WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, May 24, 2011

“ความจริง” เรื่องการเผาศาลากลางอุบลฯ “ความจริง” ของสังคมไทย

ที่มา ประชาไท

1

ภาย หลังจากเพลิงพิโรธศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีมอดลงในบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 วันเดียวกับการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้น “ส่วนราชการและประชาชนชาวอุบลฯ” ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้กิจกรรมทั้งหลายนี้จะไม่ช่วยให้ศาลากลางกลับคืนสู่สภาพเดิม หรือแก้ปัญหาอะไรได้ แต่ความสำเร็จของมันก็คือ การประกาศความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในนามชาวอุบลราชธานี

ความ รู้สึกที่กล่าวนี้ ประกอบกับการสนทนาวิสาสะกับผู้คนหลากหลายวงการในจังหวัดอุบลฯ คงจะไม่เกินเลยไปที่ผู้เขียนจะสรุปว่า ชาวอุบลฯ – อย่างน้อยก็ได้แก่ ข้าราชการ นักธุรกิจ ชนชั้นกลาง ชาวเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ “เสียงดัง” ที่สุดในสังคม - มีข้อสรุปต่ออัคคีภัยที่ผ่านมาว่า การเผาศาลากลาง จังหวัดเป็นอาชญากรรมที่อุกอาจอย่างไม่ต้องสงสัย เหตุการณ์นี้ก่อขึ้นโดยอาชญากรที่คลุ้มคลั่งไร้สติ หรือไม่เช่นนั้น ก็เป็นการเตรียมตัวมาก่อนของขบวนการก่อการร้าย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไปในแบบใด ความผิดนั้นชัดแจ้ง และคนเหล่านั้นควรถูกนำตัวมารับอาญาแผ่นดินอย่างสาสม

เราอาจเรียกความรู้สึกนึกคิดที่กลายเป็นข้อสรุปนี้ว่า “ความจริง” กระแสหลักของชาวอุบลฯ ในการเข้าใจเรื่องราวศาลากลางจังหวัดที่ผ่านมา

แต่ ก่อนที่จะยอมรับความจริงนี้อย่างง่ายๆ เราอาจจะเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า ความจริงกระแสหลักในการมองเรื่องการเผาศาลากลางอุบลนั้นมาจากไหน? ผู้เขียนเสนอว่า ความจริงนี้ -ไม่มากก็น้อย - เป็นผลจากการปั้นแต่งขึ้นโดยรัฐ โดยหยิบยืมดัดแปลงทฤษฎีการเมืองมวลชนโบร่ำโบราณมาใช้กับสังคมไทยอย่างได้ผล ซึ่งจะขอกล่าวถึงทฤษฎีที่สำคัญ 2 ประการดังนี้

ประการแรก ทฤษฎีฝูงชนคลาสสิก ซึ่งเป็นทฤษฎีพฤติกรรมรวมหมู่ดั้งเดิม ที่กำเนิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ในบริบทการตื่นตัวของขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยประชาชน แต่เหตุการณ์นี้ถูกมองด้วยความตื่นตระหนกจากชนชั้นสูง ที่หวั่นเกรงว่าการกระทำเหล่านั้นจะกระทบต่อเสถียรภาพและประโยชน์สุขของตน การแสดงออกของมวลชนจึงถูกมองว่าเป็นการรวมตัวของผู้มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับ สังคม ฝูงชนอาจถูกมองว่าเป็นคนบ้า อาชญากร ไร้สติ ฝูงชนจึงหมายถึงกลุ่มชนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ไร้เหตุผล จนอาจถึงขั้นคลุ้มคลั่ง การร่วมตัวของพวกเขาจึงมีพื้นฐานมาจากความไม่ปกติ และเมื่อมารวมตัวกันเข้า ความไม่ปกติยิ่งถูกปลุกปั่นจากบรรยากาศของการชุมนุม หรือจากนักปลุกปั่น/เจ้าลัทธิ จนกลายเป็นฝูงชนผู้คลุ้มคลั่ง ป่าเถื่อน และอันตราย [1]

