ที่มา มติชน
โดย เกษียร เตชะพีระ
(เรียบ เรียงเพิ่มเติมจากส่วนท้ายของปาฐกถา "บ้านเมืองเป็นเรื่องของเรา" ในงานสัมมนา "ขับเคลื่อนประเทศไทย ภายใต้บริบทเศรษฐกิจสังคมยุครัฐบาลใหม่" จัดโดยเครือธนาคารกสิกรไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถาบันอิศรา อมันตกุล ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และเซ็นทรัลเวิลด์, 8 กรกฎาคม 2554)
รัฐบาล ผสมใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กำลังฟอร์มตัวขึ้นสู่อำนาจท่ามกลางบริบทแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของสังคม การเมืองไทย ที่อำนาจกำลังเปลี่ยนย้ายในหมู่ชนชั้นนำ, การเมืองกำลังเปลี่ยนผ่านจากแวดวงชนชั้นนำไปสู่มวลชน และแนวนโยบายเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาที่ชี้นำโดยเทคโนแครตไป เป็นการกระจายความมั่งคั่งที่ผลักดันด้วยพลังการเมือง
และในฐานะที่ ประกาศตัวอย่างเปิดเผยชัดเจนแต่แรกว่ารัฐบาลใหม่นี้เป็นรัฐบาลโคลนนิ่ง ทักษิณ รัฐบาลใหม่ก็อาจคิดและทำผิดพลาดเพลี่ยงพล้ำซ้ำรอยรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลนอมิ นีทักษิณแต่เดิม จนประสบความล้มเหลวในการรับมือและฟันฝ่ากระแสแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่ กำลังเกิดขึ้นได้เช่นกัน
เพื่อที่จะเข้าใจรัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณ จึงน่าจะทบทวนทำความเข้าใจลักษณะ ฐานะ และบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองของรัฐบาลทักษิณสักเล็กน้อย
ใน กรอบของระเบียบเศรษฐกิจการเมืองเปรียบเทียบระดับโลก รัฐบาลทักษิณจัดเป็นรัฐบาลเสรีนิยมใหม่รุ่นสอง หรือที่เรียกว่าเสรีนิยมใหม่เชิงสังคม/ชดเชย (second-generation neoliberalism, or social/compensatory neoliberalism) เช่นรัฐบาลประธานาธิบดีบิล คลินตัน ของอเมริกา และรัฐบาลนายกฯโทนี แบลร์ ของอังกฤษ
ซึ่งปรับเปลี่ยนแตกต่างไปจากบรรดารัฐบาลเสรีนิยมใหม่รุ่น แรกที่ยึดมั่นหลักตลาดเสรี บริสุทธิ์สุดโต่งและต่อต้านการแทรกแซงของอำนาจการเมืองไม่ว่าจากการเลือก ตั้งหรือจากมวลชนโดยตรงเข้ามาในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ (the anti-politics of market fundamentalists/neoliberal purists) เช่น รัฐบาลเผด็จการทหารของพลเอกออกุสโต ปิโนเช่ต์ แห่งชิลี, รัฐบาลประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของอเมริกา และรัฐบาลนายกฯมากาเร็ต แธตเชอร์ ของอังกฤษ
รัฐบาลทักษิณปรับแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ให้เข้า กับความเป็นจริงของการเมืองเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยซึ่งเรียกร้องความชอบ ธรรมที่กว้างไปกว่าหลักการตลาดเสรี และต้องการแรงสนับสนุนของประชาชน ผ่านการสร้างนโยบายสัญญาประชาคมใหม่แบบประชานิยม (populist social contracts) นำเสนอสิทธิและความเสมอภาคแบบใหม่ที่ต่างไปจากสิทธิและความเสมอภาค แบบเดิมของรัฐชาติในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ เปลี่ยนจาก [สิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง + ความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ] ---> [สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในตลาด + ความเสมอภาคในการเข้าถึงตลาด]
นโยบาย ประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาลทักษิณก็คือการ ติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็น (ห่วงชูชีพ) เพื่อมวลชนโดยเฉพาะคนชั้นกลางระดับล่างซึ่งขาดแคลนทุน, ที่ดิน, ทักษะ, การศึกษา ฯลฯ สามารถเอื้อมถึงสิ่งเหล่านี้สำหรับอาศัยใช้มันในอันที่จะเข้าร่วมและประคอง ตัวลอยคออยู่รอดได้ในตลาดแข่งขันเสรี
