ที่มา ประชาไท
วิเคราะห์ ผลการเลือกตั้งมี 2 พรรคการเมืองใหญ่ แต่การแข่งขันไม่สูสี ชี้สร้างเสถียรภาพการเมืองไทย ต้องช่วยให้ ปชป.อยู่ในสภาพแข่งขันได้จริง พร้อมแนะพรรคใหญ่กระจายฐานเสียง สร้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศ
(20 ก.ค.54) ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาโต๊ะกลม "วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง และแนวโน้มรัฐบาลใหม่" ดำเนินรายการโดย สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา สะท้อนความต่อเนื่องของเทรนด์บางประการของระบบการเมืองและการเลือกตั้งไทย ตั้งแต่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา โดยมีแนวโน้ม 7 ประการ ได้แก่ 1) มุ่งสู่ระบบสองพรรคการเมืองใหญ่อย่างชัดเจน แม้จะมีการเปลี่ยนไปใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อทำลายระบบสองพรรคการเมืองใหญ่และความเข้มแข็งพรรคการเมือง
2) แม้ว่าจะมี 2 พรรคการเมืองใหญ่ แต่การแข่งขันระหว่าง 2 พรรคไม่สูสี ตั้งแต่ก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 40 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แพ้การเลือกตั้ง 6 ครั้งต่อเนื่อง ขณะที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งสองครั้ง ปชป.ไม่เคยได้ที่นั่งเกิน 165 ขณะที่จุดที่เลวร้ายที่สุดของพรรคเพื่อไทย (พท.) ยังมี 233 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าจุดที่ ปชป.ทำได้สูงสุด ดังนั้น ช่องว่างของ 2 พรรคใหญ่ มีถึง 80 ที่นั่งเป็นอย่างต่ำ โดยเทรนด์นี้เกิดตั้งแต่ 2544
ประจักษ์เสนอว่า หากต้องการสร้างเสถียรภาพการเมืองไทย ต้องช่วยให้ ปชป.อยู่ในสภาพที่แข่งขันได้จริง โดยไม่ใช่เพียงแต่แฟนคลับ แต่ผู้ที่รักประชาธิปไตยจะต้องช่วย ปชป.ปฏิรูปพรรคให้มีความเข้มแข็ง เพื่อจะได้ไม่เป็นที่สองตลอดกาล พร้อมยกตัวอย่างว่า ในสหรัฐอเมริกาการเมืองมีเสถียรภาพเพราะพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคมีศักยภาพใน การแข่งขัน ผลัดกันแพ้ชนะ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ชี้ ว่า หากทั้งสองพรรคยังคงครองอันดับเดิมตลอด การเมืองไทยจะไม่มีเสถียรภาพ โดยชนชั้นนำไทยจะพยายามใช้วิธีไม่ปกติแทรกแซงการเลือกตั้งเพื่อให้พรรคที่ สนับสนุนขึ้นมามีอำนาจ และสภาพนี้จะอยู่ตลอดไปตราบที่ ปชป.ไม่อาจแข่งขันในระบบ
3) อนาคตของพรรคขนาดกลางและเล็กไม่โปร่งใส โดยมีผลงานแย่ตั้งแต่ 2544 เป็นต้นมา โดยอาจปรับได้โดยการรวมพรรคทั้งหมดให้เหลือพรรคเดียว เพื่อเป็นพรรคขั้วที่สามหรือคงสภาวะนี้ต่อไป ปรับไปเป็นพรรคของจังหวัด แบบ "พลังชลโมเดล" ซึ่งจะมีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่แคบๆ ตัวเลขที่นั่งต่ำสิบ
4) เริ่มเกิดภูมิภาคนิยม บางภาคเป็นฐานเสียงที่ชัดเจนของพรรคการเมืองบางพรรค เหนือ-อีสาน พท.ช่องว่างชนะห่างมาก ปชป.มีฐานเสียงเหนียวแน่นในภาคใต้ ทิ้งห่างคู่แข่งเยอะมากกว่าที่เพื่อไทยชนะคู่แข่งในเหนือและอีสาน ปรากฏการณ์นี้คงจะอยู่กับการเมืองไทยไปอีกพักใหญ่ อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นหลังพฤษภาทมิฬ ดังนั้น จึงยังเปลี่ยนแปลงได้
5) การแข่งขันในกรุงเทพฯ สูสีกว่าที่คิด โดยเมื่อดูตัวเลขปาร์ตี้ลิสต์ และ ส.ส.เขตสูสีสูง สะท้อนความเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยจงรักภักดีต่อพรรคการเมืองใด เปลี่ยนไปทุกการเลือกตั้ง ไม่เคยมีพรรคใดครองเสียงคนกรุงเทพฯ ได้เกิน 2 สมัย
6) ความตื่นตัวในการเลือกตั้งของประชาชนคนไทย จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงขึ้นตลอด แม้แต่ในภาคใต้ที่มีความรุนแรง สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ สะท้อนความผูกพันกับการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ได้มองว่าการเลือกตั้งสกปรกเลวร้าย แต่คนที่มองว่าเลวร้ายเป็นนักวิชาการกลุ่มเล็กมากกว่า
7) สะท้อนการลดบทบาทของตระกูลการเมืองเก่าๆ โดยพบบางตระกูลสูญพันธุ์ไป กรณีที่บอกว่ามี ส.ส. 38 ตระกูล เข้าสภานั้น ไม่ได้สะท้อนอิทธิพลของตระกูล ที่มี ส.ส.นามสกุลซ้ำ พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์และระบบเขต มีรายที่ชนะด้วยอิทธิพลตระกูล เหลือเพียง 2-3 ตระกูลเท่านั้น
ประจักษ์ เสนอว่า การใช้ความรุนแรงในช่วงเลือกตั้งไม่ได้มากกว่าที่ผ่านมา จำนวนผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต น้อยลง โดยที่ผ่านมา เหยื่อความรุนแรงกลายเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในที่สุด เนื่องจากได้รับความเห็นใจ อาทิ ประชา ประสพดี หรือ นายกอบจ.ที่ลพบุรี ที่พี่ชายถูกยิงเสียชีวิต ดังนั้น การใช้ความรุนแรงจึงเป็นวิธีที่ไม่ได้นำมาสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง ส่วนการซื้อเสียงเริ่มลดลงและไม่ได้เป็นตัวชี้ขาด
อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ เสนอว่า ถ้าอยากมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ทั้งสองพรรคใหญ่ต้องพยายามกระจายฐานเสียงของตัวเองให้กระจายทั้งประเทศ มากกว่ากระจุกตัวบางจังหวัด
ประจักษ์ สรุปว่า การเมืองไทยมาถึงจุดที่ระบบการเลือกตั้งลงหลักปักฐานมีเสถียรภาพ มุ่งสู่การมีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค ไม่ว่าจะใช้วิธีพิเศษ รัฐประหาร ตุลาการภิวัตน์ก็ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยและความนิยม ต่อพรรคการเมืองนี้ได้ ทางออกทางเดียวของชนชั้นนำที่ไม่ชอบทักษิณ หรือพรรคเพื่อไทย อยู่ที่การมาแข่งขันในระบบเท่านั้น โดยต้องทำให้ ปชป. เข้มแข็งกว่านี้และแข่งขันได้จริงในระบบ