แม้ ว่าจะมีทฤษฎีฝูงชนแบบอื่นหลากหลายในเวลาต่อมา แต่ทฤษฎีคลาสสิกก็ยังคงอิทธิพลอย่างสูง ทั้งในแวดวงวิชาการและสาธารณชน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นทฤษฎีกระแสหลักในเรื่องนี้ และน่าสังเกตว่าทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับอย่างไม่เสื่อมคลายในสังคมที่มีลักษณะ อนุรักษนิยมสูง

สำหรับสังคมไทยเราจะเห็นอิทธิพลของทฤษฎีนี้ได้อย่าง ชัดเจน โดยทั่วไปทัศนคติของคนไทยต่อการชุมนุมของชาวบ้านก็คือ พวก “ม็อบ” ที่ไร้เหตุผล ถูกปลุกปั่น มีผู้หนุนหลัง ในกรณีของคนเสื้อแดง เราจะพบแนวทางการอธิบายพฤติกรรมของคนเสื้อแดงที่ว่า เป็นพวกชาวบ้านที่ไม่ประสีประชา แต่ถูกจ้างวานมา หรือถูกเกณฑ์มาโดยหัวคะแนน เป็นพวกคลั่งผู้นำอย่างไม่ลืมหูลืมตา และต่อมาการชุมนุมของพวกเขาก็ไร้เหตุผลมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นพวกสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศ ท้ายที่สุดก็ลงเอยด้วยจลาจลเผาบ้านเผาเมือง

ประการที่สอง ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ซึ่งเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม ด้วยการเลือกปะติดปะต่อข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องเป็นราว แต่มักไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ทฤษฎีนี้ซึ่งที่จริงควรจะเรียกว่าการคาดเดามากกว่า มักเริ่มจากการตั้งคำถามว่า เหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นโดยใครเป็นต้นเหตุ และเกี่ยวข้องกับใคร หรือมีองค์กรอะไรอยู่เบื้องหลัง หลังจากนั้นก็พยายามโยงข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกันกลายเป็นเรื่องราว [2] ตัวอย่างเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นตามทฤษฎีสมคบคิดยอดนิยมในระดับโลก เช่น การมาเยือนของ UFO แผนยึดครองโลกของชาวยิว หรือเบื้องหลังกรณี 9/11 เป็นต้น เรื่องราวลึกลับน่าตื่นเต้นเหล่านี้ กลายเป็นที่นิยมข้ามยุคสมัย และมีกลุ่มคนที่เชื่อถือเรื่องราวเหล่านี้อย่างจริงจัง

คำอธิบาย เรื่องราวตามทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานและข้อมูลที่พิสูจน์ไม่ได้ ถูกมองจากวงวิชาการว่า เป็นปรากฏการณ์อุปาทานรวมหมู่ หรืออาจถูกอธิบายว่าเป็นไปตามหลักจิตวิทยาสังคม เนื่องจากคำอธิบายเป็นไปบนเรื่องราวลึกลับน่าตื่นเต้น ซึ่งการอธิบายสังคมแบบนี้ที่จริงได้ถูกตอกย้ำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจากนิยาย หรือภาพยนตร์ ซึ่งคงจะไม่ผิดนักหากจะบอกว่า คนส่วนใหญ่ติดตามเรื่องราวทางสังคมเหมือนเสพนิยาย/ภาพยนตร์ โดยคอยดูว่าใครเป็นพระเอกผู้ร้าย และเรื่องราวจะถูกเปิดเผยอย่างไร อย่างไรก็ตามเราก็จะพบว่า การเข้าใจความเป็นไปทางสังคมตามทฤษฎีสมคบคิดจะเป็นที่นิยมมากที่สุด ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือมีลำดับชั้นสูงต่ำในสังคม มีข้อห้ามรู้ ห้ามพูดถึง ห้ามวิจารณ์สูง

คำอธิบายเรื่องราวตามทฤษฎีสมคบคิด ไม่เพียงเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นปกครองด้วย นักปรัชญาชี้ว่า ในแง่หนึ่งทฤษฎีสมคบคิดมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องอำนาจของบุคคล เหนือมนุษย์ เช่นความเชื่อทางศาสนา ที่เชื่อในพระเจ้า หรือตัวแทนของพระเจ้าที่มาปราบยุคเข็ญนำพามนุษย์ไปสู่แสงสว่าง บุคคลเหนือมนุษย์นี้เองคือผู้ชักนำความเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์ โดยตรรกะนี้ พบว่าในหมู่ชนชั้นปกครองจะอาศัยคำอธิบายนี้ในการให้ความชอบธรรมแก่อำนาจของ ตน ในยุคโบราณเราพบว่าแนวคิดนี้เป็นเครื่องมือของระบอบกษัตริย์ ในการอธิบายบุญญาธิการและบารมีมากล้นของกษัตริย์เหนือหัวที่อุทิศแก่แผ่นดิน แต่ในยุคหลังจากนั้นพบว่าแนวคิดนี้มักเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองเผด็จการ ทั้งหลาย [3]

ประเด็น สำคัญที่ทฤษฎีสมคบคิดถูกวิจารณ์ในแวดวงวิชาการอีกก็คือ ทฤษฎีนี้ละเลยความสำคัญของเหตุปัจจัยทางสังคม ไม่ว่าในมิติประวัติศาสตร์ หรือมิติด้านโครงสร้างและสถาบัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขอันซับซ้อนของปรากฏการณ์หนึ่งๆ ซึ่งหมายความว่าความเป็นไปในสังคมย่อมอยู่เหนือการบงการของปัจเจกบุคคลตัว เล็กๆ ทว่าทฤษฎีสมคบคิดกลับทำในทางกลับกัน คือละเลยความสำคัญของเหตุปัจจัยทางสังคม แต่ไปให้ความสำคัญกับการกระทำของบุคคล ซึ่งเท่ากับยกให้ปัจเจกบุคคลมีอิทธิพลถึงขนาดบงการความเปลี่ยนแปลงในสังคม ได้ การกระทำเช่นนี้ผิดเป้าหมายของสังคมศาสตร์ เพราะแทนที่จะมุ่งอธิบายเงื่อนไขที่นำมาสู่การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ทาง สังคม กลับไปทำงานสืบสวนสอบสวนแบบนักสืบ และเมื่อนำมาใช้ในการเข้าใจเหตุการณ์ทางสังคม ก็จะเป็นการลดทอนความซับซ้อนของเหตุปัจจัยอันหลากหลาย ให้เหลือแต่เรื่องการบงการของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ใน สังคมไทย ซึ่งเราท่านรับรู้กันดีถึงระดับความเป็นประชาธิปไตย และความสืบเนื่องของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความแพร่หลายของข่าวลือ ข่าวลับเฉพาะ หรือข่าววงใน พร้อมกับเรื่องราวของมหาบุรุษ ช่างเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยจนดูเหมือนมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความเป็น ไทย สำหรับในเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปีที่ผ่านมา ทฤษฎีสมคบคิดสำแดงตัวผ่านการอธิบายเรื่องราวการชุมนุมว่า เกิดจากการบงการของนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม และในตอนสุดท้ายก็มีกลุ่มชายชุดดำเข้ามาแทรกแซงจนเหตุการณ์บานปลาย

เมื่อ ตระหนักถึงทฤษฎีการเมืองมวลชนทั้งสองประการ ซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐในการผลิต – ตอกย้ำความจริงแก่เราแล้ว เราอาจย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ในเดือนเมษายน นับจากรัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เราจะพบว่า การปิดกั้นข่าวสารจากสื่ออื่นๆ และผูกขาดการนำเสนอข่าวสารโดย ศอฉ. ก็คือการสร้างเรื่องราว “ความจริง” ภายใต้ทฤษฎีทั้งสอง ซึ่งมีโครงเรื่องที่ประกอบด้วยสองด้านหนุนเสริมกัน คือเป็นการชุมนุมของมวลชนที่ไร้สติ และมีการชักใยของไอ้โม่งเบื้องหลัง ที่หวังประโยชน์จากการสร้างสถานการณ์ ซึ่งในที่สุดเหตุการณ์ก็บานปลายจนทำให้ ศอฉ. ต้อง “กระชับพื้นที่” ในครั้งนั้นสิ่งที่ ศอฉ. ทำในฐานะกระบอกเสียงของรัฐก็คือ การผูกขาดคัดสรรดัดแปลงตีความสร้างเรื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตามโครงเรื่องดังกล่าว จนเกิดเป็น “ความจริง” ของคนส่วนใหญ่ในสังคม และนี้เองคือที่มาของความเข้าใจเหตุการณ์การเผาศาลากลางฯ ของชาวอุบลราชธานี

2

ผู้ เขียนจะกล่าวถึง “ความจริง” อีกชุดหนึ่งของเหตุการณ์การเผาศาลากลางอุบลฯ พร้อมทั้งให้รายละเอียดเหตุการณ์นับจากเดือนมีนาคมจนถึงวันที่เพลิงถูกจุด ขึ้นในเดือนพฤษภาคม ในช่วงนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นความจริงภายใต้กรอบการมองอีกแบบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ถือโอกาสนำเสนอบันทึกเรื่องราวที่แทบไม่มีโอกาสถูกนำเสนอใน สื่อสาธารณะใดๆ

ก่อนอื่น เงื่อนไขเบื้องต้นในการเข้าใจความจริงกรณีศาลากลางอุบลฯ คือเราต้องมองเรื่องราวอย่างมีที่มาที่ไป ซึ่งจะพบว่าผู้ชุมนุมหาได้เป็นฝูงชนไร้สติ แต่พวกเขาคือมวลชนผู้นิยมพรรคไทยรักไทย ด้วยความชื่นชอบนโยบาย และการบริหารประเทศของหัวหน้าพรรค ในปี 2553 พวกเขามาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลในขณะนั้นมีที่มาไม่ชอบธรรม ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองตามปกติในระบอบประชาธิปไตย (ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงที่มาของมวลชนคนเสื้อแดงมากไปกว่านี้เนื่องจากมีผู้ กล่าวถึงไว้ไม่น้อยแล้ว)

สำหรับการเข้าใจเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของ คนเสื้อแดง นับจากเริ่มต้นจนถึงวันสุดท้าย เราควรจะมองเรื่องนี้อย่างมีพัฒนาการ และพัฒนาการการชุมนุมที่เข้มข้นขึ้นที่อุบลฯ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล หากแต่เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบต่อการใช้อำนาจของรัฐที่รุนแรงและป่าเถื่อนมาก ขึ้นในสายตาของพวกเขา เพื่อให้เห็นลำดับพัฒนาการผู้เขียนจะแบ่งเหตุการณ์ที่อุบลฯออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน [4]

ช่วงแรก นับจาก 12 มีนาคม - 6 เมษายน ช่วงนี้เริ่มจากกลุ่มคนเสื้อแดงอุบลฯเดินทางไปสมทบกับคนเสื้อแดงจากทั่ว ประเทศ เป้าหมายคือการชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร ในเช้าวันเดินทางคนเสื้อแดงอุบลฯ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า 8 กลุ่ม ได้เคลื่อนไปสมทบกันขบวนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่มุ่งหน้าสู่เมืองหลวง การเดินทางส่วนใหญ่ใช้รถปิกอัพส่วนตัว ลงขันค่าน้ำมันกันเอง ขนของใช้เสบียงและผู้คนไว้บนปิกอัพ ในวันนั้นมีรถจากอุบลฯประมาณ 500 คัน มีมวลชนรวมประมาณ 5,000 คน นับเป็นการเปิดฉากการชุมนุมที่ยิ่งใหญ่ฮึกเหิมในความรู้สึกของประชาชนที่ ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวมาตลอด

ในช่วงแรกมีการตั้งเวทีที่สะพานผ่าน ฟ้า ผู้ชุมนุมประเมินว่ามีการตอบรับจากประชาชนทั่วไปดีพอสมควร ข้อเรียกร้องคือให้รัฐบาลรีบยุบสภาโดยเร็ว มีการเจรจากับรัฐบาลซึ่งดูทีท่าว่าจะหาทางออกร่วมกันได้ ท่ามกลางความหวัง มีกิจกรรมที่สร้างความรู้สึกร่วมอย่างมากคือการ “เทเลือดไพร่” ในสถานที่สำคัญ แต่มีคนบางกลุ่มออกมาชี้ว่าเลือดอาจมีเชื้อโรคติดต่อร้ายแรง นักการเมืองบางคนแสดงความสงสัยว่าอาจเป็นเลือดสัตว์ ผู้ชุมนุมรู้สึกเจ็บแค้นใจจากความรู้สึกถูกย้ำยีความเป็นมนุษย์ ในช่วงนั้นยังมีกลุ่มคนเสื้อสีชมพูออกมารวมตัวกันสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล

สำหรับ มวลชนจากอุบลฯ มีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังคนไปกลับบ้านกับกรุงเทพฯ ที่อุบลฯ ประมาณวันที่ 17 มีนาคม เริ่มมีการตั้งเวทีชุมนุมใกล้ที่ทำการเทศบาลนครอุบลฯ มีการปราศรัยของแกนนำท้องถิ่นสลับกับการรับฟังการถ่ายทอดข่าวสารการชุมนุม ของคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงในอุบลฯบางส่วนมาร่วมเวที ส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารจากทีวีคนเสื้อแดงที่บ้าน ติดตามทางอินเทอร์เน็ต หรือโทรคุยกัน บรรยากาศเหมือนการติดตามข่าวสารและส่งกำลังใจไปยังตัวแทนที่เสียสละไป ปฏิบัติภารกิจสำคัญยังแดนไกล

ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 7 - 25 เมษายน ช่วงนี้สถานการณ์กลับตึงเครียดขึ้นเป็นลำดับ การชุมนุม ปิดล้อมรัฐสภากลายเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลใช้เป็นโอกาสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และจัดตั้ง ศอฉ. คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งคิดว่านี่คือแผนของรัฐบาลที่เตรียมการจะใช้ความรุนแรง ดังนั้นผลจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็คือ ทำให้คนเสื้อแดงเกิดความรู้สึกถึงการต่อสู้อย่างแตกหัก

ในวันที่ 7 เมษายน ท่ามกลางข่าวลือว่ารัฐบาลจะใช้กำลังสลายการชุมนุม รัฐบาลมีคำสั่งให้ยุติการส่งสัญญาณ PTV ที่อุบลฯ การรับสัญญาณทีวีเริ่มขาดๆ หายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความวิตกร้อนรนใจ ในเย็นวันนั้นมีคนเสื้อแดงมารวมตัวกันและบุกเข้าไปภายในสนามหญ้าภายในรั้ว ศาลากลางฯ ผู้ชุมนุมกันในค่ำคืนจนค่อนคืนวันนั้นประมาณมี 2,000-3,000 คน ถัดจากวันนั้นมีการชุมนุมที่สนามหญ้าศาลากลางอย่างต่อเนื่องด้วยความวิตก กังวลต่อสถานการณ์ในกรุงเทพฯ

10 เมษายน มีการปะทะที่สี่แยกคอกวัว ในขณะที่การปิดกั้นข่าวสารด้วยการบล็อคสัญญาณทีวีและอินเทอร์เน็ตของคนเสื้อ แดง และ ศอฉ. ผูกขาดการให้ข้อมูลของตนแต่ฝ่ายเดียวทำให้สถานการณ์แย่ลงทุกขณะ ที่ชุมนุมบนถนนหน้าศาลากลางฯได้กลายเป็นจุดนัดพบของคนเสื้อแดงที่มาติดตาม รับฟังข่าวสาร และส่งแรงใจถึงพี่น้องที่กรุงเทพฯ การสังหารโหดที่สี่แยกคอกวัวทำให้ผู้ชุมนุมที่อุบลฯ เกิดอาการช็อค ไม่อยากจะเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น ระคนกับโศกสลดใจ

สายๆ วันที่ 11 เมษายน ด้วยความคับแค้นใจ คนเสื้อแดงจัดขบวนแห่ประณามรัฐบาลฆาตกรทั่วเมืองอุบลฯ ในเวทียามเย็นมีตัวแทนจากเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯขึ้นมาเล่าเหตุการณ์บนเวที มีการระดมอาสาสมัครเข้าไปต่อสู้จนถึงที่สุดที่กรุงเทพฯ ระดมเงินทองและข้าวของบริจาค การชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบ ได้ยกระดับเป็นการต่อสู้กับฝ่ายตรงกันข้ามถึงขั้นเอาเลือดเนื้อเข้าแลก

ช่วงที่ 3 ระหว่าง 13 - 17 พฤษภาคม เมื่อ ศอฉ.ประกาศมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อ “กระชับพื้นที่” เข้าไปยังแยกราชประสงค์ พร้อมกับข่าวการลอบยิง เสธ.แดง เวทีการชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลฯก็คลาคล่ำไปด้วยคนเสื้อแดงที่โกรธ แค้นอีกครั้ง สำหรับคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง เสธ.แดง คือ นักรบของประชาชน ไม่ว่าฝ่ายใดทำร้ายเขา ผลก็คือเพิ่มความเกลียดโกรธแค้นของคนเสื้อไปอีกระดับหนึ่ง

ข่าวการ สังหารโหดประชาชนในนามการกระชับพื้นที่ในแต่ละวันสร้างความเจ็บ ปวดให้กับผู้ชุมนุมมากขึ้นๆ แต่ก็ยิ่งกระตุ้นให้มีการระดมพลไปสมทบที่กรุงเทพฯอย่างไม่ขาดสาย คนที่ไปกรุงเทพฯและเข้าไปยังจุดเผชิญหน้ากับทหารโทรศัพท์กลับมารายงานยัง เวที จุดสูงสุดของอารมณ์ของผู้ชุมนุมเกิดขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม เมื่อร่างไร้วิญญาณของนายอินทร์แปลง เทศวงศ์ แท็กซี่ชาวอุบล ที่ถูกยิงจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่มาถึงจังหวัดอุบลฯ ในค่ำคืนนั้นที่หน้าเวทีปราศรัยมีการจัดพิธีคารวะดวงวิญญาณของแท็กซี่วีรชน มีมวลชนล้นหลามและระดมเงินบริจาคได้มากกว่าทุกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศที่เศร้าสลด ยากจะทำใจ และความรู้สึกที่รอการระเบิด การจากไปด้วยของแท็กซี่มือเปล่าชาวอุบลฯด้วยคมกระสุนของทหาร คนจนๆ ที่ไปทำงานเก็บเงินเลี้ยงครอบครัว ที่ไปเรียกร้องสิ่งที่เขาควรจะได้รับ เร้าความรู้สึกของการถูกกดขี่ขมเหงและได้รับแต่ความอยุติธรรม ความเกลียดชังรัฐบาลยกระดับไปอีกขึ้น รัฐบาลคือศัตรูที่ที่ป่าเถื่อน อำมหิต ทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง

บ่ายวันที่ 16 พฤษภาคม ด้วยความคับแค้นอัดแน่นใจ กลุ่มคนเสื้อแดงนัดทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ประณามสาปแช่งของรัฐบาล มีการเผายางรถยนต์ในสถานที่สำคัญ 7 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มควันดำพวยพุ่งเหนือท้องฟ้า ส่วนราชการการจังหวัดวิ่งจ้าละหวั่น ท่ามกลางความตื่นตระหนกของชาวเมืองทั่วไป และก็ไม่ผิดไปจากการคาดการณ์ เย็นวันนั้นรัฐบาลประกาศให้อุบลราชธานีเป็นพื้นที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ช่วงสุดท้าย วันที่ 19 พฤษภาคม การประกาศพื้นที่ฉุกเฉินที่อุบลฯมีผลเพียงแต่การทำให้คนเสื้อแดงไม่ออกมา ชุมนุมกันอย่างโจ่งแจ้ง ในช่วงนี้มีข่าวหน้าหูว่าทหารจะมาปิดสถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงซึ่งเป็นช่อง ทางสื่อสารสุดท้ายที่มี

