ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการปาฐกถาหัวข้อ “ปฏิรูปสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง: บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน” โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์
สำหรับการปาฐกถาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเปิดตัวโครงการ “ประชาธิปไตย กับท้องถิ่น” (Sapan Project - CMU) ซึ่งเป็นโครงการรวมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID)
โดยการปาฐกถาของนิธิ และวิดีโอบันทึกการปาฐกถามีรายละเอียดดังนี้ (หมายเหตุ: ตัวเน้น และหัวข้อย่อยเป็นการเน้นโดยประชาไท)
000
คลิปปาฐกถาของนิธิ เอียวศรีวงศ์ หัวข้อ “ปฏิรูปสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง: บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน” เมื่อ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา (มีทั้งหมด 5 ตอน)
นิธิ เอียวศรีวงศ์
"ต่อ ไปที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวคุณเอง ให้เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่า แต่ทีนี้เผอิญเป็นช่วงเวลาที่มีความแตกแยกในภาวะการนำด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าคุณจะปรับตัวคุณต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้คุณไม่มี"
นิยามชนชั้นนำไทย
ขอเริ่มต้นอย่างนี้ก่อนครับว่า อยากจะตกลงกันก่อนว่าเวลาเราพูดถึงชนชั้นนำ เราหมายถึงใคร? คือคำว่า “ชนชั้นนำ” หรือ “Elite” ในทุกสังคม นิยามไม่ค่อยจะง่ายนัก ในกรณีสังคมไทย ผมจะขออนุญาตนิยามตามความเข้าใจของผมอย่างนี้ว่า
กลุ่ม แรกสุดคือ สถาบันตามประเพณี ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงนะครับ หมายความว่า สมัยหนึ่งอาจจะดำรงฐานะเป็นชนชั้นนำแต่ว่าในเวลาต่อมาก็อาจจะเปลี่ยน เช่น เป็นต้นว่า สถาบันสงฆ์ สมัยหนึ่งหอยู่ในสถานะชนชั้นนำในทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจน ปัจจุบัน อิทธิพลหรือบทบาทในฐานะชนชั้นนำของสถาบันสงฆ์ก็ค่อนข้างน้อย
สถาบัน พระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศานุวงศ์ ก็เป็นชนชั้นนำแน่นอน ก็ยังดำรงสถานะชนชั้นนำอยู่ แต่ธรรมชาติในการนำอาจจะเปลี่ยนไป แต่ก็ยังเป็นหนึ่งที่สำคัญในกลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทย
ตัวสถาบันพระ มหากษัตริย์กษัตริย์เอง ในแง่หนึ่งขยายตัวมากขึ้น เช่น เมื่อสมัยตอนผมเป็นเด็ก คนเป็นหม่อมราชวงศ์ไม่มีความหมาย คงจำได้ ตอนรัชกาลที่ 4 ท่านบอกว่าต่ำกว่าหม่อมเจ้าไม่ใช่เจ้า แต่สมัยผมหม่อมราชวงศ์ไม่มีความหมายเพราะมีเยอะมาก แต่ปัจจุบันหม่อมราชวงศ์ถึงแม้ว่าในทางกฎหมายไม่ใช่เจ้า แต่ว่าความรู้สึกของคน ก็รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในบารมีของสถาบันไปแล้ว เป็นต้น
เพราะฉะนั้นมีการขยายตัวของสถาบัน และที่สำคัญไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะพระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศานุวงศ์เท่า นั้น รวมทั้งถึงสิ่งที่อาศัยบารมีในสถาบันฯ เช่น พนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ แต่ความรู้สึกของคน ก็คือเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฯ ไปด้วย ในการที่จะต้องปฏิบัติต่อสำนักงานนี้
องคมนตรี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง องคมนตรีเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน แต่จริงๆ แล้วในทางกฎหมายก็ไม่มีอำนาจอะไรเลย เป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย แล้วก็ไม่มีบทบาทในทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่
รวมทั้งเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการทั้งหลาย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นภาพที่ขยายตัวกว้างขึ้นในฐานะที่เป็นชนชั้นนำ
อีกกลุ่ม หนึ่งที่ควรจะพูดถึง คือ ทุนขนาดใหญ่ที่ร่วมอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำแน่ๆ ซึ่งเข้ามาเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์ด้วย เข้ามาเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจในทางการเมืองด้วย มีผู้ใหญ่คนหนึ่งเคยบอกว่า ถ้าคุณจะขอเรี่ยไรเงินตั้งทุน เพื่อจะทำประโยชน์แก่สังคม ทุนขนาดใหญ่ของไทยไม่พร้อมที่จะจ่าย แต่ถ้ามีชื่อตามหลังว่า “โดย เสด็จพระราชกุศล” จ่ายทันที เท่าไหร่ เท่ากัน คือมีความพยายามจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกันตัวเองก็มีบทบาทในฐานะชนชั้นนำของสังคมด้วย อันนี้ก็เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากทีเดียว ประสานให้กลุ่มชนชั้นนำไทยมีผลประโยชน์บางอย่างที่สอดคล้องกัน
กลุ่มหนึ่งต่อมาคือกลุ่มข้าราชการระดับสูง ถึงแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบที่เขาเรียกว่า “รัฐ ราชการ” แล้วก็ตาม แต่ว่าสัดส่วนในการบริหาร ไม่ใช่การวางนโยบาย ของกลุ่มข้าราชการระดับสูงมีค่อนข้างมาก เพราะข้าราชการคือผู้วางโครงการหรือวางแนวให้กับนักการเมืองอีกทีหนึ่ง
กล่าว คือ นักการเมืองเข้ามาปกครองประเทศไม่ว่าจะมาจากพรรคใด มักจะมามือเปล่าๆ มากกว่าจะมีนโยบาย แล้วก็มาดูว่าราชการที่ตัวเองเข้าไปเป็นรัฐมนตรี มีโครงการอะไรบ้าง ก็เลือกหยิบโครงการเหล่านั้นมาผลักดัน หรือมาดำเนินการโดยให้งบประมาณ เพราะฉะนั้นคนที่คิดนโยบายตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะสร้างเขื่อน หรือสร้างถนน หรืออะไรก็แล้วแต่ คำตอบคือข้าราชการระดับสูงเป็นคนทำ แน่นอนว่าปัจจุบันนี้ข้าราชการระดับสูงปัจจุบันนี้ในระบบราชการถูกนักการ เมืองไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ควบคุม หรือสั่งการ หรือ Overrule อะไรที่อยู่เหนือความต้องการของระบบอบราชการได้
โดยเฉพาะสมัยที่คุณทักษิณเป็นนายกฯจะเห็นได้ชัดเจนมาก ทำให้ข้าราชการต้องโอนอ่อนต่ออำนาจในทางการเมืองมากขึ้น
กลุ่ม ข้าราชการระดับสูง ยึดระบบราชการทั้งหมด ถามว่ามีผลประโยชน์ของตนเองไหม ผมว่ามี ด้วยเหตุดังนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองในระบบการ เมืองด้วย แต่จุดอ่อนของระบบราชการไทยคือมีแต่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม แต่สำนึกกลุ่มมีน้อย คือ ข้าราชการไม่ได้สำนึกว่าตัวเป็นกลุ่มเดียวกับข้าราชการของอีกกรมหนึ่ง ของอีกกองหนึ่ง หรือของกระทรวงอื่น ความสำนึกร่วมของความเป็นข้าราชการมีน้อย แต่ว่ามีผลประโยชน์ของตนเองที่ค่อนข้างเด่นชัด ในที่นี้คนที่อยู่ในราชการคงทราบ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล ฯลฯ มันเป็นผลประโยชน์ที่กลุ่มข้าราชการสำนึกได้ว่ามีอยู่ในระบบราชการ แต่ว่าสำนึกร่วมในความเป็นข้าราชการด้วยกันไม่สูงมากนัก
ทั้งหมด เหล่านี้ กลุ่มชนชั้นนำทั้งหมดเหล่านี้ คือกลุ่มคนที่มีเสียงดังที่สุดในสังคม เพราะฉะนั้นจึงเป็นกลุ่มที่กุมการนำของสังคมมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการนำในทางการเมือง การนำในทางเศรษฐกิจ การนำในทางสังคมและวัฒนธรรมอะไรก็แล้วแต่ และก็หวงแหนการนำนี้ค่อนข้างมาก เพราะว่ามันมีผลประโยชน์หลากหลายชนิด ผูกพันอยู่กับการนำมากทีเดียว
ชนชั้นกลาง: พันธมิตรของชนชั้นนำ
นอก จากกลุ่มชนชั้นนำที่ผมได้พูดถึงไปแล้ว กลุ่มนี้ยังมีพันธมิตรของกลุ่มด้วย กล่าวคือไม่ได้อยู่ลอยๆ แค่พันหรือหมื่นคนเท่านั้น แต่ว่าในกลุ่มนี้สร้างเครือข่ายพันธมิตรลงไปยังกลุ่มคนอื่นๆ ด้วย และเครือข่ายพันธมิตรที่สำคัญของกลุ่มชนชั้นนำ คือ ชนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป เป็นพันธมิตรกับกลุ่มชนชั้นนำค่อนข้างมาก
