่ความจริงแล้วพบว่าประชาชนที่ทำอยู่ในภาคเกษตรกรรมนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริง และรายได้ที่เกิดขึ้นก็เป็นจำนวนเพียงน้อยนิดและมีความสัมพันธ์กับสถาบันตลาด ซึ่งมีความไม่แน่นอนและยังจำเป็นต้องพึ่งพานโยบายรัฐ วิถีของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เปลี่ยนประชาชนในชนบทให้เป็นผู้ตื่นตัวทางเศรษฐกิจ แต่คนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็ยังมีความเข้าใจต่อคนชนบทว่ายังมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายเช่นเดิม อาจกล่าวได้ว่าชนบทคือพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ซึ่งรัฐต้องการเข้าไปควบคุมอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องอันเนื่องจากประชาชนมีความตื่นตัวในระบบเสรีชนประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้จำเป็นต้องสร้างนโยบายบางอย่างเพื่อให้ประชาชนเกิดความภักดีและเพื่อควบคุมประชาชนให้ดำเนินชีวิตตามแนวความคิดของรัฐบาลนอกจากนั้นปัญหายังเกิดจากหน่วยงานเอ็นจีโอต่างๆที่พยายามลดทอนความเป็นการเมืองออกจากการพัฒนาชนบท และประชาชนของเอ็นจีโอคือประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องและฝักไฝ่การเมือง โดยมีที่มาจากความเบื่อหน่ายระบบการเมืองซึ่งวิธีคิดเช่นนี้ทำให้เกิดเส้นแบ่งขึ้นระหว่างประชาชนที่มีสิทธิ์และไม่มีสิทธิ์ทางการเมือง และนั่นทำให้เอ็นจีโอและชนชั้นสูงกลายเป็นพวกเดียวกันโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี พศ. 2500 ได้มีความพยายามจากรัฐที่ออกนโยบายการพัฒนาชนบทซึ่งนั่นทำให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในเวลาต่อมาหลังจากนั้นกระแสของโลกาภิวัฒน์ก็ทำให้เกิดความเชื่อมต่อระหว่างโลกภายในและโลกภายนอกมากขึ้นก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชาชนในชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ซึ่งนั่นเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาสร้างฐานะทางเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสทางการศึกษามากขึ้นซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ชนชั้นนำเกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถตั้งรับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทันการที่ประชาชนจากชนบทอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อโอกาสทางเศรษกิจซึ่งนั่นทำให้พื้นที่ต่างๆเกิดการพัฒนาที่รวดเร็วเกินไปจนเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยมากขึ้น ซึ่งนั่นก็ทำให้“ประชาชนนอกระบบ”เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามไปด้วยดังนั้นการขับเคลื่อนทางการเมืองของคนเสื้อแดง ก็ถึงจุดที่ต้องการเรียกร้องพื้นที่ให้กับตนเอง โดยมีกลไกทางสารสนเทศใหญ่ๆที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและสำนึกทางการเมืองใหม่ๆด้วย ส่วนสื่อมวลชนเองก็ทำให้เกิดการตีความด้านข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะสื่อทางการเมืองที่แสดงความคิดเห็นในทางตรงข้ามกับรัฐบาล มีการระดมพลสร้างเครือข่ายใหม่ๆซึ่งมีการซ้อนทับกันหลายครั้ง มีการสร้างอัตลักษณ์ทางการสื่อสารอย่างแพร่หลาย เช่น สถานีวิยุท้องถิ่นที่ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร ซึ่งนั่นทำให้เกิดผู้นำทางความคิดในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนั้นการศึกษาที่สูงขึ้น ก็ทำให้ประชาชนเกิดการขยับฐานะ มีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและกำหนดชีวิตของตนเองได้มากขึ้น โดยสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนอื่นๆในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและมีเกียรติได้เท่ากับคนอื่นๆเช่นกัน
ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า มาตรการการกระชับพื้นที่ของรัฐบาลมีความสัมพันธ์กับระบบทุนและระบบบริโภคซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชนชั้นกลางโดยตรงเนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของชนชั้นกลางที่เกี่ยวข้องกับการใช้สถานที่ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางเข้าใจว่าสถานที่นั้นมีความเกี่ยวข้องและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเมื่อพื้นที่นั้นถูกบุกรุกก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจที่พื้นที่ที่มีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมบริโภคถูกนำไปใช้ด้วยวัตถุประสงค์อย่างอื่นส่วนมาตรการการทางการเมืองต่างๆที่รัฐพยายามสร้างขึ้นมานั้นอาจก่อให้เกิดภาพซึ่งประชาชนเกิดความคาดหวังว่ามันจะเป็นความหวังสูงสุดและทำให้เกิดภาพทางอุดมคติของธุรกิจและเศรษฐกิจทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นซึ่งแท้จริงแล้ว“ชุดแบบแผนปฏิบัติ” ที่กลวงเปล่าเช่นนี้ มีหลักการและแบบแผนปฏิบัติที่ชัดเจนแน่นอนโดยที่ทุกคนต้องปฏิบัติและมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันทั้งหมดส่วนการเลือกตั้งก็ก่อให้เกิดการต่อรองดึงสวัสดิการและผลประโยชน์ด้านต่างๆเข้าสู่ตนเองอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลนักเนื่องจากในความจริงแล้วความมีสวัสดิการและผลตอบแทนนั้นเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมไทยแต่ประชาชนก็ยังคิดว่าอย่างน้อยที่สุดการเลือกตั้งก็อาจจะทำให้เกิดความมีโอกาสบางอย่างในชีวิตขึ้นบ้าง ทั้งๆที่แท้จริงแล้วการเลือกตั้งคือการเข้าไปต่อรองกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้มากที่สุดและเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกับระบบประชานิยม
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กล่าวว่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเกิดการต่อสู้ทางการเมืองของคนหลายระดับ มีการเดินขบวนและชุมนุมของคนต่างจังหวัดทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เกิดกลุ่มคนใหม่ๆขึ้นในสังคมพร้อมกับคำอธิบายใหม่ๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางการเมือง คำว่าไพรหรืออำมาตย์ก่อให้เกิดคำถามทางการเมืองไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน สิ่งที่คนเสื้อแดงต้องการพูดถึง ก็คือการสร้างเจตจำนงทางการเมืองใหม่ๆและนำสิ่งนั้นลงมาสู่ชนชั้นล่างของประเทศ ส่วนชนชั้นบนกลับคิดว่านั่นคือความคุ้มคลั่ง เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และคาดหมายไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่ไม่ได้มีความเกลียดชังต่อทักษิณโดยตรงจำเป็นต้องเลือกข้างที่ตนเองเห็นว่าปลอดภัยกว่าและคิดว่าสิ่งที่คนเสื้อแดงทำนั้นไกลเกินที่จะควบคุมและสั่นคลอนความเชื่อบางอย่างในสังคมไทยทำให้สังคมการเมืองที่เคยเชื่อว่ามีความคิดแบบเดียวกันมาตลอดเกิดรอยแยกทางความคิดซึ่งนั่นทำให้ชนชั้นกลางหันไปยอมรับวิธีการใดๆก็ตามที่สามารถกำจัดกลุ่มคนเสื้อแดงได้หลังจากนั้นก็ทำให้เกิดการยอมรับให้มีการใช้อำนาจพิเศษและเครื่องมือทางกฏหมายเพื่อจัดการบางสิ่งบางอย่างได้โดยชอบธรรมสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการนิยามว่าปํญหาการเมืองไทยนั้นเกิดขึ้นเพราะการผูกขาดอำนาจของรัฐบาลสิ่งที่ควรพิจารณาไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีกก็คือรัฐบาลควรหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ในด้านการต่อสู้ทางความคิดก็คืออำนาจทางอธิปไตยนั้นไม่ควรผูกขาดโดยรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวและประชาชนในสังคมจำนวนมากในสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมีสิทธิที่จัดตั้งพื้นที่ทางความคิดของตนเองได้และเราก็ควรล้มเลิกความคิดที่ว่ารัฐบาลสามารถผูกขาดอำนาจทางอธิปไตยได้แต่เพียงฝ่ายเดียวเราอยู่ในสังคมที่“การฆ่า”เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไทย แต่เราเองก็ควรหาวิธีการที่ไม่ยอมรับการฆ่านั้นให้ได้การเปลี่ยนระบบการเมืองเป็นเรื่องธรรมดาอาจจะต้องมีการเผชิญหน้าและต่อสู้กันบ้างแต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีการฆ่าและประชาชนที่คิดว่าสังคมที่ตนอาศัยอยู่ไม่มีความยุติธรรมเพียงพอก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน