ที่มา Thai E-News
โดย วันลา วันวิไล
24 ตุลาคม 2552
ที่มา บันทึกเรื่อง"ตะวันตกที่ตะนาวศรี"
ไม่กี่เดือนที่ผมไปถึงที่นั้น อยู่ ๆ “ฝ่ายนำ” ก็เรียกประชุมแจ้งว่า นักรบ 3 คนได้ “เสียสละ” ไปแล้ว พวกเขาหลายสิบคนได้ไปโจมตีค่าย ต.ช.ด. เพื่อ “สั่งสอน” และ “แก้แค้น” ให้กับนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่เกิดความผิดพลาดทางยุทธวิธี ต้องสูญเสียนักรบไปในคืนที่มืดสนิทคืนหนึ่ง มันเหมือนกับบทนำเรื่องบทแรกของการต่อสู้ว่า “สงครามก็เป็นเช่นนี้แหละ”
2. ตะวันตกที่ตะนาวศรี
ผมไปถึงตะนาวศรีในตอนกลางเดือนพฤศจิกายน 2519
เขตเทือกเขานี้อยู่ระหว่างชายแดนไทยกับพม่า เป็นส่วนของแผ่นดินที่ได้รับมรสุมจากมหาสมุทรอินเดียเต็มที่ ป่าทึบชุ่มชื่นมีฝนตกเกือบตลอด ปีมีทากและแมลงดูดเลือดชุกชุม พื้นดินก็อุดม ลาดและหุบเขามากมายเป็นถิ่นของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งหักร้างถางพงทำไร่และเคลื่อนย้ายไปมาอยู่แถบนั้นมานานแล้ว ที่เป็นป่าดูทึบ ที่เป็นไร่ดูเขียว และน้ำก็ดื่มได้ชื่นใจทุกสาย
หลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจำนวนมากได้ตัดสินใจเข้าป่า อันหมายถึงการร่วมกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ต่อสู้กับรัฐบาลในยุคนั้นด้วยกำลังอาวุธ
วิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (ส.ป.ท.)ดูจะคึกคักที่สุดเมื่อได้ยินคำประกาศการต่อสู้ของอดีตผู้นำนักศึกษาหลายคนเป็นระยะๆ กระทั่งคำประกาศของพวกเรา นักศึกษาเขตเทือกเขาตะนาวศรี
“การต่อสู้ด้วยอาวุธ” ฟังดูแล้วรู้สึกรุนแรงดุเดือดและน่ากลัวในเวลานั้น แต่เมื่อผ่านมานานปี ผมรู้สึกนึกถึงแต่ชีวิตที่เรียบง่าย เป็นเพียงความเคลื่อนไหวเล็กๆ เงียบๆกลางป่าเขาเท่านั้น และยังเทียบไม่ได้กับความรุนแรงดุเดือดในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือแม้กระทั่ง 17 พฤษภา ในอีกหลายปีต่อมา
ชีวิตเรียบๆกลางสงครามแย่งชิงประชาชนในชนบทที่ผมกล่าวถึง ก็คือชีวิตจำลองของชาวไร่ชาวนาผู้ทุกข์ยากนั่นเอง
ฤดูแล้งปี 2520 ผมอยู่ที่ค่ายสอง หรือค่ายใหญ่ (ในป่าเขตอื่นเรียกที่พักต่างๆกัน เช่น ฐานที่มั่น ฐาน ทับ แต่ที่นี่เรียกง่ายๆว่า ค่ายหนึ่ง ค่ายสอง ค่ายสาม) ต้องลงไร่ปลูกมันสำปะหลังเกือบทุกวัน ก็แค่เอาเท้าเขี่ยดินให้เป็นร่อง แล้วเอาต้นมันสำปะหลังที่ถูกสับเป็นท่อนๆ ยาวราว 1 คืบวางลงไป เขี่ยดินกลบและกระทืบ 2-3 ทีเท่านั้น เราไม่ค่อยนึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างในชีวิต จากการเรียนหนังสือในห้องเรียนเป็นทำไร่มันกระทันหันไปหน่อย แต่มันต้องทำ
บางวันเขาก็ให้ปลูกบ้านอยู่ในค่าย เมื่อไปถึงใหม่ๆ บ้านจะปลูกเรียงกันตามสันเขาแคบๆ ด้านหนึ่งมีทางเดินลงห้วย อีกด้านหนึ่งค่อนข้างชัน เมื่อมีคนมากขึ้นสันเขาแคบก็ไม่มีที่ว่างพอ จึงต้องกระเถิบลงด้านล่างซึ่งกว้างขวางกว่า บ้านจะเรียงรายกันรอบๆ ลานและกอไผ่ มีสโมสรหลังคาแผ่นไม้และห้องสมุดเล็กๆ มีสนามใหญ่พอจะบรรจุคนตั้งแถวได้ประมาณ 3-4 ร้อยคน บ้านผู้หญิงจะมีฝาบ้านมิดชิด ส่วนบ้านผู้ชายจะมีฝาไม้ขัดแตะเพื่อกันฝนเพียงด้านเดียว
