ที่มา ประชาไท
ภายใต้บรรยากาศการเลือกตั้งมีการแข่งขันหาเสียงดังที่ปรากฏเป็นข่าวกันอยู่ทุกวัน แต่สิ่งที่เราควรจะช่วยกันหยุดยั้งและต่อต้านคือวาทกรรมดูแคลนสติปัญญาประชาชนที่แฝงมากับการหาเสียง
ฝ่าย ผู้ใช้วาทกรรมเหล่านี้ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับแนวทางและนโยบาย หาเสียงของตนเอง จึงพยายามป้ายสีแนวคิดหรือนโยบายที่ตรงกันข้ามให้กลายเป็น “เรื่องผิด” หรือเป็น “ความเขลา” ที่ประชาชนไม่ควรไปหลงตาม ดังนั้น ในบรรยากาศเช่นนี้จำเป็นต้องช่วยกันหยุดคิดและลดทอนพลังของวาทกรรมดูแคลนสติ ปัญญาเหล่านี้
วาทกรรมเข้าข่ายดังกล่าวเท่าที่พอจะรวบรวมได้ในขณะนี้มีอยู่ 4 ข้อ คือ
1. ใช้ระบบบัญชีรายชื่อผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นัก วิชาการและนักวิเคราะห์บางท่านออกมาโจมตีบัญชีรายชื่อของบรรดาพรรคการ เมืองทันที โดยชี้ว่าบัญชีรายชื่อที่จัดขึ้นมาเป็นเรื่องของการตอบแทนบุญคุณบ้าง หาที่ให้นายทุนบ้าง เป็นที่ที่พวก ส.ส. เขตถูกยัดเยียดให้อยู่บ้าง สรุปคือล้วนแต่เป็นเรื่องการจัดการผลประโยชน์ภายในพรรค มากกว่าจะใช้เป็นพื้นที่เพื่อ “คัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ” มาทำงานจริงๆ
ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ยังถือว่าไม่นานเกินกว่าจะจดจำ คือ การใช้ระบบบัญชีรายชื่อเพื่อดึง “คนทำงานฝีมือดี” เข้าสู่ระบบการเมืองนั้น บรรลุจุดสุดยอดของมันเองเมื่อครั้งที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยเฉพาะกรณีของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง 2544
ปฏิเสธไม่ได้ว่า แวดวงการเมืองได้คนอย่างคุณปุระชัย คุณสุรเกียรติ์ นพ.สุรพงษ์ (30 บาท) หรือแม้แต่ “ไอ้ก้านยาว” คุณประพัฒน์ มาอยู่ใน ครม. กลายเป็นยุคที่บุคลากรจากแวดวงอื่นๆ ได้ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองโดยอาศัยระบบบัญชีรายชื่อนั่นเอง แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในคราวเดียวกันนั้นเปิดช่องทางให้นายทุนพรรคจำนวนหนึ่งเข้ามาสู่บัญชีราย ชื่อด้วย แต่เทียบกับปัจจุบันแล้ว ใครจะสามารถบอกได้บ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ออกแบบมาให้เอื้อกับเจตนารมณ์เรื่องผู้มีความรู้ความสามารถ มากไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ตรงไหนบ้าง?
ซึ่งถ้ารัฐธรรมนูญ 2540 ประสบความสำเร็จในการดึงคนนอกสู่วงการการเมือง คำถามสำคัญคือ ใครเล่าที่ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ทิ้ง? เราเห็นแต่ภาพของกลุ่มหัวก้าวหน้ารวมทั้งชาวบ้านจำนวนไม่น้อยแสดงการต่อต้าน การรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 แต่กลุ่มชนชั้นนำกลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่เคยแยแส แถมเชื่อว่าต้องทำลายรัฐธรรมนูญ 2540 เสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น การวิจารณ์ว่าพรรคการเมืองทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยเอาระบบบัญชีราย ชื่อไปใช้เพื่อสมประโยชน์กันและกันเท่านั้น แท้จริงแล้วผู้พูดควรศึกษาปะวัติศาสตร์และหันไปประณามฝ่ายที่ทำลายรัฐ ธรรมนูญ 2540 