ที่มา ประชาไท
แม้ จะเป็นที่ทราบกันดีว่า การบูรณาการอาเซียนในปี 2015 นั้นตั้งอยู่บนฐาน การบูรณาการด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยนโยบายรูปธรรม ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการค้าเสรี การลดหย่อนภาษีสำหรับทุนต่างชาติ การลดลักษณะชาติภายใต้ความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favor Nation) และอาจตีความกลายๆ ว่า รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี
ด้านหนึ่ง ย่อมเป็นการขยายความมั่งคั่งสู่ประเทศในภูมิภาค ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การลงทุนจากต่างประเทศเป็นการขยายโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีชีวิตที่มีทาง เลือกมากขึ้น ความมั่งคั่งถูกแผ่กระจายออกไป และดึงประชาชนในพื้นที่ล้าหลังเข้าสู่ระบบการผลิตโลก ทำลายสังคมจารีตสู่สำนึกสากล และค่านิยมการบริโถคแบบแผนเดียวกัน แ
ต่ใน ขณะเดียวกัน ปัญหาที่ตามมาก็เป็นไปตามที่องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศพยายาม ชี้แจง คือความเปราะบางแบบใหม่ ความผันผวนของกลไกตลาด และการลงทุนที่ปราศจากจริยธรรม การกดขี่แรงงาน และการตักตวงทรัพยากรจากพื้นที่ที่ปราศจากกฎหมายคุ้มครอง ความเปราะบางข้างต้นนี้ นับเป็นสิ่งที่ท้าทายการบูรณาการอาเซียน สำหรับประเทศโดยมากในภูมิภาคที่มีปัญหาด้านการพัฒนาประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน การละเลยปัญหาข้างต้นย่อมเป็นการขุดหลุมฝังศพตัวเอง การลุกฮือในประเทศแถบภูมิภาคนี้อันมีต้นเหตุจากลักษณะการต่อสู้ในชีวิตประจำ วัน ที่มักจบลงด้วยการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุม อุ้มฆ่า หรือขังลืม อาจไม่สามารถทำได้โดยสะดวกนัก เพราะมันจะทำให้ทั้งภูมิภาคนี้เข้าสู่ภาวะมิคสัญญี สำหรับชนชั้นปกครอง มันเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคิดใหม่เรื่องการจัดการความขัดแย้งตลอดจน แนวทางการพัฒนาในสังคม
ในกรณีไทย ที่ผ่านมาชนชั้นปกครองมี “โลกภาพ” ที่ค่อนข้างล้าสมัยทั้งในแง่การพัฒนา และการจัดการความขัดแย้ง ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางสังคมนับจากทศวรรษ 2550 สื่อทางการไทยมักพยายามโฆษณาภาพชนชั้นปกครองเกี่ยวกับการพัฒนา พื้นที่ทุรกันดาร นำน้ำ ไฟ ถนนไปให้ ไม่นับรวมกับการบริจาคที่ทำกันเป็นเทศกาลงานบุญประเพณี ขณะที่วิธีคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง ก็มิได้มีความแตกต่างจากคู่มือ ซีไอเอ สมัยสงครามเย็นที่พยายามมองว่า ผู้ชุมนุมถูกล้างสมอง จ้างให้มา แกนนำเป็นสายตรงจากพรรคคอมมิวนิสต์พยายามล้มเจ้า คนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย และจบลงด้วยการขนทหารมายิงประชาชนกลางเมืองแบบเดียวกันกับที่เคยทำเมื่อสาม สิบสี่สิบปีก่อน พร้อมทั้งการส่งเสริมให้เด็กไทยได้เรียนประวัติศาสตร์ว่าด้วยวีรกรรมอันยิ่ง ใหญ่ของชนชั้นปกครอง
สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จำเป็นต้องพิจารณาคือ ลักษณะความขัดแย้งในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความซับซ้อนและเชื่อมร้อยกัน การจัดการความขัดแย้งนั้นมิอาจใช้มุมมองโลกภาพแบบเดิมๆ
บทความนี้จะพิจารณาความขัดแย้งรูปแบบใหม่ที่จำเป็นต้องก้าวให้พ้นจากวิธีการจัดการความขัดแย้งแบบเดิมๆ
1. ปัญหาด้านอัตลักษณ์และวิถีชีวิต