เสรีนิยมใหม่ของ รัฐบาลทักษิณจึงมิใช่เสรีนิยมใหม่หรือตลาดเสรีบริสุทธิ์ หากมีทั้งแง่มุมเชิงสังคม (ประชานิยม) และเชิงอุปถัมภ์กลุ่มทุนพวกพ้อง (โลกาภิวัตน์แบบลำเอียงเข้าข้างทุนนิยม พวกพ้อง crony-capitalist oriented globalization) และดังนั้นจึงถูกต่อต้านคัดค้านจากพลังหลายฝ่าย โดยเฉพาะ 1) พลังฝ่ายขวาภาครัฐ-ราชาชาตินิยม ("อำมาตย์", คปค., พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย), 2) พลังฝ่ายซ้ายตลาดเสรี (TDRI) และ 3) พลังฝ่ายซ้ายที่ต้องการกระจายอำนาจและทรัพยากรออกไปจากภาครัฐและทุนมาให้ภาคประชาชน (สมัชชาคนจน ฯลฯ)
ตราบ เท่าที่รัฐบาลใหม่โคลนเอาแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่เชิงสังคมและโลกาภิวัตน์แบบ ลำเอียงเข้าข้างทุนนิยมพวกพ้องของรัฐบาลทักษิณต้นแบบมา ตราบนั้นก็คงจะเผชิญกับพลังคัดค้าน ต่อต้าน 3 ฝ่ายดังกล่าวอีก
ใน ความหมายนี้ รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณจึงน่าจะเผชิญกับทางแพร่ง (dilemmas) ด้านแนวนโยบายใหญ่ๆ 3 ประการ คล้ายกับรัฐบาลทักษิณต้นแบบด้วย กล่าวคือ :-
1) ทางแพร่งระหว่างประชาธิปไตยกับหลักนิติธรรม หรือนัยหนึ่งทางแพร่งระหว่างอาญาสิทธิ์ที่ได้มาจากมติเสียงข้างมากของ ประชาชนในการเลือกตั้ง กับการจำกัดอำนาจรัฐไว้ให้อยู่ในกรอบที่ไม่ไปล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญ, สิทธิเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล และเสียงข้างน้อย, รวมทั้งเหล่าสถาบันตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ โดยมีศาลตุลาการอิสระเป็นกรรมการคุมเส้น
ทางแพร่งนี้จะแสดงออกอย่างรวมศูนย์เป็นรูปธรรมในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปรียบเสมือนกับระเบิดลูกที่หนึ่ง
2) ทางแพร่งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเครือข่าย กับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือนัยหนึ่งปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) อันเป็นกลุ่มอาการประจำตัวของรัฐบาลทักษิณแต่ก่อน
ทางแพร่งนี้จะแสดงออกอย่างรวมศูนย์เป็นรูปธรรมในปัญหาการทวงคืนทรัพย์สินของคุณทักษิณและญาติมิตรที่ถูกรัฐยึดไปซึ่งเปรียบเสมือนกับระเบิดลูกที่สอง
3) ทางแพร่งระหว่างความจำเป็นสองด้านที่ต้องทั้งหาทางรอมชอมปรองดองกับชนชั้นนำ เก่า กับตอบสนองความเรียกร้องต้องการของฐานมวลชนเสื้อแดง ทำให้รัฐบาลใหม่จะตกอยู่ในแรงกดดัน 2 ด้านที่หนักหน่วงรุนแรงกว่ารัฐบาลทักษิณแต่เดิมก่อนเกิดการปะทะแตกหักกับ กลุ่มชนชั้นนำเก่า และก่อนเกิดมวลชนเสื้อแดงเป็นฐานพลังสนับสนุนในยามพ่ายแพ้ลี้ภัย
หาก ทำได้ รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณคงต้องการทั้งรอมชอมกับชนชั้นนำเก่าและเอาใจมวลชนเสื้อ แดงไปพร้อมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายอำนาจการเมืองและการทวงคืนความยุติธรรมของตน, แต่หากต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง คงง่ายกว่าที่รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณจะโน้มไปในทางเลือกรอมชอมกับชนชั้นนำเก่า แทนที่จะตอบสนองมวลชนเสื้อแดงอย่างเต็มที่ (ดังคำกล่าวของคุณทักษิณช่วงเลือกตั้งในทำนองว่าคนที่เจ็บกว่าใครเพื่อนต้อง ยอมลืมและให้อภัยก่อน)
รัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณน่าจะหยิบ ยื่นสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องหลักสำคัญ ที่สุดแก่มวลชนเสื้อแดงอย่างใจกว้าง ไม่ว่าให้ลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้นๆ หรือตำแหน่งฝ่ายบริหารกับแกนนำเสื้อแดง, ยกย่องสดุดีหรือชดเชยค่าเสียหายบาดเจ็บล้มตายแก่ญาติมิตรของผู้เสียชีวิตใน เหตุการณ์มีนา-พฤษภาอำมหิต 2553, เปิดโอกาสเพิ่มงบประมาณให้คณะกรรมการชุดต่างๆ ไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง ยาวนานออกไปเรื่อยๆ ฯลฯ