เย็นวันที่ 18 พฤษภาคม คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งไปรวมตัวกันที่สถานีวิทยุทั้งสองแห่งเพื่อปกป้องสถานี วิทยุ และติดตามข่าวสารร่วมกัน ท่ามกลางข่าวทหารเตรียมใช้กำลังขั้นเด็ดขาดสลายการชุมนุม คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งมีความหวังกับการประสานงานของ ส.ว. ให้มีการเจรจาระหว่างแกนนำกับรัฐบาลอีกครั้ง ในคืนวันนั้นจนถึงนาทีสุดท้ายในรุ่งสางวันที่ 19 พฤษภาคม คนเสื้อแดงบางส่วนมีความหวังว่าคนสำคัญจะออกมาช่วยยุติเรื่องนี้ แต่ก็ผิดหวัง

รุ่งเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม คนเสื้อแดงที่สถานีวิทยุทั้งสองแห่งมีจำนวนมากขึ้น ข่าวสารที่ขาดๆ หายๆ แต่ก็พอรับภาพได้ เผยให้เห็นกองกำลังทหารเข้าเคลียร์พื้นที่ มีภาพคนเจ็บ คนเสียชีวิต สำหรับคนเสื้อแดงคนเหล่านั้นคือญาติพี่น้องของพวกเขา การดูการถ่ายทอดเป็นไปพร้อมกับเสียงวิจารณ์ สลับกับเสียงหวีดร้อง ร่ำไห้ โผเข้าปลอบใจกัน

เมื่อแกนนำที่เวทีราชประสงค์ประกาศยุติการชุมนุมและ ขอมอบตัว ความโกรธแค้นและเสียใจจากเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ ทำให้ฝูงชนไปรวมตัวกันที่หน้าศาลากลางฯ คนเสื้อแดงประมาณ 600 คน กระจายอยู่นอกรั้วศาลากลาง มีการจุดไฟเผายางรถยนต์ มีรถติดเครื่องเสียงและมีคนสลับกันขึ้นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่ กรุงเทพฯอย่างเผ็ดร้อน

เหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นเมื่อคนเสื้อแดงจำนวน หนึ่งพังรั้วศาลากลาง และวิ่งกรูเข้าไปในสนามหญ้าหน้าศาลากลาง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของจังหวัดยิงปืนสวนออกมาหลายนัด มีคนถูกกระสุนบาดเจ็บ 5-6 คน หลังจากนั้นอีกหลายอึดใจมีข่าวลือว่าหนึ่งในผู้ถูกยิงเสียชีวิตแล้วที่โรง พยาบาล ความตื่นตระหนกกลับกลายเป็นความโกรธแค้น ณ จุดนั้นไม่มีใครบอกได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือความคลุ้มคลั่งไร้สติ หรือความรู้สึกถึงขีดสุดของความเจ็บแค้นจากการถูกย่ำยีศักดิ์ศรีของความเป็น มนุษย์ และการปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจรัฐอันป่าเถื่อนไร้ความชอบธรรมที่จะปกครองอีก ต่อไป ฝูงชนจำนวนหนึ่งที่ไม่กลัวแม้กระทั่งความตาย บุกประชิดศาลากลางและจุดไฟเผาสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐที่กดขี่ข่มเหง เพื่อกอบกู้ความเป็นคนของพวกเขากลับคืนมา

เหตุการณ์ในวันนั้นถูกตั้ง ข้อสังเกตว่า ทั้งที่ทางจังหวัดสามารถประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่การเตรียมการป้องกันกลับหละหลวม ทำไมจึงให้กำลังเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกที่รับมือกับฝูงชนคือกลุ่มที่ไม่เคยถูก ฝึกมาให้รับสถานการณ์การจลาจล จนมีการใช้อาวุธโดยไม่จำเป็น ทำไมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารจำนวนมากในวันนั้นใส่เกียร์ว่าง ทำให้คนไม่กี่คนบุกประชิดเข้าไปเผาอาคารได้ และทำไมไม่มีรถดับเพลิงมาเตรียมรับสถานการณ์ทั้งที่สถานีดับเพลิงอยู่หางออก ไปไม่กี่กิโลเมตร

