ปชป.ซัด "ไข่มุกดำ" ปลุกแก้ผู้สำเร็จราชการ เดินตามบันได 3 ขั้น หวังกระทบชิ่ง "พล.อ.เปรม" แกนนำเสื้อแดงลั่นเป็นรัฐบาลรื้อใหม่แน่ ด้าน ปธ.ศึกษาแก้รธน.ระบุเขียนไว้เหมาะสมแล้ว
ปชป.ซัด"วีระ"มุ่งบันได3ขั้น
กรณีนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)-แดงทั้งแผ่นดิน เสนอให้รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญเรื่องไม่ให้ประธานองคมนตรีมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวนั้น
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า ขอเตือนไปยังนายวีระ เพราะเคยติดคุกในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาแล้ว แทนที่จะกลับเนื้อกลับตัว แต่พฤติกรรมที่ผ่านมาถึงวันนี้ที่เข้มขึ้นไปอีก เป็นการฟ้องว่าคนเหล่านี้คิดอะไรอยู่ และนายวีระมีอะไรในใจ รัฐธรรมนูญเขียนเงื่อนไขเรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชัดเจน ฉะนั้น สิ่งที่แกนนำเสื้อแดงกำลังดำเนินการถือว่าเป็นไปตามแผนบันได 3 ขั้นในการล้มล้างรัฐบาลหรือไม่
ชงแก้"ผู้สำเร็จฯ"กระทบ"ป๋า"
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช โฆษกส่วนหัวหน้า ปชป. กล่าวว่า ขอถาม นปช.และคนเสื้อแดงว่าที่จุดประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อหวังผลอะไรทางการเมือง การที่รัฐบาลเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ก็เป็นไปตามข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเสนอประเด็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นมา เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ข้อขัดแย้งของสังคมไทยโดยองค์รวม และเนื้อหาของมาตรานี้ก็บรรจุในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่เห็นจะเป็นปัญหา
"เข้าใจว่าการยกประเด็นนี้ขึ้นมาก็เพื่อกระทบชิ่งต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งอาจจะผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูงได้ อยากถามว่า นปช.ใช้ฐานะความเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) เอาที่ประชุมสภาเป็นเครื่องมือถล่ม พล.อ.เปรม ยังไม่เพียงพออีกหรือ ทั้งที่ประเด็นนี้คนเสื้อแดงใช้โจมตี พล.อ.เปรม บนเวทีการชุมนุมอย่างรุนแรงอยู่แล้ว สภาผู้แทนฯไม่ใช่สภาโจ๊ก จึงไม่ควรเอาการเมืองท้องถนนหรือที่สนามหลวงมาไฮด์ปาร์กโจมตีคนที่เป็นปฏิปักษ์ของตนเองในสภา" นายเทพไทกล่าว
"เสื้อแดง"ลั่นเป็นรบ.รื้อแน่
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน เพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ประธานองคมนตรี ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ตนและคนเสื้อแดงทั้งหมดไม่สามารถไว้ใจประธานองคมนตรีได้ เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาชวนให้น่าสงสัย อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ฝักใฝ่ทางการเมือง ที่สำคัญคือคนเสื้อแดงเห็นร่วมกันว่าผู้ที่เหมาะสมจะรับตำแหน่งสำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นควรเป็นองค์รัชทายาทเท่านั้น ไม่สมควรจะจะเป็นสามัญชน ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต
"เราตกลงร่วมกันว่าหาก พท.เอาชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ นอกจากจะต้องนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แล้ว ยังจะต้องแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ไม่ให้ประธานองคมนตรีสามารถรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ และต้องกำหนดลงไปว่าผู้จะรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นจะต้องเป็นองค์รัชทายาทเท่านั้น" นายจตุพรกล่าว
"เสธ.อู้" ชี้เขียนไว้เหมาะสมแล้ว
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ประธานอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า เรื่องนี้ใหญ่เกิน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ควรไปยุ่งและไม่ควรแก้ไข ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ เขียนไว้เหมาะสมแล้ว และเขียนแบบนี้มาทุกฉบับ ผ่านมาหลายยุคสมัยแล้ว ไม่มีปัญหา
"ใครจะต่อสู้กับใคร ก็เป็นเรื่องความคิดคนสู้กัน ถ้าเอาทุกประเด็นคงไม่จบ แต่เรื่องผู้สำเร็จราชการเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผมคิดว่าเราไม่ควรเอามาต่อความยาวสาวความยืดเพราะไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ใครต่อสู้ทางการเมืองกัน ส.ว.ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่วิวาทะด้วย เราดูอะไรที่มันเป็นประโยชน์ และอย่าไปเติมเชื้อไฟอีกเลย" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว
นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญไม่ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น คงไม่น่าจะเป็นไปได้ และยังไกลเกินไปหากจะพูดกันในตอนนี้
*******************************************
การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
กลุ่มคนเสื้อแดงได้เปิดประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเสนอว่า ไม่ควรแก้เฉพาะ 6 ประเด็น ตามข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ควรแก้ไขเรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดเรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้
มาตรา 18 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา 19 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 18 หรือในกรณีพระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง
มาตรา 20 ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน