ที่มา Thai E-News
ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น สมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 และ คุณวัฒนา สุขวัจน์ (รุ่งโรจน์ วรรณศูทร)
โดย รุ่งโรจน์ วรรณศูทร
นโยบายหลัก 2 ด้าน 6 ประการ ต่อพลังการผลิตพื้นฐานของประเทศ
1 พฤษภาคม 2554
นโยบาย ที่มีผลต่อพลังการผลิตพื้นฐาน 2 ด้านของประเทศ (ส่วนขยายจาก "ข้อเสนอ 6 ข้อเพื่อสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์") มีนโยบายด้านแรงงานนอกภาคเกษตรกรรม คือภาคอุตสาหกรรมและบริการ 3 ประการ คือ
1. ใช้ "ระบบ 3-8" ในการทำงาน คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และใช้เวลาสันทนาการและเพิ่มเสริมศักยภาพในการผลิต 8 ชั่วโมง การทำงานล่วงเวลา "ต้อง" อยู่บนพื้นฐาน "ความสมัครใจ" เพียงมาตรฐานเดียว
หลักการสำคัญในประเด็นนี้ คือ คนทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน ที่จะมีชีวิต มีงานเลี้ยงชีพ และได้รับโอกาสพักผ่อนและแสวงหาความรู้เพื่อยกระดับสภานภาพของตน โดยไม่ถูกกีดกันด้วย "สภาพการบังคับของระบบการผลิต"
2. ยกเลิกระบบจ้างเหมา และยกเลิกระบบค่าแรงขั้นต่ำที่พิจารณา 3 ฝ่าย "นายจ้าง-ลูกจ้าง-รัฐ" เปลี่ยนเป็นใช้การพิจารณาค่าแรงตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นจริง โดยการเพิ่มเติมตัวแทน "เกษตรกร" (เนื่องจากรากฐานการผลิตของไทยยังไม่เป็นสังคมอุตสาหกรรมเต็มตัว จึงมีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิตทั้ง 2 ภาค มาตลอด แรงงานภาคอุตสหากรรมตามฤดูกาลนี้เอง ที่ตกอยู่ในสภาพ "จำยอม" ด้วยเหตุผลที่ว่าการมีรายได้ภาคการผลิตในเมืองบ้าง ดีกว่าไม่มีรายได้นอกฤดูทำการเกษตร) และ "ตัวแทนพรรคการเมือง" (ผลักดันในพรรคการเมืองมีระเบียบวาระ และนโยบายหลักที่ชัดเจนต่อพลังการผลิตพื้นฐานของประเทศ นอกเหนือจากนโยบายเฉพาะหน้าเพื่อหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งๆไป) เข้าไปด้วย
ปัจจุบัน "ค่าแรงขั้นต่ำ" คือมาตรฐานที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ในเงื่อนไขต่ำที่สุดของปัจจัยสี่ ซึ่งวางระบบโดย "ผลประกอบการของนายทุน" และ "การสมคบกันกับรัฐปฏิกิริยา ที่เป็นปฏิปักษ์กับมวลชนผู้ใช้แรงงาน" ถูกกำหนดโดย "แรงงานขั้นต่ำ" ที่บีบบังคับให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตเหนือ "เศษเดนชีวิต" เล็กน้อย
3. ประกันการมีงานทำของพลเมืองบนพื้นฐานการผลิตจริงและ ทิศทางการพัฒนาประเทศ การปล่อยให้แรงงานนอกระบบ อาทิ ผู้รับใช้ในครัวเรือน พนักงานบริการในกิจการขนาดเล็ก เช่น เด็กปั๊ม ลูกจ้างร้านอาหาร และกระทั่งแรงงานไร้ฝีมือในกิจการก่อสร้างขนาดเล็ก หรือผู้รับเหมาพื้นบ้าน ถูกจำกัดรายได้ในลักษณะ "กำหนด" เองของนายจ้าง เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแรงงานข้ามชาติ ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงาน "ผิดกฎหมาย" และไม่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งประเด็นนี้มีความสัมพันธ์อย่างแยกกันไม่ออกกับปัญหาแรงงานขั้นต่ำ
นั่นหมายความว่าเป็นความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะต้องเกิด "พรรคการเมืองของประชาชน" ที่ประกาศนโยบายชัดเจนทำนองนี้ และจะสามารถได้รับเสียงสนับสนุนหรือฐานเสียงที่เป็นสมาชิกพรรคจากผู้ใช้แรงงานขนาดมหึมาได้
สำหรับหลักนโยบายต่อภาคเกษตรกรรม 3 ประการนั้น ปรับปรุงจากบทความ "หลักนโยบาย 3 ข้อ แก้ปัญหาเกษตรกร" พิมพ์ครั้งแรก THAIFREEDOM ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ปักษ์แรก มีนาคม 2553 คอลัมน์ เปิดหน้าปล่อยการ์ด มีเนื้อหาสำคัญคือ
1. สิทธิในการครอบครองปัจจัยการผลิตพื้นฐาน คือ "ที่ดิน" ต้องเป็นของเกษตรกร
2. ควบคุมต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร 4 ด้าน
- เมล็ดพันธุ์ (ปัจจุบัน ผลผลิตที่ดีมาจากเมล็ดพันธุ์ที่เป็น "หมัน")
- เครื่องจักรการเกษตร ที่อยู่ในมือกลุ่มผูกขาด
- "ปุ๋ย" ที่อยู่ในมือของกลุ่มผูกขาดที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมือง/นักการเมืองและข้าราชการ
- การจัดสันน้ำและการชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม "เป็นหลัก"
3. การกำหนดราคาขายผลิตผลการเกษตรพื้นฐาน (ไม่ใช่เกษตรอุตสาหกรรม) อย่างเป็นธรรมต่อผู้ผลิต คือ "เกษตรกร" เนื่องจากปัจจุบันการกำหนดราคาตกอยู่ใต้อิทธิพลของ "กลุ่มผูกขาดการส่งออก"