กลุ่ม คนเหล่านี้เป็นคนที่มีการศึกษา และตั้งอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ หมายความว่า กลุ่มคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปเหล่านี้อยู่ในเศรษฐกิจแบบโบราณไม่ได้หรอก คุณต้องอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งเศรษฐกิจสมัยใหม่ก็คือสิ่งที่ชนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปเป็นผู้สร้าง ขึ้นมันมา ฉะนั้นต้องสร้างในเงื่อนไขที่จะเอื้อประโยชน์ต่อเขาด้วย เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้อยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ทอดกล้วยแขกขายเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อาจจะมีจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ไปขายทักษะเฉพาะด้านบางอย่างในเศรษฐกิจสมัยใหม่
กลุ่ม นี้มีส่วนแบ่งของกำลังซื้อสูงมาก มีส่วนแบ่งมีสตางค์ซื้อของประเทศค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนของ กลุ่มที่ไม่ได้มีมากนัก เหตุดังนั้นจึงทำให้เขาสามารถกุมหรือใช้ประโยชน์จากสื่อได้สูงที่สุดในบรรดา คนทั้งหมดของสังคมเลยก็ว่าได้ สูงเสียยิ่งกว่าชนชั้นสูงจริงๆ ด้วยซ้ำไปในบางกรณีด้วย
เมื่อคุมสื่อได้มากก็สามารถส่งเสียงของคุณได้มาก คำว่า “ส่ง เสียง” ในทีนี้ ไม่ได้หมายความว่า พูดแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำให้สื่อเป็นอริ หรือเป็นศัตรูกับสิ่งที่คุณเองเห็นว่าเป็นศัตรูได้
เช่น ภาพเปิดนมผู้หญิงที่สีลม ขัดกับวัฒนธรรมของชนชั้นกลาง โดยคุณไม่ต้องพูดอะไรสักแอะ สื่อก็จะโจมตีการเปิดนมที่สีลมทันที นี่ก็เป็นกรส่งเสียงโดยไม่ต้องออกเสียงของกลุ่มชนชั้นกลาง อาจจะพูดได้ว่า วัฒนธรรมประเพณีที่เรารู้จักกันในเวลานี้เป็นวัฒนธรรมคนชั้นกลางระดับกลาง ที่ครอบงำคนทั้งสังคมโดยผ่านสื่อ นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลด้านการศึกษา เขาก็คือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ครูในชั้นมัธยม ผู้บริหารด้านการศึกษาในเมือง
แต่ สิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ค่อนข้างอ่อนแอมากๆ คือ กลุ่มคนชั้นกลางระดับกลางที่อยู่ในเมืองต่างๆ ในประเทศไทย ในแง่หนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับหลายสังคมในโลกนี้ค่อนข้างอ่อนแอ เพราะขาดการจัดองค์กร เกือบจะพูดได้ว่าคนชั้นกลางระดับกลางจัดองค์กรไม่เป็น แค่เก็บขยะในหมู่บ้านยังทำไม่ได้เลย อย่าพูดถึงองค์กรระดับใหญ่ที่จะไปทำอะไรในทางการเมือง ซึ่งถ้าไปเปรียบเทียบกับในสังคมอื่น ถ้าไม่มีการจัดองค์กรแบบนี้ พลังทางสังคมของชนชั้นกลางระดับกลาง อาจจะมีมาก แต่ว่ามันปฏิบัติการได้ไม่สู้จะมากนัก เช่นเป็นต้นว่า วันหนึ่งเราจำเป็นต้อง Recycle หนังสือพิมพ์ แล้วไม่มีซาเล้ง ถามว่าชนชั้นกลางระดับกลางช่วยตนเองได้ไหมที่จะทำให้หนังสือพิมพ์ไม่ถูกทิ้ง แต่คุณเอาไป Recycle ทั้งๆ ที่ชนชั้นกลางระดับกลางห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมมาก แต่ไม่มีพลังที่จะจัดองค์กร เพื่อจัดการปัญหาของตัวเองเท่าไหร่
ด้วย เหตุดังนั้นชนชั้นกลางระดับกลางของไทย จึงมีความรู้สึกว่าตัวต้องพึ่งรัฐสูงมาก จริงๆ ผมคิดว่ามากกว่าชาวบ้านทั่วๆ ไป ชาวบ้านทั่วๆ ไป มีหรือไม่มีรัฐเขาก็อยู่ได้ แต่คนชั้นกลางระดับกลางถ้าไม่มีรัฐเขาอยู่ไม่ได้ คนชั้นกลางระดับกลางจึงอยากที่จะรักษารัฐไว้ภายใต้การควบคุมของตนเองสูงมาก เพราะว่า ถ้ารัฐไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของตนเอง รัฐอาจจะไม่ไห้บริการที่ตัวเองรู้สึกว่าจำเป็นอย่างขาดไม่ได้ไปก็ได้
เหตุ ดังนั้นเวลาที่รัฐบาลตั้งแต่คุณทักษิณเป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ ต้องพยายามทำนโยบายประชานิยม บางคนพูดว่าชนชั้นกลางอิจฉาชาวบ้านที่รัฐบาลใช้นโยบายประชานิยม แต่คิดว่าไม่ใช่ เขาไม่ได้อิจฉาในความหมายที่ไม่อยากให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ และอยากจะได้ไว้เอง แต่นโยบายประชานิยมทำให้เขาเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจว่าเขาจะได้บริการของรัฐ แบบที่เขาเคยได้ต่อไปหรือไม่ และความหวั่นไหวตรงนี้ ความหวั่นไหวตรงที่ว่า รัฐเริ่มให้ความสนใจคนอื่นที่ออกไปข้างนอกมากขึ้น มันไปกระตุ้นความรู้สึกความไม่มั่นใจว่า ตนสามารถควบคุมรัฐเพื่อให้บริการตนเองอย่างที่เคยได้ให้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็ไม่มีองค์กรพอที่ไปบังคับควบคุมรัฐ ให้บริการตนเองได้อย่างที่เคย เพราะฉะนั้นใครเรียกไปชุมนุมที่ไหน ไปยึดสนามบินก็เอาด้วยทั้งนั้น เพราะว่ามันมีองค์กรในการที่จะดำเนินการให้อำนาจแก่ตนเองได้เพียงพอ
อย่าง ไรก็ตามแต่ เนื่องจากคนชั้นกลางระดับกลางเป็นผู้วางมาตรฐานผ่านการศึกษาและสื่อ ฉะนั้นมันจึงส่งอิทธิพลลงมายังคนที่ยังไม่ใช่ชนชั้นกลางระดับกลางแยะมาก คนที่เริ่มขยับตัวในทางเศรษฐกิจ มีหน้ามีตา มีเงินมากขึ้น ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นใครก็แล้วแต่ สิ่งที่เขารับมาคือมาตรฐานของชนชั้นกลางระดับกลาง อย่างน้อยก็คือ ดูละครเรื่องเดียวกัน คนชั้นกลางระดับกลางอยากเป็นพจมาน ชาวบ้านที่เพิ่งเข้าไปเป็นผู้รับเหมารายย่อยก็อยากให้ลูกสาวตัวเองเป็นพจมาน เหมือนกัน เพราะว่าดูละครเรื่องเดียวกัน
กล่าวคือทำให้ชนชั้น กลางระดับกลางยังมีอิทธิพลในอีกลักษณะหนึ่ง คืออิทธิพลในทางวัฒนธรรม ที่เป็นผู้สร้างมาตรฐานสิ่งดีงาม ถูกผิด หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้แก่สังคม คนที่พยายามขยับตัวเอง เป็นแบบอย่างของการมีชีวิตในอุดมคติของคนอื่นๆ ที่กำลังก้าวขึ้นมา
กติกาทางการเมืองชนชั้นนำ
อย่างไรก็ตามแต่ เมื่อรวมพันธมิตรและชนชั้นนำต่างๆ ในสังคมไทยแล้ว ผมคิดว่ามีจำนวนน้อยมาก มีคนประเมินว่าไม่เกิน 25% ไม่ ว่าจะเป็นชนชั้นกลางระดับกลางและชนชั้นนำมาบวกกันก็ไม่เกิน 25% แต่แม้ว่าจะมีจำนวนน้อย ทว่าการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 มา ก็เป็นการเมืองของชนชั้นนำ มันไม่ใช่การเมืองของคนทั่วไป การเมืองไทยคือการแบ่งสรรทรัพยากรให้ลงตัวในกลุ่มชนชั้นนำกับชนชั้นกลาง ระดับกลางขึ้นไป คือพันธมิตรของตนเอง ตลอดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ถึงแม้ว่าจะเป็นการแบ่งสรรทรัพยากรในกลุ่มคนจำนวนน้อย ไม่ถึง 25% แต่ ก็ไม่ได้เป็นการแบ่งสรรแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาแต่เพียงอย่างเดียว ถามว่า มีกฎ กติกาในการเมืองไทย ในเรื่องการแบ่งสรร จัดสรรทรัพยากรหรือไม่ ผมคิดว่ามีพอสมควร ตั้งแต่ 2475 มากระทั่งถึงทุกวันนี้ มันมีกติกาบางอย่างในทางการเมือง เช่น มันไม่หักโค่นกันถึงที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มที่แตกต่างกันขนาดไหนก็แล้วแต่ อีกกลุ่มหนึ่งสามารถรวมกำลังทหารมาโค่นอีกกลุ่มหนึ่งได้ วิธีที่คุณทำกันปกติก็คือ คุณก็หนีไปอยู่ต่างประเทศ พอเขาลืมแล้วกลับมาก็จบกันเท่านั้นเอง ไม่เป็นไร ความผิดก็ไม่มี ความดีไม่ปรากฏทุกอย่างเรียบร้อย ก็เปลี่ยนถ่ายอำนาจกันแบบนั้น
ใน ขณะเดียวกันการเมืองระบบนี้ คุณเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมไม่ได้ เพราะมันจะมีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถดึงเอาทรัพยากร นึกถึงการแข่งขันในระบบทุนนิยมธรรมดา กลุ่มที่มีกำลังมากจะดึงทรัพยากรเข้ามาใส่ให้ตัวเองอย่างไม่มีขีดจำกัด เหตุดังนั้น ผมเดาเอาเองว่า มันตั้งใจด้วยซ้ำไป ที่จะทำให้การดำเนินกิจการในทางเศรษฐกิจทุกอย่าง และการเมืองทุกอย่างมันมีค่าเช่า
ค่าเช่าเป็นหัวใจสำคัญ “ค่า เช่า” หรือพูดง่ายๆ ว่า “คอรัปชั่น” ซึ่งมันน่ารังเกียจและมันไม่ดี แต่ถ้าไม่มีค่าเช่า การแบ่งสรรทรัพยากรจะไม่มีการกระจายตัวได้มากเท่านี้ด้วยซ้ำไป เพราะมันเป็นการเมืองของชนชั้นนำ ถ้าสมมติว่าคุณอยากจะสร้างถนน แล้วไม่มีใครโกง หรือไม่มีใครเรียกค่าใต้โต๊ะเลย ถามว่าเราจะ Redistribute เราจะกระจายเงินค่าสร้างถนน เพื่อให้ทรัพยากรกลางไปถึงชาวบ้านได้อย่างไร เพราะเหตุที่มันมีค่าเช่า ผมก็เรียกเงินใต้โต๊ะ พอผมเรียกเงินใต้โต๊ะเสร็จ ในทางการเมืองผมต้องมีลูกน้อง ต้องเลี้ยงดูต่อไป ผมต้องซื้อน้ำแข็งไปให้คนที่เขาแต่งงานในหมู่บ้านที่จะเลือกตั้งผม เอาไปซื้อเสียงหรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อกระจายเงินเหล่านี้ไปยังกลุ่มคนที่เป็นลูกน้องผมน่ะได้ด้วย เป็นต้น
เพราะฉะนั้นด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าตัว “ค่า เช่า” หรือ “คอรัปชั่น” มันเป็นส่วนหนึ่งที่แฝงอยู่ในระบบการเมืองของชนชั้นนำ คือคุณหลีกหนีไม่พ้น คุณจะไปนั่งด่าคอรัปชั่นอย่างเดียวโดยไม่ยอมให้การเมืองพัฒนาไปสู่การเมือง ในระบอบที่คนส่วนใหญ่เข้ามามีพื้นที่ต่อรองกันได้ จึงเป็นไปไม่ได้ ตราบเท่าที่หวงการเมืองให้เป็นการเมืองของชนชั้นนำ ค่าเช่าจึงเป็นส่วนหนึ่งที่คุณหลบหลีกไม่ได้ คุณต้องรับเอาไว้ และมันทำหน้าที่ของมันคือเป็นตัวกระจายทรัพยากรไปตามทิศทางของคนที่สามารถ เก็บค่าเช่าได้
นอกจากนี้ยังมีกติกาเรื่องการสร้างเครือข่าย กับนักการเมืองที่มาจากการ เลือกตั้งหรือการรัฐประหาร ซึ่งนายทุนไทยเก่งมาก คุณก็เห็นอยู่ หลายทุนด้วยกันเวลาเลือกตั้งไม่ได้ให้เงินแก่พรรคการเมืองพรรคเดียว ยิ่งในสมัยก่อนที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้เปิดเรื่องการบริจาคแก่พรรคการเมือง เขาก็ลงทุนในหลายพรรค แล้วพรรคที่ได้รับเงินไป ถามว่ารู้ไหมว่าเขาให้เงินแก่พรรคที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ... “รู้ ก็ไม่เป็นไรนี่” คือมันเป็นกติกาที่ “โอ้ สุภาพบุรุษมากเลย” ในการแข่งขันกัน
แต่ เป็นลักษณะของกติกาที่ใช้ได้ดีในการเมืองของชนชั้นนำ ตราบใดที่อยู่ในการเมืองของชนชั้นนำ ภาพกว้างๆ ก็จะดูมันสงบ ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี แต่อย่าเอาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้วมาเปรียบเทียบ ว่าประเทศนี้มันมีการรัฐประหารถี่ รัฐประหารก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองของชนชั้นนำ
กองทัพ: เครื่องมือ “รักษาความสงบเรียบร้อย” ของชนชั้นนำ
คือ บางครั้งเปลี่ยนตัวผู้นำโดยการเลือกตั้ง บางครั้งเปลี่ยนตัวผู้นำโดยรัฐประหารเป็นปกติธรรมดาอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้เป็นวงจรอุบาทว์ เอาอย่างนั้นดีกว่า เป็นหนึ่งในกลไกปกติของการเมืองของชนชั้นนำ มีการเลือกตั้งบ้าง มีการรัฐประหารบ้าง อยู่ตลอดเวลา
รัฐประหารก็เป็นกติกา ไม่มีหรอกครับรัฐประหารในประเทศไทยจนถึงปี 2549 ที่อยู่ๆ จะมีคนมาบอกว่า “เฮ้ย อย่ารัฐประหาร ทำอย่างนี้ไม่ถูกต้องมาต่อต้าน ต้องมาคัดค้าน” ไม่มีหรอก ทุกคนก็โอเค เมื่อเกิดรัฐประหาร ก็จะหาทางอยู่กันอย่างไรต่อไปในกติกาของการเมืองใหม่
ฉะนั้น ในแง่หนึ่งการเมืองของชนชั้นนำ เป็นการเมืองที่มีพลวัตอยู่พอสมควร เพราะว่ามันเป็นการเมืองที่คุณจำเป็นที่จะต้องต้องไม่สร้างความขัดแย้งใน หมู่ชนชั้นนำด้วยกันเองอย่างรุนแรงจนเกินไป
หลัง14 ตุลา การเมืองของชนชั้นนำสามารถทำสิ่งที่ผมคิดว่าในแง่หนึ่งน่าอัศจรรย์มาก คือสามารถผนวกเอาทุนท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองของชนชั้นนำได้ สมัยหนึ่งคุณบรรหาร (ศิลปอาชา) ก็ตาม หรือคุณเสนาะ (เทียนทอง) อะไรก็ตาม รวมถึงคนอื่นๆ เป็นเศรษฐีบ้านนอก แต่ปัจจุบันคุณบรรหารก็ตาม คุณเสนาะก็ตามแนบเข้ามาอยู่ในการเมืองของชนชั้นนำที่เป็นเนื้อเดียวกันแบบ ชนิดที่ไม่รู้สึกแปลกแยกอะไรเลย การที่สามารถผนวกทุนที่อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ เข้ามาได้อย่างสนิทแนบชิดผมถือว่าเป็นพลวัตอย่างหนึ่ง ทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างทุนท้องถิ่นกับทุนส่วนกลางอย่างรุนแรงจนเกิน ไป
ความขัดแย้งไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีอาจจะดีก็ได้ อย่างในกรณีอังกฤษเพราะเหตุที่คุณมีพวก Gentry ที่ เป็นทุนที่ดินต่างๆ ในท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์ของตนเอง และขัดแย้งกับทุนที่เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมือง ทำให้ประชาธิปไตยอังกฤษเกิดการพัฒนามากขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม Gentry เจ้าที่ดินในชนบท กับทุนที่อยู่ในเมือง
แต่แม้ว่าการ เมืองชนชั้นนำมีพลวัต ทุนก็มีพลวัตเช่นกัน คือมันเป็นพลวัตที่ไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกันด้วย เพราะธรรมดา ธรรมชาติของทุนก็ย่อมจะพยายามรวบรวม ขยายทุนให้เหนือกว่ากลุ่มอื่น อันนี้เป็นปกติธรรมดา มีการพยายามจะเอาเปรียบคู่แข่งของตนเองในการแข่งขัน นี่ก็เป็นปกติธรรมดา เพราะฉะนั้นการเมืองของชนชั้นนำมีพลวัตอยู่ 2 อย่างในตัวมันเอง และผมคิดว่ามันขัดแย้งกัน
หนึ่ง พลวัตที่พยายามไม่ให้เกิดความขัดแย้งของชนชั้นนำด้วยกันอย่างรุนแรงเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีพลวัตของทุนที่อยู่ในนั้นที่ต้องเกิดความขัดแย้งเป็น ปกติธรรมดา ซึ่งถ้าไม่ขัดแย้ง ก็ไม่สามารถดึงทุนมาสะสมทุนให้กับตัวเอง เพราะฉะนั้นการเมืองแบบชนชั้นนำที่มีความตึงเครียดอยู่ภายในระบบ เวลานี้เรารู้สึกว่าการเมืองไทยมีความตึงเครียดมาก แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ ก่อนหน้านี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา มันก็มีความตึงเครียดอยู่ในระบบสูงมาก เพียงแต่เราซึ่งอยู่นอกระบบไม่ค่อยรู้สึกกับมัน เพราะไม่เคยมีการออกมาปะทะกันอย่างชัดๆ แต่ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีเลย เรามีมาแล้วหลายครั้งหลายหนที่กลุ่มชนชั้นนำเอากลุ่มทหารเรือมารบกับทหารบก เอาทหารบกไปรบกับตำรวจ ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา
คือมันมีความตึงเครียด ภายใน แต่พลวัตเป็นความขัดแย้งระหว่างพลวัตของทุนกับพลวัตของชนชั้นนำ แล้วระบบปรับตัวได้ค่อนข้างยาก แม้จะมีพลวัต แต่ก็ปรับตัวได้ค่อนข้างยาก ในขณะที่พลวัตของทุนบีบบังคับให้การเมืองของชั้นนำต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าก็มีอีกแรงหนึ่งที่พยายามดึงการเมืองของชนชั้นนำไม่เปลี่ยนอยู่ตลอด เวลาอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงมีความตึงเครียดค่อนข้างสูง
กลไกสำคัญที่เขาใช้ในการรักษาไม่ให้การเมืองของชนชั้นนำเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หรือเปลี่ยนไปเกินกว่าที่จะ “รักษา ความสงบเรียบร้อย” ได้ ก็คือการรัฐประหารเป็นเครื่องมือในการดึงเอาไว้ไม่ให้มันเปลี่ยนไปสู่จุดที่ เกิด “ความไร้ระเบียบ” ในทัศนะของเขา
และเครื่องมือในการรัฐประหารก็คือกองทัพ และกองทัพเองก็ยินดีที่จะเป็นเครื่องมือให้แก่ชนชั้นนำในการเปลี่ยนกลไกหรือ “รักษา ความสงบเรียบร้อย” เพราะกองทัพเองก็มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย ทุกท่านก็คงทราบ จากปี พ.ศ. 2549 ถึงปัจจุบัน ถ้าไปดูตัวเลขงบประมาณกองทัพพุ่งแบบนี้เลย (เหยียดมือขวาขึ้น) คือทันทีที่คุณรัฐประหารเสร็จ งบประมาณขึ้นทันที