มีบ้านที่ยังไม่เสร็จอีก 2-3 หลัง ผมทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง นอกจากแบกเสามาลงหลุม แบกใบตะคร้อมาส่งให้ และขึ้นหลังคามุงตะคร้อตามอย่างคนที่เขาทำเป็น ชอบเลือกอย่างหลังสุดเพราะสนุกกว่าการแบก
ใกล้เที่ยงวันหนึ่งได้ยินเสียงเครื่องบินมาแต่ไกลมีคนบอกกว่าเป็น โอวีสิบ เสียงดังมากจนดูเหมือนมันจะอยู่เหนือหัวเรานี่เอง ไม่รู้ว่ามันใกล้หรือไกลขนาดไหน ได้แต่คิดเอาเองว่ามันน่าจะใกล้จนเห็นตัวเราแล้ว ก็เลยรีบตาลีตาเหลือกลงจากหลังคามาหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ ใจก็ระทึกว่าเดี๋ยวจะมีระเบิดลงไหนหนอ เสียงเครื่องบินวนอยู่ 2-3 รอบ ก็เงียบหายไป หลังจากวันนั้นก็มีเหตุการณ์เช่นนี้อีกตั้งหลายครั้งจนผมเริ่มคุ้นเคยและจำเสียง โอวีสิบได้ติดหู สามารถรู้ว่ามันมาตั้งแต่เสียงแว่วอยู่ในสายลม
เมื่อเผาไร่เสร็จในเดือนเมษายนก็พอดีฝนตก เราเริ่มถางป่าฟันไม้ตั้งแต่เดือนกุมภา เมื่อคนมากขึ้นไร่และนาแต่เดิมก็ทำไม่พอกิน สภาวะเช่นนั้นยังต้องการข้าวเหลือเก็บเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สามารถทำไร่ทำนาได้ด้วย การบุกเบิกไร่เริ่มจากการล้างท้องไม้ คือฟันไม้เล็กๆ ให้ราบเพื่อให้โล่งเตียน ฟันไม้ใหญ่ได้ง่ายและเมื่อมันแห้งจะได้เป็นเชื้อไฟในการเผาไร่ ผมช่วยเขาล้างท้องไม้จนแขนระบมแทบยกไม่ขึ้น ส่วนไม้ใหญ่นั้นถูกโค่นโดยผู้ชำนาญการเท่านั้น
ไร่ที่ถูกเผาแล้วจะต้องเก็บเศษไม้และกิ่งแห้งระเกะระกะมากองสุมๆ แล้วเผาอีกที เรียกว่า รื้อไร่ คราวนี้หน้าดินมีแต่ขี้เถ้า ท่อนไม้ใหญ่และตอเป็นถ่านดำ พอครึ้มฝน ลมพัดขี้เถ้าคลุ้งไอร้อนของดินและไอเย็นของลมฝนทำให้รู้สึกวูบวาบ หลังฝนลงเม็ดแล้ว กลิ่นไอดินและไม้ที่ถูกเผามันหอมเหลือเกินโดยเฉพาะเมื่อเราฉีกเปลือกไม้ก่อ
ผมชอบทำงานกลางฝน ยิ่งฝนหนักก็ยิ่งชอบเพราะไม่ร้อนและไม่ค่อยเหนื่อยแต่มักจะสั่นหนาว ทั้งลมทั้งฝนกลางไร่เสียงอื้ออึงชวนให้ร้องเพลงแข่งกับมันโดยไม่ต้องอายใคร พวกเราลากท่อนไม้ปีนลงไปตามลาดดินเหนียวลื่นไถลคลุกโคลนมอมแมมก่อนจะล่องฟืนไปตามห้วย บางทีก็เดินเรื่อยเปื่อยหาเห็ดแครงตามเปลือกต้นก่อและผักกูดตามริมห้วย เอาไปทำอาหารเย็น
ต้นพฤษภาคม ฤดูเพาะปลูกมาถึง ไร่ส่วนหนึ่งจะปลูกข้าวโพดอีกส่วนหนึ่งจะปลูกข้าวเจ้า วิธีปลูกข้าวโพดเขาใช้ตีหลุมแต่การปลูกข้าวเจ้าจะแทงหลุม การตีคือใช้จอบฟันดินลงไปตื้นๆ พอจอบกระดอนออกดินจะเป็นร่องกว้างๆ แล้วหยอด
เมล็ดข้าวโพดลงไปพร้อมก็เอาเท้าเกลี่ยดินกลบ ส่วนการแทงหลุมนั้นน่าจะเป็นวิธีดั้งเดิมของชาวเขาหรือไม่ก็ชนชาติตามภูเขาในจีนตอนใต้ เดาเช่นนี้ก็เพราะเคยเห็นท่าทางละม้ายกับระบำชาวไร่ประกอบดนตรีพื้นบ้านของจีน