บท ความของ สตีเว่น โบโรวิคได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งท้าทายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่พรรคเพื่อไทย ไม่ได้รับ ส.ส.แบ่งเขตสักที่นั่งเดียวในพื้นที่ภาคใต้ โดยหนึ่งในสาเหตุคงไม่พ้นจากการสลายการชุมนุมที่มัสยิด กรือแซะ อันนำสู่การเสียชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม นักวิชาการสายอนุรักษ์นิยม พยายามโยงการจัดการปัญหาภาคใต้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณเข้าเป็นหนึ่งใน “นโยบายประชานิยม” ที่ถูกผลักโดยความต้องการแบบสั้นๆ มักง่ายของผู้ลงคะแนน และนักการเมือง การพิจารณาเช่นนี้นับเป็นการละเลยพัฒนาการของสังคมไทย ทักษิณ ชินวัตรไม่ใช่วีรบุรุษหรือ ซาตานที่มาเสกบันดาลทุกเงื่อนไขในประเทศนี้ วิธีการลดทอนค่าความเป็นมนุษย์เพื่อจัดการปัญหาสังคมไทย ถูกสั่งสมมาในโครงสร้าง ผ่านประวัติศาสตร์แนวราชาชาตินิยมมาช้านาน ไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนเชื้อชาติมาเลย์เท่านั้นที่เผชิญเงื่อนไขนี้ ประชาชนจากพื้นที่ตอนเหนือ และอีสาน ก็ถูกลดทอนความเป็นคน โดยชนชั้นกลางในเมืองมาช้านาน (ปัจจุบันก็ยังคงอยู่) โดยอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ถูกต้อง ถูกแทนที่ด้วยประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม การโต้กลับของขบวนการที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภาพสะท้อนการขัดขืนของคน ในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องอัตลักษณ์อย่างเดียวแน่นอน หากแต่เกี่ยวพันกับปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่าง พื้นที่ แต่หลายปีที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าขบวนการดังกล่าวไม่มีศักยภาพพอ ที่จะพัฒนาและจัดการปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เช่นกัน สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องก้าวให้พ้นเมนูนโยบายแบบเดิมๆ อาทิ “เราคนไทยเหมือนกัน” , “ขวานไทยที่ไม่มีด้าม เอาไปใช้การคงไม่ได้” รวมถึงวิธีคิดแบบเดิมๆเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน
ในยุคสมัยแห่งการ บูรณาการ ประวัติศาสตร์ที่ควรพูดถึงคือประวัติศาสตร์ร่วมของประชาชนแต่ละพื้นที่ หาใช่ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำ ประวัติศาสตร์เรื่องการเสียดินแดน ได้ดินแดน หรือข้าศึกมาเผาเมืองเมื่อหลายร้อยปีก่อน นับเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่สร้างสรรค์ และคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชนชั้นนำแต่ละยุคสมัยเป็นหลัก วิธีคิดศาสนาแห่งรัฐ(ไม่ว่าของรัฐส่วนกลางและฝ่ายแบ่งแยกดินแดน) ควรถูกแทนที่ด้วยมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ศาสนาควรเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนมากกว่าการปลูกฝังโดยรัฐ การตั้งเขตปกครองพิเศษยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งมิใช่กับพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น หากแต่ต้องพิจารณาการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ในพื้นที่อื่นเช่นกัน ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ทหาร ตำรวจ บุคลากรด้านศาล จากส่วนกลางอันนับเป็นมือไม้ของระบบรัฐรวมศูนย์แบบอำมาตยาธิปไตย พึงถูกยกเลิก หรือจำกัดอำนาจความรับผิดชอบให้น้อยที่สุด รัฐส่วนกลางพึงสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น บุคลากรและเครื่องมือด้านสาธารณสุข การสร้างเครือข่ายการคมนาคมราคาถูกโดยรัฐ และรณรงค์มาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลให้เป็น ขั้นต่ำของข้อบังคับในท้องถิ่น เปลี่ยนวิธีคิดของพื้นที่ชายแดนจากลักษณะพื้นที่ที่อำนาจอธิปไตยไปไม่ถึงสู่ การเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของแต่ละพื้นที่