และเวลานี้ กองทัพก็เข้าไปมีบทบาทโดยตรงและโดยแฝงในเรื่องต่างๆ เยอะแยะไปหมด กระทั่งผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าคุณไม่อยากทะเลาะกับกองทัพ แล้วคุณขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่ คุณจะจัดการปัญหาภาคใต้ได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะไปจัดอะไรก็ตามย่อมกระทบสิ่งที่กองทัพกำลังทำอยู่และได้อยู่ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น กองทัพเองก็มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการเข้ามาเป็นเครื่องมือในกลไก “รักษา ความสงบเรียบร้อย” เพราะฉะนั้น ตราบเท่าที่เรายังอยู่ในการเมืองแบบชนชั้นนำ เราไม่สามารถแยกกองทัพออกจาก การเมืองได้ กองทัพเป็นส่วนหนึ่งหรือเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเมืองของชนชั้นนำ ก็ว่าได้
เพราะฉะนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่า ขอให้กองทัพกลับเข้ากรมกองเสีย โดยยังมีการเมืองของชนชั้นเดิมอยู่ต่อไป จะให้กองทัพกลับเข้ากรมกองได้จริง ต้องเปลี่ยนตัวระบบการเมือง ไม่ใช่เปลี่ยนแต่เพียงบอกว่า “เอา เอ็งกลับบ้านเสีย” ไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนตัวระบบการเมือง จากการเมืองของชนชั้นนำมาเป็นการเมืองของทั้งสังคม พูดง่ายๆ คือต้องเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เท่านั้นที่กองทัพจะกลับเข้ากรมกองได้ ตราบที่คุณยังรักษาการเมืองไว้เป็นการเมืองของชนชั้นนำแบบนี้ ไม่มีทางที่กองทัพจะกลับเข้ากรมกองได้ ตัวกองทัพก็ไม่อยากกลับ คนที่อยู่ในการเมืองก็ไม่อยากให้กองทัพกลับเหมือนกัน
ทักษิณและการเปิดพื้นที่ “ระบบเลือกตั้ง”
พลวัต ของทุนและพลวัตของการเมืองของชนชั้นนำไม่อาจนำไปสู่ระบบเลือกตั้ง อย่างถาวรได้ เพราะอย่างที่บอกว่าทหารเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกสรรผู้นำ และเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นคุณนำเข้าสู่ระบบเลือกตั้งถาวรไม่ได้
ที่ใช้คำว่า “ระบบ เลือกตั้ง” แทนคำว่า “ประชาธิปไตย” ก็เพราะว่ามันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่อย่างน้อยสุดการเลือกตั้งสม่ำเสมอถาวรมันทำไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งอย่างถาวร พัฒนาการมันจะเริ่มไปสู่จุดที่คุณคุมไม่ได้อีกต่อไป มันจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความสงบเรียบร้อย” อีกต่อไป
เพราะ ถ้ามีระบบเลือกตั้งทุนต้องยอมรับกติกาใหม่ในการแข่งขัน แน่นอนเพราะมันมีการเลือกตั้งที่สม่ำเสมอมากขึ้น คุณจะต้องเริ่มรองรับกติกาใหม่ในการแข่งขัน ไม่ใช่อาศัยแต่ “Connection” ไม่ใช่อาศัยแต่ “เส้น” เพียงอย่างเดียว ซึ่งทุนไทยไม่พร้อมที่จะเข้ามาสู่การแข่งขันโดยไม่อาศัย “เส้น” หรือวิธีอื่น
นอกเรื่องนิดหน่อย ผมเห็นทุนไทยเก่งที่สุดอย่างหนึ่ง ผมไม่เคยเห็นทุนไหนใช้ “เส้น” ในระบบการผลิตได้เก่งเท่าทุนไทย
ไม่ เฉพาะทุนอย่างเดียว กลุ่มชนชั้นนำอื่นๆ ก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเข้ามาสู่ระบบเลือกตั้ง จะเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยก็แล้วแต่ ซึ่งเขาก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเข้ามาสู่ระบบที่มีการเลือกตั้งอย่าง ถาวรได้ เพราะต้องยอมรับกติกาการแข่งขันทางการเมืองอีกอย่างหนึ่ง
ในปี 2540 พอคุณรู้สึกว่าการเลือกตั้งกำลังจะอยู่ถาวร สิ่งที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) ทำ คือเล่นการเมืองอีกชนิดหนึ่งที่พรรคการเมืองอื่นไม่เคยเล่นมาก่อน และถามว่าทำไมพรรคการเมืองอื่นไม่เปลี่ยนบ้างล่ะ ก็มันไม่พร้อมจะเปลี่ยนได้ง่ายๆ ขนาดนั้น แต่ด้วยเหตุใดก็แล้วแต่คุณทักษิณสามารถใช้การเลือกตั้งเป็นฐานที่มาของอำนาจ อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่พรรคการเมืองใดๆ เคยทำได้มาก่อน และพรรคอื่นก็ไม่พร้อมจะปรับตัวเองมาใช้ฐานอันเดียวกันนี้ด้วย
ผมขอนอกเรื่องนิดหน่อย อันที่จริงแล้วระบบเลือกตั้งถามว่าเป็นอันตรายต่อกลุ่มชนชั้นนำมากไหม ผมว่าถ้ากลุ่มชนชั้นนำตัดสินใจว่า “เปลี่ยน เป็นเปลี่ยนกันวะ” ถามว่าใครมีทุนในทางวัฒนธรรม ใครมีทุนในทางการเมืองสูงกว่าชนชั้นนำบ้างในสังคมไทย ผมมองไม่เห็น คือถ้าคุณพร้อมมาเล่นแข่งขันในทางการเมืองในระบบเลือกตั้ง ผมคิดว่าในระยะไม่กี่ปี คุณก็เป็นฝ่ายชนะ เพราะว่าคุณกุมอะไรไว้มายมหาศาลที่เป็นทุนทางการเมืองและทุนในทางวัฒนธรรม ที่สำคัญอย่างยิ่งทั้งสิ้น คุณสามารถงัดมันออกมาใช้ในทางการเมือง งัดออดมาเป็นข้อได้เปรียบของตนเองในการแข่งขันกับคนอีกกลุ่มได้แยะมาก
สมควร กล่าวได้ว่า จนถึงสมัยคุณทักษิณ ก็ยังมีการเมืองชนชั้นนำอยู่ ถึงแม้ว่าคุณทักษิณจะพบวิธีใหม่ในการที่จะใช้การเลือกตั้งเป็นฐานในการเข้า สู่อำนาจ แต่จริงๆ แล้ว ลักษณะการเมืองของคุณทักษิณก็ยังเป็นการเมืองของชนชั้นนำอยู่ คงจำกันได้ว่ากลุ่มที่ประกอบกันขึ้นเป็นพรรคไทยรักไทย ประกอบด้วย “มุ้ง” “Faction” ต่างๆ ที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่หลากหลายอยู่พอสมควร พรรคไทยรักไทยไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ที่จะมีการปลูกฝังอุดมการณ์ร่วมกัน หรือมีการลำดับขั้นว่าจะต้องเป็นเยาวชนพรรคก่อน ถึงจะไต่เต้ามาเป็นสมาชิกพรรค ไม่ใช่ คุณเป็นตัวแทนของมุ้งที่ใหญ่พอสมควรที่จะทำให้เกิดที่นั่งในสภา คุณก็เข้ามาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ นี่ก็เป็นการเมืองของชนชั้นนำที่เราเคยชินอยู่ตลอดเวลา
แต่ใน ขณะเดียวกัน การเมืองสมัยคุณทักษิณเริ่มปล่อยให้มีการสะสมทุนของบางกลุ่มอย่างรวดเร็ว เหนือ บางกลุ่ม คงจำได้นะครับว่า ถ้าใช้ภาษาอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ก็คือว่าการเมืองชนชั้นนำเป็นเรื่องของ “เกี๊ยะเซียะ” หรือ “ผลัดกันเกาหลัง” เป็นหัวใจสำคัญ แต่คุณทักษิณให้ความสำคัญกับการ “เกี๊ยะเซียะ” น้อยเกินไป เพราะเริ่มจะทำให้กลุ่มบางกลุ่มในเครือข่ายของแกเองสะสมทุนได้รวดเร็วกว่า อาจจะเป็นทั้งอิทธิพลทางการเมืองที่คุณทักษิณมีอยู่ อาจจะเป็นทั้งโอกาสที่กลุ่มทุนจำนวนไม่น้อย พังทลายไปกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็ทำให้คุณได้เปรียบในการทำให้สะสมทุนได้เร็วกว่า
เพียง แค่นี้ก็ทำให้เราเห็นว่า การเมืองชนชั้นนำที่เราเคยชินเริ่มหวั่นไหว เพราะทันทีที่ปล่อยให้กลุ่มทุนบางกลุ่มสะสมทุน มันก็จะเริ่มมีกลุ่มทุนบางกลุ่มที่จะมีอำนาจในทางการเมืองสูงมาก จนกระทั่งว่าเข้ามาครอบงำการเมืองในพื้นที่ ในสัดส่วนที่ใหญ่กว่า ในขณะที่การสร้างดุลแห่งอำนาจในการเมืองระดับของชนชั้นนำก็จะค่อยๆ หายไป
สิ่ง สำคัญ สิ่งใหม่อันหนึ่งที่ผมว่าคุณทักษิณได้ทำและวันหนึ่งจะมีคนพูดถึง โดยคุณทักษิณจะตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ คือคุณทักษิณเป็นนักการเมืองที่ดึงเอาประชาชนที่มีระดับต่ำกว่าคนชั้นกลาง ระดับกลางเข้ามารับผลประโยชน์ทางการเมืองโดยตรง โดยการแบ่งปันทรัพยากรกลางของประเทศลงไปให้กับคนที่ต่ำกว่าระดับชนชั้นกลาง ระดับกลางในประเทศ เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ผมหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “เปิด พื้นที่ทางการเมือง” ให้กับคนระดับล่าง แบ่งปันทรัพยากรให้ ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดพื้นที่ให้แก่คนชั้นล่าง แต่ไม่ว่าคุณจะตั้งใจหรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นก็อาจจะกลายเป็นคุณเปิดพื้นที่โดยไม่ตั้งใจก็ได้
