ที่มา Thai E-News
ขบวนการแรงงานส่วนหนึ่งก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ”ผู้นำขุนนาง” ที่ชักชวนคนงานให้นิยมชมชอบสนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยมและระบอบอำมาตยาธิปไตย ทั้งๆที่เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงในการสร้างขบวนการแรงงานให้ก้าวหน้า ดังนั้น ผู้ใช้แรงงานจึงต้องอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย กรรมาชีพจึงต้อง “สีแดง” เท่านั้น
โดย เปลวเทียน ส่องทาง
30 เมษายน 2554
1.“วันกรรมกรสากล” มิใช่ “วันแรงงานแห่งชาติ”
“วันกรรมกรสากล”กำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2433 เพื่อรำลึกถึงจิตใจกล้าสู้กล้าเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของชนชั้นแรงงานทั่วโลก เป็นการรำลึกถึงและสืบทอดเจตนารมณ์ประวัติศาสตร์การต่อสู้
เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานเป็น “ระบบสามแปด” หมายถึงทำงานวันละ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง อันเป็นการสะท้อนถึงชีวิตมนุษย์ที่ต้องการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับความยุติธรรม มีเวลาพักผ่อนร่างกายจิตใจ และพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์
“วันกรรมกรสากล” ถูกชนชั้นปกครองอำมาตย์ไทย ได้บิดเบือนให้กลายเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” เพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน ถูกครอบงำด้วยอุดมการ “พระเดชพระคุณ” เหนือกว่าว่า อุดมการ “ชนชั้น” เพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก
และเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสยบยอมจำนนต่ออำนาจที่เหนือกว่า มากกว่าการตระหนักถึงการกดขี่ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอนให้เป็นเพียง “หุ่นยนต์” หรือ “สินค้า” ในระบบทุนนิยม
ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานไทย(ทั้งแรงงานภาคอุตสาหกรรม แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคเกษตรกรรม) ในขั้นตอนเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงดำรงอยู่ในสังคมไทยทางภววิสัย
ผู้ใช้แรงงานจึงต้องเข้าร่วมต่อสู้สามัคคีกับชนชั้นต่างๆในการสร้าง”ประชาธิปไตย” เพื่อลดทอนอำนาจของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ปลดปล่อยสิทธิเสรีภาพ
“ประชาธิปไตย” เป็นการปกครองที่ประชาชนทุกคนเลือกผู้ปกครองผู้บริหารประเทศได้ด้วยตนเอง
ทุกคนเท่ากัน หมายถึงทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ไม่ว่าเป็นเศรษฐีหรือยาจก เป็นนายทุนหรือผู้ใช้แรงงาน เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นชาติกำเหนิดผู้ดีหรือไพร่ผู้ยากไร้
อำนาจสูงสุดในการปกครองบริหารประเทศ หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มาจากประชาชน
ประชาธิปไตยจักควบคู่กับสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น ในการพูด การเขียน ในการรวมกลุ่มจัดตั้ง จึงสำคัญสำหรับผู้ใช้แรงงานที่มีสิทธิจัดตั้งองค์กรตนเองได้อย่างเสรี
ถ้ามีการปกครองแบบอำนาจนิยมเผด็จการ ปกครองแบบอำมาตยาธิปไตย ผู้ใช้แรงงานมักจักถูกริดรอนสิทธิ์ เช่น
ยุคสมัยการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ที่มีการจับกุมคุมขังนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยุคหลังรัฐประหาร 23 กุมพาพันธ์ 2534 ที่มีการออกกฎหมายทำลายสหภาพแรงงานโดยแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานภาคเอกชน
ยุคสมัยรัฐบาลอำมาตย์สุรยุทธ์-รัฐบาลอภิสิทธิ์ชนปัจจุบัน ก็เคยใช้พระราชบัญญัติฉุกเฉินกำจัดขอบเขตการชุมนุม ตลอดทั้งมีการใช้อุปกรณ์ทำลายโสตประสาทริดรอนสิทธิการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานและประชาชน
ดังนั้น ผู้ใช้แรงงานจึงต้องอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย
กรรมาชีพจึงต้อง “สีแดง” เท่านั้น
2. รัฐสวัสดิการคืออะไร? สำคัญต่อผู้ใช้แรงงานและสังคมไทยอย่างไร?