ทางแพร่งนี้ย่อมแสดงออกเป็นรูปธรรม ชัดเจนและแหลมคมที่สุดในปัญหาความจริง, ความยุติธรรม และความรับผิดชอบต่อกรณี 92 ศพมีนา-พฤษภาอำมหิต 2553 ซึ่งเปรียบเสมือนกับระเบิดลูกที่สามนั่นเอง
ขณะที่ความแตก ต่างสำคัญระหว่างรัฐบาลทักษิณต้นแบบกับรัฐบาลโคลนนิ่งยิ่งลักษณ์ก็คือ รัฐบาลทักษิณปกครองโดยอาศัยรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง พ.ศ.2540 ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของฝ่ายบริหารโดยสร้างตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เข้มแข็งขึ้นมา, ส่วนรัฐบาลโคลนนิ่งยิ่งลักษณ์กลับจะต้องบริหารอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ประชามติ พ.ศ.2550 (รวมทั้งพระราชบัญญัติฉบับอื่นๆ ที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติของ คมช.) ที่ออกแบบมา "เพื่อป้องกันคนอย่างทักษิณ" โดยจำกัดควบคุมอำนาจฝ่ายบริหารไว้ในบทบัญญัติต่างๆ มากมายผ่านกลไกและตัวแทนของสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงข้าง มาก (non-majoritarian institutions) โดยเฉพาะฝ่ายตุลาการ
สรุป
เพื่อ ให้สอดคล้องกับบรรยากาศแห่งการปรองดองหลังการเลือกตั้งและต้อนรับรัฐบาลใหม่ ผมใคร่ขอสรุปจบลงด้วยเรื่องการปรองดอง 3 ข้อ กล่าวคือ
1) สำหรับพลังการเมืองทุกพรรคทุกฝ่าย การปรองดองที่สำคัญที่สุดคือปรองดองกับประชาธิปไตย หมายความว่า เราควรถือเป็นจุดเริ่มพื้นฐานในการออกเดินทางร่วมกันไปต่อจากนี้ว่า ประชาธิปไตยจะอยู่ยั้งยืนยงกับเราที่นี่, ฉะนั้น เราต้องหาทางปรองดองกับประชาธิปไตยและอยู่กับประชาธิปไตยให้จงได้ แม้ว่าผลการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจะออกมาไม่ตรงกับใจเรา, ได้คนที่เราไม่ชอบหรือคิดว่าไม่ดี, เราก็ไม่มีทางเลือกของระบอบปกครองอื่นนอกจากประชาธิปไตย เพราะต้นทุนความเสียหายที่ได้เกิดต่อชาติบ้านเมืองมาแล้วในรอบ 5 ปีนี้ และจะเกิดต่อไปหากเลือกแก้ปัญหาด้วยรัฐประหารและระบอบเผด็จการอีก มันแพงเกินไป, การต่อสู้คัดค้านหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างๆ พึงต้องดำเนินไปภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น
2) สำหรับแฟนๆ ของคุณยิ่งลักษณ์ การปรองดองที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือ ปรองดองกับหลักนิติธรรมในความหมายของการเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด (the rule of law = limited government) บรรดาผู้สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์ควรต้องช่วยเธอโดยหาทางป้องกันไม่ให้ระบอบ ประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์กลายเป็นแบบอำนาจนิยมเหมือนสมัยรัฐบาล ทักษิณ เพราะระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยม (authoritarian democracy) อันหมายถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก ทว่าใช้อำนาจเกินเลยไม่จำกัด ไปล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้คนพลเมืองโดยมิชอบนั่นแหละที่เป็นตัวขับดัน คนให้ไปหาการรัฐประหารเป็นทางออก
3) สุดท้าย สำหรับรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เองและผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย วิธีจัดการ/ปรองดองกับพลังต่อต้านประชาธิปไตย ที่เรียกร้องรัฐประหารไม่ขาดปากนั้น ไม่ใช่ไปทำให้พวกเขากลายเป็น "วีรชน" ด้วยการกดขี่ข่มเหงรังแกพวกเขา แต่ควรทำให้พวกเขากลายเป็น "ตัวตลก" จะดีกว่า