ซึ่ง จริงๆ แล้วนี่คือเกมของประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมอื่นๆ มาแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะเป็นประชาธิปไตย มันจะมีช่วงหนึ่งที่คุณจะลงไปเล่นกับคนที่อยู่นอกเวทีการเมืองเพื่อจะดึง มาสนับสนุน คุณ ไม่ได้รักมันหรือจะเปิดพื้นที่ให้ แต่ลงไปเล่นกับมันเพื่อต้องการเสียงสนับสนุนในทางการเมืองเท่านั้น ฟังดูเหมือนไม่สะอาด แต่ที่เกิดในสังคมอื่นๆ ก็ไม่สะอาดเหมือนกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพื่อที่จะเป็นประชาธิปไตยคุณต้องผ่านตรงนี้
ตาม ความเข้าใจของผม นโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอินเดียนในอเมริกา เกิดขึ้นจากคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน คุณเลือกคนที่มีความชัดเจนว่าจะบุกไปในทางตะวันตก คุณจะเปิดพื้นที่ตะวันตกให้แก่การตั้งถิ่นฐานของคนผิวขาว คุณจะทำอย่างนั้นได้อย่างไรถ้าคุณไม่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกอินเดียน ฉะนั้นมันจึงไม่มีที่ไหนสะอาด ประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นมาจากกองขยะไม่น้อยเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณทักษิณทำโดยปริยาย และโดยที่แกอาจจะไม่ได้ตั้งใจ คือว่า มันเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยขึ้นมาในสังคมเรา
ฉะนั้น พอเกิดรัฐประหารแล้ว คุณทักษิณได้ทำอะไรที่ไม่เหมือนกับการเมืองของชนชั้นนำที่เคยทำมาก่อนเลย คือแกกลับสู้ว่ะ คือแกหนีไปต่างประเทศจริง แต่ควรจะหนีไปและใช้เงินเจ็ดพันหมื่นล้านของแกไปสบายๆ หรือหาเงินเพิ่มเป็นแสนล้านก็ได้นะ แต่ไม่ แกผ่าไปเอาเงินเจ็ดหมิ่นล้านนั้นมา เพื่อสู้กลับมามีอำนาจใหม่ อันนี้เป็นสิ่งที่นานๆ เกิดขึ้นที
และกลุ่มคนที่สนับสนุนคุณทักษิณ ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนในกองทัพเรือ หรือในทำนองอย่างนั้น แต่หมายถึงคนจำนวนมโหฬารมากๆ ในสังคมไทย ที่เป็นคนระดับล่าง ซึ่งไม่เคยมีพื้นที่ทางการเมืองในเวทีการเมืองประเทศไทยมาก่อน คนเหล่านี้เข้ามาสนับสนุนคุณทักษิณ และคุณทักษิณก็พร้อมที่จะรับการสนับสนุนเหล่านี้ หรือสร้างการสนับสนุนขึ้นก็ตามแต่ เพื่อที่จะกลับเข้ามามีอำนาจ
อันนี้มันทำให้การเมืองของชนชั้นนำพังทลายลงไป เพราะสมัยหนึ่งเราเคย “เกี๊ยะ เซียะ” กันได้ ก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องไป รัฐประหารคุณก็ไปเสีย คุณอยู่สักพักแล้วคุณจะกลับมาใหม่ คุณจะกลับมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ แบบพรรค “ชาติพัฒนา” ของคุณชาติชาย (ชุณหะวัณ) ก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่วิธีการแบบนี้
บาง คนอาจจะนึกถึงท่านปรีดี (พนมยงค์) ที่ออกไปแล้วก็สู้เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างสำคัญ คือท่านปรีดีใช้กลไกระบบราชการคือกองทัพเรือในการสู้ แต่คุณทักษิณไม่ได้ใช้กลไกระบบราชการแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะใช้ซ่อนๆ อยู่ทหารแตงโม ตำรวจแตงโมอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่ากำลังหลักเป็นมวลชนระดับล่าง
ที นี้ เราก็เดินมาสู่จุดที่การเมืองไทยกำลังปรับเปลี่ยนตัวเองจากการเมืองของชน ชั้นนำไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ คือมันเป็นได้หลายอย่าง มันจะกลายเป็นการเมืองที่มีลักษณะประชาธิปไตยมากขึ้นก็ได้ หรือการเมืองของชนชั้นนำฉลาดพอที่จะปรับตัวเองให้ดำรงอยู่ได้ โดยไม่เกิดการฆ่าฟันกันอย่างนองเลือดก็ได้ เดาไม่ถูกว่า จนถึงเวลานี้จะเกิดอะไรขึ้นในสองอย่างนี้
ความรุนแรงที่หยุดความเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ก่อน ที่จะพูดต่อไป ผมอยากจะเตือนว่า ผลโดยรวมของการเมืองของชนชั้นนำที่ครอบงำประเทศไทยตลอดมา มันก่อให้เกิดอะไรขึ้นแก่สังคมไทยบ้าง สรุปโดยรวมๆ คือมันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทุกด้านเลยแก่สังคมไทย มันเกิดการกระจุกตัวของทรัพย์สินและรายได้ ไว้ในมือคนกลุ่มนิดเดียวเท่านั้นเอง มันเกิดความไร้โอกาสในการพัฒนาของคนจำนวนมากในสังคม ไม่รู้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร ไม่ใช่พัฒนาแปลว่ามีเงินมากอย่างเดียว คือการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาตัวเองด้านอื่นๆ ร้อยแปด ฯลฯ มันไม่เกิด
ความ ตีบตันในโอกาสของการพัฒนามันไปมีผลที่ทำให้เกิดการตีบตันการพัฒนาของ ประเทศด้วย แนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาในประเทศไทยจนถึงวันนี้อยู่ในจุดวิกฤต คือเดินต่อไปในแนวทางเก่าแทบจะไม่ได้ แล้ว อุตสาหกรรมไทยแทบไม่มีอนาคต เพราะยังไงก็ผลิตสู้เวียดนามไม่ได้ ยังไงก็สู้เขมรไม่ได้ เดี๋ยวนี้บริษัทผลิตรองเท้าก็ไปจ้างเขมรทำเพราะราคาถูกกว่าไทย ฝีมือก็พอๆ กัน คุณก้าวต่อไปไม่ได้แล้วในอุตสาหกรรมรับจ้างทำของ เป็นต้น ถามว่าเราพร้อมไปสู่การผลิตอะไรที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่านี้ไหม ก็ไม่พร้อม
แนว ทางการพัฒนาของเรามันมาถึงจุดตีบตัน ทางรอดที่กำลังทำอยู่ทุกวันนี้คือขายทรัพยากร ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ลองดูแผนพัฒนา Southern Seaboard ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แล้วจะตกใจมาก แหลมมลายูของเรากำลังจะกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้
มันมีการรวมศูนย์อำนาจอย่างยิ่ง คือมันเริ่มรวมศูนย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมหนักข้อมากขึ้นหลัง 2475 มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ จนกระทั่งว่าท้องถิ่นไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ในทุกๆ เรื่องไปหมด ตัดสินใจอะไรเองก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้สักอย่างเดียว ที่มันเกิดขึ้นในเวลานี้ยิ่งอันตรายกว่าเก่าถึงสองเท่า เพราะตอนนี้มันเริ่มเป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรกันแล้ว เพื่อเอาทรัพยากรไปขาย เอาทรัพยากรมาใช้ อะไรก็แล้วแต่
ถ้า ท้องถิ่นยังไม่สามารถมีอำนาจในการตัดสินใจจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เอง ทุนจะอาศัยอำนาจรัฐเข้ามาตักตวงทรัพยากรไปหมด ที่บางสะพาน ที่เขาคิดจะทำโรงถลุงเหล็กที่บางสะพาน แม้แต่สวนมะพร้าวที่ทนแล้งมากๆ ยังแห้ง เพราะน้ำทั้งหมดถูกกันไปให้โรงถลุงเหล็กใช้ คงทราบว่าโรงถลุงเหล็กต้องใช้น้ำมาก นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่เกิดการแย่งชิงทรัพยากร แล้วถ้าท้องถิ่นไม่สามารถกำหนดชะตากรรมตัวเองได้หมด คุณจะเก็บสมบัติของคุณซ่อนไว้ลึกซึ้งในกระเป๋าขนาดไหน มันก็จะถูกมือของทุนดึงแย่งเอาไปได้หมด ไม่มีที่จะหลบซ่อน มีโจรยังดีกว่าเพราะสามารถเอาสมบัติใส่ไหฝังไว้ใต้ดินได้
นี่เป็น ชะตากรรมที่เกิดขึ้นจากการเมืองของชนชั้นนำในเมืองไทย มันมีการผังทลายของสถาบันที่มีมาแต่ก่อนหมด คือคนไทยอ่อนแอลง จากเดิมที่เรามีกลุ่มทางสังคมประเภทต่างๆ วันหนึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่ทำงาน เพราะว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ถึงมีไปก็ไม่มีงานให้ทำ แต่เราก็ไม่สามารถพัฒนากลุ่มทางสังคมแบบใหม่ เพื่อมาทำงานในสังคมแบบใหม่ได้ เพราะฉะนั้นเราแต่ละคนกลายเป็นปัจเจกบุคคลไปหมด แล้วก็ยากมากในการที่จะต่อรองอะไรในสังคมสมัยใหม่ มันมีปัญหาไปหมดทุกด้าน
