ที่มา มติชน
โดย ปราปต์ บุนปาน
การเมืองไทยปลอดโปร่งไปอีกเปลาะหนึ่ง
ภายหลัง กกต. มีมติรับรอง ส.ส. เพิ่มขึ้นอีก 12 คน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยใน 12 คนนั้น ก็มีรายชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีแนวโน้มจะกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน
รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย และว่าที่นายกรัฐมนตรี รวมอยู่ด้วย
หลังจากนี้ คงต้องจับตามองต่อไปว่า กกต.จะรับรอง ส.ส.ได้ถึงร้อยละ 95 หรือ 475 คน
เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร/รัฐสภา และเลือกนายกรัฐมนตรี ได้เมื่อไร?
และ 12 แกนนำ นปช. หรือนักการเมืองระดับนำรายอื่นๆ จะได้รับการรับรองให้เป็น ส.ส. ด้วยหรือไม่? ถ้าไม่ จะส่งผลอย่างไรต่อสภาพการเมืองไทยโดยรวม?
แต่อย่างน้อย ดูเหมือนการเมืองไทยกำลังมีเค้าลางว่าจะดำเนินไปอย่างเข้าที่เข้าทางตามระบบระบอบมากยิ่งขึ้น
ส่งผลให้ผู้คนในสังคมมีอาการวิตกกังวลน้อยลง เกี่ยวกับ "อำนาจนอกระบบ" หรือ "มือที่มองไม่เห็น"
ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางกระบวนการประกาศรับรอง ส.ส. ที่ยังไม่เสร็จสิ้น
ผสาน กับบรรยากาศฝุ่นตลบของการกะเก็งรายชื่อ ครม. ชุดใหม่, การตั้งวงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่ยังไม่ทันได้ลงมือปฏิบัติของว่าที่รัฐบาล และการลุ้นว่าจะเกิด "อุบัติเหตุทางการเมือง" ขึ้นอีกหรือไม่
มีหลายคนเป็นห่วงเรื่อง "ความไม่นิ่ง" ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร
ซึ่งบางฝ่ายเห็นว่า ดีไม่ดีอาจเป็นแรงกระหน่ำซ้ำเติมให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องผจญปัญหาหนักหนาสาหัสมากขึ้น
ทว่า หากมองในทางกลับกัน พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นนักการเมืองธรรมดาทั่วๆ ไปคนหนึ่ง
ซึ่งไม่เคยมีอาการ "นิ่ง" มาแต่ไหนแต่ไร แต่มักหลุดอาการต่างๆ นานา หรือคิดอะไรก็เผลอพูดออกมา แบบไม่ค่อยอ้อมค้อมอยู่เสมอ
เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่อาจสลัดพ้น "เงาทักษิณ" อดีตนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเหมือน "ค่าเสื่อมราคา" ของรัฐบาลชุดใหม่โดยปริยาย
ไม่ใช่ปัจจัยเร่งให้รัฐบาลเพื่อไทยพังเร็วขึ้นแต่อย่างใด
กลุ่มคนที่เล่นการเมืองแบบ "นิ่งๆ" "เงียบเชียบ" และ "ไม่เปิดหน้า" ต่างหาก ที่เป็นปัจจัยคุกคามอันน่ากลัวสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ มากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ
อย่างไรก็ตาม สัญญาณจาก กกต.อาจแสดงให้เห็นว่า การเมืองไทยน่าจะเดินหน้าไปสู่ความมีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้นบ้าง
และคงถึงเวลาที่กลุ่มการเมืองซึ่งมักเล่นการเมืองแบบ "นิ่งๆ" ควรจะกลับเข้าที่ทางอย่าง "สงบนิ่ง" จริงๆ เสียที
เพื่อหลีกทางให้พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน มีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล
เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เป็นผู้ตรวจสอบและตัดสินชะตากรรมของรัฐบาลที่เสียงส่วนใหญ่ของพวกเขาเลือกเข้ามาด้วยตัวเอง