เสียมากกว่า รวมทั้งถามตัวเองอย่างซื่อสัตย์ด้วยว่า ไปอยู่ที่ไหนมาตอนชาวบ้านเขาต่อต้านรัฐประหารและลงมติไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 ถ้าเคยเห็นดีเห็นงามกับกระบวนการผลักประเทศให้ถอยหลังในคราวนั้น ก็ต้องซื่อสัตย์พอจะตอบตนเองว่า การที่สถาปัตยกรรมทางการเมือง ปัจจุบันได้ทำลายประสิทธิภาพของระบบบัญชีรายชื่อไปเสียแล้ว เหตุสำคัญมาจากแนวคิดล้าหลังที่ต่อต้านการเมือง-นักการเมือง มากกว่าจะเป็นความผิดของฝ่ายการเมืองเองใช่หรือไม่
2. ทำงานเพื่อคนๆ เดียว
ความ น่าประหลาดของวาทกรรมข้อนี้ คือ ในสังคมที่ซับซ้อนถึงเพียงนี้ ยังอุตส่าห์มีคนเอาประเด็นที่บิดเบือนข้อเท็จจริงมากขนาดนี้มาใช้โจมตีฝ่าย อื่น
วาทกรรมนี้พยายามสื่อเรื่องความขัดกันของผลประโยชน์ (Conflict of interest) ว่า ถ้าอีกฝ่ายเข้ามาและทำทุกอย่างเพื่อช่วยคนๆ เดียวเสียแล้ว ประชาชนจะเสียประโยชน์เพราะผลประโยชน์ของคนๆ เดียวนั้นจะทำลายสิ่งที่ประชาชนพึงจะได้รับ
ปัญหาคือ สิ่งที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ทำในช่วงที่ครองอำนาจใช่จะสามารถกล่าวได้เต็ม ปากว่าเป็นการทำเพื่อส่วนรวมไปเสียทุกเรื่อง เรื่องที่ชัดๆ อย่างการผลักดันให้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเป็น 125 จากเดิม 80 ที่ ยังมีการถกเถียงจนบัดนี้ว่า ทำไมประชาชนต้องเสียสิทธิจากการมีผู้แทนแบบแบ่งเขตน้อยลง? เขาเสียประโยชน์ใช่ไหม? แล้วพรรครัฐบาลได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ใช่ไหม? ประเด็นง่ายๆ อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นว่าตนได้กำไรจากระบบบัญชีรายชื่อ จึงผลักดันให้เพิ่มจำนวน โดยเฉพาะ ส.ส. เขตที่หดหายไปส่วนมากมาจากภาคอีสาน เรื่องนี้ไม่ต้องบิดเบือนกันเพราะสื่อทุกสื่อวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกัน นี้อย่างไม่มีปิดบัง
จากย่อหน้าที่กล่าวมาเห็นได้ชัดว่าเป็นกรณี Conflict of interest ล้วนๆ เพราะยังไม่มีความชัดเจนเลยว่าการลดจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตลงช่วยให้ประชาชนได้ประโยชน์ตรงไหน? ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ว่า การเกิดความขัดกันของผลประโยชน์ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องขึ้นกับการทำอะไรบางอย่างเพื่อ “คนๆ เดียว” หรือไม่ การที่พรรคๆ หนึ่งแม้จะไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าทำเพื่อคนๆ เดียว ก็ไม่ได้แปลว่าพรรคนั้นจะมุ่งทำงานเพื่อประชาชนไปเสียทุกเรื่อง
เหมือน กับครั้งที่มีเสียงท้วงติงว่า พรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งที่กินมูมมามมาก แล้วผู้จัดการรัฐบาลออกมาบอกว่า “ไม่มีเขา เราก็อยู่ไม่ได้” ประชาชนย่อมมีสิทธิถามเช่นกันว่า ในคำตอบนั้นผลประโยชน์ของประชาชนอยู่ตรงไหน? บทเรียนเหล่านี้จึงยืนยันว่า พรรคหนึ่งๆ ที่ไม่ได้ทำเพื่อคนๆ เดียว ก็อาจจะทำเรื่องต่างๆ เพื่อรักษาอำนาจตัวเองโดยไม่แยแสประชาชนได้เช่นกัน
ประเด็นแท้จริง อยู่ที่ว่า ประชาชนนั้นมีสติปัญญาพอที่จะประเมินผลประโยชน์โดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง หากมีนโยบายใดประชาชนรู้สึกว่าได้ประโยชน์และเผอิญมีคนอื่น (จะคนเดียวหรือมากกว่านั้น) ได้ประโยชน์ร่วมด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด
เช่น นาย ก. มีญาติซึ่งถูกขังมาเป็นปี เพียงเพราะดันไปยืนจุดไฟสูบบุหรี่แถวศาลากลางจังหวัดที่ถูกเผาอย่างไม่ได้ รู้อิโหน่อิเหน่ จนบัดนี้ยังอยู่ในคุก เขาจึงประเมินว่าเขามีโอกาสได้ประโยชน์จากพรรคที่ประกาศเรื่องหลัก “นิติธรรม” อย่างชัดเจน และก็เลือกพรรคนั้นเพราะหวังจะได้หลักนิติธรรมไปช่วยญาติของตน หรือเพราะเล็งเห็นแล้วว่าหลักนิติธรรมของฝ่ายที่ครองอำนาจมากว่า 2 ปีนั้นมันเอนเอียงจนญาติต้องติดคุกฟรี ส่วนจะมีนักโทษอื่นอีกกี่คนได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูหลักนิติธรรมเป็นเรื่อง รองไป โดยปกติประชาชนจะคิดเช่นนี้กับทุกๆ นโยบาย คือ เอาตนเองเป็นศูนย์กลางเสียก่อน
จะเห็นว่า ในประเด็นสาธารณะเช่นนี้ เป็นเรื่องแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่นโยบายหนึ่งๆ จะถูกแปะป้ายว่า “เพื่อคนๆ เดียว” เพราะความซับซ้อนของผลประโยชน์มีมากกว่าเรื่องปากท้อง แต่ความรู้สึกอยุติธรรมต่างหากที่คั่งค้างในใจผู้คนจำนวนมากตั้งแต่ถูกปล้น อำนาจไปดื้อๆ ถือเป็นความต้องการที่ประชาชนจำนวนมากต้องการเรียกร้องกลับมา
ใน อดีตเคยเกิดการบิดเบือนการใช้กฎหมายเพื่อทำลาย “คนๆ เดียว” และฝ่ายที่ลงมือทำก็ขาดปัญญาพอที่จะมองเห็นว่าผลกระทบเกิดในวงกว้างกว่านั้น เพราะมีคนอีกจำนวนมากรู้สึกว่าเขาถูกกระทำร่วมไปด้วย ประชาชนไม่น้อยที่รู้สึกว่าการปล้นอำนาจทำให้เขาเป็นตกเหยื่อพอๆ กับผู้นำรัฐบาลคนหนึ่งที่ถูกรัฐประหาร ดังนั้น ถ้าใครอุตริมาคิดแทนชาวบ้านว่า นโยบายหรือแนวทางใดแนวทางหนึ่งจะช่วยคนๆ เดียวจนทำลายประโยชน์ส่วนรวม โดยละเลยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ จะไม่ให้ประชาชนที่ถูกปล้นอำนาจรู้สึกว่าถูกดูแคลนสติปัญญาได้อย่างไร
3. ทำงานต่อเนื่องกับเริ่มนับหนึ่งใหม่
นี่ เป็นวาทกรรมที่เอาชาวบ้านเป็นตัวประกัน โดยอ้างว่าหากเปลี่ยนไปเลือกอีกฝ่ายประเทศชาติจะนับหนึ่งใหม่หรือถอยหลัง กลับ การอ้างวาทกรรมนี้มีปัญหาขาดการทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้อีกนั่น เอง
ว่ากันเฉพาะหลังพฤษภาทมิฬเป็นต้นมา รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยกลับมาด้วยชัยชนะจากการเลือกตั้งเลย หากไม่เกิดกรณีพิเศษ พรรคประชาธิปัตย์เคยแพ้พรรคชาติไทยหนึ่งครั้งและในคราวหลังแพ้พรรคความหวัง ใหม่ จนเมื่อเกิดวิกฤตการเงิน 2540 และตามด้วยกรณีกลุ่มงูเห่านั่นเอง คุณชวนถึงได้ขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง ส่วนในยุคไทยรักไทยต่อเนื่องจนถึง คมช. พรรคประชาธิปัตย์ยังแพ้อีกครั้งในการเลือกตั้ง 2550 แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะถูกบั่นทอนกำลังไปอย่างหนักแล้วก็ตาม การขึ้นสู่อำนาจภายใต้การนำของคุณอภิสิทธิ์เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยกรณีงูเห่า อีกเช่นกัน