ยิ่ง ไปกว่านั้นถ้าคุณพยายามจะรักษาการเมืองของชนชั้นนำเอาไว้ให้เหมือน เดิม ถ้าปรับเปลี่ยนอาจไม่เป็นไร แต่การพยายามรักษาให้เหมือนเดิมนี้แต่ก่อนอาจจะรักษาได้ไม่ยากเท่าไหร่ อย่างที่ผมบอก เพราะใช้รัฐประหารอีกฝ่ายยินยอม การเมืองก็กลับมาสู่จุดดุลยภาพใหม่อีกครั้งหนึ่ง พอเริ่มเสียดุลยภาพ คุณก็ทำรัฐประหารกลับไปสู่ดุลยภาพใหม่ แต่บัดนี้คุณทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว นอกจากคุณใช้ความรุนแรง
และที่น่ากลัวกว่านั้นคือใช้ความรุนแรงแล้วจะสำเร็จหรือไม่ ผมก็ชักไม่แน่ใจแล้วว่าใช้ความรุนแรงแล้วจะประสบผลสำเร็จ เมื่อ 6 ตุลา (2519) คุณใช้ความรุนแรงแล้วดูประหนึ่งว่าคุณสามารถดึงการเมืองกลับมาเริ่มต้นกัน ใหม่ หรือจะ 14 ตุลาคม (2516) การเมืองไทยเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยใช่ไหม คุณมีรัฐธรรมนูญใหม่ คุณมีสภา คุณมีอำนาจ ร้อยแปด พอถึง 6 ตุลาคม คุณกลับมาอยู่ในระบบภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบอีก 10 กว่าปี ดูประหนึ่งว่าความรุนแรงจะไม่หลุดพ้น ตามความต้องการของชนชั้นนำ
แต่บัดนี้ไม่แน่ใจแล้วว่าการใช้ความรุนแรงจะให้ผลอย่างที่เคยเป็นมาเหมือน 6 ตุลาได้อีก เพราะว่าชนชั้นนำเองจะยอมรับความรุนแรงได้แค่ไหน และความรุนแรงที่ชนชั้นนำใช้ประโยชน์หรือสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือจะนำ ไปสู่อะไร ฆ่าคนอีกสองพันคน ที่ใช้ตัวเลขสองพันเพราะคนที่บาดเจ็บเมื่อเดือนพฤษภาคม (2553) ถูกยิงในที่สำคัญทั้งนั้น คือตั้งใจจะยิงแต่มือไม่แม่นพอก็เลยไม่ตาย
คุณฆ่าคนอีก 2 พัน คนแล้วจะหยุดความเปลี่ยนแปลงได้ไหม ไม่ใช่หยุดฝูงชนเพราะหยุดฝูงชนเรื่องเล็ก แต่หยุดความเปลี่ยนแปลงต่างหากคือหัวใจสำคัญ จากเดือนพฤษภามาจนถึงวันนี้ เราเห็นชัดเจนเลยว่าความรุนแรงหยุดความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คุณกระจายฝูงชนได้ ไล่ฝูงชนออกไปได้ แต่หยุดความเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ชนชั้นกลางใหม่ และความเปลี่ยนแปลงที่หยุดไม่ได้
อีก ประเด็นที่จะพูดถึงเพื่อมาสรุปในตอนท้ายถึงเรื่องการปฏิรูปคือว่า ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทางการเมืองของชนชั้นนำที่พูดมานี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีคุณทักษิณก็ตามแต่ ถ้าไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย เรื่องนี้พูดมานานและพูดบ่อย จึงพยายามจะพูดให้สั้น
คือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา หรือประมาณ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา ในสังคมไทยและเศรษฐกิจไทย ผมเชื่อว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 อย่างด้วยกัน
หนึ่ง มันเกิดการนำคนเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัว ประเทศไทยทุกวันนี้เราเป็นประเทศเกษตรกรรมน้อยกกว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรม แรงงานส่วนใหญ่ของเราอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรกรรม และภาคเกษตรกรรมก็มีแต่จะหดตัวลงไปด้วยซ้ำ เพราะว่าตอนนี้ อายุเฉลี่ยชาวนาไทยอยู่ที่ 55 ปี หมายความว่าคนหนุ่มสาวไม่มาเป็นชาวนาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเราได้เปลี่ยนไปแล้ว ตอนที่ปลูกข้าวอย่างน้อยที่สุดยังมีข้าวกิน แต่ตอนนี้คุณออกไปรับจ้างแบกข้าวไม่แน่ว่าคุณจะมีข้าวกิน เพราะเป็นการขายแรงงานโดยตรง คือได้เข้ามาสู่ตลาดเต็มตัว และคนเหล่านี้ผมเรียกว่า เดี๋ยวนี้ก็ยังอยากเรียกอย่างนี้เพราะว่าเข้าใจได้ง่าย ผมเรียกว่า “คนชั้นกลาง” คือคนส่วนใหญ่ของไทยกลายเป็นคนชั้นกลาง แต่เป็น “คนชั้นกลางระดับล่าง” คือ มีรายได้ต่อหัววันหนึ่งเกินหนึ่งเหรียญ ซึ่งไม่ใช่คนจนแล้ว ประมาณสองเหรียญหรือประมาณ 60-70 บาท ถ้าคุณมีผัว เมีย ลูกอีกคนหนึ่ง ก็จะมี 240 บาท ต่อครอบครัวต่อวัน 240 บาท นี้นอกจากซื้ออาหารแล้วยังซื้ออะไรได้อีกหลายอย่าง คุณเริ่มมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
ที่สำคัญที่สุด ก็คือ คนชั้นกลางไม่ว่าจะเป็นระดับกลาง หรือระดับล่าง อะไรก็แล้วแต่ นโยบายสาธารณะของส่วนกลางหรือของรัฐนี้กระทบต่อชีวิตคุณ ตัวอย่างที่ชอบยก อย่างเช่น ชาวนาเลิกทำนาแล้วมาขายก๋วยเตี๋ยว มันไปเกี่ยวข้องกับนโยบายหมู นโยบายข้าว นโยบายแป้ง นโยบายอะไรก็แล้วแต่ของรัฐ เมื่อตอนทำนา รัฐจะไปทำอะไรก็เรื่องของรัฐไม่เกี่ยวกับเขา แต่พอมาขายก๋วยเตี๋ยวเกี่ยวทันที เพราะฉะนั้นการที่บอกว่า “เฮ้ย พวกมึงไปอยู่นอกเวทีการเมือง” เวทีการเมืองเป็นของชนชั้นนำอย่างเดียว จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้อยากจะเขามาเพื่อบอกว่าพวกเขาต้องการอะไร เขาอยากได้อะไร คนเหล่านี้จึงถูกกระทบด้วยนโยบายสาธารณะระดับชาติ
และสิ่งที่น่าสังเกต คือ คุณทักษิณตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่ตอบสนองแต่คนจน เพราะคนจนแบบที่สภาพัฒน์บอกว่าจนมีอยู่ 6 % ในประเทศไทย และหายไปไหนก็ไม่รู้ อยู่ใต้ดิน คุณมองไม่เห็นหรอก และในชีวิตจริงเราก็ไม่เคยเห็นคนเหล่านั้นมีจำนวนน้อยมาก
ผมคิดว่านโยบายของคุณทักษิณตอบสนองต่อคนเหล่านี้โดยตรง ซึ่งเป็นฐานทางมวลชนของคุณทักษิณสืบมาจนถึงทุกวันนี้
คนชั้นกลางเหล่านี้ต้องการอะไร มีอยู่ 3 อย่าง มีงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งศึกษาประเทศกำลังพัฒนา 13 ประเทศทั่วโลกไม่รวมประเทศไทยแล้วพบว่าคนชั้นกลาง ทั้งกลางระดับกลาง และกลางระดับล่างมีความใฝ่ฝันในชีวิต 3 อย่างด้วยกัน
หนึ่ง อยากเข้าถึงทุน ยิ่งกรณีชนชั้นกลางระดับล่างยิ่งชัดเจน พอคุณเริ่มขายก๋วยเตี๋ยว ทุนที่ดินไม่ได้ช่วยอะไรเลย อยากได้ทุนเป็นเงินน่ะ แต่ก็เข้าไม่ถึง เพราะคุณไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปวางไว้ที่ธนาคารเพื่อกู้เงินเขา
สอง ใฝ่ฝันที่อยากเป็นคนมีสุขภาพดี ตอนดูทีวี ผู้หญิงที่ดีๆ ทั้งหลายก็รักแร้ขาว ก็อยากรักแร้ขาวบ้าง เป็นปกติธรรมดา ก็ต้องการสุขภาพที่ดี
สาม ต้องการลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลาน เพราะแน่นอนว่าเขาไม่มีควาย ไม่มีนาให้กับลูกอีกแล้ว ก็อยากจะให้ลูกเขาเรียนหนังสือ เพื่อที่ว่าเขาจะได้เอาชีวิตรอดได้
สาม อย่างนี้เป็นมาตรฐานของชนชั้นกลางทั้งหลายในโลก รวมทั้งกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นกลางระดับล่างด้วย และคุณทักษิณตอบสนองมัน ตอบสนองแบบไม่เข้าท่าก็ได้ ผมไม่ได้พูดว่าตอบสนองแล้วดีนะครับ ตอบสนองแบบไม่ได้เรื่องก็ได้ เช่น หนึ่งอำเภอ หนึ่งดอกเตอร์ ส่งไปเรียนต่างประเทศ โอกาสที่จะได้ไปต่างประเทศด้วยทุนนั้นยากมาก แต่อย่างน้อยที่สุดมันทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพ่อแม่ ด็อกเตอร์ได้นะเว้ย เพียงแต่เลี้ยงลูกไม่เอาถ่านเท่านั้นเองอะไรก็แล้วแต่ คือถ้าคุณพูดถึงทุน King’s scholarship กับ แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวมันไม่เกี่ยวกับเขาเลย แต่หนึ่งอำเภอ หนึ่งด็อกเตอร์มันเกี่ยวกับเขาอย่างยิ่ง ทั้งที่ความจริงแล้วอาจจะไม่เกี่ยวเหมือนกันนั่นแหละ เหมือนเดิมนั่นแหละ แต่มันตอบความฝันได้อย่างดี
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยิ่ง คือ การปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร ในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมาอย่างมโหฬาร ถ้าจำไม่ผิดเรามีโทรทัศน์เกินหัว เกินจำนวนครอบครัว คือใครๆ ก็มีโทรทัศน์ แล้วนอกจากนั้นยังเป็นโทรทัศน์ที่สามารถถ่ายทอดจากส่วนกลางได้โดยตรง ไม่ใช่โทรทัศน์ท้องถิ่นอย่างที่เคยมีในสมัยก่อน มันมีวิทยุชุมชนมาตั้งแต่ก่อนหน้าปี 2540 คือก่อนรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งจะดีจะเลวก็แล้วแต่ วิทยุชุมชนช่วยกระจายข่าวสารและข้อมูลอื่นๆให้แก่คนในระดับท้องถิ่นอย่างมาก มาย ข่าวสารในข้อมูลในที่นี้อาจะเป็นเพลงลูกทุ่งก็ได้ เพราะมันก็เป็นข่าวสารข้อมูลอย่างหนึ่ง