ชาวกะเหรี่ยงขอบใช้ไม้ขนาดข้อมือจับพอเหมาะเสี้ยมให้แหลมทิ่มดินให้เป็น
หลุมเล็กๆ แล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไป ส่วนการแทงหลุมที่ว่าใช้เสียมอันเล็กใส่ด้าม
ไม้ไผ่ยาวๆ ที่ปลายสะบัดได้ เวลาแทงหลุมปลายไม้จะดีดพร้อมกับจังหวะโยกตัว
ของคนทำให้ผ่อนแรงลงและทำให้เร็วขึ้นด้วย ท่าทางโยกตัวนั้นยังไงก็เหมือนกับระบำพื้นเมืองจีนอยู่นั่นเอง
การแทงหลุมดูแล้วน่าสนุกและง่าย แต่พอทำจริงก็ยากเหมือนกันสำหรับคนที่ไม่เคยทำ จังหวะเท้าที่ก้าวเดินจังหวะมือแทง จังหวะโยกตัวและจังหวะสะบัดปลายไม้ต้องสัมพันธ์กันหลุมที่แทงจึงจะลึกพอดี ระยะห่างพอดี เป็นแถวเป็นแนวพอดี และรวดเร็วพอดี บางคนเอาเศษผ้าติดปลายไม้ก็จะพลิ้วลมดูสวยงาม สำหรับคนหยอดข้าวจะเดินตามไปเรื่อยๆ มือหนึ่งถือกระบอกไม้ไผ่ยาวที่ใส่เมล็ดข้าวพันธุ์ มือหนึ่งกำเมล็ดข้าวก้มตัวลงหยอดข้าวให้ลงหลุมแล้วเอาเท้ากวาดดินกลบ ทำนองเดียวกันคนหยอดข้าวต้องทำตัวให้สัมพันธ์กับคนแทงหลุม คือหยอดข้าวให้จำนวนเมล็ดข้าวคงที่ ลงหลุมแม่นยำไม่หกเรี่ยราดด้วยความเร็วคงที่เท่ากัน
ผมชอบหลบมาดื่มน้ำในห้วย มองขึ้นไปเห็นแถวไม้ไผ่ร่ายรำตามการโยกตัวพร้อมกับคนหยอดข้าวก้มเงยเป็นจังหวะที่สอดคล้องกัน เหมือนจังหวะของชีวิตที่ขึ้นๆลงๆแต่ยังคงสร้างผลผลิตเพื่อกินอยู่และสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป
ยามเย็นภูเขาทางทิศตะวันตกจะให้ร่มเงาเนิ่นนานก่อนจะมืดค่ำ หลังภูเขา
ดวงตะวันตกเร็วแค่ไหนเราไม่รู้ รู้ตัวอีกทีเมื่อเสียงจักจั่นหน้าแล้งขับเสียงระงม
ความมืดเหมือนผ้าดำผืนใหญ่คลุมลงมาจากฟ้าพร้อมกับไขแสงดาวนับพันนับหมื่น
ให้สุกสกาวขึ้นในคืนฟ้าโปร่ง ค่ำคืนได้แต่ฟังเสียงแมลงกลางคืนกรีดปีกดังระงมและบางคืนก็ต้องนอนเศร้าใจหาย . . . . . .
ไม่กี่เดือนที่ผมไปถึงที่นั้น อยู่ ๆ “ฝ่ายนำ” ก็เรียกประชุมแจ้งว่า นักรบ 3 คนได้ “เสียสละ” ไปแล้ว พวกเขาหลายสิบคนได้ไปโจมตีค่าย ต.ช.ด. เพื่อ “สั่งสอน” และ “แก้แค้น” ให้กับนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่เกิดความผิดพลาดทางยุทธวิธี ต้องสูญเสียนักรบไปในคืนที่มืดสนิทคืนหนึ่ง มันเหมือนกับบทนำเรื่องบทแรกของการต่อสู้ว่า “สงครามก็เป็นเช่นนี้แหละ”
หลายคนได้หลั่งน้ำตาและสะอึกสะอื้นท่ามกลางความเงียบ พิธีไว้อาลัยเป็นเพียงไม่กี่โอกาสที่ผมต้องแต่งชุดทหารเรียบร้อยสวมหมวกดาวแดง “ฝ่ายนำ” จะกล่าวสดุดีวีรกรรมของนักรบและเรียกร้องให้ทุกคนศึกษาจิตใจกล้าหาญเสียสละของพวกเขา
หมดพิธีเรามักอยู่กันอย่างเงียบๆ ยามตะวันตกดินไปแล้วได้ยินเสียงเรไรร่ำร้องทำให้เหงาเหลือเกิน ผมหลับตาในความมืด
นึกสงสัยว่ามันจะเป็นอย่างไรนะถ้าคืนนี้มันมืดไปชั่วนิรันดร์ และพรุ่งนี้ดวงตะวันจะไม่ขึ้นมาอีก
***********
บทความชุดนี้ตอนที่ผ่านมา:
-บันทึกเดือนตุลาฯ:ตะวันตกที่ตะนาวศรี (1)