2. ประเด็นแรงงาน แรงงานข้ามชาติ และความมั่นคงมนุษย์
เมื่อ ประมาณปี 2552 บริษัทบอดี้แฟชั่นได้ทำการเลิกจ้างพนักงานกว่าสองพันคน ในโรงงานย่านบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ แม้จะมีการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย พนักงานโดยมากมีภูมิหลังมาจากครอบครัวฐานะยากจนในต่างจังหวัด และอพยพมาตั้งแต่ราวอายุ 14-15 โดยมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมต้นเป็นอย่างมาก การเลิกจ้างในวัยกลางคนนับเป็นหายนะของชีวิตแรงงาน ที่ไม่สามารถมีทางออกใดๆในประเทศนี้ ข้อสังเกตสำคัญคือพนักงานที่ถูกปลดออกมักเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ที่มีอายุ พร้อมกันนั้น บริษัทยังขยายสาขาไปเปิดสาขาที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีค่าจ้างขั้นต่ำต่ำกว่า ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ราวห้าสิบบาท และต่ำกว่าค่าจ้างที่บริษัทจ้างแรงงานที่ถูกปลดกว่าครึ่งหนึ่ง
การบูรณาการ รอาเซียนเป็นที่หวาดวิตกต่อ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ด้านหนึ่งคือการนำเข้าแรงงานราคาถูกบริเวณชายแดนไทย ซึ่งแรงงานที่อำนาจต่อรองต่ำนี้มีแนวโน้มที่จะรับค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมาย กำหนด ก่อให้เกิดการว่างงานในแรงงานไทย หรือกระทั่งการที่ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตสู่พื้นที่ที่ค่าจ้างต่ำกว่า ในลักษณะโรงงานไร้ราก แต่การปิดกั้นและปฏิเสธการบูรณาการอาเซียนโดยสิ้นเชิงก็ดูจะเป็นการปิดตา ข้างเดียวโดยปฏิเสธราวกับว่า การกดขี่แรงงานข้ามชาติ การปิดสถานประกอบการและไล่คนออกแล้วไปเปิดที่ใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมการ ผลิตไทย ในด้านหนึ่งการบูรณาการเป็นการเปิดโอกาสที่จะผลักดันประเด็นด้านความมั่นคง ของมนุษย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น แต่ทำอย่างไรให้แรงงานได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ภายใต้การบูรณาการเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้
มักมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าสังคมที่มีการเติบโต ทางเศรษฐกิจเกิด ขึ้นเพราะการปล่อยเสรีทางเศรษฐกิจ ฮ่องกงอันเป็นตัวอย่างของ มิลตัน ฟลิดแมน นักวิชาการผู้สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมใหม่ หากพิจารณาดูแล้ว ในฮ่องกง รัฐเป็นผู้สร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งสิ้น ทุกวันนี้ฮ่องกงเติบโตจากการเป็นประเทศอุตสาหกรรมของเก๊ สู่การเป็นศูนย์กลางการเงินและการบริการของภูมิภาค ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องให้ความสำคัญ คือการสร้างหลักประกันพื้นฐานแก่ประชาชนโดยรัฐบาล อันจะเป็นเกราะป้องกันปัญหาความไม่มั่นคงจากการขยายตัวของการเปิดการค้าเสรี และบริการในระดับภูมิภาค