พรรคต่างๆ จึงควรตระหนักว่า รูปแบบการครองอำนาจทางการเมืองหลังเลือกตั้งเป็นความไม่ต่อเนื่อง (Discontinuity) มากกว่าจะเป็นความต่อเนื่อง (Continuity) ครั้งที่เกิดความต่อเนื่องมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือ เลือกตั้ง 2548 ซึ่งพรรคไทยรักไทยกลับมาได้ แต่ชัยชนะครั้งนั้นนำไปสู่การต่อต้านทักษิณอย่างรุนแรงและกระแสขึ้นสูงขึ้น เรื่อยๆ จนเกิดการรัฐประหาร 19 กันยา
จะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติมากของ การเปลี่ยนฝ่ายครองอำนาจทางการเมืองและทิศ ทางนโยบาย ทั้งกรณีที่มีเลือกตั้งหรือมีรัฐประหาร กรณีไม่ต่อเนื่องอย่างครั้งที่พรรคไทยรักไทยมาแทนรัฐบาลคุณชวน แต่กลับได้รับความนิยมอย่างสูงก็เพราะได้สร้างความแปลกใหม่เชิงนโยบายเป็น สำคัญ ภายใต้การเปลี่ยนโฉมนโยบายและไม่เหลือความต่อเนื่องใดๆ (จากรัฐบาลก่อนหน้า) ประเทศชาติก็หาได้หยุดอยู่กับที่หรือถอยหลังแต่อย่างใด
ในส่วนนี้จึงคล้ายๆ กับประเด็นข้อที่ 2 คือ ประชาชนย่อม สามารถ ประเมินนโยบายด้วยวิจารณญาณของตนว่าเขาต้องการนโยบายแบบใด การพยายามอ้างว่า คนที่เลือก “ความต่อเนื่อง” นั้น มีวิสัยทัศน์ดีกว่าฝ่ายที่เรียกร้อง “ความเปลี่ยนแปลง” จึงเป็นเรื่องผิด ผิดทั้งวิธีคิดและผิดทั้งข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์การเมืองเอง
ที่สำคัญ ระบบ เลือกตั้งถูกออกแบบมาให้ประชาชนตัดสินใจว่า จะเปลี่ยนหรือจะใช้ของเดิมต่อไป โดยชั่งนำหนักจากผลลัพธ์ผลกระทบต่างๆ ที่ทุกคนได้รับภายใต้การบริหารประเทศในช่วงที่ผ่านมา ด้วยระบบเช่นนี้ การเลือกที่จะไม่เอาความต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องของการคิดผิดหรือขาดวิสัย ทัศน์ แต่คือการให้คะแนนผลงานการบริหารมากกว่า คนชอบก็เลือกต่อคนไม่ชอบก็ขอเปลี่ยน ใจความหลักมีอยู่เท่านี้
อย่า ดูแคลนประชาชนว่า การเลือกฝ่ายที่นำเสนอความเปลี่ยนแปลงจะทำให้บ้านเมืองหยุดชะงัก แต่ควรกลับไปถามตนเองว่าทำดีพอให้คนเขาอยากเลือกหรือไม่!
คำถามสำคัญ อีกข้อ คือ เมื่อคราวเกิดรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งว่ากันว่าทำให้ประเทศถอยหลังอย่างมาก โดยเฉพาะได้สร้างสถาปัตยกรรมทางการเมืองที่เพิ่มอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และเอาใจพวกปฏิกิริยาล้าหลังนั้น พรรคการเมืองไหนบ้างที่ไปหามเสลี่ยงให้เผด็จการและมองดูกระบวนการทำลายความ ต่อเนื่องของความก้าวหน้าทางการเมืองไปต่อหน้าต่อตา ทั้งที่สิ่งนั้นต่างหากคือ “ความต่อเนื่อง” แบบที่ประชาชนอยากรักษาไว้!
4. จ้างมาก่อกวนการเลือกตั้ง
ถ้า ความจำผมยังไม่ผิดเพี้ยนนัก จำได้ว่าการประท้วงต่อต้านคุณอภิสิทธิ์ตามโอกาสต่างๆ มีมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง กรณีคลาสสิคคือการชูป้าย “ดีแต่พูด” ของคุณจิตรา คชเดช (ที่จริง แวดวงการเมืองและหนังสือพิมพ์ได้ใช้งานวลีนี้กันถ้วนหน้า จนควรจะต้องขอบคุณคุณจิตราไว้ด้วย)
ดังนั้น ผมจึงไม่ค่อยเข้าใจว่า การประท้วงคุณอภิสิทธิ์ตามเวทีปลีกย่อยที่ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่หลัง เหตุการณ์สลายชุมนุมนั้น เหตุใดเมื่อเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง กลับมีคำอธิบายออกมาทันทีว่าเป็นการเล่นเกมป่วนของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม เพื่อก่อกวนการหาเสียง?