อันต่อมา ความเปลี่ยนแปลงถัดมา คือ การเปลี่ยนสภาพสังคมกลายเป็นเมือง “Urbanization” ซึ่ง การกลายเป็นเมืองในประเทศไทยถ้าเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อน ข้างช้าในระดับเศรษฐกิจเดียวกัน แต่ช่วงประมาณสัก 20 ปีที่ผ่านมามันเร็วขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เร็วมากเลยจนทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่าเกินครึ่งของประชากรไทยอาศัยอยู่ใน สังคมเมืองไปแล้ว เมืองในที่นี้ อ.สารภี (จ.เชียงใหม่) ก็ถือว่าเป็นเมืองนะ อาศัยอยู่ในสังคมเมืองแล้ว เพราะแน่นอนเมื่อเปลี่ยนอาชีพก็ต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในสังคมเมือง
สื่อ ออนไลน์ที่แพร่หลายมากขึ้น อย่าดูถูกว่าไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยจะใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างไร แม่ค้าขายผักเพิงเล็กๆ แถวบ้านซึ่งเป็นเสื้อแดง เพราะฉะนั้นแกจะรู้ข่าวสารแยะมากจากสื่อออนไลน์ เพราะลูกชายเข้าให้และนำมาเล่าให้ฟัง
การศึกษาก็ขยายตัว เวลานี้คุณไม่ต้องนั่งห่วงแล้วว่าเวลานี้ไม่ต้องห่วงแล้วว่าเด็กจะเลิกเรียน หนังสือตั้งแต่ชั้นประถม เด็กประมาณ 70% เรียนต่อระดับชั้นมัธยม
ลักษณะ ในทางเศรษฐกิจและสังคมทุกวันนี้ทำให้เมืองในชนบทสัมพันธ์กันอย่าง ยิ่งคือ นอกจากประชากรเกินครึ่งเข้ามาอยู่ในเมือง แม้แต่คนในชนบทเองก็ไม่ใช่ชนบทที่หลุดออกไปจากเมือง มันสัมพันธ์กันตลอดเวลา สัมพันธ์กันในเชิงเศรษฐกิจ คุณอยู่ในหมู่บ้านก็จริง แต่รุ่งเช้าจะมีปิกอัพรับไปก่อสร้างในเมือง เย็นก็เอามาส่ง เมียก็อาจจะมาจ่ายของที่บิ๊กซีในเมือง เป็นต้น เมื่อชนบทกับเมืองเชื่อมกันมากขึ้นก็ทำให้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแยะมาก ขึ้น
นอกจากรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากแล้ว เมืองนี่น่าประหลาด เมืองไม่ได้สอนให้คนชั้นกลางระดับกลางรู้จักการจัดองค์กร แต่อาศัยวัฒนธรรมเดิมที่ต้องจัดองค์กรในทางสังคมในชนบท พอเขากลายเป็นคนที่เข้ามาอยู่ในเมือง การปฏิวัติข่าวสารข้อมูลช่วยที่สำคัญอย่างหนึ่งไม่น้อยไปกว่าการรับรู้ข่าว สารข้อมูล คือช่วยเขาในการจัดองค์กร ช่วยให้เขาสามารถจัดองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมืองอะไรก็ตามแต่ เยอะแยะมาก ผมไม่เคยได้ยินว่ามีสหกรณ์ออมทรัพย์ที่สุขุมวิท สุขุมวิทก็มีคนจนอยู่แยะนะครับ แต่มีสหกรณ์ออมทรัพย์เยอะแยะไปหมดในประเทศไทย เช่นการจัดตั้ง “กลุ่มสัจจะออมทรัพย์” เป็นต้น การปฏิวัติข่าวสารข้อมูลก็ช่วยในการจัดองค์กรของเขาด้วย
และ การมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่น จะร่วมแบบไหนก็แล้วแต่ จะร่วมแบบช่วยหัวคะแนนให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต. หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ร่วมก็แล้วกัน นี่ก็ให้ประสบการณ์ในทางการเมืองแก่เขาด้วย
นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เอื้อต่อสิ่งที่จะกระทบต่อการเมืองของชนชั้นนำ และคุณทักษิณก็มาใช้ประโยชน์อย่างมาก
เมื่อ คนเหล่านี้ต้องการพื้นที่ทางการเมืองในการต่อรอง ก็เข้ามาสนับสนุนทักษิณ ประตูเดียวที่เปิดให้เขาสามารถเข้ามามีพื้นที่ทางการเมืองได้ก็คือระบบเลือก ตั้ง เพราะฉะนั้นการที่อยู่ๆ คุณทำรัฐประหาร เพื่อทำลายไม่ให้มีระบบเลือกตั้ง หรือเพื่อให้ระบบเลือกตั้งถูกควบคุมมันจึงรับไม่ได้สำหรับเขา และความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างนี้ อย่างไรก็หยุดไม่ได้
ทั้ง หมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ชนชั้นนำไม่ทันได้ตั้งตัว มองเห็นเป็นเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองแบบเดิม หลังรัฐประหารมาจนถึงทุกวันนี้ บางกลุ่มของชนชั้นนำยังย้ำอยู่ตลอดเวลาว่ามันเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างคุณ ทักษิณกับกลุ่มพวกเขา มองไม่เห็นว่ามันลึกกว่าเรื่องคุณทักษิณแยะ และอย่างที่หลายท่านก็ทราบว่า กลุ่มคนเสื้อแดงก็มองว่าตัวเขาจะแยกทางคุณทักษิณ ถ้าคุณทักษิณไม่ผลักดันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
เมื่อชนชั้นนำขาดเอกภาพ และสองหนทางหลังเลือกตั้ง
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง จะเป็นตั้งแต่ปี 2549 หรือก่อนปี 2549 ก็แล้วแต่ ผมอยากตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เกิดความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำเองสูงมากขึ้นด้วย
อย่ามองแต่ความแตกแยกระหว่างคนชั้นกลางในเมือง กับคนชั้นล่าง-คนชั้นกลางระดับล่างเท่านั้น แม้แต่ในกลุ่มพวก Elite พวก ชนชั้นนำด้วยกันเอง ก็มีความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ของแปลก ชนชั้นนำมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันแยะมาก และก็มีความขัดแย้งตลอดเวลาแต่ไม่ถึงขนาดแตกแยก เพราะว่าต้องอาศัยการนำที่มีเอกภาพเพื่อทำให้ชนชั้นนำด้วยกันเองที่มีความ ขัดแย้งกันเอง สามารถที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบเรียบร้อยได้ ผมคิดว่าการนำที่เป็นเอกภาพมันหายไป ในช่วงตั้งแต่ปี 2549 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นถึงทุกวันนี้
การนำที่ทำให้ชนชั้นนำ ด้วยกันเองไม่แตกแยก และเป็นเอกภาพนี้หายไป แล้วทำให้ชนชั้นนำต้องยอมทำอะไรหลายอย่างที่ผมคิดว่าในระยะยาวอาจเป็น อันตรายต่อชนชั้นนำเอง เช่น การใช้ม็อบมีเส้น ในโลกนี้ไม่มีใครเป็นไขควง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครเป็นเครื่องมือของใคร 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ทุกคนมีความต้องการบางอย่างในตัวที่ตัวต้องการทั้งสิ้น คือไม่มีใครพร้อมเป็นเครื่องมือให้ใครเต็มที่ ผมอาจเป็นเครื่องมือให้คุณ แล้วในขณะเดียวกันผมมีความต้องการของผมเองโดยที่อาจไม่ตรงกับของคุณ
เพราะ ฉะนั้นการที่ชนชั้นนำลงมาใช้ม็อบมีเส้นเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง นี่เป็นของใหม่นะครับ ไม่เคยมีมาก่อน แล้วอันตรายมากๆ เลย ไม่ใช่อันตรายต่อเรา แต่อันตรายต่อเขาเองนั่นแหละ เป็นต้น
กลุ่มคนชั้นกลาง คนที่เป็นผู้ปกป้องสถาบันที่เด่นที่สุดในประเทศไทยเวลานี้ ถ้าไม่นับกองทัพนี่คือใคร? “คุณเนวินว่ะ” โอ้โฮแปลกมากเลย และก็ต้องยอมรับเลยนะ นี่เป็นสิ่งใหม่ เพราะว่าการที่คุณยอมรับพรรคภูมิใจไทยได้ถึงขนาดนี้ มันทำให้คนชั้นกลางระดับกลางในเมือง ถอยออกมาคิดว่า “ได้เหรอ?” เป็นต้น
มันมี Contradiction มี ความขัดแย้งภายในระบบ ในปัจจุบันแยะมากๆ และผมคิดว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำมาพอ สมควร ผมได้ยินมาว่า การตัดสินใจที่ให้มีการเลือกตั้ง มีการยุบสภาไม่ได้เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่ชนชั้นนำทั้งหมด ก็มีบางกลุ่มเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ควรจะอยู่ต่อไป อีกกลุ่มบอกว่าต้องยอมรับ เป็นต้น มันไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างที่เคยเป็นมา และผลการเลือกตั้ง ผมเข้าใจว่าชนชั้นนำคงตระหนกเหมือนกัน คงตกใจเหมือนกัน ว่ามันได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าผลของการเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่า คุณไม่สามารถหลบหลีกไปจากระบบเลือกตั้งได้ อย่างไรๆ คุณก็ต้องยอมรับมัน อย่างน้อยคุณไม่สามารถหลบหลีกการเลือกตั้งอย่างง่ายๆ อย่างที่เคยหลบมาแล้วได้ เพราะฉะนั้นทางเลือกของชนชั้นนำหลังการเลือกตั้งแล้ว ผมคิดว่ามีสองอย่าง