บทความของ นพ.พิทักษ์ วชิระศักดิ์มงคล ได้ชี้ให้เห็นลักษณะสำคัญของนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามสิบบาทรักษาทุกโรค ที่เปลี่ยนจากการรักษาแบบสังคมสงเคราะห์แบบเก็บตก สู่สิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่ต้องพิสุจน์ความเจ็บ หรือความจน ดังนั้นหากพิจารณาหลักประกันความมั่นคงทางชีวิตของไทยด้านอื่นๆแล้วค่อนข้าง ต่ำมาก ทั้งด้านที่อยู่อาศัย หรือการประกันรายได้...ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตลก เพราะประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ “หวงสัญชาติ”มาก ขนาดเด็กอายุเจ็ดขวบยังต้องมีบัตรประชาชน แต่เมื่อเอาตามจริงแล้วการเป็นคนไทยกลับไม่ได้สิทธิประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอัน นัก ข้อเสนอนี้ฟังดูเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แต่หากรัฐบาลส่งเสริมการประกันรายได้แก่ประชาชนทุกคน ให้มีรายได้เพียงพอในระดับเทียบเท่าค่าจ้างเริ่มแรก สิ่งเหล่านี้จะเป็นการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อจูงใจคนสู่ ตลาดแรงงาน การจ้างค่าจ้างแบบ”กันตาย” ควรจะสูญพันธ์ไปจากระบบการจ้าง ดังเช่นข้อเสนอ ของ คณะปฏิรูประบบค่าจ้างโดยขบวนการแรงงานไทย ที่ให้ยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำสู่ “ค่าจ้างลูกจ้างไร้ฝีมือที่เริ่มทำงานปีแรก” นั่นหมายความว่าโครงสร้างค่าจ้างต้องมีความครอบคลุมถึง แรงงานทุกระดับ ไม่ว่าจะเริ่มงานใหม่ ทำงานมาแล้วสิบปี หรือใกล้เกษียณ โดยได้ค่าตอบแทนตามอายุงาน (เช่น ผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานยี่สิบปี ควรมีค่าจ้างเป็นประมาณ 2.5เท่า ของผู้เริ่มงานปีแรกเป็นขั้นต่ำ) นั่นหมายความว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทั้งภาษีทางตรง (ภาษีเงินได้) และภาษีทางอ้อม (ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการที่ประชาชนมีอำนาจการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น) ซึ่งสามารถมาจัดเปินเงินชดเชยการว่างงานที่ประชาชนต้องได้ไม่น้อยกว่า “ค่าจ้างสำหรับผู้เริ่มทำงานปีแรก” และเป็นการให้ในฐานะสิทธิพลเมืองไม่ใช่การให้แบบเก็บตกหรือสงเคราะห์
หลัก การข้างต้นมิได้จำเพาะเพียงแค่แรงงานไทย หากแต่หมายรวมถึงแรงงานทุกสัญชาติที่อยู่ในตลาดแรงงานของไทย จึงเป็นที่แน่ชัดว่าหากค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการแรงงานข้ามชาติที่ค่าจ้างต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบย่อมสูงขึ้น เช่น งานประมง หรือก่อสร้าง การบูรณาการอาเซียนจะทำให้เงื่อนไขของแรงงานข้ามชาติมีความชัดเจนมากขึ้น ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติอาจต้องถูกวางเงื่อนไขให้ทำประกันสุขภาพ และอุบัติเหตุแก่ลูกจ้าง รวมถึงต้องมีการปรับค่าจ้างตามมาตรฐานเดียวกับแรงงานไทย สิ่งที่ต้องตามมาคือการวิธีคิดเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง ความเป็นพลเมืองไทย การได้มาซึ่ง “สัญชาติไทย” พึงพิจารณาผ่านลักษณะการทำงานของแรงงานนั้น โดยถือการคุ้มครองความมั่นคงของมนุษย์มากกว่าความมั่นคงของรัฐ รูปธรรมคือแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอย่างต่อเนื่องสามปีไม่ว่าจะเข้าเมืองด้วย วิธีใด สามารถขอสัญชาติไทยได้ และได้รับสิทธิเยี่ยงพลเมืองไทย รวมถึงสิทธิประกันการว่างงาน
ประเทศไทยมักหลงทางกับวลี “การพัฒนาฝีมือแรงงาน” โดยมองว่าคนว่างงาน ว่างงานเพราะไร้ทักษะและไม่มีความสามารถเพียงพอ ซึ่งมิได้ผิดทั้งหมดหากแต่ละเลยว่าข้อเท็จจริงของการว่างงานโดยมากเกิดเพราะ การต้องการลดต้นทุนของผู้ประกอบการในกรณีที่แรงงานเริ่มสูงอายุ หรือเริ่มหัวแข็งและหัวหมอมิยอมจำนนต่อสภาพการจ้างงานที่ขูดรีด การเพิ่มอำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานต้องขึ้นกับองค์กรของผู้ใช้แรงงานเอง นั่นคือสหภาพแรงงานซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับประเทศอารยะทั้งหลายที่การ แก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานเกิดจากการต่อสู้ด้วยองค์กรของพวกเขาเอง อันแตกต่างจากแบบแผนของไทย ที่มักใช้ระบบเส้นสายและการอุทิศตนขององค์กรพัฒนาเอกชนและช่วยเหลือเป็น ประเด็นแยกขาดมากกว่าการปฏิรูปสังคมโดยรวม ในประเด็นการพัฒนาฝีมือนั้น หลักการง่ายๆคือ การพัฒนาระบบการศึกษาถ้วนหน้าครบวงจร ที่ผู้ศึกษา ที่บรรลุนิติภาวะพึงได้ค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่า “ค่าตอบแทนสำหรับผู้เริ่มงานปีแรก” อันเป็นโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานไทยได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างเต็มที่ พร้อมกันนั้น สำหรับประชาชนชาวอาเซียนก็พึงได้เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา(รัฐ)ไทย ด้วยอัตราค่าเล่าเรียนเดียวกัน โดยรัฐบาลพึงให้ทุนสนับสนุนแก่นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสามารถ สูง เพื่อเป็นบุคลากรเพื่อพัฒนาสังคมไทย และสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อการบูรณาการระหว่างประเทศ
3. สิทธิทางการเมือง และการแสดงออก
สิทธิ ทางการเมืองและสิทธิทางเศรษฐกิจ เป็นเงื่อนไขเดียวกัน การบูรณาการอาเซียนต้องนำสู่แนวคิด พลโลกที่เคารพความเป็นมนุษย์ระหว่างกัน ประวัติศาสตร์การเมืองแบบล้าหลังยุคสงครามเย็นควรถูกแทนที่ด้วยประวัติ ศาสตร์การร่วมมือกันของประชาชน ที่ต่างเผชิญปัญหาและความเปราะบางเดียวกัน กฎหมายที่จำกัดสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์บางสถาบันพึงถูกยกเลิก ไม่ว่า จะเป็นบางสถาบันของไทย พรรคเผด็จการคอมมิวนิสต์ หรือพรรคชาตินิยมของประเทศใดๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เงื่อนไขเฉพาะของภูมิภาคนี้ในลักษณะวัฒนธรรมสัมพัทธ์ หากแต่เป็นภาพสะท้อนความด้อยพัฒนาที่เกิดจากการกดขี่อย่างเป็นระบบของประเทศ ในภูมิภาคนี้ ชนชั้นนำและพรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมมักพยายามสร้างแนวร่วมของวัฒนธรรม จารีตของชนชั้นสูง แต่ประชาชนและพรรคการเมืองของประชาชนชนชั้นล่างต้องไปไกลกว่านั้น คือการบูรณาการความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งตัวตน เสรีภาพ และประชาธิปไตย
ปัญหาของสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกทางการเมืองไทย จึงมิใช่เรื่องเฉพาะของสังคมไทย ค่านิยมและความศักดิ์สิทธิ์ต่อบางสถาบันล้วนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อ สร้างความชอบธรรมให้แก่การกดขี่ในระบบทุนนิยม ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ โดยมีระดับที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีลักษณะร่วมคือ การได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ในประเทศภูมิภาคนี้ (New Rich of Asia) โดยเป็นกลุ่มที่เปราะบาง กลวงเปล่าและไร้อุดมการณ์ คนกลุ่มนี้หาใช่พลังประชาธิปไตยตามทฤษฎีการพัฒนากระแสหลัก ตรงกันข้ามคนกลุ่มนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อความก้าวหน้าทุกชนิด แม้ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มแรกๆที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการพัฒนาระบบทุนนิยม ที่ผ่านมา ในกรณีประเทศไทยคนกลุ่มนี้ได้แก่ กลุ่ม”สลิ่ม” ชนชั้นกลางที่ก่นด่าการสร้างทางรถไฟฟ้า หรือกั้นทางรถเมล์ด่วนพิเศษว่าทำให้รถติด ทั้งๆที่เส้นทางโดยสารทางรางทั้งหมดเชื่อมพวกเขาจากคอนโดฯหรูสู่ออฟฟิสกลาง เมืองอีกย่านหนึ่ง คนกลุ่มนี้โวยวายกับการขึ้นค่าแรงวันละสามร้อยบาทว่าจะทำให้ค่าครองชีพสูง ขึ้น