3

ผู้ เขียนได้กล่าวถึงความจริง 2 แบบ เรื่องการเผาศาลากลางฯ จุดประสงค์ไม่ได้ต้องการชี้ว่า ความจริงชุดใด “จริง” กว่ากัน แต่ต้องการชี้ว่าเราต่างก็อยู่ภายใต้ความจริงคนละแบบ เข้าใจเหตุการณ์คนละอย่าง และตัดสินเรื่องราวหนึ่งๆ ด้วยทัศนะที่แตกต่างกันไป

ความจริงที่แท้นั้นคืออะไร หากจะมี ก็คงมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้

สำหรับมนุษย์ปุถุชนอย่างเรา ที่อาจเอื้อมจะตัดสินความจริง สิ่งที่เราควรตระหนักก่อนอื่นใด คือเข้าใจความจริงเกี่ยวกับความจริง

เหตุการณ์ การเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ ไม่อาจถูกมองโดยแยกจากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ไม่อาจมองว่าเป็นเรื่องของพวกคลุ้มคลั่งเผาบ้านเผาเมือง แต่เหตุการณ์นี้เป็นผลพวงของความขัดแย้งทางการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างใช้กลยุทธ์เพื่อเอาชนะคะคานกัน ดังนั้นหากจะถามว่าใครคือผู้เผาศาลากลางตัวจริง คำตอบอาจจะมีว่า ก็คือคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเราท่าน ผู้ชม ผู้เชียร์ ซึ่งต่างก็มีส่วนร่วมกันจุดไฟ หรือนัยหนึ่งสังคมไทยโดยร่วมจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ร่วมกัน

“ความจริง” เรื่องการเผาศาลากลางอุบลฯ “ความจริง” ของสังคมไทย
ภาพโดย ธีร์ อันมัย

ใน โอกาสที่วันพิพากษาจำเลยคดีเผาศาลากลางอุบลฯ (อาจจะรวมจังหวัดอื่นด้วย) งวดเข้ามา ซึ่งมาอยู่ในช่วงเดียวกันการครบรอบปีของเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบไม่น้อยกว่ากัน ขออย่าปล่อยให้ผู้ต้องหาทางการเมืองที่อุบลฯหรือที่อื่นๆ กลายเป็นผู้รับบาปของเหตุการณ์ทั้งหมด ขออย่าให้ขวบปีต่อไปของเหตุการณ์พฤษภาคมเลวร้ายกว่าที่ผ่านมา.

อ้างอิง

  1. ประภาส ปิ่นตบแต่ง (2552). กรอบการวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม. กรุงเทพฯ: โครงการผลิตตำราและเอกสารการสอน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บทที่ 1.
  2. Wikipedia. Conspiracy Theory. available at http://en.wikipedia.org/wiki/Conspiracy_theory
  3. Hugo Antonio Perez Hernaiz (2008) . The Used of Conspiracy Theories for the Construction of a Political Religion in Venezuela. in International Journal of Human and Social Sciences 3 : 4. 2008 . p. 241-252. available at www.waset.org/journals/ijhss/v3/v3-4-31.pdf สำหรับนักปรัชญาที่วิพากษ์ทฤษฎีสมคบคิด และเป็นผู้ชี้ว่าทฤษฎีนี้เป็นมักเป็นที่นิยมในผู้ปกครองอำนาจนิยมคือ Karl Popper (1902-1994) ใน Karl Popper. (1995). The Open Society and its Enemies. London : Routledge.
  4. ข้อมูลมาจากการสังเกตการณ์ของผู้เขียนในระหว่างการชุมนุม ประกอบกับติดตามสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ หลังจากนั้น