หนึ่ง รอจังหวะที่เหมาะสมในอนาคตในการล้มรัฐบาล หรือคุณจะล้มโดยวิธีตุลาการภิวัตน์ โดยอะไรก็แล้วแต่คุณ ให้ใบแดงอะไรก็แล้วแต่คุณเถิด แต่ในจังหวะที่เหมาะสมกว่านี้ เราจะเห็นว่าเขาจะล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ให้คอยสังเกตสื่อกระแสหลักให้ดี ถ้าสื่อกระแสหลักเริ่มออกแนวในลักษณะต่อต้านรัฐบาลหนักข้อมากขึ้นๆ แสดงว่าเริ่มมีสัญญาณแล้วว่าจะล้มม็อบมีเส้นเริ่มออกมาใหม่ ระวังให้ดีเขาจะล้มรัฐบาล
เพราะฉะนั้นหลุมพรางหรือกับดักที่จะรอ รัฐบาลชุดใหม่อยู่ ผมคิดว่ามีมาก และในที่สุดอาจจะนำไปสู่การรัฐประหารก็ได้ แต่ทีนี้ ก็อย่างที่พูดไปแล้วว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบที่ถาวร อย่างไรๆ คุณก็อยู่ในสภาพรัฐประหารตลอดไปไม่ได้ รัฐประหารไม่สามารถนำดุลยภาพกลับคืนมาได้ใหม่
อันที่สอง ต่อไปที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวคุณเอง ให้เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่า แต่ทีนี้เผอิญเป็นช่วงเวลาที่มีความแตกแยกในภาวะการนำด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าคุณจะปรับตัวคุณต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้คุณไม่มี
พลังที่จะปฏิรูป
สู่ ประเด็นสุดท้าย อนาคตการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ การเมืองจะไม่ใช่พลังหลักของการปฏิรูป ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะว่า นักการเมืองไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เขาไม่ได้สนใจการปฏิรูป จากการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งหมด ชัดเจนว่าเขาไม่ได้สนใจการปฏิรูป
การปฏิรูปไม่ได้หมายถึงการแก้ไขข้อ บกพร่องแบบปะผุ เรื่องนี้เคยก็ก็อย่าโกง อะไรอย่างนั้นนะครับ จริงๆ คุณจะปฏิรูปต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ถ้าเพียงแต่แก้โน้นแก้นี้นิดๆ หน่อยๆ คุณก็ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากวงจรอันเก่า การเมืองแบบชนชั้นนำไปได้ คุณต้องคิดถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ทั้งหมด
ความ สัมพันธ์เชิงอำนาจในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงอำนาจที่มีอยู่ในทางกฎหมายอย่างเดียว แต่หมายถึงอำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน อำนาจในการที่คุณเป็นอิสระจากพันธะทางเศรษฐกิจหรือสังคมอื่นๆ ด้วยทั้งหมด
เมื่อ เราหวังการเมืองไม่ได้ ถามว่าเราหวังจากใครได้ ผมคิดว่าเราหวังจากภาคสังคมได้ เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนหลายกลุ่มด้วย กัน ที่เรียกร้องนโยบายที่ปรับเปลี่ยนถึงระดับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อย่างน้อยที่สุดข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป 2 ข้อด้วยกันที่พูดถึงกัน มาก การเปลี่ยนเป็นการกระจายอำนาจ เป็นสิ่งที่ประชาชนหลายคนตั้งเป็นข้อเรียกร้องต่อนักการเมือง นักการเมืองคนหนึ่งบอกกับผมว่าเขาไม่เคยพบสิ่งนี้มาก่อน ไม่เคยพบมาก่อนว่า เขาออกไปหาเสียง แทนที่เขาจะเป็นฝ่ายพูด ประชาชนกลับเป็นฝ่ายบอกเขาว่าให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่ โดยที่เขาไม่ได้เป็นฝ่ายพูด ฝ่ายเสนอให้แก่ประชาชน เขาบอกว่าไม่เคยเจอสิ่งนี้มาก่อนในชีวิตการเมืองของเขา เป็นต้น ผมคิดว่ามันมีพลังที่เริ่มเคลื่อนไหวบางอย่างในสังคมของเราเอง ที่อาจนำไปสู่การปฏิรูปได้”
ในการเปิดเวทีของ (สถานีโทรทัศน์) ไทยพีบีเอส ผมจำได้ว่ามีชาวบ้านที่เข้ามาร่วมการประชุมด้วย ถือป้าย “จำกัด การถือครองที่ดิน” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงมากที่สุด แต่เขาเรียกร้องให้จำกัดการถือครองที่ดิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ต้องปฏิรูปที่ดิน” เพราะฉะนั้น จึงคิดว่าคนที่อยู่แนวหน้าในเรื่องการปฏิรูปไม่ใช่นักการเมือง แต่คือชาวบ้าน หรือประชาชน
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าความเคลื่อนไหว เหล่านี้จะขยายตัวไหม แล้วจะชิงบทบาทเด่นต่อไปไหม ถ้าถามว่าข้อเรียกร้องของพวกนี้กับคนเสื้อแดงใครดังกว่ากัน คนเสื้อแดงดังกว่า พวกนี้แค่แผ่วๆ แต่ในอนาคตเสียงแผ่วๆ เหล่านี้ขยายตัวมากขึ้นเป็นข้อเรียกร้องหลักในอนาคต ได้หรือไม่ ผมว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆอีกหลายอย่าง นับตั้งแต่ สื่อ การจัดองค์กร และอีกร้อยแปด ความใส่ใจของวงวิชาการ เพราะถ้าจะพูดถึงการปฏิรูปต้องมีการสร้างฐานความรู้เรื่องการปฏิรูปด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยเองก็ต้องสนใจสร้างฐานความรู้สำหรับการปฏิรูป ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นพัฒนาการขั้นต่อไปน่าจะเป็นการจัด ตั้งองค์กรภาคประชาชนเพื่อ รวมตัวกันผลักดันประเด็นให้กว้างกว่าท้องถิ่น ภาคประชาชนรู้จักรวมตัวกันมานานแล้ว แต่ผลักดันประเด็นเรื่องท้องถิ่นตลอดมา แต่ตอนนี้ต้องรู้จักจัดองค์กรที่ผลักดันประเด็นที่ไม่ใช่ท้องถิ่นเพียงอย่าง เดียว
ถามว่าประชาชนทำได้หรือไหม ผมคิดว่าได้ มีตัวอย่างที่น่าสนใจที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างที่ทราบกันดีว่าเริ่มต้นมาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียง 2 จุด คือ บ้านกูดและบ่อนอก แต่จาก 2 จุดนั้นมันพัฒนาไปเรื่อยๆ ขยายภายในตัวจังหวัดประจวบฯเอง เป็นสาม เป็นสี่ เป็นห้า ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าไม่สร้างแล้ว ก็ยังไม่ได้สลายตัว ก็ไปรวมตัวกันประท้วงต่อต้านโรงถลุงเหล็ก ต่อต้านการสร้างเตาเผาขยะ การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. ฯลฯ จนกระทั่งเครือข่ายภายในของ จ.ประจวบคีรีขันธ์มี 7-8 เครือข่าย
ที่น่าสนุกไปกว่านั้น คือ โรงถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้าก็ตาม ถามว่าสร้างให้ใครใช้ สร้างให้โรงงานใช้ ดังนั้น 7-8 กลุ่มในประจวบคีรีขันธ์ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า ที่ตนเองถูกแย่งชิงทรัพยากรอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่เพียงแค่นายทุนมาทำอะไรในท้องถิ่นตัวเอง แต่มันมีความหมายรวมไปถึงทั้งหมดในประเทศไทย ฉะนั้นก็เริ่มสร้างเครือข่ายข้ามจังหวัดไปยังชุมพร ชุมพรจะถูกใช้เป็นสถานที่สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อที่จะส่งย้อนขึ้นมาให้ ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้โรงถลุงเหล็กได้ใช้น้ำมากขึ้น ทับสะแกจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อนำไปป้อนโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ เกิดการจับมือกันตั้งแต่ประจวบฯ ไล่ไปจนถึง นครศรีธรรมราช ถึงสุราษฎร์ธานี ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมันเริ่มเติบโตเป็นประเด็นที่ครอบคลุมทั้งหมดแล้ว ไม่ใช่เป็นประเด็นท้องถิ่นอย่างเก่า ถ้ามันเกิดที่ประจวบได้ มันก็เกิดที่อุบลราชธานี เกิดที่อุดรธานีไก้ เกิดที่เชียงใหม่ได้
เชียงใหม่เองก็เริ่มจากการต่อต้านกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ พัฒนามาจนถึงทุกวันนี้กลายเป็นข้อเสนอเรื่อง การปกครองตนเอง ... เออ “ปกครอง ตนเอง” เดี๋ยวโดนจับ ... “ปกครองตนเองภายใต้เงื่อนไขราชอาณาจักรไทย” ก็แล้วกันนะฮะ เป็นต้น คือมันพัฒนาได้ เครือข่ายมันพัฒนาได้