ทั้งๆที่ความเป็นจริงคนเหล่านี้ก็รับประทานอาหารมื้อละร้อยบาทตามร้านอาหาร แฟรนไชส์ที่กดขี่ค่าแรงผู้ใช้แรงงานและปราศจากสหภาพแรงงาน (พวกเขามักชื่นชมเด็กมัธยมที่ทำงานในร้านอาหารพาร์ตไทม์ว่ามีจิตสำนึกผู้ ประกอบการตั้งแต่เด็ก โดยลืมเฉลียวใจว่าค่าจ้างชั่วโมงละ 22 บาทไม่สามารถซื้ออะไรแก่พนักงานวัยเยาว์ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าชีวิตที่ดีในปัจจุบันหรืออนาคต) และหากจำกันได้คนกลุ่มนี้คือคนที่สรรเสริญการสังหารผู้ชุมนุมของรัฐเพื่อทวง คืนห้างสรรพสินค้าและสี่แยกของพวกเขา คนกลุ่มนี้มักจะฟูมฟายกับความเป็นไทย และจารีตอันงดงาม รวมถึงคุณค่าแบบเอเชียๆทั้งหลาย เช่น ซื่อสัตย์ ขยัน ประหยัดอดทน แต่ชีวิตประจำวันของพวกเขากลับมีแต่ความกลวงเปล่า การฟังธรรมะจากเกจิอาจารย์ชื่อดังในวันหยุดนับเป็นหนทางการไถ่บาปภาระในระบบ ทุนนิยมของพวกเขา
คนกลุ่มนี้ไม่มีพลังใดๆทั้งสิ้น การก้าวเข้าสู่สังคมใหม่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจคนเหล่านี้ซึ่งมักเป็นเครื่องมือ สร้างความชอบธรรมให้กับ พรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยม ด้วยเงื่อนไขโครงสร้างทางสังคม พวกเขามีทรรศะเหยียดเพศ เชื้อชาติ และชนชั้น ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการบูรณาการภูมิภาค คนกลุ่มนี้มีอยู่ในทุกสังคมทุกประเทศ สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องพิจารณาคือ จะทำอย่างไรให้คนส่วนน้อยที่มีทรรศนะคับแคบเหล่านี้ เป็นเพียงตัวตลกของสังคมมากกว่าอภิชนที่น่ายกย่อง (เราจะเห็นตัวอย่างในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ ที่วิถีชีวิตและทรรศนะชนชั้นกลางแบบมาตรฐานถูกทำให้เป็นเรื่องตลกในภาพยนตร์ ทั่วไป มากกว่าเรื่องการเสียสละทำตามหน้าที่อันน่ายกย่องแบบคุณค่าเอเชียใน ปัจจุบัน) การบูรณาการอาเซียนจึงจำเป็นต้องพิจารณาการแสดงออกทางการเมืองที่สะท้อนผล ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงมากกว่า ข้อเรียกร้องของเหล่าอภิชนที่กลวงเปล่าในแต่ละประเทศ
เทคโนโลยี สารสนเทศ เป็นเงื่อนไขสำคัญกับการบูรณาการทางสังคม และการแสดงออกทางความคิดอันเป็นสากล การสร้าง “ฮาร์ดแวร์” และ “ซอฟท์แวร์” ทางไอที ที่ราคาถูกและเข้าถึงผู้คนส่วนมากนับเป็นเรื่องสำคัญ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของ บรรษัทข้ามชาติในการผูกขาดพัฒนาซอฟท์แวร์ต่างๆ รัฐบาลแต่ละประเทศพึงเป็นผู้สนับสนุนการวิจัยค้นคว้าเพื่อนำสู่เทคโนโลยีการ สื่อสารเพื่อนำสู่การสร้าง ซอฟท์แวร์สาธารณะของประชาชนในภูมิภาค มากกว่าทรัพย์สมบัติของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งมักถูกควบคุมโดยชนชั้นอภิสิทธิ์ชนของแต่ละสังคมอีกต่อหนึ่ง
โดย สรุปแล้วการบูรณาการอาเซียนจึงไม่ใช่เรื่องของวลีที่สวยงาม ในลักษณะ “พลโลก” หรือมิตรภาพไร้พรมแดนเท่านั้น แต่เป็นการท้าทายพลังของประชาชนผู้ถูกกดขี่ทั่วทั้งภูมิภาคนี้ ซึ่งกำลังจะเผชิญกับ เงื่อนไขความขัดแย้งและความเปราะบางแบบใหม่ อันเป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจากคนยากจนส่วนใหญ่ของประเทศจะสามารถ นำเงื่อนไขการบูรณาการนี้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนมากได้หรือไม่ ซึ่งโจทย์ของสังคมหลังการบูรณาการอาเซียน จึงมิใช่เพียงแค่การสร้างความมั่นคงแก่พลเมืองชาติตน หากแต่ต้องตีความถึงเหล่า “ไพร่” ที่ถูกกดขี่ในภูมิภาคนี้ การสร้างแนวร่วมของพรรคเพื่อไทย จึงมิอาจคิดคำนวณได้เพียงแค่เรื่องปัจจัยทางธุรกิจและผลกำไร หากแต่เป็นการถามท้าถึงมิติความมั่นคงของมนุษย์ทั้งภูมิภาคนี้