มนุษย์ทุกคนที่อยู่ในรัฐๆหนึ่ง ไม่ว่ามีอาชีพ ฐานะ ชนชั้นใดๆก็ตาม ล้วนเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมสร้างบ้านแปลงเมือง รัฐในฐานะผู้เก็บภาษี และเกณฑ์ทหาร จึงต้องมีหน้าที่สร้างหลักประกันพื้นฐานให้พลเมืองทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
หลักประกันพื้นฐาน ตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ที่รัฐต้องมีหน้าที่ เช่น ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การรักษาพยาบาล รายได้ สาธารณูปโภค เป็นต้น
โดยการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีรายได้ มิใช่เก็บจากภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างที่เป็นอยู่ และต้องลดการใช้จ่ายงบประมาณกองทัพที่เกินตัว งบประมาณที่ไม่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม งบความมั่นคงที่เอามาใช้ทำลายฝ่ายประชาธิปไตย งบประมาณที่ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย
หลักประกันพื้นฐานนี้มิใช่ “ประกันสังคม” ที่ผู้ใช้แรงงานต้องจ่ายเงินสมทบ
มิใช่ “สวัสดิการชุมชน” ตามแนวทางขุนนางเอ็นจีโอ
หลักประกันพื้นฐานนี้ เรียกว่า “รัฐสวัสดิการ”
หลักประกันพื้นฐานนี้มิใช่ “ประชานิยม” ที่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการ
แต่ “รัฐสวัสดิการ” เป็นหลักประกันพื้นฐานที่เป็นระบอบเดียว ครบวงจร เท่าเทียม และเสมอภาคสำหรับทุกคน
3. รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น?
ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนที่มีผู้ใช้แรงงานเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้เกิด “รัฐสวัสดิการ” นั้น เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าในประเทศอังกฤษ อเมริกา สแกนดิเนเวีย สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และในยุคปัจจุบันที่เกิดขึ้นในประเทศเวเนซูเอล่า
การเมืองการปกครองในประเทศนั้นๆ ล้วนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
ทำให้พรรคการเมืองได้แข่งขันนโยบายหาเสียง หรือทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเสรีภาพรวมกลุ่มเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการต่อพรรคการเมือง หรือผู้ใช้แรงงานจัดตั้งพรรคแข่งขันลงเลือกตั้งเอง
ดังนั้น รัฐสวัสดิการจึงเกิดขึ้นได้ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น มิอาจเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมเผด็จการและระบอบอำมายาธิปไตย
4. ยกระดับการต่อสู้ จาก “ลัทธิสหภาพ” สู่ “จิตสำนึกทางการเมืองทางชนชั้น”
สภาพการดำรงอยู่ที่เป็นจริงของขบวนการแรงงานไทย มีความโน้มเอียงที่ต่อสู้เพียงการต่อสู้ในชีวิตประจำวันและในทางเศรษฐกิจ ระดับโรงงาน หรือตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ”ลัทธิสหภาพ”
แม้ว่าจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของขบวนการแรงงาน แต่ก็มิอาจเพียงพอในการต่อสู้ที่ก้าวหน้าและต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อรัฐสวัสดิการ เพื่ออนาคตชีวิตที่ของผู้ใช้แรงงานที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับชนชั้นอื่นๆ
ขณะที่ขบวนการแรงงานส่วนหนึ่งก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ”ผู้นำขุนนาง” ที่ชักชวนคนงานให้นิยมชมชอบสนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยมและระบอบอำมาตยาธิปไตย ทั้งๆที่เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงในการสร้างขบวนการแรงงานให้ก้าวหน้า และคัดง้างกงล้อประวัติศาสตร์ที่หมุนไปข้างหน้า
รวมทั้งผู้ใช้แรงงานที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้นำแสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยการเอาผู้ใช้แรงงานเป็นเพียงฐานสมาชิกเพื่อการไต่เต้าตำแหน่งในรูปแบบต่างๆ โดยเป็นผู้รับใช้รัฐมาโดยตลอด
ขณะเดียวกัน ผู้นำแรงงานบางคนบางส่วนภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากเอ็นจีโอขุนนาง เช่น สสส. ก็เป็นเพียงการสร้างภาพ ใช้การต่อสู้แบบล๊อบบี้ ประนีประนอมในประเด็นข้อเรียกร้องที่ผู้ใช้แรงงานมักจะเสียเปรียบ มากกว่าการคิดการสร้างขบวนการแรงงานให้เป็นองค์กรนำรวมหมู่ มีประชาธิปไตยขององค์กร และมีพลังอย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้น ขบวนการแรงงานสายก้าวหน้า จักสืบทอดเจตนารมณ์ของ “วันกรรมกรสากล” จึงต้องจัดองค์กร จัดตั้ง จัดศึกษา ขยายสมาชิก ช่วงชิงมวลชนพื้นฐานที่ถูกกรรมกรผู้นำกรรมกรขุนนางครอบงำอยู่ เปิดโปงธาตุแท้ผู้นำกรรมกรขุนนางเหล่านั้น
ช่วงชิงมวลชนพื้นฐานองค์กรแรงงานที่ขุนนางเอ็นจีโอฉวยใช้อยู่
ขยายมวลชนผู้ใช้แรงงานให้เติบใหญ่ทั้งปริมาณและคุณภาพ ยกระดับสู่ “จิตสำนึกทางการเมืองทางชนชั้น”
แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างกับฝ่ายประชาธิปไตย
“สามัคคีคนเสื้อแดงเพื่อสร้างประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ”
………………
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:อนิจจังวัฏสังขารา พันธมารพะงาบๆเจียนตาย เห็บสหภาพรัฐวิสาหกิจโดดหนีล้อฟรีพร้อมเคราแพะ
-ที่นี่ความจริงจาก3อาจารย์สาว:วันกรรมกรสากล และวันจอดับ