ผมเชื่อของผมเองว่า หากคุณทักษิณกลับประเทศไทยมาวันนี้ จะต้องมีคนที่แห่กันออกไปต่อต้านขับไล่จำนวนมหาศาล รวมทั้งใน Social media โดยที่คนเหล่านี้ไม่จำเป็นเลยจะต้องไปให้พรรคประชาธิปัตย์ไปจ้างมาจากไหน เพราะคนไม่เอาคุณทักษิณนั้น “มีอยู่เอง” แบบไม่ต้องว่าจ้าง
ฉันใดก็ ฉันนั้น พรรคประชาธิปัตย์ควรจะตระหนักได้แล้วว่า ในสังคมนี้ต้องมีคนที่ไม่เอาคุณอภิสิทธิ์อยู่แน่ๆ และมีอยู่ในแบบที่ไม่ต้องไปจ้างวานมาแม้แต่น้อย เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “มันมีของมันเอง” แบบที่คุณทักษิณเผชิญ การมีอยู่ของกลุ่มผู้ต่อ ต้านเช่นนี้เป็นผลจากพฤติกรรมในอดีต จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงและเป็นความคิดที่ไร้เดียงสาอย่างยิ่งหาก สรุปเอามั่วๆ ว่า พฤติกรรมในอดีตที่ผ่านของคุณอภิสิทธิ์มีแต่ “ทำให้คนรัก”
อย่างน้อย กรณีที่ครั้งหนึ่งคุณอภิสิทธิ์พูดกลางสภาว่า ศาลโลกตัดสินว่าเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นของเขมร แต่ที่ดินใต้ปราสาทยังเป็นของไทยนั้น ก็ทำให้ผมคนหนึ่งที่รักในสติปัญญาของคุณอภิสิทธิ์ไม่ลงเอาเสียเลย นับประสาอะไรกับคนที่เขาต้องบาดเจ็บหรือสูญเสียญาติมิตรไปภายใต้การทำงานของ ศอฉ. และคุณอภิสิทธิ์ ย่อมไม่แปลกที่เขาจะ “รัก” คุณอภิสิทธิ์ไม่ลง และคนแบบนี้ไม่ต้องจ้างมาประท้วง การทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายต่อต้านโดยตราหน้าว่าทุกคนถูกจ้างมา รังแต่จะทำให้ความไม่ชอบของเขาเพิ่มขึ้นๆ
ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงว่า ในการบริหารประเทศของผู้นำทุกคนจะมีทั้งกองเชียร์และผู้ที่ได้รับผลกระทบ เชิงลบจากนโยบายหรือการทำงานใดๆ เสมอ ผู้นำทุกคนในอดีตจึงมีทั้งคนรักและคนชังอยู่คู่กันเป็นปกติ ถ้าชอบเจอแต่คนที่เข้ามาอวยก็ควรจะอยู่แต่ในเฟซบุ๊กของตนเอง ส่วนโลกของความเป็นจริงต้องยอมรับว่าคนรัก-คนชังเป็นสิ่งที่ปุถุชนไม่อาจจะ ควบคุมได้ตามใจตัว และความชังไม่จำเป็นต้องจ้างวาน
ดังนั้น ใคร ก็ตามที่เป็นบุคคลสาธารณะแล้วคิดว่าตนเองจะต้องมีแต่ คนรัก ส่วนคนชังนั้นถูกจ้างมาทั้งสิ้น ย่อมเข้าข่ายดูแคลนสติปัญญาประชาชนอย่างรุนแรง
กล่าวโดย สรุป วาทกรรมต่างๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างของการดูแคลนสติปัญญาประชาชน โดยไม่ตระหนักว่า วิจารณญาณของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นซับซ้อน มีพัฒนาการ และประเมินผลได้ผลเสียของเขาอยู่อย่างสม่ำเสมอ คนที่ใช้วาทกรรมเหล่านี้มีแต่ภาพของต่างจังหวัดที่ “ขายเสียง-คิดไม่เป็น” จินตนาการไม่ออกว่าคนจำนวนมากที่โกรธแค้นในยามที่ถูกปล้นอำนาจไปอย่างอ ยุติธรรม จนสำคัญผิดว่าหว่านเงินเยอะๆ ก็ซื้อใจกันได้และเป็นที่มาของการดำเนินนโยบายแบบหวังเอาใจแต่ไม่เห็นหัวคน
การ พยายามผูกขาดนิยาม “ความถูกต้องทางการเมือง” ไว้ฝ่ายเดียวด้วยวิธี “ดูแคลนสติปัญญาประชาชน” เป็นกลวิธีหลักที่ฝ่ายอนุรักษนิยม (ทั้งชนชั้นนำและฝ่ายการเมือง) ใช้กล่าวหาประชาชนว่า “ไม่พร้อม” มาโดยตลอด และนั่นเป็นสิ่งที่ควรจะหยุดได้แล้ว