ที่มา ข่าวสด
แดงล่าชื่อถอด'กก.สิทธิ์' ฮึ่มบุกถามอมรา-คดี6ศพ
ทูต เบลเยียมเข้าพบ 'ยิ่งลักษณ์' ห่วงปัญหาสิทธิมนุษยชนไทย สอบถามเรื่องเยียวยาคนเสื้อแดง ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปราม ขณะที่ 'ปู' ย้ำไม่แทรกแซงการทำงาน 'คอป.' ด้านแม่น้องเกด พร้อมด้วยญาติ 6 ศพวัดปทุมฯ ถวายสังฆทาน ทำบุญ รำลึก 14 เดือน พฤษภาเลือด ยืนกรานศุกร์นี้บุกฟังคำตอบคณะกรรมการสิทธิฯ ต้องอธิบายคดี 6 ศพ ให้ชัด แต่ละศพเคลื่อนย้ายมาจากจุดใด
รำลึก - นางพะเยาว์ อัคฮาด พร้อมกลุ่มคนเสื้อแดง ร่วมทำบุญที่วัดปทุมวนาราม รำลึก 14 เดือนวันที่ 19 พ.ค. และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุ การณ์สลายการชุมนุม วันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 2553
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 ก.ค. ที่วัดปทุมวนาราม นางพะเยาว์ อัคฮาด พร้อมด้วยนายณัทพัช อัคฮาด แม่และน้องชายของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด และญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ยิงพยาบาลอาสา และอาสาสมัครกู้ภัย รวม 6 ศพภายในวัดปทุมฯ ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศล และถวายสังฆทานให้ผู้เสียชีวิต พร้อมทั้งร่วมรำลึกวันครบรอบ 14 เดือน เหตุการณ์สลายม็อบเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553
นายณัทพัช กล่าวว่า หากกกต.รับรอง ส.ส.ที่เป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พวกเราจะนำมวลชนเสื้อแดงเดินทางไปรอรับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 20 ก.ค.ทันที แต่หากไม่ผ่านการรับรอง ก็จะเป็น การเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจ ส่วนการเดินทางไปติดตามเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในวันที่ 22 ก.ค.นี้ เพื่อต้อง การให้คณะกรรมการสิทธิฯ ชี้แจงผลสรุปคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ว่าแต่ละศพถูกเคลื่อนย้ายมาจากจุดใด เพราะผลสรุปที่ออกมาตรงข้ามกับความเป็นจริงมาก ทำให้พวกเราถูกมองว่าเป็นพวกไม่ดี จึงต้องการให้คณะกรรมการสิทธิฯ เร่งอธิบายเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อให้สังคมรับรู้
ขณะเดียวกัน ที่พรรคเพื่อไทย นายรูดี้ เวสตราเติน เอกอัครราชทูตเบลเยียม ประจำประเทศไทย เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความยินดีที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง โดยเอกอัครราชทูตเบลเยียมให้ความสนใจเรื่องแนว ทางการปรองดองตาม แนวทางของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน โดยระบุว่าหากไทยมีความปรองดอง เศรษฐกิจก็จะเดินหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า เอกอัครราชทูตยังแสดงความเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรืออียู จับตามองอยู่ทั้งกรณีผู้อพยพ การผลักดันชาวโรฮิงยาจากประ เทศพม่า ออกนอกประเทศไทย อีกทั้งเรื่องการเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงการทำงานของคอป. ส่วนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะคนเสื้อแดงนั้น คณะกรรมการปรองดองของพรรคเพื่อไทย ที่จะตั้งขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับคอป.จะไปดูรายละเอียด รวมทั้งงบประมาณต่างๆ ในการเยียวยาต่อไป
เย็นวันเดียวกัน ที่สี่แยกราชประสงค์ กลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 200 คน นำโดยนายนพพร นามเชียงใต้ และนายนที สรวารี นายกสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน จัดงานรำลึก 14 เดือน เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 โดยตั้งเวทีปราศรัยที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ พร้อมทั้งตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากคนเสื้อแดง ที่นำบัตรประจำตัวประชาชนมาถ่ายเอกสารเข้าร่วมลงชื่อ
นายนพพร กล่าวว่า เป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ของไทยชุดนี้ คือผู้พิทักษ์เฉพาะสิทธิ์ของระบบราชการ และกลุ่มอำมาตย์อย่างแท้จริง เห็นได้จากรายงานผลการสอบสวน กรณีปราบปรามประชาชนด้วยอาวุธสงคราม ซึ่งอ้างว่าไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่แม่นปืนกระทำ ทั้งที่หลักฐานมีมากมาย อยากถามคณะกรรมการสิทธิฯ ว่าหลักฐานจำนวนมากเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ทำไมไม่นำมาเป็นข้อมูล เห็นได้ว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ที่มีนางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน เป็นคณะกรรมการที่ปราศจากคุณธรรม ไร้สำนึกในการปกป้องสิทธิของมนุษยชาติ หลายคนมีส่วนในการสนับสนุนรัฐ ประหาร เมื่อปีพ.ศ.2549 กลุ่มคนเสื้อแดงจะล่าชื่อถอดถอนคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ เพื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาต่อไป
ต่อมาเวลา 19.00 น. กลุ่มเสื้อแดงจุดเทียนสีแดง รำลึกถึงผู้เสียชีวิต ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลมาคอยดูแลความสงบเรียบร้อย